ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มกอช. เผย ปัญหาสารเคมีเกษตรไม่กระทบส่งออก กางผลสำรวจย้อน 3 ปี เทียบ Thai-PAN สารตกค้างลดลง

มกอช. เผย ปัญหาสารเคมีเกษตรไม่กระทบส่งออก กางผลสำรวจย้อน 3 ปี เทียบ Thai-PAN สารตกค้างลดลง

8 เมษายน 2015


มกอช. เปิดผลตรวจผักย้อนหลัง 3 ปี เทียบ Thai-PAN พบการตกค้างลดลงเช่นเดียวกัน การแจ้งเตือนจาก EU ไม่กระทบตลาดส่งออกหลัก ส้ม พริกแห้ง ลำไย และข้าว ตลาดยังเติบโตดี ยันรัฐไม่นิ่งนอนใจ สร้างเครือข่ายทั่วประเทศเฝ้าระวังสารเคมีเกษตรตกค้างเกินมาตรฐาน

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2558 ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ระหว่างการจัดงานประชุมเชิงวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประจำปี 2558 ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) มูลนิธิชีววิถี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นางกรรณิภา ศรีชัชวาล นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการพิเศษ ของกรมควบคุมมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้กล่าวถึงข้อมูลสถานการณ์การปนเปื้อนของผลผลิตส่งออกว่า สำหรับสถานการณ์การปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของผลผลิตส่งออกนั้น ไม่ได้กระทบสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกเป็นสำคัญ จะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอาหารของไทยนั้นดีมาก โดยเฉพาะข้าวที่มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2551-2557 ที่มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

อันดับต่อมาคือการส่งออกลำไย ที่ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยตั้งแต่ปี 2553-2557 นั้นมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 4-6 พันล้านบาท ที่น่าสนใจตอนนี้คือส้มกับพริกแห้ง จะเห็นได้ว่าในปี 2555 และ 2556 มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด พริกแห้งก็เช่นกัน ที่มูลค่าการส่งออกขึ้นๆ ลงๆ

ที่ยกตัวอย่างผักผลไม้ 4 ชนิดนี้ เมื่อดูมูลค่าการส่งออกย้อนหลัง 4 ปี ปริมาณการส่งออกนั้นสูงขึ้น แต่ที่น่าสนใจคืออัตราเฉลี่ยสะสม/ปี หรือ ค่า CAGR ส้มอยู่ที่ 17.2 พริกแห้งอยู่ที่ 16.3 ลำไยอยู่ที่ 11.1 ส่วนข้าวอยู่ที่ 6.5

สำหรับข้อมูลการส่งออกสินค้าที่พบการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนสินค้าเกษตรตามที่หน่วยงานต่างประเทศได้แจ้งภัยสินค้าอาหารที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยทางอาหารไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมให้ไทยรับทราบ โดยส่วนใหญ่จะเป็นสหภาพยุโรป (EU) ที่เป็นผู้แจ้งเตือนประเทศไทย

“ทาง มกอช. และกรมวิชาการเกษตรได้รับเตือนจากระบบการแจ้งเตือนนี้ ทางหน่วยงานไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อมีการแจ้งเตือนเข้ามาหน่วยงานจะมีคณะกรรมการในการพิจารณาว่าผู้ประกอบการที่ส่งพืชผักที่พบสารเคมีเป็นผู้ประกอบการจากที่ไหน และได้รับการรับรองจากที่ไหน”(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ผลการเฝ้าระวังมาตรฐาน

นางกรรณิภากล่าวต่อไปว่า หากผัก ผลไม้ หรือสินค้าเกษตรได้รับรองจาก มกอช. ก็จะมีหนังสือแจ้งไปยังกรมวิชาการเกษตร เพื่อตรวจสอบว่าผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าเกษตรไปแล้วได้รับการแจ้งเตือนมานั้นเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรหรือไม่ พื้นที่ตรวจสอบในระดับโรงงาน

ส่วนการตรวจก็จะเป็นระบบของการตรวจรับรองโดยให้คะแนนตามข้อบกพร่อง แล้วกำหนดระยะเวลาให้เขาทำการแก้ไขข้อบกพร่องนั้น ซึ่งจะมีการติดตามเป็นระยะ และทางกรมวิชาการเกษตรจะมีข้อมูลส่งมาให้ทาง มกอช. ทราบ

มกอช. เองก็เช่นกัน มีสถานะเป็นหน่วยรับรองระบบงานที่จะให้การรับรอง หรือรับรองภาครัฐ หรือเอกชน เมื่อมีการแจ้งเตือนมาแล้วพบว่าเป็นลูกค้าที่ไม่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร แต่มีเอกชนเป็นผู้รับรอง ก็จะมีมาตรการเช่นเดียวกัน คือ มีการแจ้งให้ทราบถึงปัญหา พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบ ให้ระยะเวลากรในการแก้ไข แล้วจึงทำการตรวจสอบซ้ำ

ที่ผ่านมาก็มีการพบมาเรื่อยๆ แม้ได้รับการแก้ไขแต่ก็ไม่ยังไม่เพียงพอในมุมมองของ มกอช. ดังนั้น มกอช. จึงมีการดำเนินการเพื่อให้สินค้าเกษตรที่ส่งออกของไทยนั้นมีคุณภาพ มีสารเคมีเกษตรตกค้างน้อยลง โดยเริ่มดำเนินการจากองค์กรเองไปสู่ตัวผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นตัวเกษตรกร หรือเครือข่าย

โดยมาตรฐานสารพิษตกค้างมีทั้งของสาธารณสุข และ มกอช. เอง โดยมาตรฐานสารพิษตกค้างที่จัดทำโดย มกอช. คือ มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.9002-2556) เป็นค่าที่จะบอกปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด หรือค่า MRL ประกอบด้วยสารตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตร 48 ชนิด และมีชนิดพืชทั้งหมด 112 ชนิด แต่ละชนิดก็จะมีค่าแตกต่างกันไป ซึ่งจะนำค่า MRL นี้มาใช้เมื่อตรวจสอบสารเคมีตกค้าง

ส่วนมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.9003-2547) ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากสารพิษตกค้าง โดยเป็นกรณีของสารพิษตกค้างจากสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ประกอบด้วยสารพิษตกค้างที่ปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม จํานวน 5 ชนิด ได้แก่ อัลดรินและดีลดริน, คลอร์เดน, ดีดีที, เอนดริน และเฮปทาคลอร์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่ห้ามใช้แล้ว แต่ยังคงมีผลตกค้างในดิน ก็จะนำค่า มกษ.9300 มาใช้ ว่าสาร 5 ชนิด จะมีผลต่อ พืช สัตว์ และประมงอย่างไร

หากจะกล่าวถึงเรื่องการส่งออกคงต้องพูดแทนกรมวิชาการเกษตรว่า ผู้ประกอบการที่ต้องมีการเตรียมตัวควบคุมมาตรฐานพืชเพื่อการส่งออกนั้น ทางกรมวิชาการเกษตรก็มีคู่มือการส่งออกผักและผลไม้สำหรับผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบและข้อกำหนดเกี่ยวกับศัตรูพืชและการนำเข้าพืชจากประเทศปลายทางด้วยเช่นกัน กรณีนี้ก็แล้วแต่ประเทศปลายทางว่าสินค้าของเขานั้นมีข้อกำหนดอะไรบ้าง ต้องดูเป็นรายประเทศไทย

“ในการเตรียมความพร้อมก่อนการส่งออกผักและผลไม้นั้น ก็ต้องมีใบรับรองปลอดศัตรูพืช ใบรับรองสารพิษตกค้าง และการจดทะเบียนผู้ส่งออก ซึ่งต้องทำการขอใบรับรองที่กรมวิชาการเกษตร”

ทาง มกอช. เอง ได้ทำการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองระบบงาน แม้ว่า มกอช. จะเป็นผู้ดูแลเรื่องการกำหนดค่ามาตรฐานสารพิษตกค้าง แต่ในเรื่องห้องปฎิบัติการ ผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ก็คือ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กรมวิทยาศาสตร์แพทย์ (วพ.) กระทรวงสาธารณสุข และกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยที่ มกอช. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกัน ว่าหากห้องปฏิบัติการใดที่ได้รับการรับรองระบบงานแล้วก็ให้มาขึ้นทะเบียนกับ มกอช. อีกครั้ง ซึ่งช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน

สำหรับข้อมูลสารพิษตกค้าง มกอช. ได้รับความร่วมมือจากห้องปฏิบัติการที่ขึ้นทะเบียนกับ มกอช. ในการส่งข้อมูลการตรวจสอบสารเคมีตกค้างในสินค้าเกษตร โดยระหว่างปี 2554-2557 พบว่า ข้อมูลทุติยภูมิที่ทางหน่วยงานได้มานั้น คือรายงานความอันตรายทางจุลินทรีย์และอันตรายทางเคมี จาก 13,195 ตัวอย่าง พบแบคทีเรียซาลโมเนลลา ที่ก่อให้เกิดอาการท้องร่วง ถึง 299 ตัวอย่าง คิดเป็น 2.27% พบอีโคไล ในผักบุ้ง ตะไคร้ ชะอม ผักสด 126 ตัวอย่าง คิดเป็น 0.95% พบใน ชะอม ดอกกะหล่ำ ผักบุ้ง และต้นหอม และพบสารชีวพิษอย่างอะฟลาทอกซิน 18 ตัวอย่าง คิดเป็น 0.14% พบใน ถั่งลิสง ลูกเดือย และข้าวโพด

ส่วนรายงานความอันตรายทางเคมีจาก 9,581 ตัวอย่าง พบสารคลอไพริฟอส 70 ตัวอย่าง คิดเป็น 0.61% ในมะม่วง พริก และผักชี ส่วนสารไซเพอร์เมทรินพบ 55 ตัวอย่าง คิดเป็น 0.48% ในพริก ผักชี และใบมะกรูด สารเอ็นโดซัลแฟน ที่เป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ห้ามใช้ในประเทศไทย ยังคงตรวจพบ 17 ตัวอย่าง คิดเป็น 0.15% ใน พริก ผัก และผลไม้ และพบสารเมโทมิล 15 ตัวอย่าง คิดเป็น 0.13% ใน พริก มะม่วง และทุเรียน

Print

ทั้งนี้เพื่อให้สินค้าเกษตรของไทยได้มาตรฐาน ทาง มกอช. มีแนวทางการพัฒนามาตรการควบคุมมาตรฐานพืชส่งออก ดังนี้

1. การดําเนินงานเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยร่วมมือกับเกษตรกรและสหกรณ์จังหวัดในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศไทย สนับสนุนงบประมาณให้มีการสุ่มตัวอย่างผักผลไม้ในแหล่งตลาดค้าส่ง และค้าปลีกในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ และส่งข้อมูลกลับมา มีการอบรมการใช้ชุดทดสอบสารเคมีเบื้องต้น เพื่อตรวจดูว่ามีปริมาณสารเคมีเกษตรตกค้างหรือไม่ หากพบให้มีการนำสินค้านั้นกลับมาตรวจสอบ ณ ห้องปฎิบัติการที่ได้รับการรับรอง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ห้องปฏิบัติการกลาง (Central Lab)

2. การเฝ้าระวังมาตรฐานสินค้าเกษตรสถานการณ์ฯ อย่างต่อเนื่อง จากเครือข่ายเฝ้าระวังของเกษตรจังหวัดและเครือข่ายเฝ้าระวัง โดย มกอช. ได้เข้าไปสนับสนุนเครือข่ายที่ทำผัก-ผลไม้ส่งออกด้วยการให้ความรู้ อบรบการใช้ชุดทดสอบสารเคมีเบื้องต้น และสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้กัน ซึ่งแบ่งออกเป็นภาคการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ภาคประชาชน อาทิ องค์กรมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ กลุ่มเกษตรกร อาทิ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดสารพิษ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตผักอินทรีย์ โคกสอง อ.เมือง จ.มหาสารคาม หน่วยงานเอกชน และเครือข่ายภาครัฐและท้องถิ่น ก่อนที่จะมีการส่งออกผัก-ผลไม้ออกไป อย่างน้อยก็ได้มีการให้ความรู้การใช้สารเคมีอย่างถูกวิธี ทำให้เกิดความปลอดภัยกับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

3. การรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผักปลอดภัย นําร่อง ณ แหล่งจําหน่าย บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งทาง มกอช. ได้ลงบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้นำตลาด และอบรมแม่ค้าที่นำผักมาขายให้ได้รับทราบถึงเรื่องความปลอดภัยของอาหาร และขอความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุขให้เข้าไปตรวจเลือดของพ่อค้าแม่ค้าเพื่อตรวจสารพิษตกค้างในร่างกายด้วยเช่นกัน

4. การขยายส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าผักปลอดภัย เช่น การจัดส่ง ฐานข้อมูลแหล่งผลิตสินค้าพืช GAP ไปยังผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) สมาคม และหอการค้า เป็นต้น เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลว่ามีผักปลอดภัยอยู่ ณ แหล่งใดบ้าง หากมีผู้สนใจสามารถติดต่อ มกอช. ได้

ดังที่น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ผู้ประสานงาน Thai-PANได้กล่าวไปแล้วว่า ชนิดของสารเคมีนั้นแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งทาง มกอช. ได้ใช้ชุดทดสอบสารพิษตกค้างที่ทดสอบสารเคมีได้ 4 กลุ่มเช่นกัน จากข้อมูลที่ มกอช. ได้ดำเนินการมา ในการสุ่มตัวอย่างผัก ผลไม้ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

Print

ในปี 2555 ที่มีการสุ่มตัวอย่าง 300 ตัวอย่าง ไม่พบสารตกค้าง 141 ตัวอย่าง คิดเป็น 47% พบสารตกค้างแต่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย 75 ตัวอย่าง คิดเป็น 25% และพบสารตกค้างแต่ไม่ปลอดภัย 84 ตัวอย่าง คิดเป็น 28% ในปี 2556 มีการสุ่มตัวอย่าง 300 ตัวอย่างเช่นกัน ในจำนวนนี้ ไม่พบสารตกค้าง 155 ตัวอย่าง คิดเป็น 52% พบสารตกค้างแต่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย 73 ตัวอย่าง คิดเป็น 24% และพบสารตกค้างแต่ไม่ปลอดภัย 72 ตัวอย่าง คิดเป็น 24% เช่นกัน สำหรับในปี 2557 มีการสุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้นเป็น 500 ตัวอย่าง ไม่พบสารตกค้าง 395 ตัวอย่าง คิดเป็น 79% พบสารตกค้างแต่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย 75 ตัวอย่าง คิดเป็น 15% และพบสารตกค้างแต่ไม่ปลอดภัย 30 ตัวอย่าง คิดเป็น 6%

“ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแนวโน้มความปลอดภัยนั้นเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับผลสรุปของ Thai-PAN แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการหรือเกษตรกร มีความตระหนักในการใช้สารเคมีอย่างถูกวิธี”

สำหรับการตรวจแยกระหว่างสินค้าที่ได้รับมาตรฐาน Q และสินค้าปกติ โดยจำนวนตัวอย่างที่ใช้อาจแตกต่างกันไป ที่ไม่ผ่านมาตรฐานก็มี แต่จากปี 2555-2557 สัดส่วนสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นแนวโน้มที่ดีในการยืนยันว่าการตกค้างของสารเคมีที่เกินมาตรฐานนั้นลดลง ซึ่งทางหน่วยงานราชการไม่ว่าจะเป็น มกอช. หรือกระทรวงเกษตรฯ เอง ได้มีแผนที่จะสนับสนุนความคิดของทาง Thai-PAN หรือกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ที่จะให้ผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย