ThaiPublica > เกาะกระแส > เครือซีพีทำMOUส.ป.ก. รื้อระบบผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ป้องกันรุกป่า รักษาสิ่งแวดล้อม

เครือซีพีทำMOUส.ป.ก. รื้อระบบผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ป้องกันรุกป่า รักษาสิ่งแวดล้อม

3 เมษายน 2015


บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) เพื่อจัดทำโครงการ “เกษตรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน”
บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) เพื่อจัดทำโครงการ “เกษตรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน”

ในฐานะผู้ที่มีบทบาทในภาคการเกษตรรายใหญ่ของประเทศ การเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในประเทศไทย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นจะเห็นได้ว่า ซีพีกำลังปรับตัวสู่ “ต้นน้ำ” สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรที่จะเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบให้แก่ตน จากกรณีของ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด (ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวตราฉัตร และเส้นตราฉัตร) ได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวให้ได้คุณภาพในระดับไร่นา หรือกระทั่งการเตรียมพร้อมปรับกระบวนการเพาะปลูกเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การลดลงของเกษตรกร

มาวันนี้ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ซึ่งดูแลรับผิดชอบกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ใช้กลยุทธ์เดียวกันกับ ซี.พี.อินเตอร์เทรด ในการเข้าไปส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ “ต้นน้ำ” ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางปี 2557 ที่ผ่านมา

ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ของซีพีในตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ค่อนข้างติดลบ เนื่องจากกระแสข่าวการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จนเป็นภูโกร๋น และการเผาตอซังจนเกิดเป็นปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือนั้นเป็นผลมาจากการทำไร่ข้าวโพด ด้วยเหตุนี้ซีพีหนึ่งในผู้ครองตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ จึงเป็นแกนนำในการแสดงความรับผิดชอบและสร้างการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน

ดังนั้น เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) เพื่อจัดทำโครงการ “เกษตรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ในการการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการเพาะปลูก

ปรับโครงสร้างตั้งแต่ “ต้นน้ำ” รับอาเซียน ป้องกันรุกป่าอนุรักษ์

นายสมชาย กังสมุทร กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน)
นายสมชาย กังสมุทร กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน)

นายสมชาย กังสมุทร กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส เปิดเผยว่า โครงการ “เกษตรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ซีพีจะเข้ามาดำเนินการในส่วนของการจัดอบรมให้ความรู้ในเรื่องการเพาะปลูกอย่างถูกต้อง ตั้งแต่การวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน จนถึงการจัดการหลังเก็บเกี่ยว ที่ห้ามทำการเผาตอซังโดยเด็ดขาด การเพิ่มผลผลิตในการเพาะปลูก และผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยสู่ความยั่งยืน

ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดทั่วประเทศกว่า 4 แสนราย พื้นที่รวมกว่า 7.5 แสนไร่ สามารถสร้างรายได้ประมาณปีละ 35,000 ล้านบาท แต่เกษตรกรยังมีอุปสรรคเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูง รวมถึงผลผลิตที่ได้ยังมีอัตราต่ำ ซึ่งผลผลิตข้าวโพดไทยน้อยกว่าตลาดโลกถึงร้อยละ 20 ทำให้ต้องมีการนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว กัมพูชา และพม่า ประมาณ 4-5 แสนตันต่อปี

“ขณะนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยอยู่ที่ 9.75 บาท/กิโลกรัม ซึ่งถือว่าราคาดี หากเทียบกับราคาในแถบอเมริกาและอเมริกาใต้ ที่ยืนพื้นอยู่ที่ประมาณ 5 บาท/กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งหากเปิดการค้าเสรีอาเซียนแล้วข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้ราคาตกต่ำลง จึงต้องเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรในการรับมือปัญหาดังกล่าว โดยต้องเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปรับกระบวนการผลิตให้เหมาะสม”

อย่างไรก็ตาม นายสมชายยืนยันว่า บริษัทฯ ไม่สนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ต้องบุกรุกที่ป่า และไม่ส่งเสริมการเผาตอซังพื้นที่เพาะปลูกแต่อย่างใด จึงได้ริเริ่มสร้างแม่แบบระบบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ถูกต้องและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยเข้ามาร่วมมือกับภาครัฐอย่าง ส.ป.ก.

ที่ผ่านมา ซีพีได้ดำเนินการนำร่องกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใน จ.นครราชสีมา ตั้งแต่กลางปี 2557 ภายหลังการให้ความรู้เรื่องการเพาะปลูก การดูแลดิน เลือกพื้นที่ปลูกอย่างถูกวิธี พบว่าผลผลิตต่อไร่นั้นเพิ่มขึ้น 40-50%

“การที่เราลงไปช่วยเหลือไม่ได้บีบบังคับให้เกษตรกรต้องขายผลผลิตให้กับเรา เรายังมีอิสระในการเลือกขายผลผลิตตามราคาที่เขาพอใจ”

ที่ผ่านมา ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจัดสรรที่ดิน พัฒนาคุณภาพเพื่อเกษตรกร คุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันให้แก่เกษตรกรแล้วประมาณ 2.7 ล้านครัวเรือน เป็นพื้นที่ประมาณ 35 ล้านไร่

ในปี 2558 โครงการดังกล่าวจะนำร่องในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ เลย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา ซึ่งวางแผนพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก. ให้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 45,000 ไร่ โดยคาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการถึง 20,000 ราย ภายใน 5 ปี (2558-2562) ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 225,000 ไร่ รวมถึงมีแนวทางการขยายผลโครงการ โดยอาศัยความร่วมมือกับทั้งคู่ค้าธุรกิจและเกษตรกรเครือข่าย ภายใต้นโยบายการจัดซื้อวัตถุดิบอย่างยั่งยืนด้วย

แนะรัฐต้อง “ปรับทิศ” ใหม่ แก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด

นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการสำนักงาน ส.ป.ก. กล่าวถึงปัญหาที่ผ่านมาว่า เกิดจากการที่ภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามอำเภอใจ ไม่เข้าไปดูแลในด้านตลาด ส่งผลให้ปัจจุบัน สินค้าเกษตรหลายชนิดล้นตลาด กระทบถึงโครงสร้างราคา โดยบทเรียนดังกล่าวจะชี้ให้เห็นว่าต่อจากนี้รัฐบาลควรให้การสนับสนุนเกษตรกรแต่ไหน อย่างไร

“เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ก็ต้องดูว่าต้องการแก้ปัญหาอะไร สำหรับปัญหาราคาสินค้าเกษตรนั้น เป็นผลมาจากรัฐส่งเสริมทุกอย่างจนผลผลิตล้นตลาด แล้วรัฐก็ต้องเข้าไปอุดหนุน ปัญหาหนักก็คือเกษตรกรร่ำรวยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ไม่เพียงเท่านั้น ยังพ่วงมาถึงข้าราชการบางรายที่เข้าไปผัวพันกับผลประโยชน์ ซึ่งการจะแก้ปัญหาให้ได้นั้นต้องทำได้โดยการปรับโครงสร้างการผลิตให้เหมาะสม”

สำหรับการดำเนินการร่วมกับซีพีในครั้งนี้ ส.ป.ก. จะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนองค์ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรกรในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.4402-2553 (Thai Agricultural Standard – TAS 4402-2010, Good Agricultural Practices for Maize) และจะติดตามเกษตรกรที่ผ่านการอบรมเพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวด้วย

นายสรรเสริญกล่าวต่อไปว่า แม้ที่ผ่านมาซีพีจะตกเป็นจำเลยของสังคม แต่การแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรนั้น รัฐไม่สามารถดำเนินการฝ่ายเดียวได้ ต้องดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วม บทเรียนจากปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องร่วมกันทบทวน

“การดำเนินการร่วมกันกับซีพี ที่เคยตกเป็นจำเลยของสังคมนั้น รัฐเองก็ต้องระมัดระวัง ซึ่งเมื่อตรวจดูเงื่อนไขของทางซีพีไม่ได้มีการผูกพันเกษตรกรแต่อย่างใด ความร่วมมือดังกล่าวจึงเกิดขึ้น”

ด้านนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ในอดีตเกษตรกรจำนวนไม่น้อยมีปัญหาในการทำการเกษตรในระบบดั้งเดิม มีปัญหาในเรื่องโครงสร้างการตลาดและราคาสินค้าตกต่ำ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อันเนื่องมาจากลูกหลานของเกษตรกรไม่สนใจที่จะสืบทอดอาชีพเกษตรกรรม

นอกจากนั้น ยังต้องเผชิญกับปัญหาภายนอก คือ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้น และความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของประเทศที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ล้วนส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการเกษตรกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจุบันภาคเกษตรยังคงเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับภาคเกษตรไว้ 3 ประการ คือ 1) ดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสม 2) ลดอุปสรรคในการส่งออก และหาตลาดที่มีศักยภาพ และ 3) เร่งปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการ เช่น การแบ่งเขตปลูกพืชแต่ละชนิด เป็นต้น

“ความร่วมมือกันในครั้งนี้ของ ส.ป.ก. กับกรุงเทพโปรดิ๊วส จะเป็นการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และที่สำคัญ เป็นการดูแลห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนาเกษตรกรและภาคเกษตร สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรฯ”นายปีติพงศ์กล่าว