ThaiPublica > คอลัมน์ > Tobin Tax สูงส่งกว่าที่กำลังจะทำ

Tobin Tax สูงส่งกว่าที่กำลังจะทำ

19 เมษายน 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

เรื่องร้อนแรงที่สุดในยุโรปตอนนี้คงไม่หนีเรื่องการอพยพของผู้คนนับล้านเข้าสู่ยุโรป การก่อการร้าย และเรื่องการลงประชามติของอังกฤษในวันที่ 23 มิถุนายน 2016 ว่าจะอยู่ต่อกับ EU หรือจะ ‘ลาจาก’ ดังที่เรียกกันในชื่อว่า Brexit เหตุผลของกลุ่ม ‘ลาจาก’ ที่นับว่ามาแรงขึ้นทุกวันก็คือเรื่องความสามารถในการควบคุมหลายสิ่งที่การเป็นสมาชิก EU ให้ไม่ได้ เช่น การต้องจ่ายเงินมหาศาลสนับสนุนสมาชิกอื่นๆ กฎหมายควบคุมการจ้างงานและการประกอบการค้า ฯลฯ ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ไม่ชอบก็คือเรื่อง Tobin Tax

James Tobin นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลในปี 1981 แห่งมหาวิทยาลัยเยล ถ้ายังมีชีวิตอยู่คงแปลกใจที่ชื่อของตนถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งราวกับจะวัดรอยเท้า John Maynard Keynes ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ตัวเขาเคยเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกวิเคราะห์วิจารณ์กลไกที่ Keynes กล่าวถึงในการเข้าสู่ดุลยภาพของระดับการว่างงานชนิดไม่ตั้งใจ

Tobin Tax หรือการเก็บภาษีจากธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศตามแนวคิดของ James Tobin ที่ 11 สมาชิกของ EU กำลังพยายามผลักดันอยู่ในขณะนี้คือเหตุผลหนึ่งของผู้สนับสนุนการ ‘ลาจาก’ EU เพราะเชื่อว่าจะทำร้ายอังกฤษในที่สุดเพราะหากไม่ออกมาก็ต้องเก็บ Tobin Tax ด้วย

11 สมาชิกที่เห็นชอบกับ Tobin Tax ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ออสเตรเลีย เบลเยียม กรีซ โปรตุเกส สโลวาเกีย สโลวาเนีย และเอสโทเนีย เหตุผลง่ายๆ ที่ต้องการเก็บ Tobin Tax ก็เพราะต้องการได้เงินมาแก้ไขวิกฤติหนี้สาธารณะของ EU

ถ้า James Tobin ฟื้นขึ้นมาก็คงสะดุ้งอีกเหมือนกัน เพราะสิ่งที่เขาเสนอนั้นแตกต่างจากที่ 11 สมาชิกกำลังเสนออยู่ทั้งในเรื่องวัตถุประสงค์และลักษณะของภาษีที่เก็บ

ในปี 1972 James Tobin เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีในอัตราประมาณร้อยละ 0.5 เหมือนกันหมดในทุกประเทศจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศทั้งหมด และนำเงินเหล่านี้ไปเก็บสะสมไว้ที่ธนาคารโลกเพื่อเอาไปใช้เป็นเงินช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา

วัตถุประสงค์ของการเก็บภาษีก็เพื่อไม่ให้มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในปริมาณมากจนมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของการไหลของเงินทุน

พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องการจูงใจไม่ให้มีการเก็งกำไรเงินตราต่างประเทศมากจนทำให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพโดยจงใจทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นจากการต้องจ่ายภาษีนี้

Tobin ย้ำว่าจะได้ผลก็ต่อเมื่อมีการเก็บภาษีในอัตราเดียวกันทั้งหมดในทุกประเทศ (ที่เป็นสมาชิกธนาคารโลก หรือ IMF) โดยอยู่ในอัตราที่เหมาะสม หากสูงหรือตำ่เกินไปก็ไม่ได้ผล และจะต้องร่วมมือกันอย่างกว้างขวางด้วย

อย่างไรก็ดี เหมือนทุกสิ่งในโลก เมื่อวันเวลาผ่านไปก็มีการ “แปลงสาร” เกิดขึ้น จนมีการขยายไอเดียของ Tobin Tax ไปถึงการเก็บภาษีจากการเปลี่ยนมือหุ้น หุ้นกู้ และธุรกรรมการเงินต่างๆ ทั้งในประเทศเองและระหว่างประเทศด้วย นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีอัตราการเก็บภาษีร้อยละ 0.1 ถึง 1 อีกด้วย

11 ประเทศของ EU นี้ไปไกลกว่า คือต้องการเก็บเพื่อหารายได้มาแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้ของภาครัฐที่หลายประเทศสมาชิกเผชิญอยู่และเกิดสภาพ “เตี้ยอุ้มค่อม” กับประเทศผู้ช่วยเหลืออยู่ในเวลานี้ เสถียรภาพของการไหลของเงินทุนระหว่างประเทศมิใช่ประเด็นหลัก

Tobin Tax ในปัจจุบันจึงมีความหมายที่แตกต่างกันออกไปจาก “ต้นฉบับ” ผู้เห็นด้วยกับการเก็บเพื่อหารายได้อ้างความเป็นธรรมที่สถาบันการเงินควรจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อเอาเงินไปช่วยลดระดับหนี้สาธารณะซึ่งตนเองก็มีส่วนช่วยให้มันเพิ่มขึ้นด้วย (รัฐบาลได้โดดเข้าไปช่วยสถาบันการเงินให้หลุดออกมาจากวิกฤติการเงินด้วยการกู้เงินมามากมาย)

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/f6/City_of_London_skyline_from_London_City_Hall_-_Oct_2008.jpg
ที่มาภาพ: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/f6/City_of_London_skyline_from_London_City_Hall_-_Oct_2008.jpg

ผู้เห็นด้วยกับการเก็บเชื่อว่า Tobin Tax จะช่วยให้เกิดเสถียรภาพมากขึ้น ถ้าแม้นว่ามีการเก็บภาษีในลักษณะนี้แล้ววิกฤติเศรษฐกิจในทศวรรษ 1990 ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัสเซีย เม็กซิโก เกาหลี อาจไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดมากมายจากการที่ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงมากเมื่อถูกคุกคามโดยผู้เก็งกำไรเงินตราต่างประเทศ

ผู้ไม่เห็นด้วยบอกว่าการเจ็บครั้งนั้นมิได้เกิดจากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจนสูงอย่างเดียว แต่เกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่ง Tobin Tax ไม่น่าจะช่วยให้หลีกการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูง ตลอดจนช่วยสร้างเสถียรภาพของการไหลของเงินทุนได้ขนาดนั้น

นอกจากนี้การเก็บ Tobin Tax จะทำให้มีจำนวนธุรกรรมการเงินน้อยลง ผู้ออมและกองทุนเงินออมทั้งหลายจะได้ผลตอบแทนต่ำลง เนื่องจากสถาบันการเงินในหลายสถานการณ์สามารถผลักภาระภาษีไปสู่ลูกค้าได้

คำถามที่น่าสนใจก็คือมีการทดลองเก็บ Tobin Tax ในประเทศใดบ้างหรือไม่ คำตอบก็คือ Tobin Tax ในเวอร์ชั่นหนึ่งมีการทดลองในสวีเดนในปี 1984 กล่าวคือ ในตอนแรกมีการเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 จากการซื้อและขายหุ้น และต่อมาลดลงเป็นลำดับจนเหลือเพียงร้อยละ 0.003 ผลปรากฏว่าเก็บภาษีได้เพียงร้อยละ 3 ของที่คาดการณ์ไว้โดยเฉลี่ย ในปี 1991 จึงมีการยกเลิกภาษีนี้

อย่างไรก็ดี ยังมีการเก็บ Tobin Tax ในบางลักษณะในฮ่องกง มุมไบ โซล ไทเป โจฮันเนสเบิร์ก ซึ่งกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก โดยเก็บรวมกันได้ประมาณปีละ 600,000 ล้านบาท และตัวเลขนี้แหละที่ 11 ประเทศ EU กำลังน้ำลายไหลและมองเห็นเป็นโอกาส

คนอังกฤษซึ่งมีลักษณะอนุรักษนิยมอยู่แล้วโดยธรรมชาติมีความรู้สึกกังวลกับมาตรการ Tobin Tax นี้อยู่ค่อนข้างมาก ลอนดอนซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินโลกมีธุรกรรมต่างๆ ซึ่งอยู่ในข่ายของการถูกเก็บภาษีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่มีใครตอบได้ว่าหากมี Tobin Tax ตามข้อบังคับของ EU ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อการเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก ทั้งหมดนี้ต้องคำนึงว่าเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกนั้นไม่มี Tobin Tax

บ่อยครั้งสิ่งซึ่งเป็นข้อสรุปตามกรอบคิดเชิงทฤษฎีนั้นแตกต่างจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น การใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันนั้น ในตอนพิจารณามีข้อสรุปทางทฤษฎีว่ามีสารพัดข้อดี ปัญหาอุปสรรคก็มีเช่นกัน แต่สรุปว่ามีข้อดีมากกว่า ปัจจุบันก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าที่ EU เละเป็นวุ้นทางเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้นั้นเป็นผลอย่างสำคัญจากการใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน

Tobin Tax ในครั้งนี้ก็อีกเช่นกัน อังกฤษมีการใช้ stamp duty หรือค่าธรรมเนียมที่เก็บจากการซื้อขายหุ้นมาช้านาน ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการประเมินผลกระทบของ Tobin Tax อย่างไรก็ดี อย่าลืมเรื่องราวของการสรุปครั้งเงินยูโรเป็นอันขาด

James Tobin มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1918-2002 (เสียชีวิตตอนอายุ 84 ปี) ได้ให้ไอเดียในเรื่องการเก็บภาษีจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจของโลก และเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนา ใครที่ “แปลงสาร” Tobin Tax เพื่อหารายได้แต่เพียงอย่างเดียว กำลังมองข้ามความสูงส่งของความคิดที่จะสร้างเสถียรภาพและความเท่าเทียมขึ้นในเวลาเดียวกัน

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 12 เม.ย. 2559