ThaiPublica > คอลัมน์ > การลงทุนในมรดกโบราณคดี ขุมทรัพย์ทางเศรษฐกิจที่ถูกลืม

การลงทุนในมรดกโบราณคดี ขุมทรัพย์ทางเศรษฐกิจที่ถูกลืม

6 สิงหาคม 2015


พชรพร พนมวันฯ และ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

English Version “Heritage Investment : The Forgotten Economic Assets in Thailand”

ในประเทศไทยเยาวชนมักถูกหล่อหลอมตั้งแต่เยาว์วัยด้วยความเชื่อที่ว่าการเรียนวิชาชีพบางสาขา เช่น แพทยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย หรือวิศวกร นั้นมีเกียรติและให้ผลตอบแทนสูงกว่าสาขาวิชาชีพอื่นๆ ความคิดเช่นนี้เองส่งผลให้เยาวชนซึ่งสนใจในศาสตร์วิชาด้านมนุษยศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ ไม่กล้าตัดสินใจเลือกเรียนในสาขาวิชาเหล่านี้ถึงแม้จะมีความรู้ความสามารถเพียงพอ เนื่องจากต้องเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งครอบครัวและคนรอบข้าง ในหมู่วิชาชีพอันไม่เป็นที่นิยมนี้เองวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีจัดอยู่ในกลุ่มล่างสุด

อคติทางความเชื่อเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสมากมายในการใช้วิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีเข้ามาส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ผู้เขียนทั้งสองของบทความชิ้นนี้เป็นนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่ได้มีส่วนในโครงการค้นคว้าด้านโบราณคดีกับนักวิจัยชั้นนำของโลกในการศึกษาพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางทะเลที่ติดต่อกับเส้นทางสายไหมโบราณ และเป็นจุดเชื่อมของอารยธรรมอันหลากหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 ภาพประกอบที่ 1
ภาพประกอบที่ 1

จากการศึกษาวิจัยพบว่า ยังมีพื้นที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันนี้ถูกค้นพบอยู่ทั่วประเทศไทย มีการค้นพบวัตถุโบราณที่มาจากอารยธรรมของเปอร์เซีย โรมัน กรีก และจีน โดยวัตถุบางชิ้นนั้นมีอายุเก่าแก่ถึงช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ อันเป็นเครื่องยืนยันว่าดินแดนในแถบประเทศไทยนี้เป็นแหล่งรวมทางวัฒนธรรมและวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลายทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง

การเมินเฉยต่อความสำคัญของประวัติศาสตร์ในประเทศไทยสะท้อนให้เห็นได้จากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนนับล้านคนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในพัทยาและจังหวัดชลบุรีต่างมุ่งตรงไปที่แหล่งท่องเที่ยวด้านความบันเทิง โดยหาได้รู้ถึงความสำคัญของพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าเเก่ที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 และยังอาจเป็นตัวอย่างของชุมชนยุคโฮโลซีนที่น่าทึ่งที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ดูภาพประกอบที่ 1) ในทางตรงกันข้ามนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น ตุรกี อิตาลี และกรีซ ต่างชื่นชอบการผสมผสานระหว่างเรื่องราวประวัติศาสตร์และความสวยงามของท้องทะเล แต่อดีตอันเต็มไปด้วยเรื่องราวและอารยธรรมอันรุ่งเรืองของประเทศไทยกลับถูกแยกขาดจากชายหาดอันเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ชาติไทย

ผู้เขียนตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างความตระหนักถึงคุณค่าที่จะเกิดขึ้นจากการยกระดับคุณภาพของโครงการขุดค้นและปรับปรุงการบริหารจัดการพื้นที่ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน

นอกจากเยาวชนไทยจะถูกค่านิยมทางสังคมลดทอนสำนึกทางคุณค่าต่อวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีแล้ว ปัญหาที่ยังคงฝังรากอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเราอีกประการคือการมองว่าการลงทุนทางประวัติศาสตร์เป็นการลงทุนที่ไม่ทำให้เกิดกำไร ภาคเอกชนมักมองการลงทุนทางมรดกและวัฒนธรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแคมเปญด้าน CSR เท่านั้น ส่วนรัฐบาลไทยซึ่งมอบความรับผิดชอบในส่วนนี้แก่กรมศิลปกรจัดงบประมาณสำหรับการประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์ให้กับโครงการเช่นนี้น้อยที่สุดในหมู่โปรแกรมการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลทั้งหมด

ขณะที่ชุมชนท้องถิ่นมุ่งหาประโยชน์จากการขุดค้นวัตถุโบราณเพื่อมาขายทอดในตลาดมืดมากกว่าการดูแลรักษาสมบัติของชาติเหล่านั้นซึ่งแท้ที่จริงสามารถนำมาพัฒนาเป็นหนึ่งในช่องในทางการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ภาพประกอบที่ 2
ภาพประกอบที่ 2

ในทางตรงกันข้าม ประสบการณ์ของผู้เขียนกับสถาบันวิจัยระดับโลกนั้นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในความคิดเรื่องคุณค่าของประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างสิ้นเชิง ในสถาบันชั้นนำเหล่านี้ การลงทุนทางมรดกโลกถูกมองเป็นการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเงิน จากแผนภาพประกอบที่ 2 แสดงแนวคิดการพัฒนามรดกทางวัฒนธรรม (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย) จะเห็นได้ว่ารัฐบาลนั้นอยู่ในฐานะของผู้ให้สิทธิด้านกฎหมายและผู้สนับสนุนทางการเงิน ส่วนภาคเอกชนก็เป็นผู้คาดหวังผลลัพธ์ที่เป็นตัวเงินจากการลงทุน ในขณะที่ท้องถิ่นนั้นได้รับประโยชน์จากการจ้างงานซึ่งเกิดขึ้นจากการขุดค้นในพื้นที่และการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง

ผลที่เกิดขึ้นคือ อุตสาหกรรมการพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์นี้จะเติบโตร่วมไปกับอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ สร้างจิตสำนึกด้านอัตลักษณ์ตัวตนและความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชน และท้ายที่สุด ผลของการพัฒนาเช่นนี้ก็กลับกลายเป็นองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์สำหรับศึกษาและพัฒนาต่อไป ดังนั้น ความสัมพันธ์ของมรดกทางวัฒนธรรมและเศรษกิจจึงอยู่ในรูปแบบที่ต่างฝ่ายต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน

ในประเทศไทยเราสามารถเห็นตัวอย่างของความสัมพันธ์ดังที่กล่าวมานี้ได้จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งได้ก่อให้เกิดการขยายผลขุดค้นแหล่งโบราณคดีในบริเวณใกล้เคียง และเกิดการสร้างงานจากการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยว อาทิ การขายของที่ระลึกเครื่องปั้นดินเผาและการผลิตสินค้าหัตถกรรมชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างความสำเร็จเช่นนี้ในต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ในเมืองบอดรัม ประเทศตุรกี ที่ได้พลิกพื้นที่ทำสวนไร่นาและทำประมงให้กลายเป็นแหล่งพื้นที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (creative industries)

ในทางสถิตินั้น การพัฒนาแหล่งโบราณคดีไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น หากแต่ยังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สร้างความยั่งยืนทั้งในด้านอาชีพและรายได้ รัฐวอร์ชิงตันของสหรัฐอเมริกาทุ่มงบประมาณกว่า 83.5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2000-2004 ในโครงการทางโบราณคดี ซึ่งผลจากการลงทุนในโครงการก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างผลกำไรกว่า 221 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งยังช่วยสร้างงานกว่า 2,320 ตำแหน่งให้กับพลเมือง ผลกำไรจากการลงทุนของรัฐคงอยู่ที่ตัวเลข 8.9 ล้านต่อปี ในภาพรวมรัฐได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ 153% ในส่วนภาคเอกชนนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเสนอในการปรับปรุงอัตราภาษีให้แก่บริษัทที่ลงทุนในโครงการด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน

นโยบายนี้ได้ช่วยขับเคลื่อนภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมโครงการบำรุงโบราณสถานต่างๆ ทั้งยังได้ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์การ National Park Service ของสหรัฐอเมริการายงานว่า นโยบายการฟื้นฟูภาษีซึ่งเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1976 ได้นำไปสู่การลงทุนในภาคเอกชนกว่า 55 พันล้านเหรียญ เป็นอัตราสูงถึง 5:1 เมื่อเทียบกับการลงทุนจากภาครัฐ เฉพาะในปี 2010 ภาคเอกชนได้ทุ่มงบประมาณกว่า 3.4 พันล้านเหรียญและส่งเสริมการสร้างงานกว่า 41,641 ตำแหน่ง

ในประเทศที่พัฒนาแล้วนักลงทุนมักเป็นผู้คิดริเริ่มในการลงทุนเพื่อวิจัยและอนุรักษ์พื้นที่ทางวัฒนธรรม ในบางครั้งนักลงทุนเหล่านี้พร้อมที่จะทุ่มงบประมาณในการอุปถัมภ์โครงการขุดค้นทางโบราณคดี พร้อมกับรับความเสี่ยงเรื่องผลตอบแทนเพื่อให้เกิดการขุดค้นพื้นที่ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโบราณวัตถุ

ปราสาทบ้านน้อยห้วยพระใยที่จังหวัดสระแก้วเป็นอีกโบราณสถานที่ถูกทอดทิ้งให้เป็นเหยื่อของนักล่าสมบัติเนื่องจากทางรัฐขาดงบประมาณในการดูแล โบราณสถานเหล่านี้มีบริเวณอุทยานที่กว้างขวางและสามารถเปลี่ยนเป็นสถานที่ทางการท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายจากการขุดค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง
ปราสาทบ้านน้อยห้วยพระใยที่จังหวัดสระแก้วเป็นอีกโบราณสถานที่ถูกทอดทิ้งให้เป็นเหยื่อของนักล่าสมบัติเนื่องจากทางรัฐขาดงบประมาณในการดูแล โบราณสถานเหล่านี้มีบริเวณอุทยานที่กว้างขวางและสามารถเปลี่ยนเป็นสถานที่ทางการท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายจากการขุดค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง

สิ่งที่นักลงทุนจะได้รับตอบแทนจากการลงทุนเช่นนี้คือสิทธิในการนำโบราณวัตถุต่างๆ ไปเวียนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกซึ่งประสบความสำเร็จมากในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม มักมีผู้โต้เเย้งว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีเงินทุนมากกว่าและได้เปรียบกว่าในการดำเนินโครงการเช่นนี้ เพราะควรนำทรัพยากรไปลงทุนกับการพัฒนาสังคมและอุตสาหกรรม แต่การลงทุนกับมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องดำเนินการโดยฝ่ายรัฐบาลเสมอไป การลงทุนลักษณะนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจของนักลงทุนเอกชนในการเลือกลงทุนมากกว่า เช่น อาจจะมีการก่อตั้งระบบกองทุนทรัสต์เพื่อนำมารักษาและบูรณะโบราณสถานก็เป็นได้ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางการเงินไปอีกแบบ

ในประเทศไทย วัดวาอารามต่างระดมเงินบริจาคนับล้านเพื่อการปลูกสิ่งก่อสร้างทางศาสนาแห่งใหม่ ขณะที่โบราณสถานรอบข้างกลับถูกปล่อยปละละเลยหรือแม้กระทั่งถูกทำลายเพื่อเปิดทางให้กับสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ เหล่านั้น และนี่คือผลจากความล้มเหลวในการบูรณาการอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ และการพัฒนาเศรษฐกิจ ของประเทศไทยเข้าด้วยกัน

ส่วนในกรณีของประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศเรายังเห็นผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจจากการลงทุนในโครงการขุดค้นทางโบราณคดี แม้ว่าข้อมูลเชิงสถิติจะมีน้อยไปบ้าง ในปี 2003 โครงการ Pachamac ในประเทศเปรู ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวที่เกิดจากความร่วมมือของสถาบันนานาชาติ ได้กลายมาเป็นบ่อเกิดของโบราณสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเปรู พร้อมกับการเป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีแห่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยความเป็นศูนย์กลางของอารยธรรม พรีฮิสแพนิคแอนดีน (Pre-Hispanic Andean) อันเก่าแก่ แหล่งโบราณคดี Pachamac ได้ดึงดูดเหล่าผู้เชี่ยวชาญจากหลายศาสตร์ทางวิชาการ ทั้งนักเคมีวิทยา นักชีววิทยา นักพันธุกรรม วิศวกรรมชีววิทยา ศิลปิน นักมานุษยวิทยา นักสัตวศาสตร์ และแน่นอน นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ซึ่งประสานงานกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และเหล่านักระดมทุนต่างชาติ

นอกจากนี้ ชุมชนท้องถิ่นเองยังได้รับผลประโยชน์จากการจ้างงานในพื้นที่ขุดค้น การให้เช่าที่พักอาศัย และการเปิดบริการร้านอาหาร ร้านค้า สำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งไหลหลั่งเข้ามาแทนนักวิจัยเมื่อโครงการขุดค้นเสร็จสมบูรณ์และช่วยให้ท้องถิ่นได้รับรายได้จำนวนมาก

การบริหารจัดการดังที่กล่าวมานี้ก้าวหน้ากว่าการจัดการของประเทศไทยเราอย่างมาก ในขณะที่ประเทศไทยเองมีแหล่งโบราณคดีสำคัญจำนวนมากซึ่งสามารถนำพัฒนาให้มีชื่อเสียงได้หากมีการวางแผนการจัดการที่ดีจากทางภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อยุธยา สุโขทัย ซึ่งล้วนถูกจัดอยู่ในรายชื่อแหล่งมรดกโลกของ UNESCO มาตั้งแต่ปี 1990 นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณคดีอีกจำนวนมากที่รอการขึ้นทะเบียนในอนาคต แท้จริงแล้วประเทศไทยคือบ่อรวมแหล่งโบราณคดีนับพันแห่งที่กว่าครึ่งมีขีดความสามารถในการพัฒนาเป็นโครงการขนาดใหญ่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนตัวอย่างหนึ่งคือโครงการขุดค้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกง ซึ่งผู้เขียนทั้งสองของบทความชิ้นนี้กำลังมีส่วนร่วมในการขุดค้นอยู่นั่นเอง

ปัญหาด้านโครงการวิจัยทางโบราณคดีในประเทศกำลังพัฒนามีด้วยกันสองประการ ประการแรก คือ อาชญากรซึ่งคอยโจรกรรมศิลปะและวัตถุโบราณโดยรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ

ข้อมูลจากสมาพันธ์ทางโบราณคดีระบุว่า ในประเทศจีน สุสานโบราณกว่า 400,000 แห่งถูกลอบขุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ในกัวเตมาลา 85 เปอร์เซ็นต์ ของแหล่งโบราณคดีกว่า 5,000 แห่ง ได้รับความรับความเสียหายจากขุดค้นโดยขโมย ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างกัมพูชามีแหล่งโบราณคดีกว่า 4,000 แห่ง และเกือบทั้งหมดเคยถูกลอบขุดเพื่อหาวัตถุโบราณ ทางการกัมพูชาและไทยยังเคยตรวจยึดวัตถุโบราณของกลางได้ถึงกว่า 2,000 ชิ้น ซึ่งในจำนวนนี้บางชิ้นมีอายุนับพันปี ของทั้งหมดถูกตรวจพบระหว่างการขนส่งมายังกรุงเทพฯ ซึ่งนักวิชาการชี้ว่าเป็นจุดลำเลียงสินค้าระหว่างอาชญากร นักสะสม และพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก

ของที่คนท้องถิ่นค้นพบมักมีความแปลกมากกว่าสิ่งที่เหลือไว้ให้นักโบราณคดีขุดค้น เราจะโทษใครเมื่อทรัพยากรเหล่านี้สูญหายไปแทนที่จะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ
ของที่คนท้องถิ่นค้นพบมักมีความแปลกมากกว่าสิ่งที่เหลือไว้ให้นักโบราณคดีขุดค้น เราจะโทษใครเมื่อทรัพยากรเหล่านี้สูญหายไปแทนที่จะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ

ในปี 2014 พิพิธภัณฑ์ Bower แห่งเมือง Santa Ana รัฐแคลิฟอร์เนียร์ ได้ส่งมอบวัตถุโบราณกว่า 557 ชิ้น ซึ่งเชื่อว่าถูกลับลอบขนส่งเข้าสหรัฐอเมริกาคืนกลับมายังแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง การส่งคืนนี้ก็เพื่อให้ทางการไทยได้ตรวจสอบความถูกต้องของโบราณวัตถุเหล่านี้ ในเรื่องนี้กรมศิลปากรได้ให้การว่า ‘อเมริกาได้ร้องขอให้ทางกรมส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบโบราณวัตถุ หากแต่ทางเราได้ปฏิเสธเพราะการเดินทางไปอเมริกานั้นจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้นทางอเมริกาจึงได้ส่งวัตถุมาให้ฝ่ายเราแทน เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการตรวจสอบ และหากพบว่าโบราณวัตถุนั้นมาจากบ้านเชียง ทางกรมจะยึดวัตถุไว้เพื่อจัดแสดงในอนาคต แต่หากวัตถุชิ้นใดไม่ได้มาจากประเทศไทย ทางเราจะคืนวัตถุชิ้นนั้นกลับไป’ ถ้อยแถลงนี้แสดงให้เห็นถึงความย่ำแย่ในการจัดการด้านโบราณคดีของประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศในการต่อต้านการโจรกรรมและอาชญากรรมทางศิลปะวัตถุ (Art Crime)

ภัยคุกคามอย่างที่สองต่อการศึกษาประวัตศาสตร์และโบราณคดีในไทยและประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศคือการที่คนท้องถิ่นมักขุดโบราณวัตถุขึ้นมาขายเพื่อเสริมรายได้จากการทำเกษตรกรรม ปัญหานี้ถือได้ว่ามีความรุนแรงและแพร่หลายมากกว่าปัญหาอย่างแรก ตัวอย่างเช่น ในบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำบางปะกง ชาวบ้านพบลูกปัด หม้อ และรูปปั้น ในพื้นที่ทำการเกษตรของตัวเองและนำไปขายให้กับพ่อค้า การลักลอบขุดอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่สาธารณะจะทำกันในตอนกลางคืนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ วัตถุทางโบราณคดีที่ถูกค้นพบจะนำไปขายทอดในตลาดมืดในราคาตามแต่ที่ผู้ซื้อจะเสนอมา

การแพร่หลายของการลักลอบขุดวัตถุโบราณเช่นนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่เปิดโอกาสกับให้ขบวนการอาชญากรรม ถึงแม้ว่าโดยปกติอาชญากรจะให้ความสนใจเฉพาะโบราณวัตถุขนาดใหญ่มากกว่า เช่น เทวรูปและเครื่องทอง แต่ของเล็กๆ น้อยๆ ที่เสียหายไปจากการลักลอบขุดนั้นมีค่ามหาศาล เป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่าถ้ามีการจัดการ การวางแผนและการลงทุนที่ดี รัฐบาลจะสามารถจัดสรรเงินให้กับคนในท้องถิ่นเพื่อการสร้างอาชีพและการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัญหาที่ใกล้เคียงกันนี้ยังเกิดขึ้นกับพื้นที่ทางโบราณคดีอื่นๆ ทั่วประเทศไทย เช่น ที่อำเภอคลองท่อมจังหวัดกระบี่และบ้านภูเขาทองในจังหวัดระนอง นักวิจัยได้เคยประเมินผลเสียระยะยาวไว้ว่าในทุกๆ หลุมที่มีการขุดและพบวัตถุโบราณ 90 เปอร์เซ็นต์ขององค์ความรู้ที่สามารถศึกษาเรียนรู้ได้นั้นหายไปกับการสูญหายของวัตถุโบราณหรือการจัดการกับวัตถุอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

โบราณสถานที่ขาดการดูแลมักถูกรื้อและสร้างทับอย่างขาดความเข้าใจ
โบราณสถานที่ขาดการดูแลมักถูกรื้อและสร้างทับอย่างขาดความเข้าใจ
หลุมสำหรับลักลอบขุดหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “รูตุ่น” เป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วไปในหลายๆ โบราณสถานของไทยที่ขาดการพัฒนาและดูแลที่ดีสร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของที่ดิน ประเทศ และ ยังเป็นอันตรายกับผู้ขุดเองอีกด้วย
หลุมสำหรับลักลอบขุดหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “รูตุ่น” เป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วไปในหลายๆ โบราณสถานของไทยที่ขาดการพัฒนาและดูแลที่ดีสร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของที่ดิน ประเทศ และยังเป็นอันตรายกับผู้ขุดเองอีกด้วย

การปรับปรุงระบบการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องอาศัยการพลิกโฉมยกเครื่องนโยบายการอนุรักษ์ทางโบราณคดีของประเทศทั้งระบบ อันดับแรก คือ สวัสดิภาพของชุมชนในพื้นแหล่งโบราณคดีควรได้รับความสำคัญสูงสุด หากคนในท้องถิ่นเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการร่วมมือในโครงการขุดค้นและอนุรักษ์วัตถุโบราณแล้ว พวกเขาก็จะให้ความร่วมมือและช่วยปกป้องสมบัติให้กับชุมชน สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้โดยการจัดการฝึกอบรม (workshop) ให้แก่ชุมชนซึ่งไม่ควรเป็นแต่เฉพาะชุมชนในพื้นที่โบราณสถานที่มีชื่อเสียงเก่าแก่แต่ควรรวมไปถึงชุมชนในบริเวณแหล่งโบราณคดีที่พึ่งถูกค้นพบใหม่ การฝึกอบรมนี้จะทำให้ทุกคนที่ไม่ใช่นักเรียนนักศึกษาด้านโบราณคดีสามารถมีเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ได้อย่างทั่วถึง

ตัวอย่างการจัดการอบรมเช่นนี้พบได้ในพิพิธพันธ์ชั้นนำอย่างบริติชมิวเซียมและ Ashmolean ซึ่งเราสามารถพบเห็นอาสาสมัครทุกเพศทุกวัยที่มาร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ได้ไม่ยาก การสร้างองค์ความรู้ให้แก่สาธารณชนเช่นนี้เองทำให้สาขาวิชาโบราณคดีถูกแพร่ขยายในวงกว้างและสามารถตอบสนองเป้าหมายต่างๆ ได้ อาทิ การสร้างงานที่เพิ่มขึ้นจากงานวิจัยใหม่ๆ และการจัดนิทรรศการ การสร้างศักยภาพของท้องถิ่นในการร่วมอนุรักษ์และถ่ายทอดความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ อันส่งผลต่อการสร้างความตระหนักรู้และศักยภาพในการให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ต่อสาธารณชน และในขณะเดียวกันก็ทำให้สาขาวิชานี้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น อันเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาทางโบราณคดีที่จะนำไปสู่พัฒนาการอื่นๆ ตามมาโดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของภาคเอกชนท้องถิ่นให้สามารถเข้าใจและถ่ายทอดความสำคัญของโบราณสถานโบราณวัตถุ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีก่อนการขุดค้นทางโบราณคดีจะเริ่มขึ้นเสียอีกเพราะความรู้เหล่านี้สามารถนำไปใช้แปรรูปเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้

โบราณวัตถุส่วนมากมักถูกค้นพบโดยคนท้องที่ซึ่งขาดความเข้าใจในระบบราชการและการจัดการทรัพยากรทางประวัติศาสตร์เนื่องจากขาดการทำความเข้าใจที่ดีจากรัฐบาลและหน่วยงาน ส่วนมากมักจะคิดว่าถ้าไปติดต่อเพื่อรับเงินรางวัลการค้นพบจะถูกยึดพื้นที่หรือไม่ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจึงมักขายไปอย่างถูกๆ ให้กับนายหน้าที่หาซื้อหรือไม่ก็เก็บไว้กราบไว้ตามความเชื่อท้องถิ่น
โบราณวัตถุส่วนมากมักถูกค้นพบโดยคนท้องที่ซึ่งขาดความเข้าใจในระบบราชการและการจัดการทรัพยากรทางประวัติศาสตร์เนื่องจากขาดการทำความเข้าใจที่ดีจากรัฐบาลและหน่วยงาน ส่วนมากมักจะคิดว่าถ้าไปติดต่อเพื่อรับเงินรางวัลการค้นพบจะถูกยึดพื้นที่หรือไม่ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจึงมักขายไปอย่างถูกๆ ให้กับนายหน้าที่หาซื้อหรือไม่ก็เก็บไว้กราบไว้ตามความเชื่อท้องถิ่น

ประการที่สอง วิธีการทางกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทางด้านวัฒนธรรมและการอนุรักษ์ต้องได้รับการเอาใจใส่และมีความเข้มงวดมากขึ้น ในปัจจุบันตลาดงานศิลปะระดับโลกกำลังเติบโตขึ้นในอัตราถึงร้อยละแปดต่อปี ส่วนใหญ่มีที่มาจากความต้องการงานศิลปะที่มากขึ้นในหมู่ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเจริญเติบโตและเทรนด์ใหม่ในการลงทุนกับศิลปะ ในอดีตปัจจัยเรื่องแหล่งกำเนิดของวัตถุโบราณคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับนักสะสม แต่ปัจจุบันในตลาดซึ่งทำกำไรมากและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของตัววัตถุโบราณที่ทำการซื้อขายกันเริ่มลดบทบาทความสำคัญลงไป

แม้ว่าประเทศไทยจะมีข้อกำหนดทางกฎหมายที่รุนแรงเกี่ยวกับการปล้นและการลักลอบขายวัตถุโบราณ แต่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มงวด ฐานข้อมูลเกี่ยวกับงานศิลปะที่สูญหายก็ยังยากต่อการค้นหา ประกอบกับความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบและแหล่งที่มาของวัตถุโบราณยังเป็นเรื่องเฉพาะทางและยากแก่การเข้าถึง ส่งผลให้ตลาดมืดสามารถหาประโยชน์จากช่องว่างเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย ยิ่งไปกว่านั้น กลไกด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์วัตถุโบราณยังส่งผลร้ายต่อการอนุรักษ์เสียเอง พื้นที่ทางโบราณคดีนั้นมักถูกพบในพื้นที่ทางการเกษตร ชาวบ้านเจ้าของที่ดินมักลังเลที่จะรายงานต่อทางการเกี่ยวกับการค้นพบวัตถุโบราณหรือโบราณสถานเนื่องจากกังวลว่าที่ดินของตนเองจะถูกเวนคืนจากทางรัฐบาล ความวิตกกังวลนี้เองก่อให้เกิดความพยายามในการปกปิดและทำลายพื้นที่ให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อหยุดการทำลายเช่นนี้ รัฐบาลต้องร่วมมือกับท้องถิ่นอย่างไกล้ชิดในการสร้างการตระหนักรู้เรื่องกฎหมายและปลูกฝังให้คนในท้องถิ่นพัฒนามรดกอันทรงคุณค่าที่ตนเองมีอยู่

การอนุรักษ์โบราณสถานเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยของการสร้างเศรษฐกิจทางวัฒนธรรม (Cultural Economy) ในสหราชอาณาจักรกฎหมายถูกใช้เพื่อป้องกันการทำลายพื้นที่และอาคารซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ในขณะที่การสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกของชาติทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์เต็มใจที่จะรักษาและเห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของอาคารเหล่านี้ (ดูภาพประกอบที่ 3)

ภาพประกอบที่ 3
ภาพประกอบที่ 3

ประเด็นที่สาม ตัวการสำคัญที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงคือการดึงดูดให้หน่วยงานเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการจัดการทางโบราณคดี ซึ่งทำได้โดยความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และสถาบันทางการเงินหรือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่สามารถให้ความรู้กับเอกชนเกี่ยวกับผลตอบแทนด้านการเงินที่จะได้รับ (เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมเที่ยวชมนิทรรศการ) จากการลงทุนทางด้านมรดกทางวัฒนธรรมซึ่งจะถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนาระบบการจัดการโบราณคดี สิ่งนี้ต้องทำร่วมกับการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในมรดกทางวัฒนธรรม กระทรวงการคลังควรพิจารณาเรื่องการลดหย่อนภาษีและการสร้างแรงจูงใจทางด้านการเงินอื่นๆ ให้กับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการรักษามรดกทางวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการก้าวกระโดดที่ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมกลายเป็นเครื่องมือการลงทุนแบบใหม่

ประการที่สี่ รัฐบาลและมหาวิทยาลัยชั้นนำในท้องถิ่นต้องตระหนักว่ามรดกด้านวัฒนธรรมไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของกรมศิลปากรและสาขาวิชาโบราณคดีในมหาวิทยาลัยเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของทุกภาคส่วนในการบูรณาการองค์ความรู้สาขาต่างๆ เข้าด้วยกัน การสนับสนุนทางด้านเทคนิคและทุนทรัพย์จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถทำให้การวิจัยด้านโบราณคดีในประเทศไทยกลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้งหนึ่ง บุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์ เช่น เคมี วิศวกรรม ฟิสิกส์ และชีววิทยา ล้วนแล้วแต่สามารถหาความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ของตนกับการอนุรักษ์มรดกของชาติได้ และที่สำคัญคือบุคคลากรในสาขาวิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ก็ควรจะเต็มใจอ้าแขนต้อนรับการเข้ามามีส่วนร่วมของสาขาวิชาดังกล่าว

พื้นที่ทางโบราณคดีบริเวณปากแม่น้ำบางปะกงและที่อื่นๆ ในประเทศไทยเป็นทรัพย์สมบัติของชาติที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมและก่อให้เกิดการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจได้อย่างไม่ยากเย็นหากรัฐบาลรู้จักที่จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหล่านี้ ความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าการวิจัยทางโบราณคดีนั้นเป็นการลงทุนที่ไม่เกิดกำไรต้องถูกเปลี่ยนไปสู่แนวคิดสมัยใหม่ซึ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างการลงทุนด้านมรดกทางวัฒนธรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องเป็นผู้ริเริ่มผลักดันให้ชุมชนเห็นถึงความสำคัญของโบราณสถานที่มีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างยั่งยืน