ในตอนที่แล้ว ได้พูดถึงคลื่นนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี 2558 ประมาณ 8 ล้านคน
จากรายงานของกรมท่องเที่ยวที่เปิดเผยค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีนต่อหัวในปี 2551-2554 อยู่ที่ 4,000 บาท เฉลี่ยไม่ถึง 5,000 บาท ในปี 2556 ยอดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 5,097 บาท และเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา เป็นปีที่มีการแบ่งข้อมูลประเภทของนักท่องเที่ยวแพ็คเกจทัวร์กับไม่ใช่แพ็คเกจทัวร์ โดยนักท่องเที่ยวจีนแบบแพ็คเกจทัวร์ มีค่าใช้จ่ายต่อหัว 6,406.58 บาท และที่ไม่ใช่แพ็คเกจทัวร์ มีค่าใช้จ่ายต่อหัว 5,385.35 บาท
รายงานของ InterContinental Hotel Group รายงานถึงลักษณะของนักท่องเที่ยวชาวจีนว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนแบบแพ็คเกจทัวร์มักเป็นนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ ที่จะสบายใจเมื่ออยู่กับไกด์ที่พูดภาษาจีนได้และกับกลุ่มทัวร์ที่มาด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้น ทริปของแพ็คเกจทัวร์จะรวมค่าตั๋วเครื่องบินลดราคา, ค่าที่พัก และค่าตั๋วสำหรับดูโชว์ต่างๆ โดยราคาที่จ่ายของกรุ๊ปทัวร์นั้นอาจจะให้กำไรเพียงเล็กน้อยแก่สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมาย แต่เมื่อกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงจะเที่ยวต่างประเทศครั้งที่ 2 มักเลือกมาเที่ยวกันเอง ไม่พึ่งทัวร์ซึ่งค่าใช้จ่ายจะเน้นในส่วนที่พักกับการช็อปปิ้ง ทั้งนี้เป็นผลจากรายได้ครัวเรือนจีนเพิ่มขึ้นสูงและรวดเร็ว เห็นได้จากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ จึงคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะใช้จ่ายต่อทริปมากขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้ มีการจัดอันดับเมืองที่นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายมากที่สุดในปี 2556 ได้แก่ 1. กรุงเทพฯ (38.3 พันล้านดอลลาร์) 2. พัทยา (2.92 พันล้านดอลลาร์) 3. โซล (1.96 พันล้านดอลลาร์) 4. นิวยอร์ก (1.41 พันล้านดอลลาร์ ) 5. ลอสแอนเจลิส (1.41 พันล้านดอลลาร์) โดยจังหวัดภูเก็ตติดอันดับที่ 7 (1.19 พันล้านดอลลาร์) และจังหวัดเชียงใหม่นั้นอยู่อันดับที่ 13 (0.55 พันล้านดอลลาร์) และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่อันดับที่ 23 (0.37 พันล้านดอลลาร์)
ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2559 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่เพื่อสำรวจการใช้จ่ายและพฤติกรรมต่างๆ ของนักท่องเที่ยวชาวจีนตามจุดที่เป็นที่นิยมของการท่องเที่ยวไทย โดยเริ่มจากบริเวณท่าพระจันทร์ และบริเวณใกล้เคียงก็ได้พบนักท่องเที่ยวชาวจีนอยู่แทบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะด้านในพื้นที่พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว หน้าพระลาน เรียกได้ว่าจุดศูนย์กลางของนักท่องเที่ยวชาวจีน นายวีระศักดิ์ ฝ่ายศูนย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ประจำสำนักพระราชวัง ระบุว่า มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเยี่ยมชมในพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว เฉลี่ย 20,000 คนต่อวัน ส่วนใหญ่มาเป็นกรุ๊ปทัวร์ เพราะวัดพระแก้วเป็นหนึ่งในรูทของบริษัททัวร์ และสถานที่ใกล้เคียงที่อยู่ในรายการสถานที่ท่องเที่ยวของกรุ๊ปทัวร์จีน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ผ้า, พระที่นั่งอนันตสมาคม และพระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อถามถึงสาเหตุที่นักท่องเที่ยวชาวจีนซื้อผ้านุ่งแทบทุกราย นายวีระศักดิ์กล่าวว่า สถานที่ท่องเที่ยวตามรูทของบริษัททัวร์ก่อนที่จะมาที่นี่คือพัทยา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ใส่ขาสั้นและจำเป็นต้องเปลี่ยนตามเงื่อนไขการเข้าชม
เน้นของกินชอบสัปปะรด-ทุเรียน
ด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมาก ส่งผลให้ร้านค้าบริเวณโดยรอบต่างปรับตัวเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า สิ่งหนึ่งที่เห็นชัด คือ ป้ายบอกสินค้าเป็นภาษาจีน และพ่อค้าแม่ค้าจะพูดภาษาจีนได้ หรืออย่างน้อยก็รู้ศัพท์ของสินค้าที่ตนขายกับประโยคหลักๆ ที่ใช้ประกอบการขาย หนึ่งในนั้นก็คือ นายแดง เจ้าของแผงจำหน่ายของที่ระลึก กล่าวว่า “ส่วนมากนักท่องเที่ยวจีนไม่ได้ซื้อของที่ระลึกเท่าไหร่ เขาไม่ซื้ออะไรที่เป็นของฝากอย่างแมกเนต แต่จะซื้ออาหารมากกว่า ผลไม้ที่ขายดีคือ สับปะรดกับทุรียน ส่วนผ้าก็ซื้อกันเยอะ”
ด้วยประสบการณ์ขายของในบริเวณหน้าพระลานมา 50 ปี นายแดงเล่าว่า “คนจีนเพิ่งเข้ามามากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเอง เมื่อก่อนจะเป็นรัสเซีย ยุโรป อเมริกา” เมื่อถามถึงพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีน นายแดงกล่าวว่า “สกปรก ดูดบุหรี่เยอะ ชอบทิ้งขี้บุหรี่ ตะโกนเสียงดัง มีบ้างที่แอบหยิบของที่ขายเข้ากระเป๋า แต่เป็นส่วนน้อยนะ”
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับ นายทวี หน้าพระลาน มัคคุเทศก์ไทยภาษาจีน ให้ข้อมูว่า มีกลุ่มนักท่องเที่ยวประมาณ 80 กรุ๊ปต่อวัน (1 กรุ๊ป มีระยะเที่ยว 7 วัน) กรุ๊ปละจำนวน 10-30 คน นับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มากรุงเทพฯ เท่านั้น โดยหากเป็นช่วงสงกรานต์จะเข้ามาไม่ต่ำกว่า 300 กรุ๊ป ซึ่งจำนวนเฉลี่ย 80 กรุ๊ปนั้นถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเหตุการณ์ระเบิดพระพรหมที่แยกราชประสงค์ ในช่วงเหตุการณ์ระเบิดไม่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเลย และฟื้นตัวเมื่อ 6 เดือนให้หลัง อย่างไรก็ดี อีกสาเหตุที่จำนวนกรุ๊ปทัวร์ลดน้อยลง คือ เทรนด์การท่องเที่ยวอิสระ ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว การจัดการโปรแกรมทัวร์อื่นๆ ไม่ต้องพึ่งไกด์เหมือนแต่ก่อน ค่าใช้จ่ายของลูกทัวร์ของนายทวีประมาณ 3,000 หยวนต่อคน
“ลุงเป็นไกด์บริษัททัวร์ ส่วนใหญ่ก็พาไปที่วัดพระแก้ว พระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งอนันตสมาคม และพัทยา มันเป็นโปรแกรมทัวร์ที่ต้องพาไป คนจีนจะชอบซื้อซิม ขาดโทรศัพท์ไม่ได้ แล้วก็จะซื้อทุเรียนอบ สับปะรด จะซื้อผ้าเมื่อจะเข้าวัง ส่วนพฤติกรรมของคนจีน เถื่อน ไม่มีมารยาท” นายทวีกล่าว
นายบรรจง ประยูรนิรามัย มัคคุเทศก์ไทยภาษาจีน ในพระบรมมหาราชวัง เผยว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนประมาณ 15,000-16,000 คนต่อวัน มากันเป็นกรุ๊ป (90%) ตนจะรับดูแลวันละ 2 กรุ๊ป ส่วนที่มาเที่ยวกันเอง กลุ่มละ 2-3 คน ประมาณ 1-2% ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะอาศัยโบรชัวร์และอินเทอร์เน็ตเป็นตัวช่วยในการท่องเที่ยว กรุ๊ปทัวร์มักจะไปสวนสามพราน จ.นครปฐม, สวนนงนุช, เกาะล้าน, เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ, ร้านช็อปปิ้ง พวกจิวเวลรี่ เครื่องหนัง และผ้าไหม
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ประจำนิทรรศการ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (นิทรรศ รัชกาลที่ 5) ที่ถนนหน้าพระธาตุ ซึ่งมีรถทัวร์โดยสารของนักท่องเที่ยวชาวจีนมาจอดอยู่ตลอดวัน กล่าวว่า ตนจะนั่งประจำที่หน้านิทรรศ รัชกาลที่ 5 ทุกวันที่ทำการ (พุธ-อาทิตย์ เวลา 9.00-16.00 น.) เห็นรถทัวร์จีนมาจำนวนมากทั้งวัน ประมาณวันละ 300-400 คันต่อวัน จะมาจอดตลอดแนวตึกแดง “พี่ไม่ชอบคนจีนเลยนะ วัฒนธรรมไม่โอเค สกปรก เสียงดัง พี่ไม่ให้เข้าเลย เข้ามาแล้วทำให้พื้นที่สกปรก บางทีมาอุจจาระที่ข้างหน้าหรือตามซอกตึกด้วย” นางพรกล่าว
แหล่งข่าวรายหนึ่งเล่าถึงผลต่อเนื่องจากการที่มีรถทัวร์จีนมาจอดเป็นจำนวนมากว่า “พอมีคนจีนเยอะๆ แบบนี้ ก็มีคนมาขายของตามฟุตบาทแถบนี้ ไม่ใช่คนไทย เป็นคนเขมร พม่า หรือญวนทั้งหมด แล้วเทศกิจก็ไม่จับ โดยเฉพาะแถวถนนหน้าพระธาตุไม่ทำงานเลย แล้วคนขายก็ขายโก่งราคาด้วย อย่างหมวกจริงๆ มันราคา 100 บาท ก็เอามาขาย 500 บาท มาตื๊อๆ จนเค้าต้องซื้อตัดรำคาญ รายได้ของคนพวกนี้จะอยู่ที่ 2,000-3,000 บาทต่อวัน แล้วพวกรถโดยสาร แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่รับคนไทยด้วย
ความชัดเจนของพฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีนอาจเห็นได้จากแหล่งช็อปปิ้ง ตามรายงานของ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยจีน เผยว่า ชาวจีนรักการช็อปปิ้งเป็นชีวิตจิตใจ เรียกได้ว่าไม่มีนักท่องเที่ยวชาติใดในโลกนี้ที่ชอบการช็อปปิ้งในต่างแดนมากเท่าชาวจีน จากการสำรวจ พบว่าค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของชาวจีนหมดไปกับการช็อปปิ้งมากถึงร้อยละ 50
จากการสำรวจแหล่งช็อปปิ้ง โดยเริ่มจากห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน โดยการสอบถามจากพนักงานตามบูทช็อปปิ้งต่างๆ พบข้อมูลดังนี้
1. บูธเครื่องสำอาง Chanel: แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมซื้อสินค้า คือ ลิปสติก มีการใช้จ่าย 10,000-50,000 บาทต่อคน
2. บูธเครื่องสำอาง Estee Lauder: นักท่องเที่ยวชาวจีนจะซื้อเฉลี่ยคนละ 3,000-20,000 บาท ขึ้นกับจำนวนสินค้า แต่เดี๋ยวนี้ไม่ซื้อตามห้างแล้ว นักท่องเที่ยวมักเช็คราคาเงินหยวน แล้วไปซื้อที่ duty free
3. ร้านเสื้อผ้าผู้ชาย Fred Perry: ซื้อประมาณคนละ 20,000-30,000 บาท
4. ร้านผลิตภัณฑ์ดูแลผิว Kiehl’s: นักท่องเที่ยวชาวจีนไม่ได้มีจำนวนเยอะทุกวัน โดยวันธรรมดาจะมีทัวร์จีนลง หากเป็นวันเสาร์-อาทิตย์จะมากกว่าปกติ สำหรับการใช้จ่ายจะอยู่ที่ 3,000-20,000 บาทต่อคน
5. ร้านน้ำหอม DKNY: ไม่มีนักท่องเที่ยวจีน เพราะราคาน้ำหอมของที่จีนถูกกว่า
จากการสำรวจห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยการสอบถามพนักงานประจำบูธช็อปปิ้งต่างๆ พบข้อมูลดังนี้
1. ร้านเครื่องสำอาง Sephora: นักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่มาเป็นกรุ๊ปทัวร์ ถ้าซื้อสินค้าหรือแบรนด์ใดก็จะซื้อสินค้าหรือแบรนด์นั้นกันทั้งกลุ่ม นอกจากนั้น Sephora มีล่ามภาษาจีนประจำ โดยมีเพียงที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ กับสาขาสยามเซ็นเตอร์ โดยเริ่มจ้างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ถึงปัจจุบัน และมีโปรโมชั่นสำหรับชาวจีนโดยเฉพาะ คือ ซื้อสินค้าครบ 2,000 บาท ได้กระเป๋า
2. ร้านเสื้อผ้าผู้ชาย Suit Select: มีนักท่องเที่ยวชาวจีนทั้งที่มาเป็นกลุ่ม เช่น ครอบครัว หรือเพื่อน มักซื้อจำนวน 2 ตัว การใช้จ่ายเฉลี่ย 10,000-20,000 บาทต่อคน
3. ร้านเสื้อผ้า Giordano: มีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาเป็นกรุ๊ป กรุ๊ปละ 4-5 คน ใช้จ่ายประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อคน จะไม่ค่อยนิยม เพราะถือว่าแบรนด์นี้เป็นของจีน (ฮ่องกง)
4. ร้านเสื้อผ้า Timberland: มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเยอะเป็นพิเศษ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 – กุมภาพันธ์ 2559 รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็น 80% ของรายได้ทั้งหมดของร้าน โดยการใช้จ่ายอยู่ที่ 10,000-50,000 บาทต่อคน นิยมซื้อรองเท้า (พนักงานย้ำว่าซื้อทุกคน) นอกจากนั้น พนักงานทุกคนพูดภาษาจีนเบื้องต้นได้ ด้วยการฝึกกันเองในหมู่พนักงาน สำหรับด้านพฤติกรรม คือ ชอบของลดราคา, ก่อนซื้อจะเช็คราคาเงินหยวน และบ้างมาถามก่อนว่าเป็นแบรนด์ของประเทศอะไร เพราะคนจีนนิยมแบรนด์ประเทศอเมริกา
5. ร้านกางเกงยีนส์ Levi’s: นักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็น 70% ของลูกค้าทั้งหมด เดือนเมษายนปีนี้ (2559) น้อยกว่าช่วงเดียวกันเมื่อปี 2558 การใช้จ่ายประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อคน พนักงานในร้านพูดภาษาจีนเบื้องต้นได้ สำหรับด้านพฤติกรรม คือ ถ้าชอบก็ซื้อ, เช็ราคาเป็นเงินหยวนก่อน และชอบของลดราคา
6. ร้านกระเป๋าผู้หญิง Cath Kidston: นักท่องเที่ยวจีนไม่มากนัก จะเข้ามาดูประมาณ 30-40 คน แต่มีเพียง 3-4 คนที่ซื้อ การใช้จ่าย 1,000-3,000 บาทต่อคน
7. ร้านกระเป๋า Coach: นักท่องเที่ยวชาวจีน 200 คนต่อวัน มีเพียง 5-6 คนที่ซื้อ การใช้จ่ายเฉลี่ย 10,000-40,000 บาท นักท่องเที่ยวที่มาซื้อยังไม่ใช่ไฮโซ ถือว่าเป็นแบรนด์กลางๆ นอกจากนั้นยังมีนโยบายของบริษัทให้พนักงานพูดภาษาจีนได้
8. ศูนย์ช็อปปิ้ง Food hall: นักท่องเที่ยวชาวจีนมาเป็นกรุ๊ป ครั้งละ 1-2 กรุ๊ป การใช้จ่ายอยู่ที่ 5,000-10,000 บาท นิยมซื้อถั่วและของกินเล่นของไทยเป็นลัง
เมื่อถามถึงทัศนคติต่อนักท่องเที่ยวชาวจีน พนักงานประจำร้านตอบว่า “เราต้องเข้าใจเขา ถ้าเข้าใจก็ไม่มีอะไร เขาก็เป็นคนนิสัยดี บางทีเขาทำอะไรที่ไม่สมควรก็เตือนเขาไป เขาก็ไม่ทำ” และ พนักงานอีกร้านตอบว่า “พี่เจอมาทุกแบบ แบบที่เขาพูดกัน ก็รู้ๆ กันอยู่ แต่พี่ไม่พูดนะ” หรือในบางร้านก็ไม่พบพฤติกรรมด้านลบเพราะ “พฤติกรรมดี เป็นอีกระดับ high” และร้านทุกร้านเองก็ปรับตัวเข้ากับคนจีนด้วยการฝึกพูดภาษาจีน พนักงานร้านรายหนึ่งยืนยันว่า พนักงานแทบทุกร้านในห้างเซ็นทรัลเวิลด์พูดภาษาจีนเบื้องต้นได้
จตุจักร จ้างคนจีนขายคนจีน
ด้วยพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวจีนที่นิยมซื้อของฝากเป็นจำนวนมาก ผู้สื่อข่าวได้สำรวจที่ตลาดจตุจักร และสอบถามจากแม่ค้าในตลาดจตุจักรรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเที่ยวในตลาดจตุจักรมักมาเป็นคู่ กลุ่มเพื่อน และครอบครัว จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่ 8.00 น. มักซื้อของที่ระลึกเป็นชิ้นๆ ไม่ได้ซื้อเป็นแพ็ค
เมื่อถามว่าพูดภาษาจีนได้หรือไม่ เธอตอบว่าพูดไม่ได้ แต่คนมีอายุในตลาดจะพูดได้ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าต่างบอกว่าหากร้านไหนพูดภาษาจีนได้ ร้านนั้นจะได้รับความนิยมจากคนจีน
นายอัษฎ์ เจ้าของร้านขายโคมไฟ ที่สามารถพูดภาษาจีนได้จากการฝึกด้วยตนเอง และบอกว่าพยายามฝึกกับลูกค้าด้วย พร้อมเล่าว่ามีลูกค้าประจำเป็นคนจีนจำนวนหนึ่งที่ส่งต่อข่าวของร้านผ่านโปรแกรมแชทคิวคิว สำหรับสินค้าที่ได้รับความนิยม คือ โคมไฟที่ปักเป็นตัวอักษรภาษาไทย ลายกนก และลายคล้ายพระโบราณ เรียกได้ว่า ลาย “ไทยๆ” นั่นเอง โดยซื้อคนละ 2-3 ชิ้น ราคาชิ้นละ 250 และ 280 บาท
เมื่อถามถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีน นายอัษฎ์เล่าว่า วัยรุ่นจะทำตัวดี ถ้าคนแก่ๆ จะต่อราคา จาก 250 บาท เหลือ 50 บาท แล้วยังมีวิธีดูลักษณะของนักท่องเที่ยวจีน ที่จะทำให้รู้ว่ากลุ่มนี้จะต่อราคาหรือไม่ โดยดูจาก “พวงมาลัย” คือ ถ้ามีพวงมาลัยห้อยคอแสดงว่าเพิ่งมาถึงประเทศไทยวันแรก จะยังไม่ต่อราคามาก อย่างไรก็ดี นายอัษฎ์ปิดท้ายว่า “ลูกค้าจีนเยอะ แต่คุณภาพต่ำ”
นอกจากนี้พวกขนมกินจุบจิบก็เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเช่นกัน นางสาวหยก เจ้าของร้านขายขนมของฝาก เล่าว่า ตนมีรายได้ 15,000-20,000 บาทต่อวัน โดยรายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่ปีนี้มีจำนวนน้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน มักนิยมซื้อทุเรียนทอด เถ้าแก่น้อย และเบนโตะ
เมื่อถามถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีน เธอเล่าว่า ชอบต่อราคาจนต่ำกว่าราคาทุน อ้างว่ามีร้านอื่นที่ให้ราคานี้ และเมื่อซื้อไปแล้วหากไปเจอร้านที่ราคาถูกกว่า ก็จะเอาของมาคืนพร้อมกับขอเงินคืน
นางสาวหยกเล่าต่อไปว่า ในตลาดจตุจักรมีนักศึกษาชาวจีนทำงานพาร์ทไทม์อยู่จำนวนมาก ค่าแรงประมาณ 400 บาทต่อวัน บ้างจะมาทำงานไม่ต่ำกว่า 3 เดือน พอให้รู้วิชา แล้วไปเปิดร้านของตัวเอง ซึ่งจะเป็นแค่ร้านขายขนมเท่านั้น ยังไม่เจอประเภทอื่น และด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงมีร้านขายขนมลักษณะเดียวกันเปิดอยู่ทั่วจตุจักร ประมาณ 30 ร้าน
เจ้าของร้านขายขนมของฝากอีกรายหนึ่งที่ตั้งอยู่ด้านนอก ติดถนนคนเดิน เปิดเผยว่า ตนมีรายได้ 30,000-40,000 บาทต่อวัน จะเห็นนักท่องเที่ยวชาวจีนไม่ต่ำกว่า 100,000 คนต่อวัน และด้วยโลเคชั่นที่อยู่ติดกับถนน ทำให้คนจะเห็นได้ง่าย จึงมีรายได้มากกว่าร้านที่อยู่ข้างในตลาด สำหรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีน เธอเล่าว่า จะซื้อคนละ 5 แพ็ค (ราคาแพ็คละ 450 บาท) แม้จะขายได้ทีละน้อยๆ แต่ก็ขายได้เรื่อยๆ ทั้งวัน นอกจากนั้นคนจีนจะซื้อแค่ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง และสินค้าชนิดเดียวกัน ต่างไปจากนั้นไม่ซื้อ และชอบต่อราคา “บางครั้งต่อราคาจนน่าเกลียด ก็ขายถูกแล้ว ไม่ลดให้”
นอกจากนั้น ร้านดังกล่าวมีพนักงานพาร์ทไทม์เป็นคนจีน และในย่านจตุจักรนี้ทุกร้านก็มีพนักงานพาร์ทไทม์เป็นนักศึกษาชาวจีน โดยเมื่อมีคนหนึ่งกลับประเทศหรือติดเรียน ก็จะให้เพื่อนชาวจีนมาทำแทน
เจ้าของร้านขายของฝากอีกรายหนึ่งเล่าว่า ในแต่ละวันจะมีลูกค้าเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ประมาณ 30% จะนิยมซื้อเครื่องสำอาง, ทุเรียนทอด และยาดม ค่าใช้จ่ายยังไม่ถึง 1,000 บาท เพราะซื้อประมาณ 3-4 ชิ้น และไม่มีการซื้อยกลัง
เมื่อถามถึงการจ้างนักศึกษาชาวจีนเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ ซึ่งร้านนี้เองก็มีเช่นกัน ก็ตอบว่า ร้านตนเพิ่งจ้างปีนี้ (2559) และไม่เปิดเผยค่าแรง