ในปัจจุบันมีเด็กจำนวนมากที่เรียนกวดวิชา ทั้งเรียนในรูปแบบตัวต่อตัว และเรียนกับสถาบันกวดวิชา ดังนั้น การหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของเด็กแต่ละรุ่นภายในโรงเรียนกวดวิชา ประกอบกับการสอนที่พยายามเข้าถึงเด็ก ทำให้เด็กกล้าที่จะเปิดใจเล่าถึงปัญหาให้กับเหล่าติวเตอร์ฟัง สถาบันกวดวิชาเหล่านี้จึงเป็นแหล่งเก็บข้อมูลพฤติกรรมเด็กที่ใกล้เคียงที่สุด โดยเฉพาะสถาบันใหญ่ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ
“เด็กๆ ในยุคนี้แม้เขาจะมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น โตเร็ว มีความคิดความอ่านอย่างผู้ใหญ่ แต่จิตใจอ่อนแอ เขาต้องการที่พึ่งอย่างรุนแรง เช่น ถ้าเราสอนเขาแล้วเราเชื่อมั่น เขาเอาเราเป็นไอดอล บอกซ้ายขวาเขาทำหมด คือสถาบันครอบครัวมันสูญสลายแล้วเด็กไม่มีที่พึ่งจำนวนมาก พ่อแม่ไม่เข้าใจเรื่องที่ควรจะบอกลูก สื่อสารกับลูกไม่ถูก เรื่องบางเรื่อง เช่น เรื่องเพศศึกษา ต้องสอน ไม่มีวันห้ามเด็กดูได้อีกแล้ว เพราะว่าแทบเล็ตเพื่อน มือถือ ดูได้ทุกเรื่องเลยนะครับ อันนี้พอเราเข้าไป เราต้องไปศึกษาพฤติกรรมเด็กก่อนเราจึงจะรู้ว่าต้องสอนเขาอย่างไร ฉะนั้น พอเราสอนแล้วมันตรงกับโหมดเขาเมื่อไร เขาก็จะเปิดรับทันที”
นี่คือภาพคร่าวๆ ที่นายสุธี อัสววิมล หรือพี่โหน่ง เจ้าของกวดวิชาออนดีมานด์ กล่าวถึงปัญหาของเด็กยุคดิจิทัล โดยตอนที่แล้วเขาได้กล่าวถึงปัญหาของสถาบันครอบครัว ที่กระทบต่อการศึกษาของเด็กไปบ้างแล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแง่มุมเดียว ครั้งนี้เป็นการบอกเล่าปัญหา และพฤติกรรมของเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจไม่เข้าใจ และมองข้าม ผ่านการลงพื้นที่ การเก็บข้อมูล ของเขาและทีมงาน
ปัญหาการเรียนของเด็กยุคดิจิทัล
“เด็กยุคนี้วางแผนไม่เป็น” นายสุธี กล่าว โดยระบุว่าปัญหาเหล่านี้เกิดมาจาก เด็กนั้นได้รับข้อมูลที่ดีขึ้น แต่ข้อมูลมีมหาศาลจนล้น ประกอบกับประเทศไทย “สื่อหลัก” รายงานข้อมูลด้อยคุณภาพจำนวนมาก และเทคโนโลยีทำให้ข้อมูลไม่ผ่านการคัดกรอง จนทำให้บางข้อมูลเข้ามาหลอกเด็ก
เด็กๆ ในยุคนี้จะมี 2 โหมด คือ ระหว่างเรียนที่โรงเรียนเพื่อสอบให้ผ่าน ทำเกรด จะไม่ค่อยตั้งใจ แต่เมื่อถึงเวลาจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย พลังเขาจะมาทันที สามารถนั่งเรียนได้ยาว แต่เมื่อกลับไปบ้านอ่านหนังสือเฉลี่ยครึ่งชั่วโมงต่อวันเท่านั้น และจะเริ่มอ่านตอน ม.6 นี่คือคำตอบที่ได้จากเด็กๆ
“น้องๆ เริ่มอ่านตอน ม.6 ทั้งๆ ที่ตอนสอบ ม.6 จะสอบกลางภาค ฟังแล้วแปลกนะครับ เปิดเทอมเดือน พฤษภาคม สอบตุลาคม น้องมีเวลา 5 เดือน คือ 150 วัน อ่านวันละครึ่งชั่วโมง แปลว่าชั่วโมงสะสมการอ่านมีเพียง 70-80 ชั่วโมง แต่ต้องสอบ 7 วิชา เท่ากับอ่านวิชาละ 10 ชั่วโมง ไม่มีวันสอบติด แต่เด็กไม่เข้าใจเรื่องนี้ เด็กปัจจุบันไม่ว่าจะกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด หรือในเมือง เด็กวางแผนไม่เป็น”
การวางแผนไม่เป็นนี้ส่งผลให้เด็กหลุดคณะที่หวังในมหาวิทยาลัยที่อยากเข้า ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดคือเด็กจำนวนมากไม่รู้วันสมัครสอบที่ทางมหาวิทยาลัยประกาศ นี่แปลว่าความสามารถในการกลั่นกรองข้อมูลของเด็กต่ำมาก ผู้ใหญ่หลายคนชอบคิดว่าเด็กยุคนี้สามารถหาข้อมูลจากที่ไหนก็ได้ในโลก เด็กไม่รู้ได้อย่างไรว่าเปิดรับสมัครแล้ว จะมาโทษสถาบันไม่ได้ เพราะประกาศในเว็บไซต์แแล้ว แต่ก็เพราะข้อมูลมันล้น เด็กจึงมีวิจารณญาณและการตัดสินใจต่ำลงจากยุคก่อนๆ
“และที่ผมเล่ามาทั้งหมดนั้น ใน 5 เดือน พอเข้ากีฬาสี เด็กเสียไปเดือนหนึ่งเลย ไม่ว่าจะต้องเตรียมพาเหรด อะไรต่างๆ ทำให้พอวันสอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกคนจะบอกว่าอ่านหนังสือไม่ทันเลย แล้วก็ต้องมาสอบกลางปี แล้วช่วงนั้นจะมีการรับตรง โควตา จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ถึง 70-80% ส่วนแอดมิชชันกลางที่ไปรอตอนปลายปี มหาวิทยาลัยเปิดที่นั่ง 20-30% แปลว่าทั้งหมดผิดหมดตั้งแต่ระบบยันเด็กเลย”
นายสุธีกล่าวต่อไปว่า เมื่อตนลงพื้นที่ตามโรงเรียนต่างจังหวัด สิ่งที่ต้องสอนอันดับแรกคือ การวางแผนให้เด็ก ต้องใช้ทั้งไสยศาสตร์ คือ ตั้งกติกาว่า ใครอ่านหนังสือบนโต๊ะแล้วมีมือถือ ขอให้สอบไม่ติด เพราะมือถือเป็นสิ่งที่จะรบกวนสมาธิพวกเขา เขาจะเล่นไลน์ เล่นนั่นนี่ ต้องให้รู้เรื่องที่ต้องรู้ ไม่อย่างนั้นเด็กเขาไม่มีความสามารถในการควบคุมตัวเองเลย หรือโน้มน้าวด้วยเรื่องครอบครัว คือ บอกไปว่าถ้าน้องสอบไม่ติดจะไปบอกพ่อแม่อย่างไร คิดให้ดีนะ ถ้าปีนี้ทำให้พ่อแม่ไม่ได้ อีกหน่อยความสามารถในการเลี้ยงดูท่านจะไม่มี หรือจะเอาแบบฝรั่งที่ให้แยกกันอยู่กับพ่อแม่ไปเลย ก็ต้องไปคุยเรื่องพวกนี้ก่อน ไม่อย่างนั้นเด็กไม่มีจิตใจจะอ่านหนังสือ
“สมัยเราท่องศัพท์ระหว่างนั่งรถเมล์ได้ แต่เด็กสมัยนี้ไม่ได้ ไม่มีทางทำได้เพราะอยู่กับมือถือ อันนี้เป็นปัญหาซีเรียส ส่วนเด็กต่างจังหวัดปัญหาคือ รากหญ้าแย่แล้วจะพังแล้ว ผมไปโรงเรียนประจำจังหวัดเด็กบอกจะไม่ต่อมหาวิทยาลัยแน่ๆ 10% ทุกที่เลยเพราะรู้ว่ากว่าจะจบ 6 ปีไม่มีเงินจ่ายไม่มีเงินเรียน อยากเรียนจบเร็วที่สุดเพื่อที่จะได้มาทำงาน ซึ่งต้นทุนการศึกษาสมัยนี้สูงมาก น้องๆ ที่จะเรียนต่อต้องเสียเงินค่าสมัครสอบต่างๆ หลายพันบาท และอยากเรียนหมอน้อยลง”
ต้นทุนการศึกษา กว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ เมื่อสำนักข่าวไทยพับลิก้าตรวจสอบดูพบว่า ปัจจุบัน เมื่อเข้าสู่ ม.6 เด็กที่จะเรียนต่อระดับอุดมศึกษาต่างร่วมทำกิจกรรม “เดินสายสอบ” ซึ่งตามมาด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ตั้งแต่ ค่าสอบวิชาสามัญ 9 วิชา วิชาละ 100 บาท ค่าสอบ GAT-PAT 13 วิชา วิชาละ 140 บาท ส่วนนี้เด็กๆ สามารถเลือกสอบได้ตามที่คณะกำหนด ค่าสอบตรงมหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่ที่ 300-700 บาท ค่าสมัครสอบตรงสายแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชฯ อยู่ที่ 500-1,200 บาท ค่าสอบตรงของคณะและวิชาเฉพาะอื่นๆ อยู่ที่ 200-2,000 บาท และค่าสมัครสอบแอดมิชชั่นรวม 350 บาท เหล่านี้ไม่รวมค่าที่พัก ค่าเดินทาง ฯลฯ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่สมัครสอบวิชาใดวิชาเดียว หรือเลือกที่จะรอแอดมิชชั่นเพียงอย่างเดียว ทำให้ค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนการศึกษาก่อนเข้าศึกษาต่อสำหรับบางคนอาจพุ่งแตะหลักหมื่นบาท
นายสุธีกล่าวว่าตนทราบถึงต้นทุนการศึกษาดังกล่าว และรับรู้ว่าพ่อแม่เด็กบางคนรับภาระเหล่านี้ไม่ไหว ตนจึงทำระบบจดหมายน้อย ให้เด็กๆ เขียนเล่าเรื่องราวปัญหาเข้ามา แล้วตนจะทำการพิจารณาช่วยเหลือโดยการให้เด็กเหล่านั้นได้เรียนกวดวิชาของออนดีมานด์ฟรี พร้อมให้ทุนจำนวนหนึ่งสำหรับค่าสมัครสอบต่างๆ และในอนาคตตนจะเชื่อมโยงกับสถาบันกวดอื่นๆ เพื่อให้การช่วยเหลือครอบคลุมทุกสาขาวิชาที่เด็กต้องเตรียมพร้อมไปสอบ
นอกจากนี้ การสร้างกำลังใจให้เด็กก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ นายสุธีกล่าวว่า เด็กๆ ระดับรากหญ้าขาดทั้งขวัญและกำลังใจ บางโรงเรียนที่ไม่เคยมีเด็กสอบติดมหาวิทยาลัยมีชื่อ เด็กก็จะไม่คาดหวังที่จะไปให้ถึงจุดนั้นเลย แต่เมื่อวันหนึ่งมีเด็กบางคนในโรงเรียนสอบติดมหาวิทยาลัยมหิดล หรือจุฬาฯ เด็กๆ ในรุ่นถัดไปจะมีกำลังใจมากขึ้น ซึ่งต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิด ไม่ว่าจะด้วยการให้รางวัลแก่คนที่ทำได้ หรืออะไรก็ตาม ซึ่งการทำแบบนี้ไม่ใช่จะแนะนำให้เด็กเลือกเฉพาะมหาวิทยาลัยมีชื่อ แต่ต้องการให้เด็กมีความหวังว่าเขาเองก็มีศักยภาพที่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้ ไม่แพ้เด็กที่มีต้นทุนทางชีวิตทางสังคมสูงๆ
ตามกระแส Global Culture – ไร้ฝัน
สำหรับข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับการอ่านหนังสือของคนไทย และการมีทักษะด้านภาษาอังกฤษอยู่ในระดับไม่ดีเท่าใดนักนั้น นายสุธีกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหากับเด็กในยุคปัจจุบันอีกต่อไป เพราะเด็กอ่านมากกว่านั้นเนื่องจากเขาเสพข้อมูลจากโซเซียลมีเดียจำนวนมาก และเด็กๆ มีทักษะด้านภาษาอังกฤษดีขึ้น มีสัดส่วนการเข้าเรียนต่อหลักสูตรอินเตอร์หรือศึกษาต่อต่างประเทศระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น
การที่โลกเปิดกว้าง และเทคโนโลยีทำให้เข้าถึงสิ่งต่างๆ ง่ายขึ้น ทำให้เด็กมีพฤติกรรมตามแบบ Global Culture เด็กพูดจาฮาร์ดคอร์ขึ้น รุนแรงขึ้น I ก็คือ กู You ก็คือ มึง แต่จริงใจขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องทำความเข้าใจ เด็กๆ กล้าแบ็คแพ็คไปกันเที่ยวเอง โดยเฉพาะเด็กในเมืองเริ่มมีฝันตามกระแส แต่หากเป็นเด็กต่างจังหวัดกลับไร้ฝัน
นายสุธีกล่าวว่า เด็กๆ มีข้อมูลสำหรับตัวเองประมาณหนึ่ง สามารถบอกได้ว่า อยากเป็นหมอ อยากเป็นพยาบาล แต่พอถามว่าทำไมอยากเป็น กลับไม่มีใครให้เหตุผลที่ดีได้เลย เช่น น้องที่ต่างจังหวัดคนหนึ่งให้คำตอบว่าเห็นรุ่นพี่เขาติด แล้วหนูคิดว่ายังไงพยาบาลก็ไม่ตกงาน คำตอบจะเป็นประมาณนี้ คือ ไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่มีความชอบ ไม่มีความถนัด
กลับกัน เมื่อถามเด็กในเมืองว่าทำไมอยากเป็นหมอ เช่น ถามเด็กเตรียมอุดมศึกษาที่มีสัดส่วนติดคณะแพทย์มากที่สุดว่าทำไมอยากเป็นหมอ บ้างก็ตอบว่าแม่อยากให้เป็น หรือเห็นเพื่อนเป็น มันเป็นกระแสพี่ แต่เขาเลือกไปทั้งที่ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตที่มีความสุขหรือเปล่า ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น อย่างกรณีตนเอง ในช่วงก่อนยุคฟองสบู่แตกเป็นยุคที่ใครๆ ก็ต้องเรียนวิศวะ ตนจึงเลือกเรียนวิศวะแต่ตอนนี้มาเป็นครู นี่คือปัญหาที่เห็นที่เป็นภาพใหญ่ที่สุด
“ผมสนับสนุนการเปลี่ยนคณะของเด็ก อาทิ เรียนคณะนี้ไป 2 ปีแล้วเปลี่ยน เพราะดีกว่าไปเจ็บปวดอีก 30-40 ปี ซึ่งคนทำงานในรุ่นเดียวกันอาจจะตำแหน่งเดียวกันไม่ว่าอย่างไรอายุบวกลบ 5 ปีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เสียเวลา 2 ปีในมหาวิทยาลัยนั้นเรื่องเล็ก แต่ถ้าเขาเจ็บปวดอีก 30 ปี เพราะไม่ยอมเปลี่ยนคณะนั้นเรื่องใหญ่ กรณีแบบนี้อาจส่งผลให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งเคยมีข่าวที่นักศึกษาแพทย์ฆ่าตัวตาย เพราะเลือกเรียนตามใจคุณแม่ทั้งที่ตัวเองอยากเรียนคณะวิทยาศาสตร์ และเด็กในมหาวิทยาลัยสมัยนี้ก็เป็นไบโพลาร์เพิ่มมากขึ้น นี่เป็นข้อมูลจากมูลนิธิ อโชก้า ประเทศไทย”
เบื้องหลังความเข้าใจพฤติกรรมเด็ก
กว่าสิบปีในวงการกวดวิชา ผู้ก่อตั้งกวดวิชาออนดีมานด์ผู้นี้ ให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลจากเด็กๆ โดยตรงไม่แพ้การนำงานวิจัยจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในการสอนของตน เขาเปิดเผยว่า ตนเก็บข้อมูลทั้งแบบสุ่ม คือการทำแบบสอบถาม สำหรับเด็กที่เรียนกวดวิชากับสถาบัน มีการเก็บข้อมูลแบบสุ่ม คือให้ตอบแบบสอบถาม และใช้ Net Promoter Score อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อมูลทั้งประเทศ เพราะยังมีเด็กที่ไม่เรียนกวดวิชาอีกมาก ดังนั้น จึงมีการเก็บข้อมูลแบบดิบ คือ ทุกครั้งที่ลงพื้นที่โรงเรียนต่างๆ ก่อนเข้าไปติวในหอประชุมจะต้องมีเวลาคุยกับเด็ก 100 คน เพื่อสอบถามข้อมูล ให้ทราบอารมณ์ ความคิด และปัญหาของเด็กๆ
“สมมุติว่าผมไปติวตอนบ่ายโมง ผมจะไปตั้งแต่ตอนเที่ยง แล้วไปนั่งคุยกับเด็ก 100 คน ถามทีละคนว่า อยากเป็นอะไร อยากเป็นเพราะอะไร อ่านหนังสือวันละกี่ชั่วโมง กลุ้มใจอะไรมากที่สุด พอคุยไปสักระยะเราจะจับภาพโรงเรียนนั้นได้เลย แล้วผมทำแบบนี้มา 90 โรงเรียนเมื่อปีที่แล้ว การเก็บข้อมูลอย่างนี้ได้ข้อมูลที่เป็นจริง
ดังนั้นการเก็บข้อมูลวิธีเดียว ก็ไม่ได้ผล ถามเด็กอย่างเดียวก็ไม่ได้บางครั้งก็ต้องคุยกับครูด้วย เช่น ไปคุยกับครูแนะแนวที่โรงเรียน แล้วครูแนะแนวเขาก็ไม่สนับสนุนเลย เราก็รู้ทันทีว่าโรงเรียนนี้จะไม่รู้เรื่องระบบสอบแน่นอน ฉะนั้นเมื่อ เราเข้าไปก็จะแนะนำเรื่องระบบสอบก่อน แต่สุดท้ายถึงเวลาทำมันเรียบง่าย เพราะอะไรที่ทำแล้วเกิดผล ลงไปจุดนั้นก่อนเลย อาจเป็นแค่จุดย่อยๆ แต่พอแตะไปสัก 4-5 ครั้งจะรู้ว่าภาพใหญ่เป็นอย่างไร”
นอกจากนี้ นายสุธีได้กล่าวถึงพฤติกรรมของพ่อแม่ยุคปัจจุบันว่า เด็กยุคปัจจุบันได้รับการเลี้ยงดูดีกว่าเจเนอเรชั่นเก่ามาก เด็กต่างจังหวัดที่พ่อแม่เป็นชาวนาไม่ให้ลูกทำงานบ้าน คือให้ลูกเรียนอย่างเดียว พบแบบนี้ไม่น้อยแม้กระทั่งครอบครัวที่ไม่มีเงิน เขาอยากให้ลูกเรียนเพราะคนในหมู่บ้านที่ไปเรียนแล้วได้ดี การตกเขียวน้อยลง เพราะฉะนั้น เด็กโดน spoil ทั้งประเทศ เด็กเลยไม่เข้มแข็ง ความเข้มแข็งของเด็กน้อยลง
“สำหรับพ่อแม่ในกรุงเทพฯ ก็พบว่าจัดการแทนเด็กมากเกินไป มาสมัครเรียนให้ ใส่ google calendar หรือ calendar ใน iPhone ลิงค์กับลูก ให้ลูกไปเรียน แล้วมาเฝ้าลูกที่ตึกสยามกิตติ์ ไปยืนดูได้เลย ปูเสื่อเฝ้าลูกกันเลย มากันทั้งครอบครัว มีปิ่นโตมาด้วย นี่คือเด็กในเมือง”
นายสุธีกล่าวว่า จากสภาวะดังกล่าว ทำให้ออนดีมานด์มีการจัดงานแนะแนวผู้ปกครองประจำปี งานดังกล่าวก็เป็นเสมือนการโชว์ของของสถาบันไปพร้อมกับการให้องค์ความรู้ในการดูแลลูกแก่บรรดาคุณพ่อ คุณแม่ ซึ่งก็พบพฤติกรรมพ่อแม่ที่เปลี่ยนไป จากที่พ่อแม่เคยรับข้อมูลแล้วไปพยายามโน้มน้าวเด็ก ปัจจุบันเขาจะให้เด็กมารับข้อมูลเหล่านั้นด้วย
“ในงานผมได้คุยกับคุณแม่รายหนึ่ง เขาก็เล่าว่า ลูกแม่ แม่ไม่เคยบอกให้เขาเข้า (เรียนต่อมหาวิทยาลัย) อะไรเลย เขาอยากเป็นอะไรก็แล้วแต่เขา แม่ก็ช่วยให้ข้อมูล แต่ผมก็แอบไปคุยกับน้อง น้องเขาบอกว่า แม่นะ ให้ข้อมูลหมออย่างเดียวเลยพี่ แล้วก็บอกให้ผมคิดเอง พอผมอยากได้อย่างอื่น แม่ก็บอกว่ามันจะดีหรือหมอดีกว่าตั้งเยอะนะ ก็เป็นประมาณนี้”
นายสุธีกล่าวทิ้งท้ายว่า กรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็มาจากการที่ประเทศไทยไม่กล้าที่จะฉีกเรื่องการศึกษาออกไป เช่น ข้อมูลงานวิจัยจากผู้ก่อตั้งบริษัทโซนี่ หรืองานวิจัยอื่นๆ ระบุให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า เซลล์สมองมนุษย์โตสูงสุดตอนอายุ 1-3 ปี แต่กลับไม่มีการศึกษาภาคบังคับมองมาที่เด็ก 1-3 ปีเลย เข้าอนุบาลก็สายเสียแล้ว
“บังคับในที่นี้หมายถึงบังคับพ่อแม่ ให้พ่อแม่ต้องเข้าหลักสูตรอบรมดังต่อไปนี้ อะไรก็ว่าไป ถ้าเข้าร่วมจะลดภาษี 200% ได้สิทธิพิเศษทางภาษี หรือหากเป็นคนด้อยโอกาสจะได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 600 บาท หากมาเข้าคอร์สดูแลลูก โดยมีข้อแม้ว่าต้องเป็นพ่อแม่เท่านั้น ห้ามเอายายหรือคนอื่นเข้ามา เพราะพ่อแม่ควรรู้สิ่งที่ต้องสอนลูกตอน 1-3 ปี ต้องรู้เรื่องเซลล์สมองกำลังโต ต้องรู้เรื่องแกนสมอง ต้องรู้เรื่อง growth mindset ต้องรู้เรื่อง metacognition ต้องรู้ว่าการใช้คำพูดรุนแรงจะฝังไปถึงเด็กตลอดชีวิต เด็กพูดคำหยาบก็ฝังตอนเริ่มฟังใหม่ๆ ทั้งนั้น แล้วเรียนรู้วิธีที่จะปล่อยเขาแต่เขายังปลอดภัยได้อย่างไร เรื่องนี้ทำหลักสูตรแห่งชาติได้เลย บางทีเราต้องฉีกบ้าง ซึ่งจริงๆ เป็นสิ่งที่รู้อยู่ว่าต้องแก้ แต่ไม่ได้แก้”