ThaiPublica > คอลัมน์ > ว่าด้วยพฤติกรรมของคนต่อการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน

ว่าด้วยพฤติกรรมของคนต่อการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน

14 มิถุนายน 2015


ฉกาจนิตย์ จุณณะภาต
นักกฎหมายพลังงาน

เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง Predictably Irrational ของ Dan Ariely (ฉบับภาษาไทยแปลโดยคุณพูนลาภ อุทัยเลิศอรุณ) ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ผู้เขียนเห็นว่าคำอธิบายของ Dan Ariely โดยเฉพาะในบทที่ว่าด้วยความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอุปสงค์และอุปทาน นั้น สามารถใช้อธิบายพฤติกรรมการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมไทยต่อความผันผวนของราคาน้ำมันในช่วงเวลานี้ได้อย่างดี

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2509 นักพฤติกรรมวิทยา ชื่อ Konrad Lorenz ได้ค้นพบว่า เมื่อลูกเป็ดตัวเล็กๆ ฟักออกจากไข่ มันจะเริ่มติดตามสิ่งที่เคลื่อนไหวอันแรกที่ตัวมันได้เห็นและมันก็จะติดตามไปเรื่อยๆ จนโตเต็มวัย ต่อมา Lorenz ได้สรุปเป็นทฤษฎีว่าพฤติกรรมของสัตว์บางประเภทที่เราเห็นนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์ในครั้งแรกจากสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก ซึ่ง Lorenz เรียกว่าความฝังใจ (Imprinting)

Dan Ariely ได้อธิบายในหนังสือของเขาว่า มนุษย์อย่างเราๆ ก็เป็นไปตามหลักการของ Lorenz เช่นกัน คือ ฝังใจกับประสบการณ์และการตัดสินใจในครั้งแรกที่เราเห็นหรือได้รับมา เช่น ในการซื้อสินค้าชนิดหนึ่งมนุษย์มักจะผูกติดกับราคาแรกเริ่มที่ตนเองรู้ โดยไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าสินค้าชนิดนั้นควรจะมีราคาที่แท้จริงเท่าไรจึงจะสมเหตุสมผล (rational)

ตัวอย่างเช่น ร้านสตาร์บัคส์ (Starbucks) เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักดื่มกาแฟระดับคุณภาพสูง (premium) ด้วยราคาต่อแก้วประมาณ 80-120 บาท กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ Starbucks ได้เริ่มสร้างความฝังใจแรกให้กับผู้คนว่ากาแฟระดับ premium จะต้องมีราคาอยู่ประมาณนี้ แต่อย่างไรก็ดีผู้ซื้อกาแฟ Starbucks น้อยคนที่จะกลับมาตั้งคำถามว่าทำไมราคากาแฟระดับ premium ถึงต้องกำหนดราคาไว้ 80-120 บาท หรือสงสัยว่าในความเป็นจริงแล้วกาแฟระดับ premium ควรจะมีราคาตามมูลค่าที่แท้จริงเท่าใดกันแน่ แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการของกาแฟ

จากตัวอย่างข้างต้นนี้พบว่าความฝังใจแรกของคนซื้อกาแฟในเรื่องของราคากาแฟนั้น ได้ทำให้คนดื่มกาแฟ Starbucks ฝังใจเรื่องกาแฟระดับ premium ทันทีที่เห็นราคาของกาแฟที่ใกล้เคียงกับของ Starbucks โดยอาจลืมพิจารณาไปว่ากาแฟแก้วละ 40 บาท กับ 120 บาท มีความแตกต่างกันอย่างไร (ซึ่งบางทีอาจจะไม่แตกต่างกันเลยก็ได้ในแง่ของวัตถุดิบ) ทั้งนี้ Dan Ariely เรียกพฤติกรรมความคิดแบบนี้ว่า ‘ความสอดคล้องกันตามอำเภอใจ’ ในเรื่องของราคาน้ำมันก็เช่นกันที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการความสอดคล้องกันตามอำเภอใจดังกล่าว โดยผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างดังนี้

ปัจจุบันเราจะเห็นว่าผู้ใช้รถยนต์บนท้องถนนที่จะต้องเติมน้ำมันเองส่วนมากควรจะมีอายุอยู่ที่ประมาณ 18-70 ปี (เกิดระหว่าง พ.ศ. 2488 – 2540) ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีประสบการณ์ต่อการเติมน้ำมันครั้งแรกที่แตกต่างกัน เช่น ราคาน้ำมันก่อนเกิดวิฤตการณ์น้ำมันครั้งแรก (พ.ศ. 2516) อาจจะอยู่ที่ลิตรละประมาณ 5 บาท ต่อมาราคาน้ำมันก็ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ ตามเศรษฐกิจของโลกตั้งแต่ราคา 10 บาท 15 บาท 20 บาท 40 บาท จนถึงปัจจุบันลดมาเหลือประมาณ 30 บาท แน่นอนว่าความฝังใจแรกของผู้ใช้รถยนต์ต่อราคาน้ำมัน (imprinted oil price) ในแต่ละสมัยย่อมแตกต่างกัน

เมื่อราคาของน้ำมันในแต่ละยุคมีความผันผวนมาก จึงเป็นเรื่องยากสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการอุตสาหกรรมน้ำมันจะรู้ว่ามูลค่าราคาน้ำมันที่แท้จริงควรมีราคาอยู่ที่เท่าใด ฉะนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่แต่ละคนจะต้องใช้ประสบการณ์และความฝังใจของตนเองในครั้งแรกเกี่ยวกับการเติมน้ำมันเป็นเครื่องมือวัดว่าราคาน้ำมันที่ตนพึงพอใจควรเป็นเท่าใด? พฤติกรรมแบบนี้นั่นเองครับ คือ ความสอดคล้องกันตามอำเภอใจของแต่ละคน ซึ่งไม่มีจุดร่วมกันที่แน่นอน

การที่ผู้เขียนหยิบยกหลักการนี้ขึ้นมาอธิบายก็เพื่ออยากลองเสนอคำอธิบายอีกมุมหนึ่งเกี่ยวกับการตอบสนองของบุคคลต่างๆ ในสังคมที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน นอกจากนั้น อยากจะลองเสนอวิธีแก้ปัญหาให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาน้ำมัน เช่น รัฐบาล กระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ว่าจะมีวิธีใดในการรับมือกับกระแสความไม่พอใจของสังคมเกี่ยวกับราคาน้ำมันปัจจุบันนี้

ผู้เขียนเห็นว่า การแก้ปัญหาด้วยวิธีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันให้มีราคาถูกย่อมไม่ใช่วิธีการที่มีประสิทธิผล เนื่องจากเรารู้แล้วว่าประสบการณ์ฝังใจครั้งแรกของผู้ใช้รถยนต์ในการเติมน้ำมัน มีความหลากหลายและแตกต่างกันอย่างมาก เช่น ผู้ใช้น้ำมันที่เกิดระหว่างปี 2520 – 2530 อาจจะเคยเติมน้ำมันในลิตรละ 30 บาทมาก่อน การปรับลดราคาน้ำมันลงไปเหลือ 20 บาท ย่อมทำให้เขารู้สึกดีและมีแนวโน้มจะเติมน้ำมันมากขึ้นเพราะรู้สึกว่าน้ำมันราคาถูก แต่หากเป็นผู้ใช้น้ำมันที่เกิดระหว่างปี 2510 – 2520 ที่เคยเติมน้ำมันในครั้งแรกราคาลิตรละ 10 บาท ก็จะรู้สึกว่าราคา 20 บาท ยังแพงไปอยู่ดี

ฉะนั้น โอกาสที่รัฐบาลจะหาราคาน้ำมันที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ใช้น้ำมันทุกเพศทุกวัยมีความพึงพอใจร่วมกันย่อมเป็นไปได้ยาก เนื่องจากแต่ละคนมีความฝังใจครั้งแรกกับราคาน้ำมันที่แตกต่างกันดังที่ได้อธิบายไปแล้ว นอกจากนั้น ผู้ใช้น้ำมันแต่ละคนนั้น ก็ไม่รู้ว่าราคาน้ำมันที่แท้จริงควรจะเป็นเท่าไหร่กันแน่ถึงจะเหมาะสม เพราะส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมน้ำมัน

ดังนั้น ถ้าเราเชื่อว่าหลักการความฝังใจและความสอดคล้องกันตามอำเภอใจเป็นเรื่องจริง ผู้เขียนเห็นว่าวิธีที่จะลดกระแสความไม่พอใจของสังคมเกี่ยวกับราคาน้ำมันแพงอาจจะมีอยู่สองวิธี คือ ทำให้ผู้ใช้น้ำมันสามารถเข้าใจว่ามูลค่าราคาน้ำมันที่แท้จริงโดยตัวของมันเองควรจะราคาเป็นเท่าใด หรือ สร้างความฝังใจครั้งแรกอันใหม่ให้กับผู้ใช้น้ำมันด้วยการออกพลังงานทดแทนชนิดใหม่พร้อมตั้งราคาขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้น้ำมันไม่ได้ใช้ความสอดคล้องตามอำเภอใจของตนกับราคาน้ำมันในอดีตอีกต่อไป