เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 2 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมาว่า ได้ข้อสรุปรูปแบบความร่วมมือเป็นแบบจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ หรือ EPC ส่วนรายละเอียดต่างๆ ของรูปแบบความร่วมมือ รวมไปถึงรูปแบบการลงทุนที่ชัดเจน จะมีการหารือเพิ่มเติมในการประชุมครั้งที่ 3 ในวันที่ 10-11 มีนาคม 2558 ณ ประเทศไทย
ในเบื้องต้นได้ข้อสรุปเรื่องหน้าที่ของแต่ละประเทศว่า ช่วงก่อนการก่อสร้าง ประเทศจีนจะเป็นผู้รับผิดชอบด้านการศึกษาและออกแบบ ส่วนประเทศไทยจะรับผิดชอบด้านการเวนคืนที่ดินและจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ขณะที่ในช่วงเวลาก่อสร้าง ประเทศไทยจะรับผิดชอบด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตลอดเส้นทาง ยกเว้นส่วนที่เป็นอุโมงค์ ไหล่เขา ระบบอาณัติสัญญาณและควบคุม ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากประเทศจีน ส่วนการเดินรถหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ ในช่วงต้นจะให้ประเทศจีนดำเนินการเดินรถก่อน พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมให้กับพนักงานของไทย จนประเทศไทยสามารถเดินรถได้เอง จึงย้ายระบบการเดินรถกลับมาเป็นของไทย
“ครั้งนี้ฝ่ายไทยรุกแล้ว เรารุกโดยขอให้เขาทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เรา ต้องออกใบยืนยันให้เรา เราจะดำเนินการได้เร็วขึ้น เดินรถได้เอง ซ่อมบำรุงได้เอง สิ่งต่อไปคือเราต้องการให้จีนตั้งศูนย์เดินรถภูมิภาคในไทย ถ้าทำได้ต่อไปเราจะเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค มีการเชิญจีนมาตั้งโรงงานการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ด้วย เป็นการรุกของฝ่ายเรา จะครอบคลุมหมดของระบบรถไฟ ซึ่งจะมีการประชุมอีกช่วงต่อไป ประมาณเดือนเมษายนไปแล้ว” พล.อ.อ. ประจินกล่าว
นอกจากนี้ องค์การรถไฟจีน หรือซีอาร์ซี (CRC: China Railway Corporation) ได้ส่งข้อมูลเบื้องต้นของความเหมาะสมของโครงการ ให้ฝ่ายไทยเตรียมการสำรวจร่วมกัน ขณะเดียวกันก็ได้ส่งรายชื่อบริษัทที่เกี่ยวข้อง 3 บริษัทหลัก และบริษัทลูกอีกกว่า 30 บริษัท ได้แก่ 1) ซีอาร์ซีซี (CRCC: China Railway Construction Corporation) 2) ซีอาร์อีซี (CREC: China railway Engineering corporation) และ 3) บริษัทเกี่ยวกับหัวรถจักร การเดินรถ และระบบสารสนเทศ ซึ่งในการประชุมครั้งถัดไปจะได้ข้อสรุปว่าบริษัทใดจะเป็นผู้สร้างเส้นทางใด
ขณะที่ความคืบหน้าของวงเงินรวมและรูปแบบการลงทุน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า วงเงินลงทุนรวมจะตั้งที่ปรึกษากลางที่น่าเชื่อถือจากทั้งสองฝ่ายเป็นคนกลางกำหนดราคากลาง ส่วนเงื่อนไขทางการเงินปัจจุบันจีนได้นำเสนอเงื่อนไขเงินกู้ 2 แบบ ได้แก่ สินเชื่อแบบผ่อนปรนพิเศษ (preferential buyers’ credit) สำหรับการก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐาน อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลาปลอดหนี้ 5 ปี ชำระคืน 20 ปี และสินเชื่อสำหรับการพัฒนาเชิงพาณิชย์ อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยอาจจะใช้แหล่งเงินทุนทั้งจากจีนและในประเทศ ซึ่งต้องรอรายละเอียดที่ชัดเจนของรูปแบบความร่วมมือแบบ EPC เพื่อที่จะระบุได้ว่าส่วนใดควรระดมทุนจากแหล่งใด โดยจะเลือกแหล่งเงินทุนที่มีราคาถูกที่สุด นอกจากนี้ การใช้แหล่งเงินทุนจากจีนอาจจะเจรจาขอขยายระยะเวลาปลอดหนี้และชำระหนี้เพิ่มเติมอีกด้วย
“เราพยายามจะคุยกับจีนว่า ต้นทุนในต่างประเทศเราสามารถกู้ยืมได้ถูกกว่า ซึ่งจีนเองก็เข้าใจดี แต่ว่าฝ่ายไทยคงพยายามอยู่กับรัฐบาลจีน เพราะเราซื้อสินค้าเขาคือระบบรถและเทคโนโลยีของเขา แต่ส่วนที่เป็นจัดซื้อจัดจ้างและการก่อสร้าง ต้องแยกรายการออกมาว่าส่วนที่ใช้ชิ้นส่วนในประเทศ อาจจะใช้เงินในประเทศของเรา ซึ่งเรามีสภาพคล่องมากเพียงพอ เพราะฉะนั้น ในสิ่งที่เราหารือ 2% ได้ แต่ต้องคุยในรายละเอียดอื่นๆ ด้วย เราจะต้องพิจารณาหาแหล่งเงินที่ถูกที่สุด” นายอาคมกล่าว
พล.อ.อ. ประจินกล่าวเพิ่มเติมว่า กรอบเวลาของโครงการรถไฟยังคงเหมือนกับการประชุมในครั้งที่ผ่านมา หรืออีก 7 เดือนข้างหน้า ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่ไม่มากนัก โดยปัจจุบันยังต้องจัดทำเงื่อนไขในการดำเนินการต่างๆ 2 ฝ่ายให้แล้วเสร็จ 6 ประการ ได้แก่ 1) รายละเอียดรูปแบบความร่วมมือ EPC และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2) รัฐบาลต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายภายในให้เสร็จตามที่กำหนด เนื่องจากบางโครงการติดขัดเรื่องการขออนุญาตต่างๆ 3) ไทยต้องเร่งรัดการศึกษาความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อมให้เสร็จโดยเร็ว จากปกติต้องใช้ระยะเวลา 1 ปีครึ่ง 4) ไทยต้องเวนคืนที่ดินให้พร้อมก่อสร้าง 5) มีการลงนามสัญญาที่เกี่ยวข้องตามรูปแบบความร่วมมือ และ 6) มีการลงนามในข้อตกลงการเงินระหว่างกัน
“ทั้งหมด 6 ข้อ จะให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งอาจจะต้องยอมรับว่าคงทำพร้อมกันหมดไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ลงทุน อาจจะลงนามบันทึกความร่วมมือ หรือเอ็มโอซี ก่อนในเดือนมีนาคม เพื่อให้สามารถดำเนินการล่วงหน้าไปบางส่วนได้ ซึ่งการไม่ยืดกรอบเวลาตอนนี้เป็นความเสี่ยงของโครงการ หมายความว่าเราต้องการให้การสำรวจออกแบบ ประมาณราคา ลงนามสัญญา ช่วง 1-2 เสร็จในกันยายน 2558 ช่วง 3-4 เสร็จธันวาคม 2558 ปกติต้องใช้เวลาปีครึ่ง เสี่ยงมากเลย แต่ไปคุยกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องแล้ว บอกว่าทำได้ รับรองทำได้ เพราะรัฐบาลไม่มีพรรคการเมืองมาเกี่ยวข้อง เป็นหนึ่งเดียว มีภาพเดียวกัน” พล.อ.อ. ประจินกล่าว
ส่วนความคืบหน้าเรื่องความร่วมมือระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น นายอาคมกล่าวว่า ญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจที่จะร่วมมือศึกษาและวิจัยในการพัฒนาขนส่ง “ระบบราง” 3 เส้นทาง
เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ตามแนวเหนือใต้
เส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ด้านเหนือ
เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ด้านใต้ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงโครงการทวายของเมียนมาร์ในอนาคต
ทั้งนี้ เส้นทางแรกมีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางรางภายในประเทศ ขณะที่เส้นทางที่เหลือจะเน้นเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในบริการด้านการขนส่งสินค้าทางรางของไทย พร้อมทั้งสนใจพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง ขณะเดียวกันจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรี เพื่อกำกับดูแล โดยคณะทำงานด้านระบบรางที่มีอยู่เดิมจะยังคงทำหน้าที่ต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับเส้นทางที่ไทยและญี่ปุ่นจะพัฒนาร่วมกันนั้น จะมีการหารือภายในอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2558 ถึงระบบการทำงานร่วมกันในแบ่งความรับผิดชอบหน้าที่ ขอบเขตในการศึกษารวมถึงการสำรวจเส้นทางและความเป็นไปได้ รวมถึงกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานภายหลังจากที่มีการสรุปเส้นทางที่ชัดเจนแล้ว