วาทกรรม “คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยแค่ปีละ 8 บรรทัด” หลอกหลอนผู้คนในแวดวงการศึกษาและอุตสาหกรรมหนังสือมานับสิบปี ทั้งที่ไม่เคยมีใครหาข้อมูลใดๆ มายืนยันประโยคดังกล่าวได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว แถมหากลองคิดดูด้วยสามัญสำนึกง่ายๆ เป็นไปได้หรือ ..ที่ตลอดทั้ง 365 วัน คนไทยทั่วๆ ไปจะอ่านหนังสือแค่ 8 บรรทัด ..หรือเฉลี่ย 45 วัน (เดือนครึ่ง) ต่อ 1 บรรทัด !
แต่ทั้งๆ ที่ ข้อมูลออกจะเหนือจริงขนาดนั้น กลับยังมีคนบางกลุ่มเชื่อ และหยิบไปผลิตซ้ำว่า “คนไทยอ่านหนังสือแค่ปีละ 8 บรรทัด” อยู่เรื่อยๆ
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี (2550-2559) ว่ามีแหล่งข้อมูลใดยืนยันความเชื่อดังกล่าว แต่พบงานวิจัยที่ยืนยันว่า คนไทยไม่ได้อ่านหนังสือ “ปีละน้อยบรรทัด” แต่เป็น “วันละหลายนาที” ที่สำคัญยังมีแนวโน้มที่จะอ่าน “มากขึ้น” เรื่อยๆ
ล่าสุดผลวิจัยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปรากฎว่า คนไทยใช้เวลาในการอ่าน “เฉลี่ย 66 นาที/วัน”
โดยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการอ่านของคนไทยที่น่าสนใจ มีจำนวนทั้งสิ้น 6 ชิ้น จัดทำโดย 3 องค์กร ประกอบด้วย
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ (4 ชิ้น) ทำการวิจัยเรื่อง “การอ่านของประชากร” มาตั้งแต่ปี 2546 ตามนโยบายของรัฐบาลขณะนั้น ที่ประกาศให้ปีนั้นเป็น “ปีแห่งการอ่าน” โดยในรายงานข่าวชิ้นนี้จะเลือกเฉพาะของปี 2551, 2554, 2556 และที่ร่วมมือกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) จัดทำขึ้นในปี 2559
- TK park ที่จัดทำขึ้นในปี 2551 และที่ร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติจัดทำขึ้นในปี 2559
- คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมมือกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จัดทำขึ้นเมื่อปี 2558 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ข้อมูลที่ปรากฎผลการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนไทย สรุปได้ดังนี้
– งานวิจัย ปี 2551 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
เป็นการทำงานวิจัยหัวข้อ “การอ่านของประชากร” ครั้งที่ 3 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ต่อจากครั้งแรก ในปี 2546 และครั้งที่สอง ในปี 2548) ซึ่งมีกำหนดทำการสำรวจ 2-3 ปี/ครั้ง
จากการเก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2551 จาก 52,000 ครัวเรือนตัวอย่าง กระจายทั่วทุกภูมิภาค และทุกช่วงวัย ปรากฎว่า คนไทย 66.3% ระบุว่าอ่านหนังสือ อ่านมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ และใช้เวลาอ่านหนังสือ เฉลี่ย 39 นาที/วัน
(หมายเหตุ : การสำรวจครั้งนี้เพิ่มกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กเล็ก ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 6 ปีเข้าไปด้วย จากที่ไม่เคยสำรวจมาก่อน)
– งานวิจัย ปี 2551 (TK Park)
TK Park ได้มอบหมายให้บริษัท เอคอร์น มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ รีเสริช์ คอนซัลแทนส์ จำกัด จัดทำงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการสร้างแรงจูงใจที่จะทำให้คนไทยได้อ่านหนังสือมากขึ้น สร้างวัฒนธรรมการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามภารกิจของ TK Park
จากการรวบรวมข้อมูล ระหว่างมิถุนายน – กันยายน 2551 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งเด็กอายุ 7-24 ปี และผู้ปกครองที่มีลูกอายุ 0-6 ปี (งานวิจัยของ TK Park จะเน้นไปที่เด็กและเยาวชน) โดยใช้วิธีเก็บข้อมูลหลากหลาย ทั้งโฟกัสกรุ๊ป สัมภาษณ์ และเวิร์กช็อป รวมอย่างน้อย 1,600 ตัวอย่าง กระจายทั่วทุกภุมิภาค ปรากฎว่า คนไทยชอบอ่านหนังสือในช่วงสุดสัปดาห์ ชอบอ่านในห้องนอนของตัวเอง ประเภทหนังสือที่ชอบอ่าน หากเป็นเด็กและเยาวชนคือการ์ตูน ส่วนผู้ปกครองคือหนังสือพิมพ์ และใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ย 50 นาที/วัน
– งานวิจัย ปี 2554 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
เป็นการทำงานวิจัยหัวข้อ “การอ่านของประชากร” ครั้งที่ 4 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
จากการรวบรวมข้อมูล ระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2554 จาก 53,000 ครัวเรือนตัวอย่าง กระจายทั่วทุกภูมิภาค และทุกช่วงวัย ปรากฎว่า คนไทย 68.6% ระบุว่า อ่านหนังสือ อ่านมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ และใช้เวลาอ่านหนังสือ เฉลี่ย 35 นาที/วัน
– งานวิจัย ปี 2556 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
เป็นการทำงานวิจัยหัวข้อ “การอ่านของประชากร” ครั้งที่ 5 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
จากการรวบรวมข้อมูล ระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2556 จาก 55,920 ครัวเรือนตัวอย่าง กระจายทั่วทุกภูมิภาค และทุกช่วงวัย ปรากฎว่า คนไทย 81.8% ระบุว่า อ่านหนังสือ อ่านมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ และใช้เวลาอ่านหนังสือ เฉลี่ย 37 นาที/วัน
– งานวิจัย ปี 2558 (คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ)
เป็นการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลของผู้บริโภค ทั้งพฤติกรรมการอ่าน การซื้อหนังสือ รวมถึงวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการซื้อหนังสือ รวมถึงผลกระทบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ต e-book/digital content ที่มีผลต่อการอ่านหนังสือเล่มของคนไทย
จากการรวบรวมข้อมูล ระหว่างเดือนธันวาคม 2557 – เดือนมกราคม 2558 จาก 3,432 กลุ่มตัวอย่าง กระจายทั่วทุกภูมิภาค เฉพาะช่วงวัย 15-69 ปี โดยมีการแบ่งนิยามให้การ “อ่าน” หมายถึงอ่านสื่อทุกประเภท และการ “อ่านหนังสือ” หมายรวมเฉพาะการอ่านหนังสือเล่ม ปรากฎว่า คนไทยอ่าน 88.0% และอ่านหนังสือ 60.3% โดยใช้เวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ย 46 นาที/วัน และส่วนใหญ่ยอมรับว่าอินเตอร์เน็ตทำให้การอ่านน้อยลง
– งานวิจัย ปี 2559 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ TK Park)
เป็นการทำงานวิจัยหัวข้อ “การอ่านของประชากร” ครั้งที่ 6 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แต่เป็นครั้งแรกที่ร่วมมือกับ TK Park และมีการขยายนิยามของคำว่า การ “อ่าน” นอกจากอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ ตำรา ฯลฯ ยังให้รวมถึงการอ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์/SMS/E-mail ด้วย
จากการเก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2558 จาก 55,920 ครัวเรือนตัวอย่าง กระจายทั่วทุกภูมิภาค และทุกช่วงวัย ปรากฎว่า คนไทย 77.7% อ่าน อ่านมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ และใช้เวลาในการอ่านเฉลี่ย 66 นาที/วัน(หมายเหตุ : การสำรวจครั้งนี้ทำในปี 2558 แต่เผยแพร่ผลสำรวจในปี 2559)
จากข้อมูลข้างต้นเห็นได้ว่า ไม่มีงานวิจัยชิ้นใดในรอบ 10 ปีหลังที่ระบุว่า “คนไทยอ่านหนังสือแค่ปีละ 8 บรรทัด” ขณะที่นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย องค์กรที่เป็นแม่งานหลักในการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ได้กล่าวเรียกร้องว่า “ขอให้เลิกพูดประโยคดังกล่าวได้แล้ว เพราะไม่เคยมีแหล่งข้อมูลอ้างอิงใดๆ รองรับ”
อย่างไรก็ตาม แม้คนไทยจะใช้เวลาในการอ่านเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียนก็พบว่า การอ่านของไทยยังอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ อ้างอิงจากข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของนายกุลธร เลิศสุริยะกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตร สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เมื่อปี 2555 ที่ระบุว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยคนละ 2-5 เล่ม/ปี เทียบกับคนสิงคโปร์ 50-60 เล่ม/ปี และคนเวียดนาม 60 เล่ม/ปี
และจากงานวิจัย 6 ชิ้นที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำมาอ้างอิงข้างต้น สาเหตุสำคัญของการ “ไม่อ่านหนังสือของคนไทย” ส่วนใหญ่เป็นเพราะชอบเสพสื่อประเภทอื่นๆ มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์หรืออินเตอร์เน็ต
นี่คือโจทย์ใหญ่ของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายว่า แม้คนไทยจะไม่ได้อ่านหนังสือน้อยบรรทัด แต่จะทำอย่างไรในการสร้าง “วัฒนธรรมการอ่าน” ให้คนไทยได้อ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะการอ่านไม่เพียงทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร สร้างความรื่นรมย์ ยังสร้างภูมิปัญญา ซึ่งจะเป็นต้นทุนในการพัฒนาประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน