ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลฎีกาฯ รับฟ้องคดี G to G แล้ว นัด “บุญทรง เตริยาภิรมย์-พวก” รวม 21 คน มาปรากฏตัวที่ศาล 29 มิ.ย.

ศาลฎีกาฯ รับฟ้องคดี G to G แล้ว นัด “บุญทรง เตริยาภิรมย์-พวก” รวม 21 คน มาปรากฏตัวที่ศาล 29 มิ.ย.

20 เมษายน 2015


ศาลฎีกาฯ รับฟ้องคดี G to G แล้ว นัด “บุญทรง เตริยาภิรมย์-พวก” รวม 21 คน มาปรากฏตัว 29 มิ.ย. ในวันพิจารณาคดีครั้งแรก พ่วงตั้ง “ธนฤกษ์ นิติเศรณี” เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มาภาพ : http://www.ptp.or.th/news/77
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มาภาพ: http://www.ptp.or.th/news/77

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2558 นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G ที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก รวม 21 คน เป็นจำเลย ต่อศาลฎีกาฯ ในคดีหมายเลขดำที่ 25/2558 และมีการนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 20 เมษายน 2558 ว่า องค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาฯ ในคดีนี้ทั้ง 9 คน ได้พิจารณาคำฟ้องของ อสส. และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประทับรับฟ้องไว้ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าคดีครบองค์ประกอบความผิด และอยู่ในเขตอำนาจที่ศาลฎีกาฯ จะรับไว้พิจารณา

โดยจะนัดพิจารณาคดีครั้งแรก พร้อมตรวจพยานหลักฐานทั้ง 2 ฝ่าย ในวันที่ 29 มิถุนายน 2558 เวลา 09.00 น. ซึ่งจำเลยทั้งหมดจะต้องเดินทางมาปรากฏตัวต่อศาล

นอกจากนี้ องค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้ ยังได้มีมติให้ตนเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ซึ่งตนก็ไม่หนักใจอะไร เพราะจะพิจารณาคดีไปตามพยานหลักฐาน และพร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ย้อนรอยคดีจีทูจี 2 ปี 6 เดือน ก่อน “บุญทรง-พวก” ขึ้นศาล

สำหรับคดีทุจริตระบายข้าวแบบ G to G เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2555 เมื่อ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เข้ามาตรวจสอบ ใช้เวลาปีเศษ ก่อนที่ ป.ป.ช. จะมีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ต่อมา ในวันที่ 20 มกราคม 2558 ป.ป.ช. ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ 7:0 ชี้มูลความผิดนายบุญทรงกับพวก รวม 21 คน ทั้งความผิดทางวินัย อาญา และถอดถอน

วันที่ 19 มีนาคม 2558 อสส. ได้สำนวนส่งฟ้องต่อศาลฎีกาฯ โดยขอให้ตัดสินลงโทษทางอาญานายบุญทรงกับพวก สูงสุดจำคุกตลอดชีวิต และเรียกค่าปรับอีกกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้เลือกผู้พิพากษาระดับศาลฎีกาขึ้นไปจำนวน 9 คน มาเป็นองค์คณะผู้พิพากษาคดีนี้

ส่วนการถอดถอน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้นัดแถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอนนายบุญทรง นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในวันที่ 23 เมษายน 2558 นี้