ThaiPublica > คอลัมน์ > GDP ไม่ดีหลายอย่าง

GDP ไม่ดีหลายอย่าง

16 กันยายน 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

GDP ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและราวกับเป็นตัวเลขที่ศักดิ์สิทธิ์ และน่าสะพรึงกลัวในเวลาเดียวกัน น่าสงสัยว่ามันสื่อความหมายตามความเป็นจริงหรือไม่

GDP (Gross Domestic Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เป็นรายการหนึ่งในบัญชีรายได้ประชาชาติ (National Income Accounting) ที่สหประชาชาติได้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้แต่ละประเทศทราบสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละปีซึ่งประกอบด้วยมูลค่าการผลิต มูลค่าการส่งออกและนำเข้า การลงทุน การใช้จ่ายเพื่อบริโภค ฯลฯ

GDP เป็นตัวชี้ให้เห็นสถานะการผลิตและรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ ซึ่งสามารถวัดได้ 3 ทาง คือ ด้านการผลิต ด้านรายได้ และด้านรายจ่าย

GDP เมื่อวัดในด้านการผลิตก็มาจากการรวมกันของสิ่งที่เรียกว่า Gross Farm Product (มาจากภาคเกษตรกร) / Gross Manufacturing Product (จากภาคอุตสาหกรรม) / Gross Services (ภาคบริการ) และ Gross Government Product (ผลผลิตจากภาครัฐ โดยทั่วไปใช้มูลค่าการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยใช้เหตุผลว่าการจ่ายเงินออกไปของรัฐก็คือผลงานที่เกิดขึ้นโดยภาครัฐ)

การวัด GDP ในด้านรายได้นั้นไม่สามารถเอารายได้ของผู้คนในประเทศจากภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ฯลฯ มารวมกันได้ เนื่องจากมีปัญหาการนับซ้ำ (รายได้เปลี่ยนมือจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งก็กลายเป็นการนับซ้ำ เช่น พ่อให้เงินลูก ถ้านับรายได้ทั้งสองคนก็นับซ้ำ) และไม่อาจรู้ได้ว่าการนับซ้ำนั้นมีมากน้อยเพียงใด ดังนั้น จึงไม่มีการวัดกันในด้านนี้

ในด้านรายจ่าย GDP สามารถวัดได้แต่ไม่สะดวกเท่าด้านการผลิต วิธีวัดก็คือรวมการใช้จ่ายของภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ฯลฯ ของทั้งประเทศเข้าด้วยกัน

ตามตรรกะนั้น ไม่ว่าจะวัด GDP ด้านใดก็ตาม (การผลิต รายได้ และรายจ่าย) จะให้ตัวเลขที่ตรงกัน กล่าวคือ เมื่อมีการผลิตเกิดขึ้นก็เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจซึ่งก็คือรายได้ (ค่าจ้างแรงงาน กำไร ภาษีอากร ฯลฯ) และเมื่อมีรายได้ก็มีรายจ่ายเกิดขึ้นด้วยจำนวนเท่ากันเช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะวัดทางใดก็จะให้ตัวเลขเลขเดียวกัน

ในการคำนวณหา GDP ของแต่ละปีในทางปฏิบัติ ประเทศต่างๆ มักเลือกใช้ด้านการผลิตเป็นหลัก ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีความผิดพลาดน้อยที่สุด ที่พูดว่า “มีความเป็นไปได้” ก็เพราะไม่มีอะไรที่แน่นอนและง่ายดาย ในการคำนวณหาค่า GDP จำเป็นต้องใช้สมมติฐานมากมาย ใช้การประเมินอย่างสมเหตุสมผล (educated guess) หรือแม้แต่ใช้การประเมินอย่างคาดเดา (guestimate = guess + estimate) เช่น ในเรื่องการนับผลผลิตหรือรายได้ซึ่งเกิดจาก SMEs ขนาดเล็กของบ้านเราที่มีจำนวนมหาศาลเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตคนยากจนจำนวนมากซึ่งบางครั้งเรียกว่าพวก Informal Sector (ภาคที่มิได้เป็นทางการ) เช่น ขายเสื้อผ้าท้ายรถ ร้านขายส้มตำ ร้านซ่อมรองเท้าริมถนน รถเข็นขายอาหาร ร้านตัดผมริมถนน ร้านขายของชำในชนบท ฯลฯ ก็ใช้ประมาณการ

หากต้องการได้ GDP ที่มาจาก Informal Sector ก็ต้องนับจำนวนธุรกิจ (ทำได้ดีที่สุดก็คือคาดเดา) นับยอดขายจากทุกลักษณะการผลิตและการค้าที่กระจายอยู่ทั่วประเทศด้วยประมาณการเช่นกัน

ตัวเลขการผลิตจาก Formal Sector นั้นเป็นเรื่องไม่ยากเพราะสามารถเก็บได้จากโรงงานใหญ่ๆ ทั้งหลาย บริษัทผลิตรถยนต์ ร้านสะดวกซื้อ (สร้างมูลค่าเพิ่ม) โรงไฟฟ้า ฯลฯ ที่ยากอีกอย่างก็คือภาคการเกษตร ซึ่งผลิตโดยผู้คนจำนวนมากด้วยหลากหลายสินค้าและผลิตภัณฑ์ การประมาณการตัวเลขรวมต้องใช้สมมติฐานและการคาดเดาอย่างมีเหตุผลอยู่มาก

แค่วัด GDP อย่างเดียวก็ปวดหัวและไม่แน่นอนพออยู่แล้ว ยังต้องระวังอีกว่าต้องเป็นการผลิตที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินไทย (คนชาติใดผลิตก็ได้) ไม่ผิดกฎหมาย และมีการซื้อขายกันผ่านตลาด (มูลค่ามะม่วงต้นหลังบ้านที่ผลิตได้ไม่นับใน GDP แต่ถ้าเอาไปขายก็นับ มูลค่าการทำงานบ้านของภรรยาไม่นับแต่ของเด็กทำงานบ้านนับ เมื่อใดที่เด็กที่บ้านกลายเป็นภรรยาก็เลิกนับรวมใน GDP)

สมมติให้ตัวเลข GDP ของบ้านเราที่ภาครัฐประกาศมีความแม่นยำ แต่มันก็ยังไม่ได้สะท้อนสภาวะการผลิตหรือสถานะของการเกิดรายได้ขึ้นจริงในเศรษฐกิจ ทั้งนี้เนื่องจากบ้านเรามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้แต่ผิดกฎหมายอีกมากมายที่ไม่นับรวม เช่น ผลิตยาเสพติด ผลิต CD เถื่อน หญิงบริการ ค้ามนุษย์ ค้าของเถื่อน ฯลฯ ซึ่งเรียกว่าเศรษฐกิจใต้ดิน ตัวเลข GDP ประมาณ 13 ล้านล้านบาท นั้นอาจมีเศรษฐกิจใต้ดินอยู่อีก 1 ใน 4 หรืออีกกว่า 3 ล้านล้านบาท ก็เป็นได้ (รองนายกฯ สมคิดท่านพูดถูกที่ว่าอย่าไปดูตัวเลข GDP เพียงอย่างเดียวมันยังมีสิ่งที่อยู่นอก GDP ที่เป็นรายได้ ‘เถื่อน’ อีกมาก ข้างหลังนี้ท่านไม่ได้พูด แต่ผมพูดเอง)

ตัวเลข GDP ที่ชอบอ้างอิงกันจนน่ากลัวก็คือการย่อย GDP ออกเป็นรายจังหวัดและเรียกว่า Gross Provincial Product (GPP) และใช้ GPP นี้มาวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนในแต่ละจังหวัดและนำไปใช้ในการดำเนินนโยบายต่างๆ

GPP ของจังหวัดต่างๆ นั้นเมื่อรวมกันเข้าแล้วจะเท่ากับ GDP ของประเทศซึ่งคำนวณมาได้ด้วยความยากเย็นดังกล่าวแล้วซึ่งอาจผิดจากความจริงก็ได้เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ (พยายามตรวจเช็คกับด้านรายจ่าย แต่ด้านรายจ่ายก็มาจากการประมาณการอีกเช่นกัน)

ในเชิงวิชาการไม่สามารถยืนยันได้แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าตัวเลข GDP นั้นถูกต้อง จนกว่าหลายปีผ่านไป ได้เห็นตัวเลขอื่นๆ ประกอบแล้วจึงจะมาชำระสะสางกัน เมื่อ GDP ไม่แม่นยำ GPP จึงมีปัญหาตามไปด้วย และเมื่อพิจารณาลักษณะของ GDP แล้วก็เห็นว่าเป็นตัวเลขที่อยู่บนพื้นฐานของแหล่งการผลิต (income-originating base)

GPP ของไทยระบุว่าสมุทรปราการ (GPP เท่ากับ 683,921 ล้านบาท) ปทุมธานี (321,288 ล้านบาท) อยุธยา (367,571 ล้านบาท) ชลบุรี (737,077 ล้านบาท) และ กทม. (4 ล้านล้านบาท) นั้นรวยมาก ยิ่งดูรายหัวแล้วก็จะเห็นว่าคนจังหวัดนี้รวยมากอีกเช่นกัน

รายได้คน กทม. เฉลี่ยต่อหัวต่อปี (466,844 บาท) สมุทรปราการ (352,296 บาท) ปทุมธานี (229,609 บาท) อยุธยา (422,421 บาท) ชลบุรี (457,845 บาท) ทั้งนี้เนื่องจากจังหวัดเหล่านี้เป็นแหล่งการผลิตอุตสาหกรรมใหญ่แต่จะไปหาคนที่มีรายได้ต่อหัวขนาดนี้คงยากมากเพราะตัวเลข มาจากมูลค่าการผลิตหรือการสร้างรายได้โดยโรงงาน มิได้มาจากการที่คนในจังหวัดได้รับจริง (income-received base)

ในทางตรงกันข้ามคนอีสานมี GPP ต่อคนประมาณ 74,532 บาท หนองบัวลำภู (46,804 บาท) ศรีสะเกษ (65,409 บาท) ร้อยเอ็ด (65,868 บาท) ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำ แต่โดยแท้จริงแล้วเขาอาจมีรายได้มากกว่านี้เพราะมีเงินโอนข้ามจากที่อื่นโดยลูกหลานหรือจากการข้ามไปทำงานหรือค้าขายที่จังหวัดอื่นอีกซึ่งตัวเลข GPP ต่อคนมิได้สะท้อนให้เห็น

เมื่อ GDP มีธรรมชาติของการคำนวณเช่นนี้ทั่วโลก (เพียงแต่ใครจะ “เดา” ได้อย่างมีเหตุผลกว่ากัน) เราจึงไม่ควรไว้วางใจและบูชาราวกับเป็นตัวเลขที่พระเจ้าประทานมาให้ใช้วัดความสุขของคนในโลก

GDP เป็นเพียงเครื่องมือที่มีข้อจำกัดในการช่วยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ มันไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายซึ่งคือการกินดีอยู่ดีและมีความสุข มีความสงบสุขมั่นคงในชีวิต ซึ่งบรรดาสิ่งที่เป็นนามธรรมสำคัญเหล่านี้ GDP ไม่สามารถให้ได้

ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 15 ก.ย. 2558