ThaiPublica > คอลัมน์ > คอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (2): การตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาคประชาชน เมื่อคำว่า “ธุระไม่ใช่” จะไม่มีอีกต่อไปแล้ว

คอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (2): การตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาคประชาชน เมื่อคำว่า “ธุระไม่ใช่” จะไม่มีอีกต่อไปแล้ว

18 มีนาคม 2013


Hesse004

นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่าข่าวความไม่โปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจะมีให้เห็นอยู่เสมอ ทั้งที่ปรากฏตามหน้าสื่อต่างๆ หรือจากการ “แฉ” ของภาคประชาชน

คำถามหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการต่อสู้คอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม (Civil Society) คือ พวกเขามีวิธีการต่อสู้กันอย่างไร

…แน่นอนที่สุด…การต่อสู้ลำพังเพียงคนเดียวย่อมทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก มีข้อระเบียบและกฎหมายที่สลับซับซ้อน จึงไม่ง่ายนักที่ภาคประชาชนจะมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างแบบ “เจาะลึก” จนสามารถต่อภาพเชื่อมโยงให้เห็นถึงความผิดปกติในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ นอกจากนี้ เมื่อต้องผ่านกระบวนการ “ตีความ” ทางกฎหมาย กฎระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ต่างๆ แล้ว บ่อยครั้งที่ฝ่ายรัฐมักจะได้เปรียบ (แต่ก็น่าสนใจเหมือนกันว่า เวลาที่รัฐสู้กับ “ภาคธุรกิจเอกชน” คู่สัญญาของรัฐ รัฐมักจะเสีย “ค่าโง่” อยู่เสมอ)

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็น “ต้นทุน” ของภาคประชาชนด้วยกันทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนสำคัญที่สุดที่ทำให้ภาคประชาชนไม่อยากยุ่งวุ่นวายกับการติดตามตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง คือ ความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

…เพราะขึ้นชื่อว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องการ “ทุจริต” แล้ว เหล่ามิจฉาชีพที่อยู่ในคราบของนักการเมืองหรือข้าราชการประจำต้องพยายามปกปิดความผิดที่ตัวเองทำไว้ ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงต้องใช้บริการเหล่าทุรชนที่เป็น “มาเฟีย” ทั้งในเครื่องแบบหรือนอกเครื่องแบบ คอยจัดการ “ปิดปาก” พวกจอม “แฉ” ทั้งหลาย

เมื่อต้นทุนการต่อต้านคอร์รัปชันมันสูงอย่างนี้แล้ว คงไม่มีใครหน้าไหนอยากจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่อง “ไกลตัว” เกินไป ขณะที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่อง “ธุระไม่ใช่” อีกต่างหาก

ดังนั้น ภาคประชาชนจึงจำเป็นต้องรวมตัวกันเป็น “กลุ่มก้อน” เป็น “เครือข่าย” หรือ “องค์กร” ขึ้นมา เพื่อมีส่วนร่วมในกระบวนการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ดูตารางที่ 1 ตัวอย่างการต่อสู้คอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง; ประสบการณ์ในต่างประเทศ ดูตารางที่ 1 กรณีศึกษาการต่อต้านคอร์รัปชั่นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาคประชาชน (1)

สำหรับบ้านเราแล้ว บทเรียนการต่อสู้ของภาคประชาชนมีให้เห็นตั้งแต่กรณี “ชมรมแพทย์ชนบท” ที่ลุกขึ้นมาแฉความผิดปกติในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2541 การออกมาต่อสู้ของชาวบ้านในนาม “ชมรมคนรักษ์สตึก” ที่ต่อต้านคอร์รัปชันการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมูลหรือ “สะพานยักษ์” เมื่อปี 2544 หรือล่าสุดปี 2553 มีการออกมาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความผิดปกติในการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT 200 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ มาจาก “ห้องหว้ากอ” ในเว็บบอร์ดอย่างพันทิป (ดูแผนผังเรื่องราวและตัวละครที่เชื่อมโยงกันในการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200
การต่อสู้กับคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาคประชาชน)

การรวมกลุ่มลุกขึ้นสู้ของภาคประชาชนแต่ละครั้งแสดงให้เห็นว่า การต่อต้านคอร์รัปชันนั้นไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่อง “ธุระไม่ใช่” ตามความเข้าใจของใครอีกหลายคน เพราะเมื่อถึงเวลา ภาคประชาชนเองก็พร้อมที่จะลุกขึ้นมาปกป้องเงินภาษีทุกบาทที่พวกเขาต้องจ่ายไปโดยไม่ยอมให้ใครมา “ปล้นกลางแดด” แบบหน้าด้านๆ อีกต่อไป

นอกจากนี้ การต่อสู้ดังกล่าวยังเป็น“ภาพสะท้อน” กลับมาที่กลไกการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภายในระบบราชการอีกเช่นกันว่า วันนี้หน่วยงานรัฐมีประสิทธิภาพการตรวจสอบการทุจริตมากน้อยแค่ไหน

ปัจจุบันกลไกการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของระบบราชการประกอบด้วยหน่วยงานหลักเพียงไม่กี่หน่วยงาน ซึ่งโดยหลักการแล้ว “หน่วยงานตรวจสอบภายใน” ของแต่ละส่วนราชการควรจะทำหน้าที่เป็น “หูตา” ปกป้องเงินงบประมาณและสอดส่องความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่ข้อเท็จจริงกลับกลายเป็นว่า หน่วยงานตรวจสอบภายในยังคง “เกรงใจ” และ “เกรงกลัว” ต่ออำนาจและอิทธิพลของหัวหน้าส่วนราชการที่ตัวเองสังกัด

ดังนั้น ในแง่ความเป็น “อิสระ” ของการตรวจสอบแล้ว คนทำงานตรวจสอบภายในย่อมเข้าใจถึงสภาพที่ว่า “น้ำท่วมปาก” ได้ดี กล่าวคือ รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่สามารถพูดหรือรายงานข้อเท็จจริงออกมาได้

ขณะที่องค์กรตรวจสอบภายนอกอย่าง “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความเข้มแข็งและ “กล้าหาญ” มากพอที่จะรายงานข้อเท็จจริงที่ปรากฏให้สังคมได้รับทราบ เพราะในปัจจุบันองค์กรตรวจเงินแผ่นดินไทยมีความเป็น “อิสระ” ตามรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2540 แล้ว ขณะที่กฎหมายการตรวจเงินแผ่นดินไทยปี 2542 ก็ให้อำนาจหน้าที่องค์กรตรวจเงินแผ่นดินสามารถตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างและรายงานผลการตรวจสอบได้อย่างเป็น “อิสระ”

ที่มาภาพ : http://www.business-anti-corruption.com
ที่มาภาพ : http://www.business-anti-corruption.com

ผู้เขียนคิดว่า หากภาครัฐต้องการเห็นผลที่เป็น “รูปธรรม” ในการลดพฤติกรรมการคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว ผู้กำหนดยุทธศาสตร์การต่อต้านคอร์รัปชันควรสร้างช่องทางเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานตรวจสอบเข้ากับภาคประชาชน เช่น ให้ความรู้พื้นฐานในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับภาคประชาชนอย่างง่ายๆ หรือ สร้าง “สัญญาณเตือนภัยคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง” (Red Flag of Corruption in Public Procurement) ที่ภาคประชาชนควรทราบ อาทิ กำหนดสเปคพัสดุอย่างไรที่เรียกว่า “ล็อคสเปค” คำนวณราคากลางงานก่อสร้างภาครัฐอย่างไรถึงทำให้ภาครัฐเสียหาย ตรวจรับงานอย่างไรจึงเรียกว่าตรวจรับงานเป็นเท็จ

หากภาครัฐสนับสนุนข้อมูลหรือความรู้พื้นฐานในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างให้ภาคประชาชนได้รู้แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าภาคประชาชนจะสามารถช่วยหน่วยงานตรวจสอบสอดส่องความผิดปกติในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ก่อน และจะส่งรายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้นให้หน่วยงานรัฐเข้าไปตรวจสอบต่อ หรือหาพยานหลักฐานมาสนับสนุนในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายกรณีที่พบว่าเกิดการคอร์รัปชันขึ้นแล้ว

วิธีการข้างต้นนี้ ในทางคอร์รัปชันศึกษาและทุจริตวิทยาจัดเป็นการ “ลดต้นทุน” ในกระบวนการตรวจสอบของภาครัฐและ “เพิ่มต้นทุน” ในการถูกตรวจสอบให้กับผู้ที่คิดจะคอร์รัปชัน

เมื่อต้นทุนการตรวจสอบลดลง หน่วยงานตรวจสอบของรัฐย่อมสามารถใช้ทรัพยากรการตรวจสอบได้ครอบคลุมหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น ทำให้กระบวนการตรวจสอบรวดเร็วขึ้น เพราะผู้ตรวจสอบไม่จำเป็นต้องมานั่งเสียเวลารวบรวมหลักฐานหรือ “แกะรอย” การทุจริต เนื่องจากภาคประชาชนมีส่วนในการชงเรื่องหรือ “ชี้เป้า” ให้ผู้ตรวจสอบแล้ว

ในทำนองเดียวกัน หากภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ย่อมเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ที่คิดจะคอร์รัปชัน เพราะคนที่คิดจะโกงย่อมหนีไม่พ้นสายตาของภาคประชาชนที่คอยร่วมกันจับตาอยู่

ในตอนหน้า ผู้เขียนจะเล่าถึงบทบาทของภาคประชาชนชาวฟิลิปปินส์ ในการต่อต้านคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว “ฟิลิปปินส์โมเดล” น่าจะเป็นการยกระดับแนวทางการต่อสู้ที่น่าสนใจสำหรับภาคประชาชนบ้านเราได้…