ThaiPublica > คอลัมน์ > สปช.พลังงานแถลง

สปช.พลังงานแถลง

24 กันยายน 2015


อานิก อัมระนันทน์

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้ไปร่วมงานแถลงผลงานของคณะกรรมาธิการการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ขอเรียกย่อๆ ว่า สป.พน. รายงาน 76 หน้า สรุปประเด็นในการปฏิรูปทั้งหมด 18 ประเด็น ได้แก่

(1) ระบบราคาเชื้อเพลิงที่มีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม (2) บทบาทหน้าที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (3) การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกำหนดนโยบายและกำกับกิจการพลังงาน (4) การพัฒนาศูนย์ข้อมูลกลางด้านพลังงาน (5) การกำกับกิจการพลังงานที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติหรือมีอำนาจเหนือตลาด (6) การจัดตั้งกองทุนพลังงานเพื่อสังคม (7) การจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า (8) การจัดทำแผนกำลังการผลิตไฟฟ้า PDP (9) การผลิตและซื้อขายไฟฟ้าเสรี (10) การบริหารกิจการสายส่งและศูนย์ควบคุมโครงข่ายไฟฟ้าและตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า (11) โครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าในกลุ่มประชาคมอาเซียนและภูมิภาคข้างเคียง (12) กองทุนพัฒนาไฟฟ้า (13) การอนุรักษ์พลังงานในอาคารด้วยระบบ ESCO และ BEC (14) กฎหมายด้านพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน (15) พลังงานชีวภาพ (16) การแยกหน่วยงานให้มีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและกรมอนุรักษ์พลังงาน (17) โครงการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี (18) โครงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

ผู้สนใจน่าจะหาอ่านได้จากฝ่ายสนับสนุนงานที่รัฐสภา วันนี้ขอเล่าเพียงบางประเด็นที่น่าสนใจที่มีการนำเสนอบนเวทีเสวนา ดังนี้

เรื่องความเป็นธรรม สป.พน. เสนอให้ใช้โครงสร้างราคาปิโตรเลียมที่เป็นธรรมกับผู้ใช้ทุกกลุ่ม โดยกำหนดราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หากต้องการช่วยผู้มีรายได้น้อยก็ให้อุดหนุนเฉพาะกลุ่ม อย่างโครงการไฟฟ้าฟรี 50 หน่วย หรือ LPG ราคาพิเศษที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะหากอุดหนุนแบบ “หน้ากระดาน” คือให้ทุกลิตรทุกคน จะเป็นการใช้เงินส่วนกลางที่มีอยู่จำกัดไปช่วยเหลือคนรวยมากกว่าคนจน เนื่องจากคนมีฐานะใช้น้ำมันและพลังงานต่างๆ มากกว่าคนจนหลายเท่า

ที่ผ่านมาผู้ใช้ LPG NGV และดีเซล ได้ของถูก แต่ไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้กลุ่มอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายจ่ายเงินให้เกิดการอุดหนุนราคาเหล่านั้น เช่น ผู้ใช้น้ำมันเบนซินเคยจ่ายเข้ากองทุนน้ำมันถึง 10 บาท/ลิตร ทั้งภาษีสรรพสามิต เทศบาล และ VAT อีกกว่า 10 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ก็ด้วยระดับหนึ่ง เพื่ออุดหนุนราคา LPG และดีเซลซึ่งเคยได้ลดภาษีสรรพสามิตจาก 5.31 บาท/ลิตร เหลือเพียง 0.005 บาท/ลิตร มีผลลดรายได้รัฐที่จะไปใช้จ่ายเป็นงบประมาณกว่าปีละ 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ใช้ NGV ไม่เคยจ่ายสรรพสามิตเลย จะว่าพิเศษเฉพาะขนส่งสาธารณะก็ไม่ใช่ เพราะมีการผลิตรถยนต์หรูๆ ที่ใช้น้ำมันราคาถูกขายคนรวยมากขึ้น

แต่ความไม่เป็นธรรมอย่างที่สุด เกิดขึ้นนอกขอบข่ายของการพลังงาน! ในเรื่องของราคาสินค้าและบริการที่ไม่ได้ลดลงถึงแม้ราคาน้ำมันจะลดลงไปมากแล้ว ปัญหาผลกระทบต่อค่าครองชีพไม่ได้อยู่ที่โครงสร้างราคาน้ำมัน เพราะในช่วงราคาน้ำมันขาขึ้น สินค้าและบริการต่างๆ ปรับขึ้น อาจจะขึ้นตามส่วนหรือขึ้นเกินมิทราบได้ แต่เวลาน้ำมันขาลง เช่น ดีเซลลดลงจาก 30 บาท/ลิตร เหลือเป็นเพียง 22.49 บาทต่อลิตร ค่าโดยสารรถทัวร์ ค่าขนส่ง และสินค้าต่างๆ แทบมิได้ลดลงแต่อย่างใด

ปัญหาที่หนักหน่วงจริงจึงอยู่ที่การกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาด ครอบงำตลาด หรือการฮั้วราคา หาใช่ในธุรกิจพลังงานไม่ อย่างที่หลายคนคิดหรือฟังมาจนฝังหัว

ในเรื่องไฟฟ้า สป.พน. เสนอให้มีการพยากรณ์ความต้องการ “ตลอดเวลา” แทนที่จะเป็นหลายปีครั้ง และทำในระดับภูมิภาคด้วย รวมทั้งให้รับฟังความเห็นประชาชนเรื่องประเภทเชื้อเพลิงที่จะใช้และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า ซึ่งดิฉันว่าดี

กองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าที่ในอดีตมีปัญหาจากการกระจายอำนาจและการให้ชุมชนมีส่วนเลือกคณะกรรมการ (แต่ได้ตัวแทนที่ไม่จริงใจ) เกิดการใช้เงินที่ฟุ่มเฟือยผิดวัตถุประสงค์ อาทิ “ดูงาน” ต่างประเทศ หลัก กม. ยักษ์ 50 ล้านบาท ช่วงหลังจึงได้มีการแก้ระเบียบให้คณะกรรมการกิจการพลังงานในส่วนกลางเป็นฝ่ายอนุมัติเพื่อกำกับให้ตรงตามวัตถุประสงค์ สป.พน. เสนอให้อำนาจกลับสู่ท้องถิ่น โดยให้น้ำหนักผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและใช้ EIA (รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) เป็นตัวตั้ง ส่วนหลังฟังดูดีหากมีกติกาที่จะป้องกันปัญหาเดิมๆ ได้

ในเรื่องการบริหารและกำกับกิจการพลังงาน สป.พน. เน้นที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วม โดยมองการมีส่วนเป็นลำดับขั้นตั้งแต่ (1) การได้รับข้อมูลข่าวสาร (2) การแสดงความคิดเห็น (3) การร่วมตัดสินใจ จนถึง (4) การร่วมรับผิดชอบ และ (5) ได้รับ “ประโยชน์” (โดยตรง)

สป.พน. เสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีตัวแทนของภาคประชาชนอยู่ด้วย โดยให้เริ่มจากการเป็นที่ปรึกษา และเมื่อแก้กฎหมายเสร็จแล้วจึงให้มีการคัดเลือกตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการโดยตรง ขอเดาว่าจะมีการเสนอให้สัดส่วนตัวแทนสูงๆ ในคณะกรรมการ

ถ้าเป็นเช่นนี้ ฝ่ายบริหาร — ที่ปกติมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ — ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบอยู่แล้ว อาจต้องทำตามนโยบายที่ตนไม่เห็นด้วยเพียงเพราะแพ้โหวตหรือถูกกดดันโดยกลุ่มคนที่ไม่ต้องมีความรับผิดชอบ

จะสอดคล้องกับหลักการมีส่วน “ร่วมรับผิดชอบ” ด้านบนสักแค่ไหน? หากเป็นระดับที่ปรึกษาจะมีความพอดีกว่าหรือไม่?

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันพุธที่ 2 กันยายน 2558
ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิใช่ขององค์กรใด