ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมธนารักษ์กางราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศ ถนนสีลม – พระรามที่ 4 – ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ แพงที่สุด ตร.ว. ละล้าน

กรมธนารักษ์กางราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศ ถนนสีลม – พระรามที่ 4 – ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ แพงที่สุด ตร.ว. ละล้าน

26 ธันวาคม 2015


นอกจากภารกิจในการกำกับดูแลที่ราชพัสดุ การผลิตเหรียญกษาปณ์ และบริหารจัดการทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินแล้ว กรมธนารักษ์ยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างและอาคารชุด เพื่อใช้เป็นฐานในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยในปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลมีรายได้จากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว 90,251.70 ล้านบาท นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ในการค้ำประกัน การลงทุน การเวนคืน การขับเคลื่อนนโยบายด้านภาษี ตลอดจนการกระจายการถือครองทรัพย์สิน และการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดแถลงข่าวการปรับปรุงราคาประเมินที่ดินและโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างใหม่ทั่วประเทศที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559-31 ธันวาคม 2562 ในการปรับปรุงราคาประเมินและวิเคราะห์ราคาทรัพย์สินครั้งนี้ กรมธนารักษ์ใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากล โดยใช้วิธีการเปรียบเทียบราคาตลาด วิธีรายได้ และวิธีต้นทุน โดยพิจารณาปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลกับราคาทรัพย์สิน ได้แก่ ลักษณะทางกายภาพ การใช้ประโยชน์ ทำเลที่ตั้ง และคุณภาพสิ่งแวดล้อม การคมนาคม สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ข้อจำกัดทางกฎหมาย เช่น การผังเมือง และการควบคุมอาคาร การพัฒนาในพื้นที่ และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการประเมินราคาที่ดินทั่วประเทศ 32 ล้านแปลง หรือ คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 321 ล้านไร่ ประกอบด้วยการประเมินราคาที่ดินแบบรายแปลง 12.6 ล้านแปลง (จากเดิม 6.02 ล้านแปลง ในรอบบัญชี ปี พ.ศ.2555-2558 เพิ่มขึ้น 177.77%) และเป็นการประเมินแบบรายบล็อก 19.4 ล้านแปลง ประเมินราคาห้องชุด 12,300 อาคาร หรือ 924,877 ห้องชุด ประเมินราคาโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีแบบมาตรฐานเพื่อใช้ประเมินราคาโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง ได้กำหนดจำนวน 5 ประเภท ได้แก่ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว ตึกแถว โรงเรือนอื่นๆ (แนวราบและแนวสูง) เช่นเดียวกันทั้ง 77 จังหวัด ทั้งนี้ ในปี 2558 กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการจัดทำบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างในรอบบัญชีปี 2559–2562 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะประกาศใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป(คลิกด้านข้างดูรายละเอียดทั้งหมด)

สำหรับการเปลี่ยนแปลงราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินในรอบใหม่นี้ ราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 27.72% โดยที่ราคาประเมินที่ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานครเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 15.78% ขณะที่ราคาประเมินในพื้นที่ส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 27.88% ของราคาประเมินเดิม (รอบบัญชีปี พ.ศ. 2555-2558) โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้

– ปริมณฑลของกรุงเทพฯ (รอบนอก) เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 18.97%
– ภาคกลาง เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 22.79%
– ภาคเหนือ เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 37.31%
– ภาคตะวันออก เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 22.98%
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 33.50%
– ภาคใต้ เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 21.04%
– ภาคตะวันตก เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 39.59%

พื้นที่ที่มีราคาประเมินที่ดินสูงสุดของประเทศอยู่ในกรุงเทพมหานคร บริเวณถนนสีลม เริ่มจากแยกศาลาแดงถึงแยกนราธิวาสราชนครินทร์ ตารางวาละ 1,000,000 บาท ราคาประเมินเดิมตารางวาละ 850,000 บาท เพิ่มขึ้น 17.65% รองลงมา เป็นถนนราชดำริ จากแยกราชประสงค์ถึงคลองแสนแสบ ถนนพระรามที่ 1 จากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ และถนนเพลินจิตตลอดสาย ราคาประเมินที่ดินใหม่ ตารางวาละ 900,000 บาท ราคาประเมินเดิม ตารางวาละ 800,000 บาท เพิ่มขึ้น 12.50% อันดับถัดมาเป็นถนนราชดำริ ช่วงจากแยกศาลาแดงถึงแยกราชประสงค์ ถนนวิทยุ ช่วงจากถนนเพลินจิตถึงถนนพระรามที่ 4 และ ถนนสาทร ช่วงจากถนนพระรามที่ 4 ถึงถนนสุรศักดิ์ ตารางวาละ 750,000 บาท ราคาประเมินเดิม ตารางวาละ 600,000-700,000 บาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13.09% ในส่วนภูมิภาคนั้น ราคาประเมินสูงสุดตารางวาละ 400,000 บาท อยู่ในจังหวัดสงขลา และราคาประเมินต่ำสุดตารางวาละ 10 บาท อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ทิศทางการประเมินราคาทรัพย์สินในอนาคต กรมธนารักษ์มีแผนที่จะขยายพื้นที่ประเมินราคาที่ดินรายแปลงให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งยังคงมีแปลงที่ดินที่ต้องดำเนินการอีก 19.4 ล้านแปลง ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เมื่อได้รับงบประมาณสนับสนุน ทั้งนี้ การขยายพื้นที่ประเมินราคาที่ดินรายแปลงจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบราคาประเมินได้ทุกแปลงโดยสะดวกและรวดเร็วขึ้น และใช้เป็นฐานภาษีสนับสนุนนโยบายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีแผนงานสำรวจและจัดเก็บข้อมูลทะเบียนทรัพย์สินเพื่อการประเมินราคาที่ดินรายแปลง เพื่อพัฒนาระบบการจัดทำฐานข้อมูลแปลงที่ดินและทะเบียนทรัพย์สินโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นการเตรียมความพร้อมในการเป็นศูนย์ข้อมูลราคาประเมินที่ดินแห่งชาติในอนาคต