เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วาระสำคัญคือการพิจารณาความคืบหน้าแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือ Ibank, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME bank, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะเลขานุการ คนร. เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาความคืบหน้าการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง พบว่าบางแห่งมีการแก้ไขปัญหาได้ตามเป้าหมาย เช่น เอสเอ็มอีแบงก์ แต่ก็มีบางแห่งที่ดำเนินการล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้มาก โดยเฉพาะบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จึงมีการกำหนดให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องส่งแผนการแก้ไขปัญหาระยะสั้นให้กระทรวงต้นสังกัดภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 และจะต้องดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายในเดือนธันวาคม 2558 พร้อมขีดเส้นตายว่าทุกแผนจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2559
“เดือนธันวาฯ ปีนี้ เหมือนการพิจารณาว่าจะให้ใบเหลืองกับรัฐวิสาหกิจแห่งใดหรือไม่ ส่วนเดือนมีนาฯ ปีหน้า เหมือนการพิจารณาว่าจะให้ใบแดงใคร ซึ่งหากรัฐวิสาหกิจใดได้รับใบแดง ทั้งองค์กรจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานไปจนถึงผู้บริหาร ส่วนจะมีผลอย่างไร คนร. จะไปพิจารณากันอีกครั้ง”
นายเอกนิติกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง มีดังนี้
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือ Ibank
คนร. พอใจการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของ Ibank และเห็นชอบให้หาผู้ร่วมทุนที่ความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจธนาคารตามหลักชารีอะฮ์ เพื่อเสริมความเข้มแข็งในการบริหารจัดการองค์กรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยให้กระทรวงการคลังยังคงถือหุ้นใน Ibank เพื่อสร้างความมั่นใจ ทั้งนี้ ยังให้แยกหนี้ดีกับหนี้เสียออกจากกัน โดยหนี้เสีย หรือหนี้ด้อยคุณภาพ ให้โอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC ที่จัดตั้งโดยกระทรวงการคลัง บริหารจัดการแทน พร้อมรายงานความคืบหน้ากลับมาให้ คนร. รับทราบภายใน 2 เดือน
- บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
คนร. รับทราบแผนการแก้ไขปัญหาระยะสั้น (Quick Win) ของบริษัทการบินไทยฯ ที่คาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายรวมกันถึง 3 พันล้านบาท แต่ขอให้เพิ่มเติมมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการพิจารณาสัดส่วนพนักงานให้เหมาะสมกับภารกิจ และให้สื่อสารให้ทุกคนเข้าใจถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน หรือ sense of emergency ทั้งนี้ ให้บริษัทการบินไทยฯ เสนอแผนที่ปรับปรุงแก้ไขแล้วต่อกระทรวงคมนาคม ภายในเดือนพฤศจิกายน 2558 และเริ่มดำเนินการตามแผนภายในเดือนธันวาคม 2558
พร้อมกันนี้ ยังมอบหมายให้กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงคมนาคม กำหนดทิศทางการดำเนินงานของบริษัทการบินไทยฯ ให้ระยะยาว ให้ชัดเจน
- การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
คนร. พิจารณาแผนแก้ไขปัญหาของ รฟท. พร้อมสั่งให้ดำเนินการใน 2 ส่วน คือ เรื่องแรก ให้จัดทำแผนการนำที่ดินซึ่งไม่ให้ใช้ในการเดินรถ (non-core) มาใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่น่าจะพลิกฟื้น รฟท. ให้กลับคืนมาได้ โดยให้ส่งแผนดังกล่าวต่อ คค. ภายในเดือนพฤศจิกายน 2558 พร้อมกันนี้ ให้ รฟท. จัดหาที่ดินในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าไปใช้ประโยชน์ เช่น นำไปทำเป็นตลาด และเรื่องที่สอง ให้บริษัทเอกชนเข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนและให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงและแอร์พอร์ตลิงก์แทน รฟท.
- องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
คนร. เร่งรัดให้ ขสมก. จัดทำแผนเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายที่สามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีล็อตแรก จำนวน 489 คัน โดยให้ส่งแผนต่อกระทรวงคมนาคมภายในเดือนพฤศจิกายน 2558
พร้อมขอให้บอร์ด ขสมก. ทบทวนความจำเป็นในการจัดหารถเมล์เอ็นจีวีที่เหลือ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้จัดซื้อรวม 3,000 คัน ว่ายังจำเป็นต้องจัดซื้อเป็นรถเมล์เอ็นจีวีอยู่หรือไม่ ในขณะที่ราคาน้ำมันขณะนี้ลดลง
ทั้งนี้ ยังเร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอให้มีการยกเลิกมติ ครม. เมื่อปี 2526 และสร้างความชัดเจนในการกำกับดูแลการเดินรถยนต์ขนส่งสาธารณะ โดยอยากให้ ขสมก. ทำหน้าที่เพียง operator ส่วนกรมการขนส่งทางบกจะเป็น regulator คือเป็นผู้กำหนดเส้นทางการเดินรถ รวมถึงให้มีการจัดทำแผนปฏิรูปเส้นทางการเดินรถ
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงการคลัง พัฒนาระบบ e-ticket ให้สอดคล้องกับระบบ e-payment เพื่อให้เกิดความเชื่อมต่อของข้อมูลของประชาชนที่มีรายได้น้อยที่จะมีสิทธิใช้บริการตามนโยบายภาครัฐต่อไป
- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME bank
คนร. รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของ SME bank ซึ่งพบว่าหลายเรื่องคืบหน้าไปมาก จึงชื่นชมและให้กำลังใจให้เดินหน้าแก้ไขปัญหาต่อไป
- บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และ 7. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT
คนร. รับทราบแผนการแก้ไขปัญหาของทั้ง 2 องค์กร ซึ่งพบว่าในส่วนของ TOT ยังเป็นไปตามแผน ส่วนของ CAT ล่าช้ากว่าแผน ทั้งนี้ ยังสั่งการให้รีบหาข้อยุติเรื่องเสาโทรคมนาคมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กำหนดทิศทางการดำเนินการของ TOT และ CAT ให้เป็นไปตามนโยบาย digital economy เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
ผู้อำนวยการ สคร. ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือ “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” ว่า คณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ที่มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน ได้รายงานความคืบหน้าการจัดตั้งซูเปอร์โฮลดิ้ง ทั้งเรื่องโครงสร้าง การยกร่าง พ.ร.บ. และการปรับปรุงกฎระเบียบ ต่อ คนร. เป็นวาระเพื่อทราบเท่านั้น คาดว่าน่าจะสามารถจัดตั้งได้ภายในระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า