ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มติ “ซูเปอร์บอร์ด” ไฟเขียวแผนฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง

มติ “ซูเปอร์บอร์ด” ไฟเขียวแผนฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง

26 กุมภาพันธ์ 2015


เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 นายกุลิศ สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ นำสรุปผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ที่เกี่ยวกับการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือเอสเอ็มอีแบงก์), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท. หรือไอแบงก์), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), การรถไฟแห่งประเทศ (ร.ฟ.ท.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้เพื่อให้มติของที่ประชุม คนร. ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายของรัฐวิสาหกิจมีผลบังคับในทางปฏิบัติ โดยแนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งมีสาระสำคัญดังนี้

กำหนดเพดานปล่อยกู้ไม่เกิน 15 ล้านต่อราย-เร่งดำเนินคดีคนทำแบงก์เสียหาย

กลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้น ทำให้ผลประกอบการขาดทุนมี 2 แห่ง คือเอสเอ็มอีแบงก์และธนาคารอิสลาม ทำให้ที่ประชุม คนร. มีมติดังนี้

1. ให้เอสเอ็มอีแบงก์ ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท/ราย สำหรับสินเชื่อที่ปล่อยกู้ใหม่ต้องมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) หรือหนี้เสียไม่เกิน 5% ของยอดสินเชื่อคงค้าง หากเกินกว่า 5% ให้ชะลอและทบทวนการปล่อยสินเชื่อใหม่ทันที และให้ ธพว. เร่งบริหารจัดการหนี้เสีย โดยเร็ว

2. ให้ธนาคารอิสลาม ศึกษาแผนปฏิรูปโดยมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อมุสลิม ศึกษาแนวทางการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ขึ้นมาบริหารหนี้เสีย และเร่งหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านธนาคารอิสลามเข้าร่วมทุน เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจธนาคารอิสลามภายใน 1 เดือน นับจาก คนร. มีมติ

3. ให้เอสเอ็มอีแบงก์ และ ธนาคารอิสลามเร่งตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ที่ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย

4. สำหรับการเพิ่มทุนให้เอสเอ็มอีแบงก์ และ ธนาคารอิสลามให้กระทรวงการคลังพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

ปรับโมเดลธุรกิจทีโอที-กสท รับเศรษฐกิจดิจิทัล-หั่นค่าใช้จ่าย 10%-ปรับลดบุคลากร

รัฐวิสาหกิจกลุ่มสื่อสาร ได้แก่ ทีโอที และ กสท ที่ประชุม คนร. มีมติเห็นชอบกรอบการดำเนินธุรกิจ 6 กลุ่ม ดังนี้

1. ให้คงบทบาทภาครัฐในการดำเนินงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน, อินเทอร์เน็ตเกตเวย์, เคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ, บริการด้าน fixed line และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ โดยจัดตั้ง “national infrastructure co.” เป็นหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่วางระบบ digital economy และสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT

2. ลดบทบาทภาครัฐในกลุ่มบริการด้านไอที โดยดำเนินการร่วมกับเอกชน เพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง และความสามารถด้านการตลาด

3. พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง “neutral tower company” เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในการให้บริการโทรคมนาคมทั่วประเทศ สำหรับกลุ่มเสาโทรคมนาคม และการดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ สำหรับกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่

ทั้งนี้ การดำเนินงานตามกรอบธุรกิจดังกล่าวข้างต้นนี้ คนร. มอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษาพิจารณารูปแบบและความเป็นไปได้ในการดำเนินการ และเสนอต่อที่ประชุม คนร. ต่อไป

ส่วนแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของบริษัททีโอทีและบริษัท กสท ที่ประชุม คนร. มีมติมอบหมายให้คณะกรรมการบริษัททีโอทีและคณะกรรมการบริษัท กสท ปรับปรุงแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรให้ครอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้

1. พิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่น้อยกว่า 10% พร้อมทั้งเตรียมปรับลดจำนวนบุคลากรให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจใหม่

2. จัดทำแผนบริหารจัดการข้อพิพาทให้ได้ข้อยุติภายใน 3 เดือน นับแต่ คนร. มีมติ

ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และต้องเสนอขออนุมัติจากผู้มีอำนาจในการพิจารณา รวมถึงกรณีที่มีการทำสัญญาใดๆ ต้องพิจารณาให้ไม่มีผลผูกพันระยะยาว หรือการดำเนินการอื่นใดที่จะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาองค์กรตามกำหนดเวลา

นอกจากนี้ ที่ประชุม คนร. ยังเห็นชอบในหลักการ ให้มีการพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการและการลงทุนในโครงข่ายสื่อสารของประเทศ

333

ทำประโยชน์ที่ดิน ร.ฟ.ท. ให้คลังใช้ประโยชน์แลกหนี้-ประเมินราคาที่ดินใหม่

ด้านปัญหาของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) คนร. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการคลังมี “สิทธิการใช้ประโยชน์ระยะยาว” ในที่ดินของ ร.ฟ.ท. แลกกับการรับภาระหนี้สินในอดีตของ ร.ฟ.ท. พร้อมกันนี้ยังระบุว่ากระทรวงการคลังควรมีสิทธิเลือกที่ดินของ ร.ฟ.ท. ในพื้นที่อื่นๆ นอกจากที่ดินย่านมักกะสัน ขณะที่การคำนวณมูลค่า เงื่อนไข และระยะเวลาของการใช้สิทธิ เสนอให้มีบริษัทผู้ชำนาญการเป็นคนกลาง 2 แห่ง เป็นผู้ประเมินมูลค่าสิทธิการเช่าตามเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในระยะต่อไป

ด้านที่ดินอื่นนอกเหนือจากที่ดิน 4 แปลงใหญ่ และไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถ (non-core business) ให้ ร.ฟ.ท. พิจารณาศักยภาพของที่ดินและประเมินราคาเช่าใหม่โดยบริษัทผู้เชี่ยวชาญ พร้อมนำมาใช้กับสัญญาที่จะหมดอายุลงหรืออาจจะใช้วิธีการประมูลใหม่โดยโปร่งใสแทน ส่วนสัญญาเช่าเดิมต้องกำหนดแนวทางบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารให้ผู้เช่าปฏิบัติเป็นไปตามสัญญา ทั้งนี้ ให้กำหนดตัวชี้วัดในการประเมินราคาเช่าใหม่ของที่ดินแล้วเสร็จใน 6 เดือน

นอกจากนี้ คนร. ยังเห็นชอบให้ยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ซึ่งกำหนดให้ ร.ฟ.ท. สามารถรับพนักงานใหม่ได้ไม่เกิน 5% ของพนักงานที่เกษียณอายุ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรและรองรับภารกิจที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ให้ ร.ฟ.ท. ศึกษาแผนอัตรากำลังคนให้สอดคล้องกับแผนงานในอนาคตเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป

คนร. ยังกำหนดหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมในฐานะเจ้ากระทรวงของ ร.ฟ.ท. ว่า 1) ให้กำกับติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิดของโครงการสำคัญ ให้สำเร็จตามเป้าหมาย โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 6 เส้นทางที่กำหนดแล้วเสร็จปี 2563 โครงการเสริมความมั่นคงของระบบขนส่งทางราง โดยการเสริมหมอนรองจากหมอนไม้เป็นหมอนคอนกรีต ราง 100 ปอนด์ กำหนดแล้วเสร็จปี 2559 2) สร้างความชัดเจนของนโยบายและทิศทางของระบบขนส่งทางราง โดยมีการกำกับดูแลที่ชัดเจนและเชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของกรมรางและ ร.ฟ.ท. ในการก่อสร้างและบำรุงราง, แนวทางการให้เอกชนมาร่วมเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงและ Airport Rail Link เป็นต้น

ลดบทบาท ขสมก. แค่เดินรถ – จัดสรรเส้นทางใหม่ จัดหารถโดยสารให้เพียงพอ ก่อนสางหนี้

ด้านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) คนร. เห็นชอบให้ดำเนินการจัดซื้อรถโดยสาร NGV ตามเป้าหมายงวดแรก 489 คัน พร้อมให้ติดตามผลการดำเนินการของรถโดยสารดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดหารถโดยสารงวดต่อไป ให้สามารถให้บริการโดยสอดคล้องกับเส้นทางเดินรถ จำนวนผู้โดยสาร รวมไปถึงนโยบายระหว่าง ขสมก. กับรถร่วมบริการต่อไป

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ ขสมก. ดำเนินการในฐานะผู้ประกอบการ ส่วนหน้าที่กำกับดูแลและประมูลใบอนุญาตเส้นทางเดินรถให้โอนไปยังกรมการขนส่งทางบก เป็นผู้ดูแลการเดินรถทั้งของเอกชนและ ขสมก. ให้มีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน ขณะเดียวกัน ให้ ขสมก. ปรับปรุงการบริหารจัดการภายในทันที เช่น การจัดการเดินรถ ทั้งของ ขสมก. และรถร่วมบริการของเอกชน มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและอัตรากำลังคน จัดการบริหารอู่จอดรถ ผลักดันแผนการใช้ e-ticket

คนร. ยังมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม สร้างความชัดเจนของการปรับปรุงเส้นทางเดินรถและการจัดสรรเส้นทางระหว่าง ขสมก. และรถร่วมเอกชน รวมทั้งแผนจัดซื้อรถโดยสาร NGV และสถานี NGV ให้สอดคล้องและเพียงพอตามแผนการจัดสรรเส้นทาง ขณะที่ปัญหาหนี้สิ้นที่เสนอให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณรับภาระ ให้รอความชัดเจนจากกระทรวงคมนาคมก่อน

เร่งบินไทยปรับแผนรูปธรรม ลดค่าใช้จ่าย 10% พร้อมขายสินทรัพย์ไม่จำเป็น-ยืดหนี้

ส่วนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) คนร. ต้องการแก้ไขแผนปฏิบัติการตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรให้มีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมและมีความรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะโครงสร้างค่าตอบแทนและวิธีการขายผ่านตัวแทนจำหน่าย จะต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ส่วนนโยบายที่จะลดพนักงานให้ทำในลักษณะของโครงการเกษียณก่อนอายุตามสมัครใจก่อน นอกจากนี้ ถ้าต้องมีการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนแผนดังกล่าว ให้เจรจาขยายเวลาชำระหนี้เดิม ทั้งระยะสั้นและยาวที่จะครบกำหนดในปี 2558 ภายในเดือนมีนาคม 2558 ก่อน พร้อมทั้งจำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็นในการถือครองประกอบกันด้วย

นอกจากนี้ คนร. ยังเห็นชอบให้ลดค่าใช้จ่ายส่วนที่ไม่รวมค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2558 อีก 10% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยห้ามกระทบคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัย รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานให้มีผู้บริหารด้านต่างๆ ที่เหมาะสม และสามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนการแก้ไขปัญหาขององค์กรได้

ทั้งนี้ คนร. ยังกำหนดกรอบเวลาพิเศษสำหรับรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้แก่ ร.ฟ.ท. และ ขสมก. ให้ดำเนินงานและรายงานผลตามมติข้างต้นให้ คนร. ทราบภายใน 1 เดือนด้วย

นอกจากการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจรายแห่งแล้ว คนร. ยังเห็นชอบแผนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจด้านอื่นๆ อีก ตัวอย่างเช่น เห็นชอบการปรับปรุงบัญชีโครงสร้างอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ, เห็นชอบแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 และแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วนปี 2558 หรือแอคชั่นแพลน, เห็นชอบแก้ไขข้อบังคับของ ร.ฟ.ท. ฉบับที่ 4.9 เพื่อรองรับการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพให้แก่อดีตผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งให้กระทรวงคมนาคมหาแนวทางจัดหารายได้และแหล่งเงินเสนอ ครม. ต่อไป เป็นต้น