ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > 10 ปีคดี “ฟิลลิป มอร์ริส” อัยการยื่นฟ้องแจ้งราคานำเข้าบุหรี่ต่ำกว่าความจริง เลี่ยงภาษี 6.8 หมื่นล้านบาท

10 ปีคดี “ฟิลลิป มอร์ริส” อัยการยื่นฟ้องแจ้งราคานำเข้าบุหรี่ต่ำกว่าความจริง เลี่ยงภาษี 6.8 หมื่นล้านบาท

18 มกราคม 2016


ต่อสู้คดีกันมานานกว่า 10 ปี ในที่สุดสำนักงานอัยการสูงสุดก็ตัดสินใจสั่งฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ในข้อกล่าวหาสำแดงราคานำเข้าบุหรี่จากประเทศฟิลิปปินส์ต่ำกว่าความเป็นจริง ระหว่างปี 2546-2550 ทำให้รัฐเสียหาย คิดเป็นมูลค่ากว่า 68,000 ล้านบาท โดยสำนักงานอัยการสูงสุดมอบหมายให้ ร.ท. สมนึก เสียงก้อง อธิบดีอัยการ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด, นายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ และนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดแถลงข่าวความคืบหน้าของคดีนี้วันที่ 19 มกราคม 2559 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 303 สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ

ขณะที่บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ออกแถลงข่าวยืนยันว่า ข้อกล่าวหาที่สำนักงานอัยการสูงสุดยื่นฟ้องบริษัทเกี่ยวกับคดีเลี่ยงภาษีศุลกากรนั้นเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง ไม่ยุติธรรม อีกทั้งยังละเมิดต่อพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ในการปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากร

โดยนายทรอย มอดลิน ผู้จัดการสาขา บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด เปิดเผยว่า “บริษัทไม่ได้กระทำผิดแต่อย่างใด ไม่เพียงแต่ข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ปราศจากมูลความจริง และเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีของประเทศไทยในการปฏิบัติตามหลักความตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากรขององค์การการค้าโลก แต่ยังทำให้เกิดการตั้งคำถามกับประเทศไทยในเรื่องหลักการความยุติธรรม ความโปร่งใส และการเคารพหลักนิติธรรม การสั่งดำเนินคดีนี้ทำลายความพยายามของประเทศไทยในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีประชาคมโลก และความพยายามทำให้ประเทศเป็นตลาดที่เปิดกว้างและเป็นมิตรกับนักลงทุน”

“การตัดสินใจของอดีตอัยการสูงสุด นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ในการสั่งฟ้องบริษัทฯ รวมถึงการสั่งดำเนินคดีกับอดีตพนักงานและพนักงานปัจจุบันของบริษัทนั้น ขัดแย้งกับคำสั่งไม่ฟ้องของสำนักงานอัยการสูงสุดเองในข้อหาเดียวกันเมื่อ 4 ปีก่อน นอกจากนี้ ยังเป็นการขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของกรมศุลกากร คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ สำนักตรวจสอบ หลังการตรวจปล่อยสินค้า รวมถึงองค์การการค้าโลกก่อนหน้านี้ด้วย” นายทรอยกล่าว

นายทรอยกล่าวต่อว่า ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เริ่มดำเนินการสอบสวนเมื่อปี 2549 ทั้งนี้ บริษัทฯ ยืนยันที่จะต่อสู้กับข้อกล่าวหาที่ปราศจากมูลความจริงนี้อย่างถึงที่สุด และพร้อมที่จะแสดงให้เห็นว่าบริษัทยึดถือปฏิบัติตามหลักกฎหมายไทย และมาตรฐานปฏิบัติสากลในเรื่องว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากรมาโดยตลอด

philip morris

ทั้งนี้ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ได้จัดทำ เอกสารลำดับเหตุการณ์ แจกให้ผู้สื่อข่าว โดยตำนานคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2546–2550 บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ เริ่มนำเข้าบุหรี่จากประเทศฟิลิปปินส์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546 ซึ่งทางกรมศุลกากรก็ยอมรับราคานำเข้าบุหรี่ตามบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ สำแดงตามปกติ

จนกระทั่งมาถึงเดือนสิงหาคม 2549 ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตรวจสอบราคานำเข้าของผู้นำเข้าบุหรี่ของบริษัท กรมศุลกากรเริ่มปฏิเสธราคานำเข้าบุหรี่ของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส และกำหนดให้วางหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมทั้งสรุปสำนวนคดีส่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็น “คดีพิเศษ”

– กุมภาพันธ์ 2551 ฟิลิปปินส์ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาระงับข้อพิพาททางการค้ากับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

-พฤษภาคม 2551 กรมศุลกากรสรุปผลการตรวจสอบย้อนหลัง และพบว่าไม่มีการกระทำผิด จึงสั่งคืนเงินประกันให้บริษัทมูลค่า 8 ล้านเหรียญสหรัฐ

-เมษายน 2552 ดีเอสไอได้ทำหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส

-กันยายน 2552 ดีเอสไอเห็นชอบให้ดำเนินคดีกับบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ และพนักงานของบริษัท 14 คน ซึ่งรวมถึงการออกหมายจับผู้บริหารที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ 4 คน

-พฤศจิกายน 2553 คณะกรรมการไต่สวนข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก ออกคำวินิจฉัยเห็นสอดคล้องกับคำร้องของฟิลิปปินส์ โดยคณะไต่สวนฯ วินิจฉัยว่าประเทศไทยไม่มีมูลเหตุที่จะปฏิเสธราคาสำแดงของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์)

-มกราคม 2554 อัยการมีคำสั่งเห็นแย้งกับความเห็นของดีเอสไอในข้อกล่าวหาต่อฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) และมีคำสั่งไม่ฟ้อง ส่งผลให้มีการยกเลิกหมายจับผู้บริหาร

-มีนาคม-เมษายน 2554 หัวข้อการสำแดงราคานำเข้า (ซีไอเอฟ) ถูกนำมาเป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์

-วันที่ 17 มิถุนายน 2554 คณะอุทธรณ์ขององค์การการค้าโลกยืนตามคำวินิจฉัยคณะกรรมการไต่สวนข้อพิพาทองค์การการค้าโลก ซึ่งตัดสินว่าประเทศไทยไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก

-วันที่ 17 สิงหาคม 2554 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เห็นแย้งต่อคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ส่งผลให้คดีของฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ต้องถูกส่งกลับมาที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อมีคำวินิจฉัยชี้ขาด

-กันยายน 2555 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรมศุลกากร มีคำสั่งรับราคาสำแดงนำเข้าจำนวน 118 รายการจากฟิลิปปินส์ ซึ่งครอบคลุมช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2550 การพิจารณารับราคาสำแดงในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้เป็นช่วงเวลาของธุรกรรมที่ปรากฏในข้อกล่าวหาหลักของดีเอสไอ ซึ่งได้รับการตรวจสอบจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย และองค์การการค้าโลก ซึ่งทุกหน่วยงานได้ยืนยันว่าฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ได้ปฏิบัติสอดคล้องตามกฎหมาย

-ตุลาคม 2556 นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งให้ดำเนินคดีกับบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ และพนักงานที่เกี่ยวข้อง

-มกราคม 2557 – มกราคม 2559 กำหนดรับทราบข้อกล่าวหาเพื่อยื่นฟ้อง ซึ่งเดิมกำหนดไว้เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2557 ได้ถูกเลื่อนออกไปหลายครั้ง โดยสำนักงานอัยการสูงสุดเอง

-วันที่ 18 มกราคม 2559 สำนักงานอัยการสูงสุด ตัดสินใจยื่นฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด และอดีตพนักงานและพนักงานปัจจุบัน