ThaiPublica > เกาะกระแส > ซูเปอร์บอร์ด สั่งปิดบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน เร่งรายงาน 3 เดือน – ลดสิทธิประโยชน์บอร์ด รสก. ต้องโปร่งใสเปิดเผยข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน

ซูเปอร์บอร์ด สั่งปิดบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน เร่งรายงาน 3 เดือน – ลดสิทธิประโยชน์บอร์ด รสก. ต้องโปร่งใสเปิดเผยข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน

18 กรกฎาคม 2015


เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 6/2558 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ภายหลังการประชุม นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้แถลงสรุปผลกระประชุมโดยมีสาระสำคัญดังนี้

ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ

นายกุลิศกล่าวว่า ประเด็นแรก ที่ประชุม คนร. เห็นชอบให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้ง/ร่วมทุน และกำกับดูแลบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจ และได้กำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่มีบริษัทในเครือทบทวนสถานภาพการของบริษัทในเครือที่มีการจัดตั้งขึ้นแล้ว โดยให้รายงานผ่านกระทรวงเจ้าสังกัดและนำเสนอ คนร. ทราบภายใน 3 เดือน หากจำเป็นต้องคงอยู่ แต่มีผลการดำเนินงานขาดทุน ให้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงการดำเนินงานด้วย

ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจได้จัดตั้งบริษัทในเครือ เป็นบริษัทที่มีรัฐวิสาหกิจถือหุ้นเกินกว่า 25% มีประมาณ 120 แห่ง และในบริษัทในเครือเหล่านี้มีจำนวน 60 แห่ง คิดเป็น 50% ที่มีผลประกอบการได้กำไร ส่วนที่เหลือมีผลประกอบการขาดทุน

“เนื่องจากรัฐวิสาหกิจหลายแห่งในอดีตมีการตั้งบริษัทลูกโดยไม่มีการดำเนินการอย่างรอบคอบ ทำให้มีผลประกอบการขาดทุนมาจนทุกวันนี้ ที่ประชุมจึงเห็นว่า ต่อไปนี้ต้องมีการดูแลในเรื่องนี้ด้วย โดยต้องมีแผนการทำงานที่ชัดเจนมาเสนอ”

สำหรับหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุนฯ ที่มีเพิ่มเติมได้แก่ 1) ให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวครอบคลุมรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง  รวมถึงสถาบันการเงินด้วย และหากรัฐวิสาหกิจจะเสนอตั้งบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือใหม่ หลักเกณฑ์การจัดตั้งจะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต้องไม่ดำเนินกิจการที่เป็นภารกิจหลักของรัฐวิสาหกิจแม่ หรือเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับภารกิจหลักของรัฐวิสาหกิจแม่ และต้องไม่ประกอบกิจการที่เป็นการแข่งขันกับเอกชน ยกเว้นเพื่อความจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคง หรือการจัดให้มีบริการสาธารณูปโภคให้ประชาชน

“ทั้งนี้ จะต้องมีการนำเสนอผ่านกระทรวงเจ้าสังกัด เพื่อนำเสนอ คนร. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำหรับรัฐวิสากิจที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หากประสงค์จะตั้งบริษัทในเครือ ถือหุ้นต่ำกว่า 50% และไม่มีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นอำนาจของบอร์ดของรัฐวิสาหกิจนั้นในการพิจารณา โดยนำหลักเกณฑ์ที่ได้เสนอขึ้นมานั้นมาพิจารณาประกอบด้วย” นายกุลิศกล่าว

2) ปรับปรุงข้อมูลประกอบการขออนุมัติการจัดตั้ง/ร่วมลงทุน ในบริษัทในเครือที่มีความรอบคอบและมุ่งหวังผลสำเร็จของบริษัทในเครือ การเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของบริษัทในเครือจากที่เคยได้รับอนุมัติไว้ ต้องนำเสนอผ่านกระทรวงเจ้าสังกัด คนร. และ ครม. ในการพิจารณา

3) ปรับปรุงระบบกำกับดูแลบริษัทลูก ต้องดำเนินการให้รัดกุมยิ่งขึ้นโดยให้มีการรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือต่อ คนร. ทุก 6 เดือน รวมทั้งกำหนดให้การส่งพนักงานเข้าไปทำงานในบริษัทในเครือ (Secondment) ให้พนักงานรับค่าตอบแทนทางใดทางหนึ่งเท่านั้น และให้มีการกำหนดระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน

นายกุลิศ สมบัติศิริ
นายกุลิศ สมบัติศิริ

ประเด็นที่สอง คนร. ได้เห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจที่จะจัดทำขึ้นตามที่ คนร. ได้มอบหมายในคราวประชุมครั้งที่ 4/2558 โดยมีสาระสำคัญในเรื่องของการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจในกฎหมาย กำหนดให้มีแผนพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจในระยะเวลา 5 ปี

กำหนดให้มีระบบกำกับดูแลของรัฐวิสาหกิจ เช่น ระบบสรรหาและแต่งตั้งกรรมการ ระบบประเมินผลงาน ระบบการเปิดเผยข้อมูล และระบบการแก้ไขรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา โดยมีการสร้างระบบการเปิดเผยข้อมูลที่จะทัดเทียมกับระบบเปิดเผยข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ และกำหนดให้มีการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติโดยมีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าของ เพื่อทำหน้าที่บริหารรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัดที่มีลักษณะการดำเนินการในเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ คนร. ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจฯ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งหารือกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการโอนหุ้นของรัฐวิสาหกิจไปยังบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ และประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจกับสาธารณชนก่อนนำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อ ครม. พิจารณา ภายในเดือนกันยายน 2558 ต่อไป

“ในประเด็นที่สาม ที่ประชุม  คนร. มีมติให้รัฐวิสาหกิจปรับลดสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและเงินบริจาค และกำหนดให้รัฐวิสาหกิจมีการเปิดเผยข้อมูลให้ได้มาตรฐาน  โดยในการประชุมครั้งนี้ คนร. ได้ติดตามผลการดำเนินการตามมติ คนร. ดังกล่าว และ คนร. ได้กำชับให้รัฐวิสาหกิจเร่งลดสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและเงินบริจาค และเปิดเผยข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ตามมติ คนร. ภายใน 1 เดือน รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะถึงผลงานของรัฐวิสาหกิจตามสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง” นายกุลิศกล่าว

ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวต่อไปว่าในประเด็นที่สี่คนร. ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการซ่อมบำรุงและจัดหาขบวนรถใหม่ เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน และเห็นชอบให้ดำเนินการจัดหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการ Airport Rail Link ที่จะขยายไปยังสนามบินดอนเมือง ควบคู่กันต่อไป

และประเด็นสุดท้าย สืบเนี่องจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 (EGATIF) จากการนำเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา คนร. จึงได้มอบหมายให้ สคร. หารือร่วมกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เพิ่มเติม ถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นแหล่งลงทุนทางเลือกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่อไป เช่น รัฐวิสาหกิจจำพวกพลังงาน, รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม, บริษัท ทีโอที จำกัด, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และการประปา เป็นต้น