ThaiPublica > คอลัมน์ > Fryer กับ Baby Nobel เศรษฐศาสตร์

Fryer กับ Baby Nobel เศรษฐศาสตร์

26 พฤษภาคม 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

หาก “แต่งตัว” ไว้พร้อม เมื่อโอกาสมาเคาะประตูก็สามารถเปิดต้อนรับได้เลย นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งอายุต่ำกว่า 40 ปี เข้าลักษณะนี้ เขาจึงได้รับรางวัลที่เรียกกันว่า “Baby Noble Prize”

Roland Fryer เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผิวสี หรือ Afro-American (เดิมเรียกว่า Negro ต่อมา Black American) ได้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์หลายเรื่อง ครั้งหนึ่งเขาให้สัมภาษณ์ว่าเขามีชีวิตตอนวัยรุ่นอยู่ในสลัมท่ามกลางยาเสพติด ความรุนแรง และเคยมีเพื่อนถามเขาว่า “จะเป็นอะไรตอนอายุ 30” เขาตอบว่าคงจะตายแล้ว

การคาดคะเนของเขาตอนเป็นวัยรุ่นผิดทั้งเพ เพราะเมื่อตอนอายุ 30 ในปี ค.ศ. 2008 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ของ Harvard อย่างถาวรโดยเป็น Afro-American คนแรกที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์

ล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา เขาได้รับรางวัลอันทรงเกียรติยิ่งประจำปีของ American Economic Association ซึ่งมอบให้นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา อายุต่ำกว่า 40 ปี มีชื่อเรียกว่า John Bates Clark Medal และอีกเช่นกันเขาเป็น Afro-American คนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ในประวัติศาสตร์

มีการให้รางวัลนี้มาตั้งแต่ปี 1947 คนแรกที่ได้รับคือ Paul A. Samuelson ในจำนวน 17 คนแรกที่ได้รับรางวัล 11 คนในเวลาต่อไปได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ มีการทำนายว่าคนที่ได้รับรางวัล John Bates Clark Medal มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับรางวัลโนเบิลหนึ่งในสาม

John Bates Clark มีชีวิตอยู่ระหว่าง 1847-1938 เป็นนักเศรษฐศาสตร์แนว Neoclassic เขาเป็นผู้บุกเบิกคนหนึ่งของการปฏิวัติทางความคิดที่เรียกว่า Marginalist Revolution กล่าวคือใช้แนวคิด Marginalism ในการอธิบายปรากฏการณ์ของตัวละครและการใช้เหตุใช้ผลภายใต้ระบอบทุนนิยม เช่น ผู้ประกอบการพยายามแสวงหากำไรสูงสุด โดยได้รับกำไรสูงสุดเมื่อ marginal revenue เท่ากับ marginal cost (รายรับที่เพิ่มขึ้นจากการขายหนึ่งหน่วยสินค้าเท่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตหนึ่งหน่วยสินค้า) ฯลฯ

Clark รวบรวมหลายบทความที่สำคัญของเขา และตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ The Philosophy of Wealth (1886) บทบาทของเขาในการสร้างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สำคัญทำให้ American Economic Association ทั้งชื่อรางวัลเป็นเกียรติแก่เขามาเกือบ 70 ปี

Fryer ผู้รับรางวัลในปีนี้มีชีวิตในวัยเด็กที่แตกต่างจากผู้ได้รับรางวัลคนอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิง แม่ทิ้งเขาไปตั้งแต่ยังเด็กมาก จึงอยู่กับพ่อซึ่งเฆี่ยนตีเขา และเมื่อเขาเริ่มเป็นหนุ่มพ่อก็ติดคุกข้อหาข่มขืนเมื่อ Fryer เข้าสู่วัยรุ่นก็เรียกได้ว่าเป็นตัวร้ายอย่างเต็มตัว ชีวิตมุ่งสู่ยาเสพติด หรือถูกฆ่าตาย

Roland Fryer นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผิวสี หรือ Afro-American  ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติประจำปีของ American Economic Association ที่มาภาพ : http://www.aspenideas.org/sites/default/files/images/Blog/fryer-680x400.jpg
Roland Fryer นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผิวสี หรือ Afro-American ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติประจำปีของ American Economic Association ที่มาภาพ : http://www.aspenideas.org/sites/default/files/images/Blog/fryer-680×400.jpg

สิ่งที่พลิกผันชีวิตของเขาก็คือการได้รับทุนกีฬาจาก University of Texas at Arlington จากการเป็นดาราบาสเกตบอลและฟุตบอลตอนเรียนชั้นมัธยม อย่างไรก็ดีเมื่อไปถึงเขาขอเปลี่ยนทุนเป็นทุนวิชาการ เขาเรียนจบได้เกียติรนิยมอันดับหนึ่งทางเศรษฐศาสตร์ในเวลา 2 ปีครึ่ง พร้อมกับทำงานเต็มเวลาไปด้วย

อาจารย์ของเขาช่วยหาทุนเรียนปริญญาเอกให้เขา และได้ไปเรียนที่ Penn State (Pennsylvania State University) และจบปริญญาเอกในปี 2002 จากนั้นไปทำงานวิจัยหลังปริญญาที่ University of Chicago ได้พบกูรูด้านเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลผู้บุกเบิกเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์สารพัดปัญหาสังคม และที่นี่เขาทำวิจัยและเขียนบทความร่วมกับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายคน คนหนึ่งก็ได้กลายเป็นผู้นำทางความคิดของเขาก็คือ Steven Levitt (ผู้เขียนหนังสือยอดนิยมระดับโลก “Freaknomics”)

เมื่อได้เป็นอาจารย์ที่ Harvard เขาก็พิมพ์บทความในวารสารวิชาการระดับโลกจำนวนมากโดยเน้นปัญหาที่เขาประสบมาในวัยรุ่น ตั้งแต่เรื่องอุปสรรคการศึกษาของเด็กผิวสี ปัญหายาเสพติด นโยบายการศึกษาของเด็กชนกลุ่มน้อย ออกแบบนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของคนผิวสี ปัญหาการเหยียดผิว การให้แรงจูงใจครู ฯลฯ จนได้การยอมรับ เมื่อ 10 ปีที่แล้วเขาได้รับเลือกโดยนิตยสาร The Economics ให้เป็น 1 ใน 8 ของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นหนุ่มในโลกที่ปราชญ์เปรื่องที่สุด

เรื่องหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักกว้างขวางก็คือ “active white” กล่าวคือจากการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยของเขาในระดับ “ติดดิน” พบว่าตอนอนุบาลเด็กผิวขาวและผิวสีมีสัมฤทธิผลทางการเรียนไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อโตขึ้นเด็กผิวสีด้อยลงในทุกวิชา เหตุผลมีหลายประการนับตั้งแต่ฐานะและการศึกษาของพ่อแม่ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ อย่างไรก็ดีปัจจัยตัวหนึ่งที่เขายืนยันก็คือสิ่งที่เรียกว่า “acting white” นั้นมีจริง

เด็กผิวสีจะไม่เรียนหนังสือหนักเมื่อโตขึ้นเพราะจะถูกเพื่อนรังเกียจ และกลายเป็นคนแปลกแยกเพราะการกระทำเยี่ยงนี้เหมือนกับที่คนผิวขาวกระทำกัน Fryer พิสูจน์โดยลงไปดูว่าเด็กผิวสีเกรดดีมีจำนวนเพื่อนที่ชอบพอกันแตกต่างจาก ‘เด็กไม่เรียน’ หรือไม่ ก็พบว่า ‘เด็กเรียน’ ผิวสีมีเพื่อนน้อยกว่า ซึ่งตรงข้ามกับเด็กผิวขาว ยิ่งเรียนดียิ่งมีเพื่อนมาก

Fryer สร้าง education lab ขึ้นที่ Harvard โดยเขาเป็นผู้จัดการ ไอเดียก็คือการศึกษาวิจัยเชิงปฏิวัติในระดับย่อยเพื่อหาความจริงก่อนที่จะมีนโยบายหรือวิธีการ หรือแนวปฏิบัติ ด้านการเรียนการสอน (ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการไทยก็มีการศึกษาเชิง lab เช่นว่านี้ และกำลังศึกษาวิจัยกับโรงเรียนกว่า 200 โรงเรียนอย่างเข้มข้น)

เขาไม่ได้ทำงานวิจัยอยู่บนโต๊ะ เก็บข้อมูลทุติยภูมิ หากออกไปสัมผัสข้อมูลจริง และใช้วิธีการศึกษาวิจัยที่ฉลาดหลักแหลม แนวที่ Steven Levitt ซึ่งเป็นลูกพี่ทางความคิดของเขากระทำ (การศึกษาเรื่องอาชญากรรมลดลงในสหรัฐอเมริกา การศึกษาเรื่อง “การล้ม” ของซูโม่ใน Freaknomics คือตัวอย่าง)

Fryer อุทิศตัวเองให้แก่การวิจัยสาเหตุของความล้มเหลวในด้านการศึกษาของเด็กผิวสีโดยไม่ใช้เพียงความยากจน การเหยียดผิว ฯลฯ เท่านั้น หากออกไปไกลถึงด้านสังคมวิทยาและจิตวิทยา พิจารณาความเป็นไปได้ในการมี “วัฒนธรรมทำลายตนเอง” ของคนผิวสี ความจริงใจและความกล้าหาญในการพยายามเข้าใจปัญหาและหาทางออกให้คนผิวสีในอเมริกาตลอดจนคนกลุ่มน้อยในโลก ทำให้เขาโดดเด่นและเป็นที่ชื่นชม

มาตรการด้านการศึกษาที่เขาเสนอให้ครูเพื่อลดช่องว่างสัมฤทธิผลการศึกษาของคนผิวสีก็คือครูใช้ข้อมูลการประเมินเด็กบ่อย ครูให้ข้อมูลเพื่อนำการสอน คาดหวังจากเด็กสูง การติวเข้มข้น และใช้เวลาการสอนเด็กมาก ๆ

Fryer มีความพร้อมในการศึกษาวิจัยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจลาจลซึ่งเกิดขึ้นในหลายเมืองในสหรัฐอเมริกาในช่วงปีที่ผ่านมา เขาบอกว่ามันไม่เพียงพอที่จะบอกว่าตำรวจมีทางโน้มที่จะยิง ผู้ต้องสงสัยผิวสีมากกว่าผิวขาว (ปัจจุบันก็ทำเช่นนั้นอยู่แล้ว) ถ้าจะให้รู้ความจริงอย่างแน่แท้แล้ว ต้องแสดงให้เห็นว่าตำรวจทำอย่างนั้นจริง ๆ ภายใต้เงื่อนไขและสิ่งแวดล้อมเดียวกัน

หากใช้ข้อมูลมากมายที่เกิดขึ้นจากการยิงว่าเมื่อผู้ต้องสงสัยไม่ว่าผิวสีใดก็ตาม มีปืนในมือขณะกำลังจะถูกจับแล้วตำรวจมีทางโน้มที่จะยิงเสมอโดยไม่แคร์ว่าเป็นคนผิวสีใด อย่างนี้จึงจะเรียกว่าไม่เอนเอียง แต่ถ้าหากเงื่อนไขเหมือนกันแต่มีทางโน้มที่จะยิงคนผิวสีมากกว่า อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเอนเอียง ซึ่งเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดจลาจลในทุกวันนี้

Fryer มีผลงานทางวิชาการมากมายตลอดเวลากว่า 10 ปีที่เกี่ยวกับเรื่องแหล่ง ขนาด และการดำรงอยู่ของความไมเท่าเทียมกันทางชาติพันธุ์ในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนการประเมินนโยบายต่าง ๆ ทางการศึกษาของชนกลุ่มน้อย เมื่อมีเหตุการณ์จลาจลและการตั้งคำถามว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในสหรัฐอเมริกาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนผิวขาว-คนผิวสี ผลงานของเขาตลอดจนความรู้ความสามารถของเขาทำให้เขาเป็นบุคคลที่สมควรแก่รางวัลนี้อย่างยิ่งในสายตาของสาธารณชนอเมริกัน

เมื่อลิฟต์ขึ้นลงผ่านไปมา แต่ไม่ได้กดปุ่มจองการใช้เพราะมัวแต่เพลิดเพลินกับโซเชียลมีเดีย ชาติไหนก็ไม่ได้ขึ้นลิฟต์ เฉพาะผู้ที่ได้สร้างความพร้อมไว้ก่อนแล้วเท่านั้น เมื่อลิฟต์ผ่านมาจึงจะได้ขึ้น

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 12 พ.ค. 2558