เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2558 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ เรื่องผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสำนักงาน ป.ป.ช. และองค์กรอิสระไทย ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 2,400 คน แบ่งเป็นประชาชน 51% ข้าราชการ/ภาครัฐ 25% และผู้ประกอบการ/ภาคเอกชน 20% จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งผลการสำรวจ ปรากฎว่า
- ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสำนักงาน ป.ป.ช.และองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ด้านการต่อต้านการทุจริตได้คะแนน 5.71 จาก 10 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในรอบ 6 ปี
- ประสิทธิภาพการทำงานต่อต้านการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. ประชาชนเห็นว่ามีประสิทธิภาพ คิดเป็น 51% ซึ่งนับว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจมา
- กรณีคำถาม “เห็นด้วยหรือไม่ว่าการทุจริตเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเองโดยตรง” ประชาชน 92% ไม่เห็นด้วย
- กรณีคำถาม “เห็นด้วยหรือไม่ว่าการที่รัฐบาลทุจริต แต่มีผลงานและทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเรื่องที่รับได้” ประชาชน 87% ไม่เห็นด้วย
- กรณีคำถาม “เห็นด้วยหรือไม่ว่า การให้สินน้ำใจ (เงินพิเศษ) เล็กๆ น้อยๆ แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นเรื่องไม่เสียหาย” ประชาชน 85% ไม่เห็นด้วย
- ความสามารถที่จะทานทนต่อการทุจริต ผลการสำรวจได้ค่าคะแนน 2.48 (คะแนน 0 = เกลียดการทุจริต/ไม่สามารถทนได้ คะแนน 10 = สามารถทนได้)
- การมีส่วนร่วมในการป้องกันต่อต้านการทุจริต ประชาชนร้อยละ 85 ยินดีมีส่วนร่วม ร้อยละ 3 อยากมีส่วนร่วมแต่ไม่สามารถทำได้ เพราะจำเป็น/กลัวอันตราย ร้อยละ 12 ไม่ต้องการมีส่วนร่วม
- ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐ จะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ/นักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญา พบว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ
– ปี 2553-2556 ต้องจ่าย % เงินเพิ่มพิเศษของรายรับเฉลี่ย 25-35%
– เดือนมิถุนายน 2557 ต้องจ่าย % เงินเพิ่มพิเศษของรายรับเฉลี่ย 15-25%
– เดือนธันวาคม 2557 ต้องจ่าย % เงินเพิ่มพิเศษของรายรับเฉลี่ย 5-15%
– เดือนมิถุนายน 2557 ต้องจ่าย % เงินเพิ่มพิเศษของรายรับเฉลี่ย 1-15 %
“ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะพยายามรักษาสถานการณ์เช่นนี้ไว้ และจะทำให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ดังกล่าวระบุ
กรรมการ ป.ป.ช.จ่อพ้นตำแหน่ง 5 คน – “วิษณุ” เผยใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. สรรหาใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 21 กันยายน 2558 กรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 5 คน จากทั้งหมด 9 คน จะต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากดำรงครบวาระ 9 ปี นับแต่ได้รับการแต่งตั้งโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2549 ประกอบด้วย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายภักดี โพธิศิริ นายวิชา มหาคุณ และนายวิชัย วิวิตเสวี
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมตรีด้านกฎหมาย ระบุว่า หลังจากกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 5 คน ครบวาระ ก็จะต้องมีการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. เข้ามาใหม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยระหว่างนั้นกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 5 คน ดังกล่าวยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้เป็นการชั่วคราว จึงยังไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของ ป.ป.ช.
สำหรับการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. เข้ามาใหม่ จะดำเนินการคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 13/2558 ที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 44 โดยกรรมการสรรหา จำนวน 5 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรองนายกฯ ที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย แต่วันนี้เหลือเพียง 4 คน เพราะไม่มีประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ว่าผู้ที่ทำหน้าที่รักษาการจะเข้าร่วมการสรรหาได้หรือไม่
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า หลังจากกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 5 คน ครบวาระ จะมีการเรียกประชุมกรรมการสรรหาโดยทันที ในวันที่ 22 กันยายน 2558 และคาดว่า จะเปิดให้มีการรับสมัครผู้เข้ารับการสรรหา ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2558 เป็นต้นไป
สำหรับกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะได้รับการสรรหาเข้ามาใหม่ จะมีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี (จนถึงปี 2567) หรือจนกว่าจะอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์