ThaiPublica > คนในข่าว > รัฐบาล “ม้าสามหัว” ช่วยกันลากรถประชาธิปไตยเมียนมา

รัฐบาล “ม้าสามหัว” ช่วยกันลากรถประชาธิปไตยเมียนมา

22 มีนาคม 2016


รายงาน…อิสรนันท์

ต่อแต่นี้ไป การเมืองในแดนดินถิ่นลุ่มน้ำอิรวดีคงจะดูไม่จืดจริงๆ หลังจากได้รัฐบาลพลเรือนชุดแรกในรอบกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ก็เหมือนกับ “ม้าสามหัว” ช่วยกันลากขบวนรถสายประชาธิปไตยไม่มีผิด โดยม้านำกลับเป็นม้าแทนไม่ใช้ม้าตัวจริง ซึ่งก็คงเหมือนกับประธานาธิบดีทิน อู ที่สื่อหลายสื่อให้สมญาว่าเป็นประธานาธิบดีขัดตาทัพบ้าง ประธานาธิบดีนอมินีของนางออง ซาน ซูจี บ้าง ประธานาธิบดีหุ่นบ้าง ขณะที่ม้ารองอันดับ 1 ก็เห็นได้ชัดตั้งแต่แรกว่าเป็นม้านอกคอกที่ค่อนข้างหุนหันพลันแล่นและไม่ชอบเดินตามม้านำ ส่วนม้ารองอีกตัวหนึ่งกลับเป็นม้าต่างถิ่น ม้านอกสายตาที่ไม่มีใครรู้จัก จึงไม่รู้ว่าจะบังคับง่ายหรือยาก

ที่แปลกมากกว่านั้นก็คือ ทั้งม้านำและม้ารองตัวที่ 1 ต่างเป็นม้าเชื้อสายมอญทั้งคู่ แถมยังเป็นม้านอกสายตามาก่อน เริ่มจากประธานาธิบดีทิน จ่อ ชาวมอญคนแรกที่ได้เป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของพม่าในรอบเกือบร้อยปี ถือเป็นบุรุษลึกลับที่ชาวพม่ารวมทั้งสื่อต่างชาติแทบจะไม่เคยรู้จักและแทบจะไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน เล่นเอาทั้งเว็บไซต์อิรวดีและสื่อยักษ์ใหญ่อย่างซีเอ็นเอ็นและสำนักข่าวตะวันตกถึงกับหน้าแตกเย็บไม่ติดไปตามๆ กัน เมื่อแย่งกันเป็นเป็นสื่อแรกที่นำเสนอประวัติและภาพของทิน จ่อ จนเกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่ ด้วยความไม่รู้จักจึงจับแพะชนแกะนำประวัติและภาพของคนชื่อซ้ำกันมายำจนเละโดยไม่มีการตรวจสอบความถูกต้อง แถมยังดูถูกว่าเป็นคนขับรถส่วนตัวของนางซูจี ซึ่งยินดีจะเป็นประธานาธิบดีหุ่นของเธอ ท้ายสุดสื่อเหล่านี้ต่างยอมรับความผิดพลาดแต่โดยดีและรีบแก้ไขประวัติให้ถูกต้อง

ทิน จ่อ ชาวมอญคนแรกที่ได้เป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของพม่าในรอบเกือบร้อยปี

ประธานาธิบดีทิน จ่อ (ขวาสุด)ชาวมอญคนแรกที่ได้เป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของพม่าในรอบเกือบร้อยปี ที่มาภาพ : http://www.arakanwatch.org/wp-content/uploads/2016/03/htin-kyaw-777x437.jpg
ประธานาธิบดีทิน จ่อ (ขวาสุด)ชาวมอญคนแรกที่ได้เป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของพม่าในรอบเกือบร้อยปี ที่มาภาพ : http://www.arakanwatch.org/wp-content/uploads/2016/03/htin-kyaw-777×437.jpg

ทิน จ่อ เกิดเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ปี 2489 หรือมีอายุย่าง 70 ปีเต็มในกลางปีนี้ อ่อนกว่านางซูจีแค่ปีเดียว เป็นคนคลุกวงนอกที่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาก่อน แม้ว่าพ่อตัว พ่อตา และภรรยา จะเป็น ส.ส. ระดับแกนนำก็ตาม หนำซ้ำ เพิ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีได้เพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น แต่สำหรับสมาชิกระดับสูงภายในพรรคต่างรู้จักเขาดีใน 2 ฐานะ ฐานะแรกก็คือเป็นเพื่อนสนิทของนางซูจีตั้งแต่ยังเด็ก ฐานะที่ 2 ก็คือเป็นลูกชายของมิน สุ วุน นักเขียน กวี และนักวิชาการพม่าซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในพม่าและญี่ปุ่น นอกเหนือจากเป็นผู้นำเอ็นแอลดีรุ่นแรกๆ แถมยังรู้จักสนิทสนมกับนายพลออง ซาน พ่อของนางซูจีเป็นอย่างดี รวมทั้งยังรู้จักกับอู ถั่น อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ตอนที่มิน สุ วิน ชนะเลือกตั้งปี 2533 ได้รับการวางตัวเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล แต่ถูกรัฐบาลทหารล้มการเลือกตั้งครั้งนั้นเสียก่อน

ด้วยความที่พ่อของทั้ง 2 คนรู้จักสนิทสนมกันมาก่อน พลอยทำให้ทิน จ่อ กับซูจี เป็นเพื่อนรักกันมาตั้งแต่เด็ก เคยเรียนหนังสือด้วยกันที่โรงเรียนประถมหมายเลข 1 ในเมืองตะเกิงหรือย่างกุ้งสมัยยังเป็นวัยรุ่น ทิน จ่อ ได้เดินตามรอยพ่อด้วยการเป็นนักเขียนวรรณกรรมเด็ก ใช้นามปากกาว่าบาลาดันหรือนักรบมอญ อันเป็นชื่อเล่นที่พ่อตั้งให้ตอนมีอายุแค่ 3 เดือน หนังสือของเขาได้รับรางวัลวรรณกรรมเด็กหลายรางวัลด้วยกัน

หลังจบปริญญาตรีและโทที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยย่างกุ้งในปี 2505 ทิน จ่อ ได้เริ่มทำงานเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย อันเป็นตำแหน่งที่ทรงเกียรติในสังคม ก่อนจะเป็นนักวิชาการคนแรกที่ได้ทุนจากกรมคอมพิวเตอร์ อันเป็นกรมใหม่ที่ไม่มีคนรู้จัก ให้เดินทางไปเรียนต่อที่ต่างประเทศเมื่อปี 2514 โดยไปเรียนต่อที่สถาบันวิชาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยลอนดอนที่ขณะนี้ยุบไปแล้ว ในช่วงเดียวกับที่นางซูจีพำนักอยู่ที่ลอนดอน ต่อมาเธอไปเรียนต่อที่คณะตะวันออกและแอฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน จึงรู้จักกันและยังพลอยรู้จักกับไมเคิล อารีส สามีชาวอังกฤษของเธอด้วย

หลังสำเร็จปริญญาโทสาขาคอมพิวเตอร์เมื่อปี 2518 ทิน จ่อ ได้เดินทางกลับประเทศและไปรับราชการที่กระทรวงอุตสาหกรรมในปีเดียวกันนั้น ก่อนจะย้ายไปประจำที่กรมความสัมพันธ์เศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศในอีก 5 ปีให้หลัง แต่ก็ยังไม่ทิ้งการเรียนจึงได้รับปริญญาจากต่างประเทศอีกหลายใบ รวมไปถึงปริญญาด้านการบริหารที่อาเธอร์ ดี ลิตเติล บิสซิเนสสคูล ในแมสซาชูเซตส์เมื่อปี 2530 ซึ่งคณะนี้เปลี่ยนชื่อเป็นฮัลต์ อินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนสสคูล จากการจัดอันดับหลักสูตรเอ็มบีเอของบิสสิเนสสคูล ทั่วโลก ที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ประจำปี 2555 และอีกหลายปี ปรากฏว่า ฮัลต์รั้งอันดับที่ 1 ในประเภทประสบการณ์นานาชาติสำหรับนักศึกษา เมื่อวัดจากเกณฑ์หลักสูตรในต่างประเทศและโอกาสในการเรียนรู้ สะท้อนว่าทิน จ่อ เป็นคนเรียนเก่งไม่ใช่น้อย

อย่างไรก็ดี เจ้าตัวได้ลาออกจากกระทรวงต่างประเทศเมื่อปี 2535 และอาสาเป็นผู้อำนวยการของมูลนิธิขิ่น จี องค์กรเพื่อการกุศลที่นางซูจี ตั้งขึ้นเมื่อกลางปี 2558 เพื่อรำลึกถึงแม่ผู้ล่วงลับ โดยมุ่งช่วยเหลือด้านการพัฒนา การศึกษา และสาธารณสุข ในพื้นที่ทุรกันดารทั่วประเทศ

แม้จะสนิทสนมกันมากแค่ไหน ทิน จ่อ ก็ไม่คิดจะเล่นการเมืองแม้แต่น้อย แม้ว่าซู ซู วิน ภรรยาของตัวเอง ซึ่งสนิทสนมกับนางซูจีเช่นกันได้เป็น ส.ส. 2 สมัย โดยได้รับเลือกเป็น ส.ส. สมัยแรกเมื่อปี 2555 และได้รับเลือกเป็น ส.ส. อีกสมัยเมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทน และอาจก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ขณะที่อู วิน ผู้เป็นพ่อตา ซึ่งอดีตนั้นเคยเป็นพันเอกนอกราชการ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีคลังสมัยรัฐบาลนายพลเน วิน เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดีเมื่อช่วงทศวรรษ 2533 และรั้งตำแหน่งเลขาธิการพรรคและเหรัญญิก

ช่วงที่ซูจีถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพักริมทะเลสาบอินเลในย่างกุ้ง ทิน จ่อ เป็นหนึ่งในคนสนิทไม่กี่คนที่ได้รับอนุญาตให้ไปเยี่ยม และปรากฏตัวอยู่เคียงข้างเธอเสมอแม้ในวันที่เธอได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณเมื่อปี 2553 ความที่เป็นเพื่อนสนิทที่ซูจีไว้วางใจมากที่สุด ทิน จ่อ จึงอาสาขับรถให้เธอในยามที่คนขับรถตัวจริงไม่ว่าง จนสื่อเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนขับรถส่วนตัว

ในเมื่อนางซูจีติดกับดักรัฐธรนรมนูญที่รัฐบาลทหารร่างขึ้นมาจนไม่สามารถสวมหัวโขนประธานาธิบดีได้ คนเดียวที่เธอไว้วางใจว่าจะสามารถทำหน้าแทนได้ก็คือทิน จ่อ เพื่อนเก่าเพื่อนแก่ผู้นี้นี่เอง

มินต์ ส่วย เป็นรองประธานาธิบดีสายทหาร

พล.ท. มินต์ ส่วย เป็นรองประธานาธิบดีสายทหาร(ซ้าย)ที่มาภาพ : http://www.rfa.org/english/news/myanmar/
พล.ท. มินต์ ส่วย เป็นรองประธานาธิบดีสายทหาร(ซ้าย)ที่มาภาพ : http://www.rfa.org/english/news/myanmar/

และขณะที่นางซูจีเลือกคนสนิทไว้วางใจได้อย่างทิน จ่อ เป็นประธานาธิบดี กองทัพก็เลือก พล.ท. มินต์ ส่วย เป็นรองประธานาธิบดีสายทหาร เพราะเชื่อมั่นว่าจะรักษาผลประโยชน์ของกองทัพอย่างสุดกำลัง โดยเฉพาะผลประโยชน์ของอดีตประธานาธิบดีตาน ฉ่วย และอดีตครอบครัวหมายเลขหนึ่งที่เป็นคนผลักดันเต็มตัวให้ก้าวขึ้นมาจนถึงจุดนี้ได้ แม้ว่าจะมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและความสง่างามของ พล.ท. มินต์ ส่วย ในฐานะที่เป็นนายพลสายเหยี่ยวที่แสนเฉียบขาด มีผลงานชิ้นโบว์ดำที่กลายเป็นตราบาปติดตัวไปจนตายหลายชิ้นด้วยกัน

พล.ท. มินต์ ส่วย เกิดเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2494 หรือขณะนี้มีอายุ 65 ปี มีเชื้อสายมอญเหมือนกับประธานาธิบดีทิน จ่อ ได้ชื่อว่าเป็นทหารอาชีพแท้ๆ นับตั้งแต่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิชาการป้องกันประเทศของพม่ารุ่น 15 เมื่อปี 2514 หรือเป็นรุ่นพี่ของนายพลมินต์ อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารบกที่จบรุ่น 19 จากนั้นก็เริ่มรับราชการทหารเริ่มจากติดยศร้อยโทและตำแหน่งก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทั่งได้ไปประจำการที่สำนักงานสงครามในกรุงย่างกุ้งแทนอดีตนายพลจัตวา เต็ง เส่ง ซึ่งต่อมาเป็นประธานาธิบดีที่กำลังจะถอดหัวโขนในปลายเดือนนี้ แล้วได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการเขตสามเหลี่ยมทองคำหรือพื้นที่ชายแดนพม่า ไทย และลาว ในปลายทศวรรษ 2533 ได้ขึ้นมาเป็นเสนาธิการทหารในสำนักงานสงคราม อันเป็นตำแหน่งที่ทรงอำนาจและขึ้นตรงต่อนายพลอาวุโส ตาน ฉ่วย และนายพลหม่อง เอ บุรุษเหล็กหมายเลข 2 ของกองทัพในช่วงนั้น

เริ่มติดยศเป็นพลจัตวาและผู้บัญชาการกองพลทหารราบเบาที่ 11 ในปี 2540 ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการประจำกองบัญชาการภาคตะวันออกเฉียงใต้และสมาชิกสภาสันติภาพและพัฒนาแห่งรัฐ (เอสพีดีซี) ในปี 2544 แล้วย้ายไปเป็นผู้บัญชาการกองบัญชาการย่างกุ้ง ซึ่งปรกติแล้วจะเป็นตำแหน่งที่ผู้นำจะกันไว้สำหรับทหารอาวุโสที่สนิทสนมและไว้วางใจได้เท่านั้นพร้อมๆ กับได้ติดยศพลตรี นอกจากนี้ยังสวมหัวโขนเป็นประธานเอสพีดีซีประจำย่างกุ้ง เป็นผู้บัญชาการทหารฝ่ายกิจการความมั่นคงหลังนายพลขิ่น ยุ้นต์ ถูกปลดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2547 อีก 2 ปีต่อมา ก็ได้รับความวางใจจากนายพลตาน ฉ่วย และนายพลหม่อง เอ ให้ไปคุมสำนักงานกองกำลังปฏิบัติการพิเศษ 5 อันเป็นหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงในย่างกุ้ง

มินต์ ส่วย นับเป็นนายทหารเชื้อสายมอญคนแรกที่ได้เลื่อนยศเป็นพลโทในปี 2548 แล้วก้าวขึ้นมาเป็นเจ้ากรมพลาธิการ ท่ามกลางข่าวลือในช่วงนั้นว่าจะขึ้นมาคั่วตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแทนนายพลหม่อง เอ ที่จะพ้นวาระในปี 2552

ว่ากันว่าการที่มินต์ ส่วย ก้าวกระโดดแซงหน้าเพื่อนร่วมรุ่นเป็นเพราะเป็นทหารที่ไม่เคยแตกแถว ยึดมั่นในวินัยและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยไม่เคยตั้งคำถามว่าผิดหรือถูก จนได้สร้างผลงานชิ้นโบว์ดำอย่างน้อย 3 ชิ้นด้วยกัน

ผลงานแรกก็คือ การกล้าเข้าไปจับกุมลูกเขยและหลานชาย 3 คนของอดีตบุรุษเหล็กเน วิน เมื่อปี 2545 หลังมีข่าวรั่วว่าคณะนายทหารใหญ่กลุ่มหนึ่งวางแผนจะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครอง ผลงานชิ้นโบว์ดำชิ้นที่ 2 ก็คือเป็นคนจับกุมนายกรัฐมนตรีขิ่น ยุ้นต์ ที่สนามบินหลังถูกปลดจากตำแหน่งและยังตามจับคนสนิทอีกหลายคนในหน่วยข่าวกรองแห่งชาติเมื่อปี 2547 แล้วได้รางวัลตอบแทนด้วยการเข้ามาคุมสำนักข่าวกรองกลางแห่งชาติแทนขิ่น ยุ้นต์ ผลงานโบว์ดำชิ้นที่ 3 ก็คือ สั่งการให้ทหารสลายการการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของเหล่าพระสงฆ์เมื่อปี 2550 หรือเรียกสั้นๆ ว่า “การปฏิวัติผ้าเหลือง” ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 30 คน ในจำนวนนี้มีพระสงฆ์รวมอยู่

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมไปถึงผลงานอัปยศอื่นๆ อาทิ การสั่งกวาดล้างประชาชนที่แอบให้ข่าวกับชาวต่างชาติ โดยพุ่งเป้าไปที่นักธุรกิจ ข้าราชการ และนักข่าวท้องถิ่น การสั่งการให้ใช้มาตรการเด็ดขาดและรุนแรงจัดการกับนักเคลื่อนไหวก่อนหน้าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 แล้วได้รางวัลตอบแทนได้เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารหรือเรียกสั้นๆ ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดย่างกุ้ง กองทัพยังเตรียมเสนอชื่อเขาเป็นรองประธานาธิบดีแทนทิน อ่อง วินต์ อู ที่ลาออกเนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่เนื่องจากลูกชายคนหนึ่งหรือที่บางสื่อกล่าวว่าเป็นลูกเขยถือ 2 สัญชาติ คือ พม่าและออสเตรเลีย ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ชวดตำแหน่งนี้ไป

ผลงานอัปยศอีกชิ้นหนึ่งที่ทำให้ชื่อเขาฉาวโฉ่ไปทั่วก็คือ การนำชื่อของนายทหารระดับสูงรวมทั้งตัวเองไปติดตามถุงยังชีพจากต่างประเทศรวมทั้งไทยที่ส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากไซโคลนนาร์กีส ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 2 หมื่นคน

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมไปถึงข้อครหาที่ว่ามีชื่อติดอยู่ในบัญชีดำของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ แต่กองทัพไม่ถือว่าเป็นปัญหาแต่อย่างใด ส่วนเรื่องที่ว่ามีลูกหรือลูกชายที่ว่าถือสองสัญชาตินั้น ขณะนี้ได้สละสัญชาติออสเตรเลียแล้วถือเป็นชาวพม่าเต็มตัว

ในเมื่อเป็นสนิทของบุรุษเหล็กตาน ฉ่วย เสียอย่าง ปาฏิหาริย์ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

เฮนรี วัน เชี่ยว ชาวพม่าเชื้อสายชิน รองประธาธิบดีคนที่2

เฮนรี วัน เชี่ยว ชาวพม่าเชื้อสายชิน รองประธาธิบดีคนที่2 ที่มาภาพ : http://sea-globe.com/system/wp-content/uploads/2016/03/h_52638635.jpg
เฮนรี วัน เชี่ยว ชาวพม่าเชื้อสายชิน รองประธาธิบดีคนที่2 ที่มาภาพ : http://sea-globe.com/system/wp-content/uploads/2016/03/h_52638635.jpg
ส่วนรองประธานาธิบดีคนที่ 2 นั้น จนถึงทุกวันนี้ยังเป็นปมปริศนาที่ยังไม่มีใครรู้ว่าเหตุใดพรรคเอ็นแอลดีของนางซูจีจึงเสนอชื่อเฮนรี วัน เชี่ยว ชาวพม่าเชื้อสายชินและนับถือศาสนาคริสต์ ขึ้นมาเป็นม้ารองตัวที่ 2 จากเดิมที่มีข่าวลือหนาหูว่าเตรียมเสนอชื่อเลขาธิการของพรรคหัวเสือจากรัฐฉานหรือไทใหญ่ขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดี แต่โผกลับพลิกในนาทีสุดท้ายกลายเป็น เฮนรี วัน เชี่ยว บุรุษลึกลับจนแม้กระทั่ง ส.ส. จากรัฐชิน ทางตะวันตกที่อยู่ติดกับอินเดียและบังกลาเทศด้วยกันก็ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร แม้กระทั่งรูปภาพที่ค้นได้ก็เป็นแค่รูปถ่ายติดบัตร ส.ส. เพียงภาพเดียวเท่านั้น

หนังสือพิมพ์เมียนมาไทมส์ได้พยายามสืบค้นจนได้ประวัติคร่าวๆ ว่าตอนนี้อายุ 57 ปี นับถือศาสนาคริสต์ เกิดที่เมือง Htantlang ในรัฐชิน ซึ่งเป็นเขตภูเขาทึบติดพรมแดนอินเดีย จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์ เคยเป็นทหารอยู่ระยะหนึ่งและถูกส่งไปประจำในเขตต่างๆ ถึง 7 เขตทั่วประเทศ ก่อนจะลาออกมารับราชการโดยประจำที่โรงงานยาสูบ โรงงานผลิตสุรา มีตำแหน่งสูงสุดเป็นรองผู้อำนวยการในกระทรวงอุตสาหกรรม แล้วมาทำธุรกิจส่วนตัวด้วยการเป็นเจ้าของโรงงานบุหรี่ในมัณฑะเลย์

เฮนรี วัน เชี่ยว เพิ่งเปิดใจให้สัมภาษณ์สั้นๆ แต่ไม่ยอมพูดถึงประวัติส่วนตัวโดยอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนตัว บอกแค่ว่าภรรยาได้ศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ที่สหรัฐฯ และครอบครัวของเขาทุกคนรวมทั้งลูก 3 คนล้วนแต่ถือสัญชาติพม่า ตัวเองเคยเดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนผู้นำระหว่างประเทศที่ฟิลิปปินส์เมื่อปี 2552 แต่เรียนไม่จบ จากนั้นก็ไปใช้ชีวิตที่นิวซีแลนด์อยู่ราว 6 ปี จึงกลับประเทศแล้วลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเอ็นแอลดีและก็ชนะเลือกตั้ง

นับเป็นม้าสามหัวที่เดาทางไม่ถูกว่าจะช่วยกันลากรถประชาธิปไตยไปทางไหน