ยรรยง บุญ-หลง [email protected]

ลองคิดดูสิครับ ว่าจริงๆ แล้วในปัจจุบัน เราสามารถจะนั่งคุยกับเพื่อน (หรือแฟน) ในสถานที่สาธารณะได้อย่างจริงจังที่ไหนบ้าง โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าที่นั่งทุกชั่วโมง
“ต้องการความช่วยเหลืออะไรไหมคะ”
“จะสั่งกาแฟเพิ่มไหมครับ”
เป็นคำถามที่เรามักจะได้ยินเป็นประจำเวลาเราไปเดินห้าง
หลายคนใช้วิธีจิบกาแฟให้เหลือค้างไว้ในแก้ว แทนที่จะดื่มจนหมดในทีเดียว เพื่อป้องกันคำถาม “จะสั่งอะไรเพิ่มไหมคะ”
แต่มันก็ไม่ใช่วิธีการที่จะทำได้หลายครั้ง โดยเฉพาะในร้านเดียวกัน
ซึ่งหมายความว่าในปัจจุบัน โอกาสในการทำกิจกรรมร่วมกับคนรักและเพื่อนฝูงในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น หรือสงขลา จะเกิดขึ้นได้ในลักษณะของการบริโภคร่วมกันเท่านั้น
การนั่งคุยกันหรือทำแล็บหุ่นยนต์ร่วมกันคงจะไม่มี
สังเกตไหมครับว่า หลังจากออกจากรั้วมหา’ลัย ไปแล้ว…โอกาสในการหาแฟนของเราจะลดน้อยลงไปมาก
ไม่ใช่เพราะว่าเราแก่ลง แต่เพราะโอกาสในการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่องได้ลดน้อยลงไป …เราจะไปช็อปปิ้งซื้อกระเป๋าหลุยส์ร่วมกันได้สักกี่ครั้งกัน
ลองคิดง่ายๆ ว่าถ้าเมืองหนึ่งมีคนอยู่ 10 คน มีสถานที่สาธารณะที่ชุมนุมได้ชั่วโมงละ 2 คน อยู่เพียงแห่งเดียว เมื่อหนึ่งชั่วโมงผ่านไป ก็ต้องลุกออกจากร้านเพื่อหมุนเวียนผู้คน …. โอกาสที่คน 2 คนจะมาพบกันโดยบังเอิญในหนึ่งชั่วโมงคือ 1/45 (จากคู่ทั้งหมด 45 คู่ เช่นเดียวกับการจับฉลาก)
คราวนี้สมมติว่าเมืองแห่งนี้มีที่ชุมนุมสำหรับคน 10 คน นั่งได้ทั้งวัน โอกาสที่คู่รักจะได้เจอกันโดยบังเอิญจะค่อนข้างแน่นอน เพราะทุกชั่วโมง โอกาสที่คน 10 คนจะมาอยู่ในที่เดียวกันจะเกิดขึ้นได้เสมอ
สวนสาธารณะหน้ามหาวิทยาลัย โรงอาหาร ลานสัมมนาอเนกประสงค์ ห้องแล็บทดลอง (รอปฎิกิริยาเคมี) หรือสตูดิโอศิลปะ ทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี
แต่ห้างสรรพสินค้าไม่สามารถทำได้ เพราะหลักการของห้างก็คือการหมุนเวียนคนและการค้าให้ได้มากที่สุดต่อชั่วโมง
“จะรับอะไรเพิ่มไหมคะ!”
ผมเพิ่งไปพิพิธภัณฑ์ Shanghai Science and Technology Museum มาเมื่อเดือนที่แล้ว
สถานที่แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในบริเวณสวนสาธารณะ 875 ไร่ กลางเมืองเซี่ยงไฮ้ ชื่อว่าสวน Century Park
“สถานีต่อไป สถานี Shanghai Science and Technology Museum” เสียงประกาศในรถไฟฟ้าดังขึ้น
ในบริเวณชั้นใต้ดินในสถานีรถไฟฟ้า จะมีตลาดขายของ “brand name” (เถื่อน) ขนาดใหญ่ที่สุดในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งแน่นอนว่าตลาดแห่งนี้จะเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวไม่แพ้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่
แม้แต่ในวันธรรมดา เยาวชนจีนตั้งแต่มัธยมจนถึงมหา’ลัย จะมาเดินเล่นกันในบริเวณสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ หลายคนมากันเป็นหมู่คณะ มีการจัดสัมมนากันเป็นกลุ่ม ทำให้เยาวชนจากหลายสถาบันสามารถมาพบกันโดยบังเอิญได้ง่าย
เวลาเรานึกถึง “พิพิธภัณฑ์” เรามักจะนึกถึงเรื่องโบราณ เก่าๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าขุนมูลนาย ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิติคนธรรมดาๆ มากนัก และมักจะมีบรรยากาศเหมือนห้องเรียน ที่เอาหนังสือ-สมุดไปใส่ไว้ในตู้กระจก แล้วให้นักเรียนเดินดูผ่านเงาฝุ่น
แต่ในระดับสากลแล้ว พิพิธภัณฑ์คือสถานที่ล้ำสมัย สะดวกสบายเหมือนห้างหรู และเป็น “เครื่องมือ” ในการคิดชนิดหนึ่ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า คำบรรยายในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในแทบทุกหมวดหมู่ จะเริ่มต้นจาก “จีนเป็นผู้คิด-ตะวันตกเอาไปพัฒนาต่อ-จีนเอากลับมาพัฒนาต่ออีกครั้ง”
ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ เลขฐานสองที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ เครื่องทำนายแผ่นดินไหว การเดินเรือโดยใช้ดาราศาสตร์และเข็มทิศ การวิจัยทางเคมี รวมไปถึงจรวดและหุ่นยนต์เครื่องกล ทั้งหมดนี้จะเริ่มการบรรยายจากการที่จีนเป็นผู้ริเริ่มคิดขึ้นมา
แววตาของพวกเขาเต็มไปด้วยความภูมิใจ
ผมได้วิจารณ์จีนไว้เยอะเรื่อง Free Speech แต่ทางด้านวิศวกรรมนั้นเขาอยู่ระดับต้นๆ ของโลก
การเน้น “เครื่องมือ” ในการกระตุ้นความคิด และการพบปะกันของเยาวชนโดยบังเอิญเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาประเทศ จีนตระหนักดีว่าเขาจะมัวสร้างเศรษฐกิจจากการส่งออกสินค้าราคาถูกไม่ได้
เขาเห็นตัวอย่างคนจีนที่ประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกามาแล้ว อย่าง Steve Chen คนจีนผู้คิด YouTube ขึ้นมา หรือ Jerry Yang ผู้สร้าง Yahoo! พวกเขาสร้างมูลค่าบริษัทขึ้นมาจากการคิดล้วนๆ
Jerry Yang นี่เองที่ยอมลงทุนในบริษัท startup เล็กๆ ในจีนที่มีชื่อว่า Alibaba ในปี 2005 และในปัจจุบันการลงทุนของเขามีมูลค่า 9.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

จึงเป็นคำถามว่า ทางภาครัฐ (หรือเอกชน) จะจัดโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือให้พลเมืองและเยาวชนสร้างมูลค่าทางความคิดขึ้นมาได้อย่างไร
ทำไมในประเทศไทย อย่างขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา หรือแม้แต่กรุงเทพฯ จึงไม่มีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์-สวนสาธารณะ ที่ผูกติดกับระบบขนส่งมวลชนแบบนี้บ้าง
สำหรับประเทศจีนซึ่งมีรากฐานมากจากระบบสังคมนิยม การบรรยายในพิพิธภัณฑ์ก็จะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนวัตกรรมที่คนธรรมดาๆ เป็นผู้คิด กับระบบการเมืองที่มั่นคง
ในช่วงเวลาที่ ฮ่องเต้ (หรือขุนนาง) ไร้วิสัยทัศน์ มัวแต่บำเรอพวกพ้อง ไม่เน้นเรื่องปากท้องของมวลชน นวัตกรรมทางวิทยศาสตร์ก็จะหยุดชะงักลงไป ส่วนในช่วงเวลาที่ระบบการเมืองเปิดกว้าง ประชาชนอิ่มท้อง มีเวลาว่าง นวัตกรรมและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็จะมีมาก
โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์อันนี้สักเท่าไร ผมกลับเห็นว่าแม้จีนจะอยู่ในภาวะสงคราม การวิจัยการวิทยาศาสตร์ก็ยังล้ำหน้ามาก โดยเฉพาะช่วง Warring States (480 ถึง 221 BC) หรือช่วงที่รัฐอิสระต่างคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อทำสงครามกัน !
จะเห็นได้ว่าผู้บริหารของประเทศมหาอำนาจจะตระหนักดีว่า “มูลค่า” ที่แท้จริงของประเทศไม่ได้อยู่ที่จำนวนนักท่องเที่ยว หรือค่าเช่าที่เก็บได้จากห้าง สินค้าแบรนด์เนม หรือจำนวนสินค้าที่ส่งออกจากนิคมอุตสาหกรรม … แต่ “มูลค่า” ที่แท้จริงของประเทศอยู่ที่ “ความคิด” ของพลเมืองที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา
ในกรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา มีพิพิธภัณฑ์ระดับโลกถึง 60 พิพิธภัณฑ์ ได้แก่ National Air and Space Museum และ Udvar-Hazy Center ซึ่งมีจรวด Space Shuttle ตั้งอยู่ รวมทั้ง National Museum of Health and Medicine และ US Botanical Garden นอกจากนี้แล้วยังมีการโชว์นวัตกรรมการแกะรหัสและเครื่องมือต่างๆ ของสายลับ ใน National Cryptologic Museum

การพบปะกันระหว่างพลเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นคู่รัก หรือคู่คิด
การจัดโครงการพื้นฐานที่ทำให้พลเมืองได้พบปะกัน …อยากคิด…อยากสร้างสรรค์ร่วมกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง
“ถ้าท่านอยากจะสร้างเรือ อย่ามัวปลุกระดมพลให้เข้าป่าเพื่อหาไม้ เลื่อยไม้ และตอกไม้กระดานเข้าด้วยกัน … แต่ท่านควรสร้างความอยากที่จะท่องทะเลกว้าง”
—Antoine de Saint-Exupéry