ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วาระกรุงเทพ 2560 (2) : “เมืองน่าเที่ยว” แต่ “ไม่น่าอยู่” เหตุเมืองไม่ปลอดภัย

วาระกรุงเทพ 2560 (2) : “เมืองน่าเที่ยว” แต่ “ไม่น่าอยู่” เหตุเมืองไม่ปลอดภัย

15 เมษายน 2016


นับถอยหลัง 1 ปีอย่างเป็นทางการสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะหมดวาระในเดือนมีนาคม 2560 หลังจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ดำรงตำแหน่งมาต่อเนื่อง 2 สมัยตั้งแต่ปี 2552 โดย 8 ปีที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณบริหารไปแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณบริหารกว่า 25% และมีงบลงทุนประมาณ 30%

ขณะที่สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้เคยรายงานผลวิจัยเรื่อง “10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพฯ” ระบุว่า “กรุงเทพมหานคร” แม้จะได้รับการโหวตจากบรรดานักท่องเที่ยวให้เป็น “เมืองน่าเที่ยว” ถึง 4 ปีซ้อน แต่เมื่อ The Economist Intelligence Unit (EIU) จัดอันดับ “เมืองน่าอยู่” กลับได้อันดับ 102 จาก 140 ประเทศ คำถามคือ อะไรบ้างที่ทำให้กรุงเทพมหานครไม่น่าอยู่ และเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจะกำหนด “วาระกรุงเทพ” ในช่วงเวลาจากนี้ไปจนถึงวันที่รอคอยอำนาจกลับมาสู่มือประชาชนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่เมืองหลวงของประเทศอีกครั้ง(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ความน่าอยู่ของเมือง

ในรายละเอียดรายงานของ EIU ให้คะแนนตั้งแต่ 0-100 ถ้าคะแนนน้อยกว่า 50 แปลว่าเกือบทุกแง่มุมของตัวชี้วัดเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตในเมืองอย่างรุนแรง, 50-60 คะแนน แปลว่ามีอุปสรรคของการใช้ชีวิตในเมืองโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ, 60-70 คะแนนแปลว่ามีปัจจัยด้านลบที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน, 70-80 คะแนน แปลว่าการใช้ชีวิตประจำวันในเมืองเป็นไปอย่างดี แต่มีบางแง่มุมที่อาจจะเป็นอุปสรรคบ้าง และ 80-100 คะแนน แปลว่าแทบไม่มีอุปสรรคหรือความท้าทายใดๆ ในการใช้ชีวิตในเมือง

โดย EIU แบ่งตัวชี้วัด 5 ประเภท 1) ความปลอดภัยและเสถียรภาพ (Stability) ให้น้ำหนัก 25% มีตัวชี้วัด ได้แก่ ความชุกชุมของอาชญากรรมเล็กน้อยๆ, ความชุกชุมของอาชญากรรมที่มีความรุนแรง, การถูกคุกคามด้วยความหวาดกลัว, การถูกคุกคามจากความขัดแย้งทางทหาร, การถูกคุกคามจากภาวะไม่สงบของเมือง

2) สาธารณสุข ให้น้ำหนัก 20% มีตัวชี้วัด ได้แก่ ความพร้อมให้บริการของสถานพยาบาลเอกชน, คุณภาพของสถานพยาบาลเอกชน, ความพร้อมให้บริการของสถานพยาบาลรัฐ, คุณภาพของสถานพยาบาลรัฐ, ความพร้อมของการเข้าถึงยาโดยไม่ต้องใช้คำสั่งของแพทย์ (over-the-counter drugs) และตัวชี้วัดสาธารณะสุขทั่วไปของธนาคารโลก

3) สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้น้ำหนัก 25% มีตัวชี้วัด ได้แก่ อุณหภูมิและความชื้นของเมือง, ความรู้สึกไม่สบายตัวของนักท่องเที่ยวจากสภาพอากาศ, ระดับการคอร์รัปชัน, การจำกัดการนับถือศาสนาหรือการจำกัดประเด็นเชิงสังคมต่างๆ, ระดับการเซนเซอร์ของสิ่งต่างๆ, ความพร้อมให้บริการของกีฬาประเภทต่างๆ, ความพร้อมทางด้านวัฒนธรรม, อาหารและเครื่องดื่ม, สินค้าและบริการต่างๆ

4) การศึกษา ให้น้ำหนัก 10% มีตัวชี้วัด ได้แก่ ความพร้อมให้บริการการศึกษาของเอกชน, คุณภาพของบริการการศึกษาของเอกชน, ตัวชี้วัดการศึกษาของรัฐจากธนาคารโลก

5) โครงสร้างพื้นฐานของเมือง ให้น้ำหนัก 20% มีตัวชี้วัด ได้แก่ คุณภาพของเครือข่ายถนน/ระบบขนส่งสาธารณะ/โครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศ, ความพร้อมใช้งานของบ้านที่มีคุณภาพ, คุณภาพของการให้บริการไฟฟ้าและน้ำประปา และคุณภาพของระบบโทรคมนาคม

การเดินทางโดยเรือในคลองแสนแสบ
การเดินทางโดยเรือในคลองแสนแสบ

“ความปลอดภัย” รั้ง 10 อันดับท้ายจาก 140 เมือง

กรุงเทพมหานครได้คะแนนโดยรวมเพียง 62.5 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนถือว่าอยู่ในระดับที่สูงพอสมควร เป็นรองเพียงสิงคโปร์ และเมืองกัวลาลัมเปอร์ของประเทศมาเลเซียเท่านั้นที่ได้คะแนน 88.7 และ 75.2 ตามลำดับ

หากเจาะลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่า กรุงเทพมหานครมีปัญหาด้าน “ความปลอดภัย” อย่างเห็นได้ชัด โดยได้คะแนนเพียง 40 คะแนนเท่านั้น ซึ่งมีเพียง 10 เมืองจาก 140 เมืองในการสำรวจที่ได้คะแนนน้อยกว่าหรือเท่ากัน เช่น เมืองคาราคัส เมืองหลวงของเวเนซุเอลา ได้คะแนนความปลอดภัย 35 คะแนน, เมืองฮาราเร เมืองหลวงของซิมบับเว ได้คะแนนความปลอดภัย 40 คะแนนเท่ากัน เป็นต้น

และเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่ง EIU สำรวจมา 8 เมือง 7 ประเทศ ความปลอดภัยกรุงเทพมหานครของไทยรั้งอยู่อันดับสุดท้าย น้อยกว่าเมืองพนมเปญของกัมพูชาที่ได้คะแนนความปลอดภัย 60 คะแนน, เมืองฮานอยและเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ของประเทศเวียดนามที่ได้ 55 คะแนนเท่ากัน, เมืองจาการ์ตาของอินโดนีเซียที่ได้ 50 คะแนน, เมืองมะนิลาของฟิลิปปินส์ที่ได้ 60 คะแนน, เมืองสิงคโปร์ที่ได้ 95 คะแนน และกัวลาลัมเปอร์ที่ได้ 80 คะแนน

ขณะที่ขณะด้านอื่นๆ กรุงเทพมหานครได้คะแนนในเกณฑ์ระดับปานกลาง 60-70 คะแนน ได้แก่ ด้านสาธารณสุข 62.5 คะแนน, ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม 64.4 คะแนน และด้านโครงสร้างพื้นฐาน 69.6 คะแนน ขณะที่การศึกษากลับได้คะแนนสูงสุดที่ 100 คะแนน

สถิติ กทม. 8 ปี อาชญากรรมลดลง 42% จาก 35,908 คดี

ทั้งนี้ เมื่อเปิดดูหนังสือสถิติกรุงเทพมหานครประจำปี 2557 จัดทำโดยกองยุทธศาสตร์บริหารจัดการ สำนักยุทธ์ศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ในปี 2557 กรุงเทพมหานครมีจำนวนอาชญากรรม 20,913 คดี แบ่งเป็นคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ 9,946 คดี, คดีอาญาที่น่าสนใจ 6,875 คดี, คดีที่เกี่ยวกับชีวิตร่างกาย 3,515 คดี และคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญ 577 คดี โดยรวมลดลงจากปี 2552 ที่มีจำนวนอาชญากรรม 35,908 คดี แบ่งเป็นคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ 16,957 คดี, คดีอาญาที่น่าสนใจ 12,994 คดี, คดีที่เกี่ยวกับชีวิตร่างกาย 5,204 คดี และคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญ 753 คดี

นอกจากนี้ ยังมีสถิติน่าสนใจอีกหลายประการ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ในปี 2557 กรุงเทพมหานครมีสวนสาธารณะ 6,872 แห่ง พื้นที่ 31.06 ตารางกิโลเมตร (คิดเป็น 1.98% ของพื้นที่ทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่มีเพียง 4,278 แห่ง พื้นที่ 22.64 ตารางกิโลเมตร (คิดเป็น 1.44%) และหากเทียบกับจำนวนประชากร 5 ล้านคน (ตามทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทย) กรุงเทพมหานครจะมีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรล้านคนในปี 2557 ที่ 5.46 (หากรวมประชากรแฝงซึ่งคาดว่ามีอีกประมาณ 4 ล้านคน พื้นที่สีเขียวจะลดลงเหลือเพียง 3.45 ตารางกิโลเมตรต่อประชาชนล้านคนเท่านั้น) น้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหลายเมืองตามฐานข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เช่น เมืองซิดนีย์ของออสเตรเลียที่มีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรล้านคนที่ 46.47, เมืองแวนคูเวอร์ของแคนาดาที่ 98.6, เมืองโรมของอิตาลีที่ 225, เมืองโซลของเกาหลีใต้ที่ 5.34, เมืองโตเกียวของญี่ปุ่นที่ 4.56 เป็นต้น

ด้านการบริหาร ปี 2557 กรุงเทพมหานครมีข้าราชการ 97,292 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 22,055 คน, ข้าราชการครู 16,087 คน, ลูกจ้างประจำ 39,325 คน และลูกจ้างชั่วคราว 19,825 คน ลดลงจากปี 2552 ที่มี 101,148 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 23,961 คน, ข้าราชการครู 16,133 คน, ลูกจ้างประจำ 42,143 คน และลูกจ้างชั่วคราว 18,911 คน เทียบกับต่างประเทศ เช่น เมืองโซลของเกาหลีใต้ที่มีข้าราชการรวมเพียง 49,000 คน เมืองจาการ์ตาของอินโอนีเชีย 69,235 คน ตามลำดับ ขณะที่ปี 2557 มีงบประมาณอบรม สัมมนา ศึกษา ดูงาน พัฒนาข้าราชการ 128 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่ 124.8 ล้านบาท

สุดท้ายในประเด็นการศึกษา ปี 2557 กรุงเทพมหานครมีจำนวนโรงเรียน 438 โรงเรียน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่มี 435 โรงเรียน, มีครู 14,331 คน ลดลงจากปี 2552 ที่มี 15,094 คน, มีจำนวนนักเรียน 300,070 คน ลดลงจากปี 2552 ที่มี 338,638 คน นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนฝึกอาชีพอีกเพียง 10 โรงเรียน ไม่เพิ่มขึ้นตลอด 8 ปีที่ผ่านมา มีครู 221 คน ลดลงจากปี 2552 ที่มี 296 คน เช่นเดียวกับจำนวนนักเรียนที่ลดลงจาก 25,057 คนในปี 2552 เหลือเพียง 18,754 คนในปี 2557