เมื่อปี 2558 มีคำพิพากษาในคดีหนึ่งของศาลปกครองสูงสุดที่น่าสนใจ เนื่องจากมีผลเป็นการจำกัดอำนาจขององค์กรอิสระที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันและประพฤติมิชอบ อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปโดยปริยาย
คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว คือคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.505/2553 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1037/2558 ที่ นายสมปอง คงศิริ อดีตนายช่างรังวัด 7 ฝ่ายรังวัด สำนักงานที่ดิน จ.นนทบุรี (ผู้ฟ้อง) ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้อง) กรณีมีคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 1567/2547 ไล่นายสมปองออกจากราชการ เมื่อปี 2547 หลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดนายสมปอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายช่างรังวัด 5 ฝ่ายรังวัด สำนักงานที่ดิน จ.ปทุมธานี สาขาธัญบุรี กรณีได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยกำกับการเดินสำรวจฝ่ายรังวัด กองกำกับการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน จ.เชียงราย แต่ปรากฏว่า นายสมปองได้ลงชื่อเสนอให้ออกโฉนดที่ดิน รวม 24 แปลง ทั้งที่ทราบว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงตามธรรมชาติ ซึ่งไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะขอออกโฉนดที่ดินได้ ทำเพียงแค่สอบถามไปยัง อ.แม่จัน และหน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงแสน แล้วลงชื่อตรวจเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชา โดยไม่มีการลงตรวจสอบพื้นที่จริง เป็นเหตุให้มีการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้ว่า นายสมปองมีความผิดทางวินัยร้ายแรง จากฐานความผิด 4 ฐาน ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ประกอบด้วย
- ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ (มาตรา 82 วรรคสาม)
- ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง (มาตรา 85 วรรคสอง)
- รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง (มาตรา 90 วรรคสอง)
- เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง (มาตรา 98 วรรคสอง)
อย่างไรก็ตาม นายสมปองไม่เห็นด้วยกับคำสั่งกรมที่ดินที่ให้ “ไล่ออกจากราชการ” ดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นการฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน และไม่ตรงกับระเบียบของทางราชการและกฎหมาย เป็นเหตุให้ปรับบทความผิดและกำหนดโทษไม่ถูกต้องเหมาะสมและไม่เป็นธรรม จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ยกเลิกคำสั่งกรมที่ดินดังกล่าว
หนึ่งในประเด็นที่นายสมปองใช้ในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง คือเรื่อง “อำนาจในการไต่สวนและชี้มูลความผิดทางวินัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.” ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติว่า หากข้าราชการรายใดถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัย ก็ให้ยึดสำนวนของ ป.ป.ช. ในการลงโทษ โดยไม่จำเป็นต้องตั้ง “คณะกรรมการสอบสวนวินัย” ตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้นๆ อีก
ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนและชี้มูลคดีวินัยเฉพาะฐานความผิด “ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ” เท่านั้น ส่วนฐานความผิดอื่นๆ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจ นอกจากนี้ ยังไม่พบว่านายสมปองมีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จึงมีพิพากษาให้ “เพิกถอน” คำสั่งกรมที่ดินดังกล่าว เพราะออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมา อธิบดีกรมที่ดินยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
หนึ่งในประเด็นที่อธิบดีกรมที่ดินใช้โต้แย้งก็คือ คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 (เรื่องเสร็จที่ 158/2551) เคยวินิจฉัยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนและชี้มูลความผิดทางวินัย ใน 2 ฐานความผิด คือ 1. ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และ 2. กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ดังนั้น ความผิดฐานอื่นๆ ของนายสมปอง (อาทิ จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล ฯลฯ) จึงรวมอยู่ในความผิดฐาน “กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ” ด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจในการไต่สวนและชี้มูลความผิดทางวินัยแก่นายสมปอง ครบทั้ง 4 ฐานความผิด คำสั่งกรมที่ดินดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมถึงข้อโต้แย้งของคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ก่อนจะตั้งประเด็นที่ต้องวินิจฉัยออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ
- คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนและชี้มูลความผิดทางวินัยในฐานความผิดอื่นๆ นอกเหนือจาก “ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ” หรือไม่
- คำสั่งของกรมที่ดินที่ให้ไล่นายสมปองออกจากราชการ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
- นายสมปองได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 หรือไม่
ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือ ประเด็นที่ 1 เรื่อง “อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.” เพราะจะส่งผลต่อการวินิจฉัยประเด็นที่ 2-3 โดยศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุ มาตรา 301 วรรคหนึ่ง, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 19, มาตรา 88, มาตรา 91 และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 200-205 ข้อกล่าวหาที่อยู่ในอำนาจไต่สวนพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หมายถึงเฉพาะข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเท่านั้น
“แต่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เป็นมูลความผิดทางอาญา ส่วนความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ เป็นมูลความผิดทางวินัย นอกจาก 3 กรณีดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริง ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยผู้ฟ้องคดี (นายสมปอง) เฉพาะความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เท่านั้น”
เมื่อศาลปกครองสูงสุดชี้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและชี้มูลความผิดทางวินัยเฉพาะฐานความผิด “ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ” มติที่นายสมปองถูกชี้มูลในฐานความผิดอื่นจริงไม่ผูกพันกับกรมที่ดิน จะนำมาลงโทษนายสมปองโดยไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ได้ จึงเหลือเพียงฐานความผิดเดียว คือทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ซึ่งจากการพิจารณาพยานหลักฐาน ไม่พบว่านายสมปองมีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด เนื่องจากระเบียบของกรมที่ดินที่เกี่ยวข้อง รวม 2 ฉบับ ไม่ได้กำหนดให้ผู้ช่วยผู้กำกับการเดินสำรวจ ฝ่ายรังวัด ต้องออกไปปฏิบัติงานภาคสนามเพื่อตรวจสอบพื้นที่ที่จะมีการออกโฉนดที่ดินเป็นที่สาธารณะประโยชน์อันเป็นที่ดินต้องห้ามในการออกโฉนดที่ดินหรือไม่แต่อย่างใด อุทธรณ์ของอธิบดีกรมที่ดินจึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษาให้ “เพิกถอน” คำสั่งกรมที่ดินดังกล่าว