ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สำรวจโรงเรียนนอกระบบ “สอนภาษา” อีกธุรกิจที่ไม่ต่างจาก”กวดวิชา” แต่ไม่ต้องเสียภาษี พบเปิดสอนรวมกว่า 900 แห่ง

สำรวจโรงเรียนนอกระบบ “สอนภาษา” อีกธุรกิจที่ไม่ต่างจาก”กวดวิชา” แต่ไม่ต้องเสียภาษี พบเปิดสอนรวมกว่า 900 แห่ง

6 ตุลาคม 2015


ไทยพับลิก้าสำรวจโรงเรียนนอกระบบที่อยู่นอกกลุ่ม “กวดวิชา” พบส่วนใหญ่เปิดโรงเรียนสอนภาษารวมกว่า 900 แห่ง ทั้งนี้มีโรงเรียนสอนภาษาที่เปิดมากกว่า 1 สาขา กว่า 30 แห่ง โดย “ภาษาและกวดวิชา อี ซี ซี” มีสาขามากที่สุดรวม 39 สาขาทั่วประเทศ สะท้อนได้ว่าโรงเรียนนอกระบบที่ได้รับการยกเว้นภาษีไม่ได้มีแค่กลุ่มกวดวิชาเพียงกลุ่มเดียวที่เป็นธุรกิจแสวงกำไร

หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้จัดเก็บภาษีโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 โดยกำหนดให้เงินได้จากกำไรสุทธิหรือผลตอบแทน และเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรของโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชา ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีของนิติบุคคล ทางไทยพับลิก้าจึงได้สำรวจโรงเรียนกวดวิชาที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ พบว่า มีโรงเรียนกวดวิชาจำนวน 9 แห่งที่มีสาขามากกว่า 20 แห่งทั่วประเทศ คือ นวศึกษาหรือ JIA 43 สาขา, Enconcept 35 สาขา, ดาว้องก์ 34 สาขา, เดอะเบรน 33 สาขา, รัชดาวิทยา (RAC) 30 สาขา, วรรณสรณ์ (เคมี อ.อุ๊) 27 สาขา, เดอะติวเตอร์ (พลัส) 26 สาขา, แอพพลายด์ฟิสิกส์ 26 สาขา และครูสมศรี 21 สาขา รวมแล้วโรงเรียนกวดวิชากลุ่มนี้มีสาขารวมกัน 275

อย่างไรก็ตาม สช. ได้แบ่งการศึกษานอกระบบซึ่งเดิมทีไม่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ไว้ 6 ประเภท คือ โรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนศิลปะและกีฬา โรงเรียนวิชาชีพ โรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนเสริมสร้างทักษะชีวิต แต่ปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาต้องเสียภาษีแล้วเพราะมีลักษณะของการทำธุรกิจแสวงหากำไรในเชิงพาณิชย์ แต่มิใช่ว่าการศึกษานอกระบบกลุ่มอื่นๆ จะเป็นธุรกิจที่ไม่แสวงผลกำไร

ครั้งนี้ ไทยพับลิก้าจึงสำรวจโรงเรียนนอกระบบในกลุ่มของโรงเรียนศิลปะและกีฬา โรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนวิชาชีพ และโรงเรียนเสริมสร้างทักษะชีวิต ว่ามีโรงเรียนหรือสถาบันเหล่านั้นใดบ้างที่เปิดประกอบการในเชิงธุรกิจ โดยใช้จำนวนสาขาของสถาบันหรือโรงเรียนนั้นๆ เป็นตัวชี้วัด

จำนวนโรงเรียนนอกระบบ

จากการสำรวจโรงเรียนนอกระบบที่ขึ้นทะเบียนกับ สช. พบว่า กลุ่มสอนศาสนาส่วนใหญ่เป็นของศาสนาอิสลามที่เปิดการเรียนการสอนในมัสยิด ไม่มีสาขา ซึ่งมีทั้งหมด 184 แห่ง ส่วนกลุ่มวิชาชีพมีทั้งหมด 2,631 แห่ง โดยแบ่งเป็นการสอนวิชาชีพหลายประเภท แต่ที่มากที่สุดคือ โรงเรียนสอนภาษา สำหรับกลุ่มศิลปะและกีฬามีทั้งหมด 573 แห่ง โดยมีโรงเรียนสอนดนตรีมากที่สุด ส่วนกลุ่มเสริมสร้างทักษะชีวิตมีทั้งหมด 47 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนสอนภาษา

ดังนั้น ในครั้งนี้ไทยพับลิก้าจึงสำรวจ “โรงเรียนสอนภาษา” ที่อยู่นอกกลุ่ม “โรงเรียนกวดวิชา” ก่อน เนื่องจากมีโรงเรียนเปิดสอนจำนวนมาก และหลายๆ แห่งมีจำนวนสาขามากไม่ต่างจากโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งจากการสำรวจครั้งนี้พบว่า ในกลุ่มโรงเรียนวิชาชีพ พบ โรงเรียนสอนภาษาทั้งหมด 915 แห่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 430 แห่ง และต่างจังหวัด 485 แห่ง ส่วนกลุ่มโรงเรียนศิลปะและกีฬา พบว่ามีโรงเรียนสอนภาษาทั้งหมด 15 แห่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 7 แห่ง และต่างจังหวัด 8 แห่ง และโรงเรียนเสริมสร้างทักษะชีวิต พบว่ามีโรงเรียนสอนภาษาทั้งหมด 21 แห่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 9 แห่ง และต่างจังหวัด 12 แห่ง

ด้านโรงเรียนสอนภาษาที่อยู่ในกลุ่มโรงเรียนวิชาชีพ พบ โรงเรียนสอนภาษาที่มีมากกว่า 1 สาขา จำนวน 33 แห่ง คือ ภาษาและกวดวิชา อี ซี ซี 30 สาขา, ภาษาต่างประเทศ อิน ลิง กัว 13 สาขา, สยามคอมพิวเตอร์และภาษา 13 สาขา, ภาษาและภูมิปัญญาตะวันออก (OKLS) 12 สาขา, สถานสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา (AUA) 11 สาขา, วอลล์สตรีท 9 สาขา, ภาษาจีนศึกษา (มา-เอ็ด) 6 สาขา, วรรธนะภาษา 4 สาขา, สอนภาษาเรดเมเปิ้ล 4 สาขา, สอนภาษาเอกการศึกษา 4 สาขา

สำหรับภาษาอังกฤษพิงกุ, สอนภาษาเจล, ภวรรค์ภาษา, กรุงเทพธุรกิจและภาษา, สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่น, ภาษาสร้างสรรค์, เมธารักษ์การบริบาล, กวดวิชาและภาษาสากลอาภาพัฒนา และพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ไอแคนรีด นั้นแต่ละแห่งมี 3 สาขา ส่วนภาษาและวัฒนธรรมจีน, สอนภาษาอังกฤษแนวใหม่, ภาษาพงศ์พัฒนา, พิชยภาษาและกวดวิชา, เพิ่มทักษะภาษา, ภาษาโปรแลงเกวจ, โลกใหม่ทางการศึกษา, สอนภาษาอิงลิชพาร์ค, สอนภาษาภัฏภร, เสริมภาษาต่างประเทศ, สอนภาษาสิริน, สอนภาษาไทยนิสา, โรงเรียนสอนภาษาเวเลน และสอนภาษาต่างประเทศ แอนดรูว์ บิ๊กส์ นั้นแต่ละมี 2 สาขา

จากข้อมูลข้างต้นไทยพับลิก้าเลือกโรงเรียนสอนภาษาที่มี 4 สาขาขึ้นไป ไปตรวจสอบกับเว็บไซต์ของโรงเรียนแต่ละแห่ง พบข้อเท็จจริงว่า จำนวนสาขาเกือบทุกโรงเรียนมีความคลาดเคลื่อน ซึ่งสามารถเรียงลำดับโรงเรียนสอนภาษาที่มีจำนวนสาขามากที่สุดได้ดังนี้

1. ภาษาและกวดวิชา อี ซี ซี บนเว็บไชต์ระบุว่า มีทั้งหมด 39 สาขา มากขึ้นกว่าที่ระบุในทะเบียนของ สช. 13 สาขา คือ ซีคอนบางแค แฟชั่นไอส์แลนด์ เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ โลตัสศรีนครินทร์ บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้าลาดพร้าว ซีคอนสแควร์ เซ็นทรัลศาลายา โลตัสบางใหญ่ แพลนเนอรี่มอลล์ เดอะมอลล์บางกะปิ นครสวรรค์ เชียงใหม่ และยะลา แต่มี 4 สาขาที่ไม่ปรากฏข้อมูลบนเว็บไซต์ คือ ลาดพร้าว รังสิต จุฬาฯ ซอย 64 และภูเก็ต

2. ภาษาต่างประเทศ อิน ลิง กัว บนเว็บไชต์ระบุว่า มีทั้งหมด 19 สาขา โดยมีสาขาเพิ่มเติมจากที่ระบุในทะเบียนของ สช. 5 สาขา คือ เซ็นทรัลบางนา เซ็นทรัลศาลายา ซีคอนบางแค นครราชสีมา และอุดรธานี ทั้งนี้ยังพบว่า สาขาพาราไดซ์พาร์คลงทะเบียนกับ สช. ไว้ในกลุ่มของโรงเรียนกวดวิชาซึ่งปัจจุบันกำหนดให้เสียภาษีแล้ว ในขณะที่สาขาอื่นๆ จดทะเบียนในกลุ่มวิชาชีพ อย่างนี้แล้วทางภาษาต่างประเทศ อิน ลิง กัว จะดำเนินการเสียภาษีอย่างไร แล้วตามจริงแล้วโรงเรียนเดียวกันแต่ต่างสาขาควรจะจดทะเบียนในกลุ่มเดียวกันหรือไม่

3. สถานสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา (AUA) บนเว็บไซต์ระบุว่า มีทั้งหมด 17 สาขา โดยมีสาขาเพิ่มเติมจากที่ระบุในทะเบียนของ สช. 6 สาขา คือ นครปฐม พัทยา บางแสน ระยอง สงขลา และพิษณุโลก (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

4. ภาษาจีนศึกษา (มา-เอ็ด) บนเว็บไชต์ระบุว่า มีทั้งหมด 14 สาขา ซึ่งมีสาขามากกว่าที่ระบุในทะเบียนของ สช. 11 สาขา คือ แจ้งวัฒนะ วังหิน นครปฐม ขอนแก่น สระบุรี ศรีราชา ภูเก็ต สุขุมวิท 101 วัชรพล ชลบุรี และนครราชสีมา ทั้งนี้ มี 3 สาขาที่ไม่ปรากฏบนเว็บไซต์ คือ สำโรง งามวงศ์วาน และกาญจนบุรี

5. ภาษาและภูมิปัญญาตะวันออก (OKLS) บนเว็บไชต์ระบุว่า มีทั้งหมด 13 สาขา โดยมีสาขาเพิ่มเติมจากที่ระบุในทะเบียนของ สช. 6 สาขา คือ เซ็นทรัลศาลายา เซ็นทรัลเวสต์เกต เซ็นทรัลบางนา พาราไดซ์พาร์ค แฟชั่นไอส์แลนด์ และเดอะคริสตัล แต่มีถึง 5 สาขาที่ไม่ปรากฏข้อมูลบนเว็บไซต์ คือ สีลม ศรีนครินทร์ งามวงศ์วาน เสรีเซนเตอร์ และรัตนาธิเบศร์

6. วอลล์สตรีท บนเว็บไชต์ระบุว่า มีทั้งหมด 10 สาขา มากกว่าที่ระบุในทะเบียนของ สช. 1 สาขา คือ เชียงใหม่ สำหรับสาขาสุขุมวิทได้ย้ายไปอยู่ที่ซีคอนสแควร์แทน

7. สยามคอมพิวเตอร์และภาษา บนเว็บไชต์ระบุว่า มีทั้งหมด 8 สาขา ซึ่งมีจำนวนสาขาน้อยกว่าที่ระบุในทะเบียนของ สช. โดยมี 1 สาขาที่เพิ่มมา คือ สยามสแควร์ แต่มี 6 สาขาที่หายไป คือ เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี สำโรง หาดใหญ่ และปัตตานี

8. สอนภาษาเรดเมเปิ้ล บนเว็บไชต์ระบุว่า มีทั้งหมด 7 สาขา มากกว่าที่ระบุในทะเบียนของ สช. 3 สาขา คือ อโศก ชลบุรี และอยุธยา(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

จำนวนสาขาของสถาบันสอนภาษา

สำหรับข้อมูลโรงเรียนสอนภาษาในกลุ่มสร้างเสริมทักษะชีวิต พบว่า มีโรงเรียนสอนภาษาทั้งหมด 21 แห่ง คือ สอนภาษาอังกฤษเพลินภาษา, สนุกอ่านเสริมทักษะทางภาษา, สร้างเสริมภาษาและอัจฉริยภาพเด็ก, สอนภาษาสำหรับเด็ก บอสตั้น ไบรท์ คิดส์, เสริมทักษะภาษาวังอักษร, สอนภาษาและการออกเสียง เลิร์นนิ่ง แลนด์, สอนภาษาทรูเลิร์นนิ่งสคูลอ๊อฟแลงเกวจ, สอนภาษาทรัพย์ปัญญา, สอนภาษาญี่ปุ่นซุบารุ, อันดามันสอนภาษานานาชาติ, สอนภาษาจีนโตมา, สอนภาษาภูเก็ตราไวย์ และถลางสอนภาษานานาชาติ แห่งละ 1 สาขา ภาษาอังกฤษพิงกุ 4 สาขา ภาษา บีซี ทีชชิ่ง 2 สาขา และโรงเรียนสอนภาษาเวเลน 2 สาขา

ด้านภาษาอังกฤษพิงกุ บนเว็บไชต์พบว่ามีทั้งหมด 4 สาขา คือ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ เซอร์เคิลราชพฤกษ์ อุดรธานี และเซ็นทรัลเวิลด์ ในขณะที่ทะเบียนของ สช. ปรากฏสาขาในกลุ่มสร้างเสริมทักษะชีวิต 4 สาขา คือ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ สุขุมวิท ฟิวเจอร์พาร์ค และอุดรธานี แต่มี 3 สาขาที่ปรากฏอยู่ในกลุ่มวิชาชีพ คือ เซอร์เคิลราชพฤกษ์ แจ้งวัฒนะ และเจริญนคร

ส่วนภาษา บีซี ทีชชิ่ง หรือที่รู้จักกันในนาม บริติช เคานซิล บนเว็บไชต์พบว่ามีทั้งหมด 6 สาขา ซึ่งปรากฏอยู่ในกลุ่มสร้างเสริมทักษะชีวิต 2 สาขา คือ ศรีนครินทร์และเชียงใหม่ สำหรับอีก 4 สาขาปรากฏอยู่ในกลุ่มกวดวิชา คือ ปิ่นเกล้า สยามสแควร์ ลาดพร้าว และแจ้งวัฒนะ

สำหรับโรงเรียนสอนภาษาเวเลน บนเว็บไชต์ระบุว่า มีทั้งหมด 7 สาขา คือ สุขุมวิท, ลาดพร้าว, สมุย, พัทยา, เชียงราย, เชียงใหม่ (แอท เคิร์ฟ), ภูเก็ต และเชียงใหม่ (ห้วยแก้ว) โดยปรากฏในกลุ่มวิชาชีพ 2 สาขา คือ สุขุมวิทและสมุย และปรากฏในกลุ่มสร้างเสริมทักษะชีวิต 2 สาขา คือ เชียงรายและภูเก็ต

ทั้งนี้ ไทยพับลิก้าใช้ข้อมูลทะเบียนของ สช. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 สำหรับข้อมูลสาขาที่ไม่ปรากฏในทะเบียนไม่อาจทราบได้ว่าทางโรงเรียนยังไม่แจ้งหรือทาง สช. ยังไม่ได้บันทึก ส่วนข้อมูลสาขาที่ไม่ปรากฏบนเว็บไซต์ของโรงเรียนคาดว่าเกิดจากการยุบหรือย้ายสาขาของทางโรงเรียน

สำหรับข้อมูลทะเบียนในกลุ่มศิลปะและกีฬา พบโรงเรียนสอนภาษาทั้งหมด 15 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งไม่มีสาขา และส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนสอนภาษาและดนตรี ได้แก่ ภาษาและดนตรีกรุงเทพ, บางกอกศิลป์การดนตรีและภาษา, บ้านคณิตศาสตร์ ภาษาและศิลปะ, นวัตกรรมทักษะและภาษา, ภาษาศิลป์เลิศปัญญา, ภาษาและดนตรีรับขวัญ, สอนภาษาและดนตรีบ้านฟ้า, บ้านภาษาจีน, พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ บี บูเลอวาร์ด, สอนภาษาและพัฒนาทักษะ พัทยา, ดนตรีและภาษาเอ็มแอนด์อี, ดนตรีและภาษาสยามผาสุก ซีอีอี กรุ๊ป, เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านดนตรีและภาษาสแควร์พลัส, ศริดาภาษา และคอมพิวเตอร์ และบูมินท์สอนภาษานานาชาติและนาฎศิลป์ไทย

จะเห็นได้ว่า เมื่อดูจากจำนวนสาขาของโรงเรียนสอนภาษานอกกลุ่ม “กวดวิชา” ข้างต้นแล้ว ล้วนมีลักษณะของการดำเนินกิจการที่แสวงหากำไร เพราะเมื่อเทียบผู้เรียนต่อคนต่อคอร์สแล้ว การเรียนภาษาแพงกว่าเรียนกวดวิชาหลายเท่าตัว แต่ปัจจุบันยังคงไม่ต้องเสียภาษีเพราะกฎหมายยังไม่ได้กำหนด