ThaiPublica > คอลัมน์ > New Normal ไม่ใช่เรื่อง Abnormal

New Normal ไม่ใช่เรื่อง Abnormal

7 ตุลาคม 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

New Normal ดูจะเป็นคำที่มีคนพูดถึงกันมากในปัจจุบันเนื่องจากผูกพันกับการเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นอยู่รอบตัวในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจ อย่างไรก็ดี หากเราพิจารณากว้างขึ้นก็จะเห็น New Normal เกิดขึ้นในเรื่องอื่นๆ อีกมากในสังคมเรา

New Normal เริ่มเป็นคำที่ใช้กันในแวดวงเศรษฐกิจและธุรกิจหลังจากการเกิด “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 2007-2008” และลามไปถึงยุโรป โดยสื่อถึง “บรรทัดฐาน” ใหม่ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์สำคัญหนึ่ง

ในแวดวงวิชาการและสื่อ New Normal เป็นคำที่สะท้อนถึง “ระดับอ้างอิง” ใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างน่าจะถือได้ว่าเป็นมาตรฐานใหม่ เช่น เมื่อสมัยก่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ในระดับร้อยละ 5 ต่อปี จนถือว่าเป็นระดับปกติ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งเกิดขึ้น การเติบโตโดยเฉลี่ยเป็นร้อยละ 3 ต่อปี ดังนั้น จึงเกิดอัตราที่เป็นปกติใหม่ขึ้น อย่างนี้เรียกว่า New Normal

เมื่อมีผู้ตรวจสอบคำนี้ดูในประวัติศาสตร์ก็พบว่ามันไม่ใช่คำใหม่ (ทุกสิ่งเก่าๆ ในโลกนี้จะกลายเป็นของใหม่เสมอในวันหนึ่ง) Catherine Rampell พบว่าคำว่า New Normal ถูกใช้บ่อยมากที่สุดในหนังสือซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1800 (“Frankenstein”) ตามมาด้วยหนังสือซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1890 ในชุด Sherlock Holmes และตีคู่มาคือหนังสือหลายเล่มซึ่งเขียนโดย Albert Einstein ตีพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1915

ในเรื่องเศรษฐกิจไทยระหว่าง ค.ศ. 2000-2010 และ 2011-2014 ได้เกิด New Normal ขึ้นหลายเรื่องอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ เช่น (ก) แรงงานไทยโตช้าลงเรื่อยๆ (ข) เผชิญการแข่งขันสูงจากหลายประเทศ (ค) ผลิตภาพแรงงานลดลง (ง) ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยสูงขึ้น (จ) หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น (ฉ) มูลค่าการส่งออกขยายตัวช้าลง (ช) ปัจจัยรายอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลง (ซ) ธรรมาภิบาลลดลง

แรงงานไทยโตช้าลงเรื่อยๆ จากเดิมในช่วงเวลาแรก 2000-2010 เติบโตร้อยละ 1.2 ต่อปี ลดเหลือร้อยละ 0.2 ต่อปี ในช่วงเวลา 2011-2014 นอกจากนี้ผลิตภาพ (productivity) ของแรงงานไทยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี เหลือเพียง 1.7 และเมื่อค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มจากร้อยละ 2 ต่อปีในช่วงแรกเป็นร้อยละ 10 ในช่วงหลัง จึงทำให้ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยพุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.9 ต่อปี

การแข่งขันจากหลายประเทศ เช่น เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดเงินลงทุนโดยตรงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากที่เคยเป็นแค่ร้อยละ 30 ของเงินลงทุนตรงที่ไหลเข้าไทยเมื่อปี 2543 ก็กลายเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ในปี 2556 มูลค่าการส่งออกของเวียดนามก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่เคยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 17 ของมูลค่าส่งออกไทยก็เพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 70% ในปี 2557 ทั้งๆ ที่ขนาดเศรษฐกิจเวียดนามเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของไทย

หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 85 ของ GDP ในปัจจุบันเมื่อเทียบกับร้อยละ 46 ในปี 2543 เมื่อคำนึงถึงการอิงกับราคาสินค้าเกษตรของแรงงานเกินครึ่งของประเทศ การลดต่ำของราคาสินค้าเกษตรแทบทุกชนิดทำให้อำนาจซื้อในประเทศขยายตัวได้ยาก

การส่งออกของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยขยายตัวต่ำกว่าปกติเนื่องจากการแข่งขันจากต่างประเทศ เช่น มูลค่าส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยโตขึ้นร้อยละ 20 ในปี 2552 ในขณะที่เวียดนามเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าตัว

ปัญหาประสิทธิภาพของระบบราชการ ปัญหาคอร์รัปชัน และปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองร่วมกัน ทำให้ธรรมาภิบาลของไทยอ่อนแอลงจนมีทางโน้มทำให้ต่างชาติขาดความมั่นใจ

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิด New Normal ขึ้นสองประการที่สำคัญ กล่าวคือ (ก) การส่งออกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมายาวนาน จากที่เคยขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี New Normal จะเป็นว่าต่ำกว่าร้อยละ 4 ต่อปี (ข) การขยายตัวของเศรษฐกิจ จากที่เคยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ระหว่าง 2000-2011 ก็จะกลายเป็นร้อยละ 3 ต่อปีจากนี้ไป

New Normal ใน 2 เรื่องนี้ดูจะมีความเป็นไปได้มากกว่าการระบุ New Normal ของการบริโภคในประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศ

ภาครัฐ ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาครัฐ จำเป็นต้องเข้าใจบริบทของการเกิด New Normal ในการกำหนด New Policy (หากไม่มีนโยบายใหม่ ในเวลาไม่นานอาจเกิด New Abnormal คือระดับที่ต่ำอย่างผิดปกติเป็นระดับอ้างอิงใหม่ก็เป็นได้) (ข้อมูลที่ใช้ข้างบนนี้ ผู้เขียนนำมาจากเอกสารของ Thailand Future Foundation, “Thailand”s New Normal”, กรกฎาคม 2015)

คนไทยจะมีความสุขในอนาคตต่อไปได้ถ้ามีแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในหัวใจ กล่าวคือไม่เพ้อฝันไปสุดโต่งของการเจริญเติบโตสูงๆ อย่างไม่รู้จบ หากต้องคาดหวังแต่พอควรในทางสายกลางอย่างไม่สุ่มเสี่ยง รู้จักพอ ไม่คาดหวังบรรยากาศที่ดีสำหรับธุรกิจอย่างไม่มีขอบเขต

New Normal ทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องมี New Normal ในการคาดหวังและการมี mindset ที่เหมาะสมอย่างสอดคล้องกัน มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาทางสังคมอันเนื่องมาจากความผิดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่มีคนยากจนและคนชั้นกลางระดับล่างอยู่เป็นสัดส่วนที่สูงเช่นสังคมไทย การปรับจิตใจของประชาชน และการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมของภาครัฐในการสร้างความสอดคล้องระหว่างสองด้านนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

New Normal ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจหรือหวาดหวั่นจนขาดสติ โดยธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่มีความรุนแรงเป็นพิเศษภายใต้บริบทปัจจุบันของโลกและประเทศไทย สมรรถนะในการปรับตัวเข้ากับ New Normal เป็นหัวใจสำคัญของการเกิดความสุขในใจของประชาชน และสมรรถนะเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็จากการมีความสามารถในการคิดเท่านั้น การยกเครื่องการศึกษาซึ่งคือการเปลี่ยนแปลงกระบวนการฝึกฝนการคิดอย่างสำคัญจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในยุค New Normal

คนสองคนนั่งกินข้าวด้วยกันโดยต่างคนต่างนั่งก้มหน้าดูสมาร์ทโฟน ไม่พูดคุยกัน ก็คือ New Normal เช่นเดียวกับการอ่านสิ่งพิมพ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสารฯ น้อยลงมาก ก็เป็น New Normal อีกเช่นกัน

มาตรฐานการใช้ภาษาไทยในลักษณะที่ขาดการออกเสียงควบกล้ำ และ ร.เรือ คือ New Normal (ได้ยินโฆษณาทางวิทยุ “ช่วยกันฆ่าปวกไม่ให้ทำลายบ้านด้วยสมุนไพ ลับลองปวกตายยกลัง”) ที่น่าเป็นห่วงสำหรับอนาคตภาษาไทย

การใช้ภาษาพ่อขุนทั้งในที่สาธารณะและในที่ลับระหว่างเพื่อนและคู่รักก็คือ New Normal (คำพลอดรักด้วยภาษาพ่อขุน คือ Old Normal ซึ่งไม่น่าจะโรแมนติกสำหรับอารยชนในปัจจุบัน)

เพลงที่ขาดความกลมกลืนและสุนทรียรส ตลอดจนเสียงร้องเพลงที่ราวกับออกมาจากคนปวดตับและลิ้นบวม (การบีบเสียงสไตล์สุนทราภรณ์ คือ Old Normal ที่คนรุ่นใหม่อาจวิจารณ์ได้เช่นกัน) ก็เป็น New Normal อีกเหมือนกัน

อำนาจของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และกล้อง CCTV บนรถยนต์ก็เป็น New Normal ทางอำนาจอีกลักษณะหนึ่ง

New Normal มีทั้งสิ่งที่ถูกใจและไม่ถูกใจคละกันไปแล้วแต่รสนิยมและวัย ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่การปรับตัวและปรับใจเข้ากับการเปลี่ยนแปลงใหม่ให้ได้

เมื่อ “การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์” New Normal จึงเป็นนิรันดร์เช่นกัน และเป็นดั่งนี้มาตลอดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 6 ต.ค. 2558