ThaiPublica > คอลัมน์ > คนไร้บ้าน (ตอนที่ 3): บ้านของคนไร้บ้าน

คนไร้บ้าน (ตอนที่ 3): บ้านของคนไร้บ้าน

30 กรกฎาคม 2015


ณัฐเมธี สัยเวช

File-7-30-2558-BE-13-14-16-463x620-1

หากไม่ใช่ได้รับตกทอดจากพ่อแม่ และไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง การจะมีบ้านสักหลังของตัวเองนั้นเป็นเรื่องยากเย็น ดังที่ก็เห็นว่า ขนาดคนมีรายได้ประจำ เริ่มผ่อนวันนี้ กว่าจะได้มีเป็นของตัวเองจริงๆ ก็จวนเกษียณอายุ

แล้วกับคนไร้บ้านเล่า การมีบ้านสักหลังเป็นของตัวเอง ในฐานะส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูชีวิต หรือการสร้างชีวิตที่เสียไปกลับมาใหม่ ก็คงฟังดูยากเย็นจนมองไม่เห็นความเป็นไปได้

แต่จากการพูดคุยกับพี่ๆ คนไร้บ้านที่ศูนย์คนไร้บ้าน บางกอกน้อย ขณะนี้ คนไร้บ้านก็สามารถที่จะเป็นเจ้าของบ้านสักหลังได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.), องค์กร ACCA และการรถไฟแห่งประเทศไทย

ส่วนรูปแบบของการสนับสนุนนั้นจะแตกต่างกันดังนี้

1. พอช.: ทางเครือข่ายคนไร้บ้านของศูนย์ฯ บางกอกน้อย ของบประมาณไปสำหรับบ้าน 20 หลัง และได้รับงบประมาณมาครบถ้วน โดย พอช. สนับสนุนงบประมาณหลังละ 50,000 บาท

2. ACCA: สนับสนุนงบสำหรับบ้าน 12 หลัง หลังละ 50,000 บาท

3. การรถไฟแห่งประเทศไทย: สนับสนุนพื้นที่ให้เช่าสำหรับปลูกบ้าน โดยอยู่บริเวณพุทฑมณฑลสายสอง คิดค่าเช่าปีละ 1,600-1,700 บาทต่อหลัง

ซึ่งนั่นหมายความว่า มีงบสนับสนุนพื้นฐานสำหรับการสร้างบ้านอยู่หลังละ 100,000 บาท จำนวน 12 หลัง (50,000 บาท จาก พอช. และ 50,000 บาท จาก ACCA) และหลังละ 50,000 บาท 8 หลัง (50,000 บาท จาก พอช. แต่เขามีวิธีสมทบให้ 8 หลังนี้ได้หลังละ 100,000 บาท เดี๋ยวจะกล่าวถึงครับว่าทำอย่างไร)

ในการจะเข้าร่วมโครงการ เบื้องต้น คนไร้บ้านที่ปรารถนาจะมีบ้านและต้องการได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณดังกล่าว จะต้องเข้ารับการทดสอบวินัยทางการเงินกับทางศูนย์ฯ บางกอกน้อย ด้วยการจ่ายเงินประกันเป็นจำนวน 2,500 บาท สำหรับบ้านเดี่ยว และ 1,500 บาท สำหรับบ้านรวมขนาด 4 ห้อง ซึ่งเงินประกันส่วนนี้นั้นสามารถผ่อนจ่ายได้ แต่จะต้องจ่ายให้ครบภายใน 6 เดือน

ทั้งนี้ การรับการสนับสนุนสำหรับบ้านแต่ละประเภท จะมีความแตกต่างกันดังนี้

บ้านเดี่ยว

1. หากจ่ายเงินประกันได้ครบ 2,500 บาท ก็จะได้รับการสนับสนุนเต็มจำนวนเงิน 100,000 บาท แต่ถ้าจ่ายไม่ครบ จะได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นสัดส่วนกับเงินประกันที่ส่งให้ เช่น ถ้าสามารถจ่ายได้ครึ่งหนึ่ง หรือ 1,250 บาท ก็จะได้รับการสนับสนุน 50,000 บาท

2. เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว จะต้องจ่ายเงินเดือนละ 701 บาท โดยเงินจำนวนนี้จะแบ่งเป็น

– ค่าสวัสดิการ 30 บาท: ค่าสวัสดิการนี้ จะเป็นเงินสะสมกองกลางของคนไร้บ้านทั้งหมดในศูนย์ฯ บางกอกน้อยที่ส่งเงินจำนวนนี้ เพื่อมาจัดสรรเป็นเงินช่วยเหลือตลอดวงจรชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ในหมู่สมาชิก ก็สามารถนำเงินจำนวนนี้ไปช่วยเหลือดูแลเรื่องต่างๆ ได้ หรือเมื่อตาย ก็จะมีการจัดสรรเงินส่วนนี้มาจัดสรรเป็นค่าทำศพ เรียกได้ว่า นี่เป็นการพยายามจัดสรรสวัสดิการให้ตัวเองโดยไม่ต้องรอร้องขอจากรัฐนั่นเอง

– เงินออมทรัพย์ 70 บาท: ส่วนนี้จะนำไปสมทบกับเงินประกันที่ต้องจ่าย (2,500 บาท) เก็บไว้เป็นเงินสำรองเผื่อว่าในอนาคตไม่สามารถส่งเงิน 701 บาทได้ ก็จะหักเอาจากส่วนที่สะสมไว้นี่ ซึ่งหากเงินสะสมไม่พอจ่าย ก็จะต้องมาคุยกันว่าจะจัดการอย่างไรต่อไป (ที่ศูนย์จะเน้นการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันมากกว่าจะไล่ออกจากโครงการครับ)

– ค่าเช่าที่ดินรถไฟ 167 บาท: ดังกล่าวไปว่า การรถไฟฯ สนับสนุนที่ดินให้เช่าราคาถูกแถวพุทธมณฑลสายสอง และเงินส่วนนี้ก็เพื่อการจ่ายค่าเช่ารายปีนั้น

– เงินส่วนที่เหลือ 434 บาท: เงินส่วนนี้ จะเป็นการสะสมไว้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับเงินส่วนที่ ACCA สนับสนุน กล่าวคือ เผื่อไว้สำหรับกรณีที่ใช้งบสำหรับบ้าน 12 หลังตามที่ ACCA ให้การสนับสนุนหมดไปแล้ว บ้านส่วนที่เกินจาก 12 หลังนี้จะได้มีเงินสนับสนุนต่อไป ทั้งนี้ เงินส่วนนี้ต้องส่งจนครบ 50,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนเงินในส่วนที่ ACCA ให้การสนับสนุนสำหรับบ้านหนึ่งหลัง

มีการประมาณการว่าจะต้องใช้เวลาส่งทั้งหมด 9 ปี ซึ่งหากส่งครบแล้ว จากนั้น ก็จะส่งแค่เดือนละ 267 บาท (ค่าสวัสดิการ+เงินออมทรัพย์+ค่าเช่าที่) เพื่อเป็นสวัสดิการสำหรับเครือข่ายต่อไป โดยเหตุผลที่ยังต้องจ่ายต่อก็คือ ทางศูนย์ฯ บางกอกน้อยอยากให้มีการคงความสัมพันธ์กับเครือข่ายเอาไว้ เพราะเชื่อในการฟื้นฟูคนไร้บ้านผ่านการมีความสัมพันธ์ทางสังคมร่วมกับผู้อื่น

อนึ่ง ค่าน้ำค่าไฟนั้นต้องจ่ายแยกต่างหากตามการใช้จ่ายจริง

บ้านรวม

เงื่อนไขเหมือนบ้านเดี่ยว แต่จะจ่ายเงินแค่เดือนละ 400 บาท คิดเป็นค่าสวัสดิการและออมทรัพย์รวม 100 บาท (30+70) ส่วนที่เหลืออีก 300 บาทนั้น ทางศูนย์ฯ บางกอกน้อยจะนำไปบริหารสำหรับค่าเช่าที่การรถไฟฯ และเงินหมุนเวียนในส่วนของบ้านที่เกินจาก 12 หลัง ที่ ACCA สนับสนุนงบประมาณมา

จากที่เล่าให้ฟังไป เราอาจจะบอกได้ว่า นี่คือความหวังที่จะทำให้คนไร้บ้านได้มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่คำถามก็คือ ความหวังที่ว่านี้เข้มเข้นและมีความเป็นไปได้ขนาดไหน ซึ่งคำตอบก็คงต้องบอกว่า ยังนับว่ายากนะครับ เพราะในตอนที่ไปสอบถามพูดคุยนั้น มีคนไร้บ้านที่เข้าโครงการนี้แค่เพียงไม่กี่คน

ปัญหาสำคัญที่ทำให้เป็นไปได้ยากก็คือเรื่องของรายได้ การจะเข้าสู่โครงการนี้ได้ แม้จะมีงบสนับสนุน แต่การจะจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามกล่าวไปได้ทุกเดือนก็หมายความว่าคนไร้บ้านที่เข้าร่วมโครงการจะต้องหารายได้ประจำได้มากระดับหนึ่ง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องยากสำหรับคนไร้บ้านซึ่งโดยทั่วไปแล้วหาเช้ากินค่ำหรือกระทั่งหาวันนี้กินพรุ่งนี้

นี่ยังไม่ต้องนับว่า คนไร้บ้านโดยส่วนใหญ่นั้นหมดหวังหรือกระทั่งไม่คิดถึงเรื่องการพัฒนาตัวเองไปสู่ความมั่นคงกันไปแล้ว เพราะความผิดหวังซ้ำๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมามากัดกินจิตใจให้ท้อแท้เสียจนเหลือแค่การมีชีวิตอยู่ไปวันๆ