ThaiPublica > เกาะกระแส > ธรรมศาสตร์ผุดคณะใหม่ “คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์” ผลิตครูรองรับความเปลี่ยนแปลง ฟื้นจิตวิญญาณครู-ลูกศิษย์ มากกว่าผู้ซื้อ-ผู้ขายบริการการศึกษา

ธรรมศาสตร์ผุดคณะใหม่ “คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์” ผลิตครูรองรับความเปลี่ยนแปลง ฟื้นจิตวิญญาณครู-ลูกศิษย์ มากกว่าผู้ซื้อ-ผู้ขายบริการการศึกษา

25 กุมภาพันธ์ 2015


เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงนโยบายและทิศทางการการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2558-2560 “ยุทธศาสตร์สร้างผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21” โดย ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมเปิดตัวคณะใหม่ โดย รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงนโยบายและทิศทางการการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2558-2560 ว่าจะดำเนินนโยบายใน 3 ด้านด้วยกัน คือ ด้านส่งเสริมงานวิจัย ความเป็นนานาชาติ และการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน โดยใช้กระบวนการการเรียนรู้แบบ Active Learning มาใช้ เพื่อให้นักศึกษาได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้

ด้าน รศ. พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวถึงแนวทางรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกว่า “โลกในศตวรรษที่ 21 เราเรียกว่าเป็น VUCA World (วูกาเวิล์ด) คำนี้เป็นคำที่ฮิตในการบริหารจัดการขององค์กร อย่างเช่นวันหนึ่งๆ มีการเปลี่ยนแปลงราคาทองที่เร็วและแรงไม่ว่าจะมองไปที่มิติใดๆ ซึ่ง VUCA นี้มาจากคำว่า Volatility (ความผันผวน) Uncertainty (ความไม่แน่นอน) Complexity (ความซับซ้อน) และ Ambiguity (ความคลุมเครือ) ความเปลี่ยนแปลงนั้นยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก โลกซับซ้อนมากขึ้น เราเข้าใจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจริงๆ หรือ? สิ่งที่เกิดขึ้น คือ คนไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ก็ชะลอการตัดสินใจ เมื่อเป็นเช่นนั้นองค์กรเดินต่อไปไม่ได้ หลายเรื่องหยุดชะงักไป เกิดการล่มสลายของผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างเช่น Kodak ใครไม่ปรับตัวก็ไปเสียสิ้น”

จากกระแสโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็ว ไม่แน่นอน คนที่จะอยู่ใน Vuca world ควรจะปรับตัวไว กล้าเสี่ยง เด็กธรรมศาสตร์จะต้องมีคุณสมบัติ 6 ประการ คือ ทันโลก มีสำนึกรับผิดชอบ สื่อสารสร้างสรรค์ มีสุนทรียะ เป็นผู้นำ ทำงานเป็นทีม และมีจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ซึ่งจะมีการคัดเลือกโดยใช้เกณฑ์คะแนนจาก 3 แบบทดสอบ ได้แก่ Tu-star, TCTC และ GenEd ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา นอกจากนี้ในการเรียนการสอนยังเน้นการมอบหมายงานให้น้อยลง สอบน้อยลง แต่วัดผลด้านอื่นแทนด้วย

“สิ่งที่เรากำลังจะทำไม่ได้เปลี่ยนแค่นักศึกษา แต่เปลี่ยนอาจารย์ของเราด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคณาจารย์ที่เป็นคณาจารย์ใหม่ อาจารย์ต้องเข้ามาก่อนเปิดเทอม เอาสิ่งที่ได้ระหว่างเทอมมาคุยกัน”

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี
รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี

ส่วนในปีการศึกษา 2559 ที่จะถึงนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำการเปิดรับนักศึกษาในคณะใหม่ ชื่อว่า “คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์” โดย รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีของคณะนี้ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการตั้งคณะว่า เมื่อถอยไปเมื่อสักประมาณ 1 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยากทำคณะศึกษาศาสตร์ แต่ในเมื่อมีคณะศึกษาศาสตร์อยู่ทั่วประเทศอยู่แล้ว ดูเหมือนว่าการผลิตครูมีอยู่มากมาย แต่การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ การปฏิรูปจะสำเร็จต้องปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จก่อน

เราพบว่าระบบการศึกษาของเราสร้างความทุกข์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองและคนที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนที่จะต้องลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ เป็นเหตุว่าทำไมจึงต้องมีคณะด้านศึกษาศาสตร์ขึ้นมา
โจทย์ที่ให้ไว้อยากจะทำให้เป็นการเรียนการสอนแบบ active & interactive learning มันมีความหมายและนัยหลายประการ กระบวนการเรียนรู้ของเด็กในยุคปัจจุบันและในอนาคตจะมีระบบกระบวนการเรียนรู้ไม่เหมือนยุคเรา เราอาจจะเติบโตมากับ shalk & talk แต่เด็กยุคนี้คลอดมากับไอแพด ไอโฟน เพราะฉะนั้นกระบวนการเรียนรู้คงไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นกระบวนการสื่อสารและถ่ายทอดเด็กในรุ่นใหม่นั้นคงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอย่างมาก หลายๆ คนใช้คำว่าการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งก็เป็นการเรียนรู้ที่ต้องถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน

จะเห็นว่าชื่อคณะเป็นชื่อคณะที่แปลก และคนจะจำไม่ค่อยได้ เราไม่ใช้คำว่าคณะศึกษาศาสตร์ เพราะว่ามันง่ายเกินไป เราใช้คำว่า “คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์” (Faculty of Lerning Sciences and Education) หมายความว่าการศึกษาไม่ใช่แค่ระบบของโรงเรียนเท่านั้น แต่เป็นการขยายพรมแดนการสร้างคน การพัฒนามนุษย์ตั้งแต่เกิดถึงตาย จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน กระบวนการเรียนรู้อยู่ในทุกระบบของสังคม ไม่ว่าจะเป็นระบบโรงเรียน สถาบันการศึกษา ทั้งในและนอกระบบ ในอุดมศึกษาในชุมชน การทำอะไรในยุคนี้อยากจะทำอะไรที่มากไปกว่าการผลิตครูแล้ว อยากจะผลิตกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ คำว่ากระบวนการเรียนรู้มันสะท้อนนัยใน 2-3 ประเด็น พบว่ากระบวนการเรียนรู้ต้องบูรณาการ ผสมผสาน ให้ได้

แต่ว่าเรายังมีความรู้สึกว่าการสร้างเหล่านี้มีข้อจำกัด ประเด็นที่สอง การจัดการศึกษาหลายคนพูดถึงปัญหาโครงสร้าง กระทั่งเรื่องของตัวนักเรียน เข้าใจว่าทุกปัญหามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน แต่สิ่งที่มันขาดหายไปแล้วอยากจะเติมเต็ม คือ ขาดความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ ทำอย่างไรจึงจะฟื้นจิตวิญญาณของความเป็นครูกับลูกศิษย์ (Connection) ตัวนี้เป็นองค์ความรู้อีกตัวหนึ่ง ต้องสร้าง connection ระหว่างครูกับลูกศิษย์ให้ได้ ถ้าเกิดครูมีหน้าที่เป็นผู้ขายบริการความรู้ ลูกศิษย์มีแค่ซื้อบริการความรู้เท่านั้น ความสัมพันธ์เช่นลูกค้าและผู้ขายของเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ และสร้างมนุษย์อย่างแท้จริง

ประเด็นที่สาม จะทำอย่างไรที่จะดำรง passion ของคนที่จะทำหน้าที่ครูและสร้างองค์ความรู้ได้อย่างยืนยาว เราพบว่าการสร้างการเติบโตทางด้านใน (Inner Growth) นัยนั้นมีความหมายอย่างมาก ตรงนี้จึงเป็นองค์ประกอบของเราในการทำคณะ และสร้างหลักสูตรในอนาคต เรามีเป้าหมายจะเป็นต้นแบบของ active learning ร่วมกับการขับเคลื่อนการปฏิรูป ทำงานร่วมกับภาคีต่างๆ ในเบื้องต้นขณะนี้เราได้คัดเลือกอาจารย์ล็อตแรก 10 คน

อนึ่ง คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ประกอบไปด้วยสาขาวิชาต่างๆ อาทิ ประสาทวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จิตวิทยา การศึกษา การเมืองการปกครอง การบริหาร นิเวศน์วิทยา การละคร ภาษาศาสตร์ และเทคโนโลยี
39,568 people reached