ThaiPublica > คอลัมน์ > คดีทุจริตเรือขุด “เอลลิคอตต์” 15 ปี จาก ป.ป.ช. สู่ศาลฎีกา

คดีทุจริตเรือขุด “เอลลิคอตต์” 15 ปี จาก ป.ป.ช. สู่ศาลฎีกา

10 พฤศจิกายน 2015


Hesse004

คดีทุจริตเรือขุดเอลลิคอตต์ที่มาภาพ: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1446862855
คดีทุจริตเรือขุดเอลลิคอตต์ ที่มาภาพ: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1446862855

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ศาลฎีกามีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ด.84/2547 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้องอดีตอธิบดีกรมเจ้าท่า (กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี) และจำเลยอีก 6 คน ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต และร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับรองเอกสาร ได้กระทำการรับรองเอกสารอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 162

คดีนี้นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับผู้ศึกษาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งหลายท่านคงยังไม่ลืม “คดีทุจริตเรือขุดเอลลิคอตต์” ของกรมเจ้าท่า เมื่อ 15 ปีที่แล้ว

เหตุผลที่สื่อเรียกว่า เรือขุดเอลลิคอตต์ ก็เพราะ ในปี 2540 กรมเจ้าท่าได้ลงนามในสัญญาจ้างบริษัท เอลลิคอตต์ แมชชีน คอร์เปอเรชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อต่อสร้างเรือขุดหัวสว่าน จำนวน 3 ลำ พร้อมเรือพี่เลี้ยง (Tender Boat) และอุปกรณ์ท่อทุ่น รวมมูลค่าทั้งสิ้น 49.40 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสัญญากำหนดให้บริษัทฯ ต้องสร้างเรือขุดเป็นเวลา 540 วัน และต้องส่งมอบเรือขุดให้กรมเจ้าท่าภายในวันที่ 24 มีนาคม 2542

สัญญาจ้างต่อเรือขุดระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง วงเงินเกินกว่า 1,500 ล้านบาท ดูแล้วไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร หากหน่วยงานผู้ว่าจ้างและผู้บริหารดำเนินการบริหารสัญญาจ้างให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการ ซึ่งแนวทางปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐนั้นยังคงยึดอยู่ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535

อย่างไรก็ดี หลังจากลงนามในสัญญาเรียบร้อยแล้ว กรมเจ้าท่าเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในโดยอธิบดีที่เพิ่งขึ้นมารับตำแหน่งใหม่ในขณะนั้น มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้างและผู้ควบคุมงานใหม่แทนคณะกรรมการชุดเดิม พร้อมๆ กับเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาเรือขุดเอลลิคอตต์หลายรายการ

เงื่อนไขตามสัญญานี้กำหนดให้กรมเจ้าท่าต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัทเอลลิคอตต์ จำนวน 6 งวด โดยงวดแรกเริ่มตั้งแต่ 30 ก.ย. 2540 จ่าย 15% ของมูลค่าโครงการ หรือคิดเป็น 7.4 ล้านเหรียญสหรัฐ งวดที่ 2 จ่ายเมื่อส่งมอบเครื่องจักรใหญ่ (Main Engine) งวดที่ 3 จ่ายเมื่อวางกระดูกงู โดยทั้งสองงวดนี้ (2 และ 3) จะจ่ายงวดละ 6.679 ล้านเหรียญ งวดที่ 4 จ่ายเมื่อส่งมอบอุปกรณ์ปั๊มขุดและชุดเกียร์ โดยงวดนี้จ่าย 11.13 ล้านเหรียญ งวดที่ 5 จ่าย 8.9 ล้านเหรียญ เมื่อส่งมอบเรือขุดมายังประเทศไทย และงวดที่ 6 งวดสุดท้าย จ่าย 4.5 ล้านเหรียญ เมื่อส่งเรือและกรมเจ้าท่ารับเรือไว้ใช้ในราชการ

อย่างไรก็ดี การบริหารสัญญาจ้างต่อเรือขุดนี้เริ่ม “ส่งกลิ่นแปลกๆ “ ตั้งแต่งวดที่ 2 เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญา โดยคณะกรรมการตรวจรับชุดใหม่ตรวจรับเครื่องยนต์ที่ไม่ใช่เครื่องจักรหลักหรือเครื่องจักรใหญ่ (Main Engine) ตามที่กำหนด ขณะที่งวดที่ 4 ผู้รับจ้างส่งมอบปั๊มขุดและชุดเกียร์ไม่ครบตามสัญญาที่กำหนด ซึ่งทั้งสองงวด อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่าได้ลงนามอนุมัติจ่ายเงินให้บริษัทผู้รับจ้างไปแล้ว

ต่อมา งวดที่ 5 เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญา โดยซอยย่อยการจ่ายงวดเงิน ซึ่งแต่เดิมตามสัญญานั้น กรมเจ้าท่าจะจ่ายเงินก็ต่อเมื่อผู้รับจ้างส่งมอบเรือขุดมายังประเทศไทย แต่การณ์กลับเป็นว่าผู้รับจ้างยังต่อเรือไม่เสร็จและกรมเจ้าท่าได้แบ่งซอยการจ่ายเงินในงวดนี้ออกไปอีก 3 งวดย่อยๆ

จนกระทั่งกรมเจ้าท่าได้ขยายอายุสัญญาออกไปโดยให้บริษัทฯ ส่งมอบเรือขุดภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544

การบริหารสัญญาจ้างแบบแปลกๆ เช่นนี้ ทำให้สื่อเข้าไปขุดคุ้ย โดยช่วงต้นปี 2543 หนังสือพิมพ์มติชนเริ่มตีแผ่ความผิดปกติและข้อพิรุธต่างๆ ในการบริหารสัญญาจ้างโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาที่ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย

ในยุคนั้น มติชนทำหน้าที่สื่อในลักษณะการทำงานแบบ “ข่าวเจาะ” หรือข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน (Investigative Journalism) โดยขุดข้อมูลไปถึงเรื่องการเจรจาและโอนเงินจากบริษัทเอลลิคอตต์มายังตัวแทนประเทศไทยที่เปิดบัญชีในสิงค์โปร์

ความผิดปกติถูกตีแผ่ออกมาว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม–ตุลาคม ปี 2541 มีการโอนเงิน 150,000 เหรียญ จากอเมริกามาที่สิงค์โปร์ในช่วงที่มีการขออนุมัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาพอดี โดยเงินที่โอนมานั้นใช้คำในทำนองว่า “Inspection fee agreement” หรือข้อตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบ1

ท้ายที่สุด กรณีความผิดปกติในการบริหารสัญญาจ้างต่อเรือขุดเอลลิคอตต์ถูกส่งไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2545 คณะกรรมการ ป.ป.ช. สมัยที่มีนายโอภาส อรุณินท์ เป็นประธาน ได้ชี้มูลความผิดอดีตอธิบดีกรมเจ้าท่าและพวก รวม 7 คน กรณีประพฤติมิชอบ ทำให้รัฐเสียหายและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่2

เรื่องทุจริตเรือขุดเอลลิคอตต์ถูกส่งต่อไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด โดยพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ได้ยื่นฟ้องอดีตอธิบดีกรมเจ้าท่าและพวกไปยังศาลอาญา

อย่างไรก็ดี ศาลอาญาใช้เวลาพิจารณาคดีนี้กว่า 2 ปี และมีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2549

แต่พนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยเห็นแย้งกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลอุทธรณ์ใช้เวลาพิจารณาคดีนี้ 4 ปี 5 เดือน และในเดือนกรกฎาคม ปี 2554 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาจำคุกอดีตอธิบดีกรมเจ้าท่าและพวกรวม 5 คน ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 รวม 10 ปี

…แต่เรื่องยังไม่จบเท่านี้ เมื่อทั้งโจทก์ (อัยการ) และจำเลยได้ยื่นฎีกาสู้คดีกันต่อถึงศาลฎีกา

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ศาลฎีกามีคำพิพากษาเห็นควรแก้โทษโดยพิพากษาให้จำคุกอดีตอธิบดีกรมเจ้าท่าและพวกรวม 7 คน ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 1 กระทง จำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

คดีนี้ปิดฉากลงโดยใช้เวลา 15 ปี นับตั้งแต่หนังสือพิมพ์เริ่มตีแผ่ความไม่ชอบมาพากลในการบริหารสัญญาจ้าง เมื่อต้นปี 2543 ก่อนเรื่องจะส่งต่อเข้าสู่กระบวนการในชั้นไต่สวนและชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช. เห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลทุจริตและส่งต่อให้อัยการ จากนั้นอัยการได้สั่งฟ้องและต่อสู้กับจำเลยเรื่อยมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นที่เห็นว่าควร “ยกฟ้อง” แต่พนักงานอัยการได้อุทธรณ์ต่อไปยังศาลอุทธรณ์ ใช้เวลาที่ศาลอุทธรณ์ 4 ปีกว่า ก่อนที่ทั้งโจทก์และจำเลยจะสู้กันต่อถึงศาลฎีกาซึ่งใช้เวลาอีกประมาณ 4 ปีกว่า จนเรื่องนี้ยุติลงที่ผู้เกี่ยวข้องทั้ง 7 คนถูกจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

คดีทุจริตเรือขุดเอลลิคอตต์นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาประเด็นทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างว่ามีรูปแบบและวิธีการอย่างไร โดยเฉพาะการทุจริตในการบริหารสัญญาจ้าง ซึ่งยังมีสัญญาจัดซื้อจัดจ้างในลักษณะนี้อีกหลายสัญญาที่อยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช. เช่น กรณีความไม่โปร่งใสในการก่อสร้างโรงพักจำนวน 396 แห่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในทำนองเดียวกัน คดีนี้ทำให้เราเห็นกลไกการปราบปรามการทุจริตของบ้านเรา เริ่มตั้งแต่การออกมาตีแผ่ เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลโดยสื่อมวลชน ไล่มาจนกระทั่งการทำงานสืบสวนสอบสวนของ ป.ป.ช. การต่อสู้ของพนักงานอัยการในกระบวนการฟ้องร้อง การพิจารณาคดีของศาลทั้งสามศาล ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สะท้อนถึงต้นทุนการต่อต้านทุจริตในสังคมเราว่ามีมากน้อยเพียงใด ซึ่งระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา คงเป็นคำตอบที่อธิบายได้ในตัวของมันเอง

หมายเหตุ
1ผู้สนใจโปรดอ่านข่าวเรื่องนี้ได้จากลิงค์ของมติชนออนไลน์
2ผู้สนใจมติการชี้มูลความผิดกรณีดังกล่าว โปรดดูได้ในรายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ 2545 หน้า 8-10