ThaiPublica > คอลัมน์ > Word of the year 2015

Word of the year 2015

28 พฤศจิกายน 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ฝรั่งผู้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่มีสิ่งหนึ่งที่ ‘เล่น’ มายาวนานอย่างน้อยก็ตั้งแต่ ค.ศ. 1990 นั่นก็คือ Word of the Year ซึ่งหมายความถึงคำที่มีผู้ใช้กันอย่างกว้างขวางที่สุดในโลกของการใช้ภาษาอังกฤษ ในปี 2015 มีการเลือกคำที่น่าสนใจซึ่งบ่งบอกอะไรหลายอย่างในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

ผู้ผลิต dictionary ในโลกตะวันตกและสมาคมเกี่ยวกับภาษาต่างก็มี Word of the Year ของตนเอง อย่างไรก็ดีโลกจะให้ความสนใจกับ Oxford University Press มากกว่าเพื่อน

ล่าสุดเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนค่าย Collins English Dictionary เลือกคำว่า “Binge-watch” เป็นคำแห่งปี และรู้สึกจะ ‘โดนใจ’ คนจำนวนมาก สำหรับค่าย Oxford University Press นั้นในปีนี้เลือกคำแห่งปีที่แหวกแนวกว่าเพื่อนอย่างน่ารัก

ที่มาภาพ : http://dl9fvu4r30qs1.cloudfront.net/00/fb/6eec526b4501bf9a172dcbf898e0/bingewatching.jpg
ที่มาภาพ : http://dl9fvu4r30qs1.cloudfront.net/00/fb/6eec526b4501bf9a172dcbf898e0/bingewatching.jpg

ในภาษาอังกฤษ “go on a binge” (เป็นการใช้อย่างไม่เป็นทางการ) หมายถึงดื่มแอลกอฮอล์หนักในเวลาอันสั้น ตามนัยยะของความหมายนี้ binge จึงหมายความถึงการกินอย่างมากในเวลาอันสั้นในลักษณะที่ควบคุมไม่ได้ “binge on บางอย่าง” เช่น binge on chocolate

กล่าวโดยสรุปก็คือ binge หมายถึงการทำอะไรในลักษณะที่สุดโต่ง เช่น การกิน การดื่ม หรือใช้เงินอย่างไม่บันยะบันยัง

คำถามที่น่าสนใจก็คือแล้ว binge-watching ได้กลายเป็นคำแห่งปีไปได้อย่างไร คำตอบก็คือมันมาจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตของผู้ใช้ภาษาอังกฤษจำนวนมากในปัจจุบันที่บ้าคลั่งดูโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องไม่ยอมหลับยอมนอน เรียกง่าย ๆ ว่า marathon-viewing

พฤติกรรมที่เห็นบ่อย ๆ ก็คือการดูโทรทัศน์เป็นเวลายาวนานกว่าที่คนเขาดูกันตามปกติในการนั่งดูครั้งหนึ่งโดยดูรายการโทรทัศน์หรือซีรี่ส์ใดเป็นพิเศษ จากการสำรวจในปี 2014 ของ Netflix ซึ่งอยู่ในกิจการโทรทัศน์ on-line พบว่าคนให้คำจำกัดความของ binge-watching คือดูตั้งแต่ 2-6 ตอนของรายการทีวีหรือซีรี่ส์ต่อเนื่องกัน

Binge-watching เป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผลพวงจากการให้บริการ โทรทัศน์ on-line ของบริษัทต่าง ๆ เช่น Netflix/Hull และ Amazon Prime ซึ่งคนดูสามารถเลือกรายการได้ตามความต้องการทั้งช่วงเวลาและความยาว บริษัทเหล่านี้แหละที่ทำให้เกิดคำยอดนิยม binge-watching ขึ้น

ในบ้านเรา binge-watching ก็มีจากการดู DVD ของซีรี่ส์หนังละครจากหลายชาติต่อเนื่องกันหลายแผ่นแบบไม่ยอมนอน ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือโทษก็ตามแก่ร่างกายของคนเหล่านี้แต่เขาก็ไม่ตระหนักถึงเพราะมีความปรารถนาที่จะหาความบันเทิงอย่างไม่ให้มีอะไรมาปิดกั้นให้ขาดตอน

binge-watching ทำให้ไม่มีการรอคอยความตื่นเต้นจากตอนต่อไปในอาทิตย์หน้าหรือเดือนหน้า ทุกอย่างล้วนเป็น “ความสุขสมอย่างทันด่วน” (instant gratification) ตามยุคสมัยมาม่า-ยำยำ-ไวไว

สำหรับฝั่ง Oxford University Press ก็มี “คำแห่งปี” ของ 2015 เช่นกัน แต่อาจเรียกได้ว่าล้ำหน้ากว่าแหล่งอื่นเพราะใช้ emoji ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Face with Tears of Joy” เป็น “คำแห่งปี” โดยเป็นรูปคนยิ้มและมีน้ำตาเล็ดออกมาจากสองตา อันแสดงถึงการมีความสุขอย่างล้นเหลือ

เหตุผลที่เลือกก็คือ emoji ก็เป็นภาษาในอีกลักษณะหนึ่งเพียงแต่มิได้เป็นตัวอักษรในรูปแบบธรรมดา การสำรวจพบว่าในปี 2015 emoji ตัวนี้มีผู้ใช้เป็นร้อยละ 20 ของ emojis ที่ใช้กันอยู่ทั้งหมดในอังกฤษ ในขณะที่ตัวเลขเดียวกันในสหรัฐอเมริกาคือร้อยละ 17

emoji เป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่มาจาก “e” (picture) + “moji” (character) (เป็นสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า pictograph) โดยเป็นรูปภาพที่แสดงออกถึงอารมณ์ต่าง ๆ emoji บังเอิญคล้ายกับคำว่า emotion จึงจดจำได้ง่ายและใช้คำนี้กันอย่างกว้างขวาง

emoji ชุดแรกสุดมีมาแต่ ค.ศ. 1998 สมาชิกคนหนึ่งของทีมที่ทำงานโทรศัพท์มือถือของ NTT ชื่อ Shigetaka Kurita เป็นผู้ริเริ่มโดยได้ความคิดมาจากคำพยากรณ์อากาศซึ่งใช้ภาพเป็นสัญลักษณ์ของสภาพอากาศ และเมื่อ Apple’s iPhone เปิดตัวในปี 2007 และเอา emoji มารวมไว้จึงเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง

ที่มาภาพ : http://cdni.condenast.co.uk/1920x1280/d_f/emoji_glamour_17nov15_pr_bb.jpg
ที่มาภาพ : http://cdni.condenast.co.uk/1920×1280/d_f/emoji_glamour_17nov15_pr_bb.jpg

emoji อันที่ได้ความนิยมสูงสุดนี้เป็นตัวแทนของความสุขชนิดน้ำตาเล็ด หรือ “สุขสุด ๆ” จึงได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนของการสื่อความหมายว่าตนเองนั้นมีความสุขในระดับใด การส่ง emoji สุดน่ารักนี้มักเป็นปฏิกิริยาตอบกลับคำพูดอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อผู้ส่ง ๆ ข้อความที่ดีจนทำให้ผู้รับพอใจมาก และเมื่อผู้ส่งเห็นว่าผู้รับมีความสุขมากตนก็ย่อมพอใจไปด้วย ดังนั้นทั้งสองจึงมีความสุขจากการใช้ emoji ตัวนี้

“emoji แห่งความสุขจนน้ำตาเล็ด” จึงเป็นสื่อกลางที่ไม่มีใครรังเกียจ และทุกฝ่ายชอบที่จะใช้มันเป็นตัวกลางแห่งการเชื่อมความสุขไปโดยปริยาย

World of the Year สื่อให้เห็นวัฒนธรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลง เหตุที่คำเหล่านี้ไม่เคยซ้ำกันเลยก็เพราะ “การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์”

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 24 พ.ย. 2558