ThaiPublica > เกาะกระแส > ไปดูคนของหลวง “ปิดทองหลังพระ” สร้างผลผลิตน่าทึ่ง จากฟาร์มบนดอยสูง สู่เมนูอาหารหรู “ปูขน-ไข่ปลาคาเวียร์”

ไปดูคนของหลวง “ปิดทองหลังพระ” สร้างผลผลิตน่าทึ่ง จากฟาร์มบนดอยสูง สู่เมนูอาหารหรู “ปูขน-ไข่ปลาคาเวียร์”

4 ธันวาคม 2014


“การทำงานด้วยใจรัก ต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ แม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็น ก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้นจะเป็นประจักษ์พยานที่มั่นคง ที่พูดเช่นนี้ก็เหมือนกับสอนให้ปิดทองหลังพระ การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นที่งามบริบูรณ์ไม่ได้…” พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2506

ความข้อนี้เป็นน้ำทิพย์หยดในใจของคนทำงานบนดอยสูง เป็นพลังให้ผลักดันพื้นที่แห้งแล้งพลิกฟื้นเป็นดินดี น้ำชุ่ม กระจายไปถ้วนทั่ว ทั้งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งโครงการเกี่ยวกับป่า-เกี่ยวกับดิน-เกี่ยวกับน้ำ โครงการด้านวิศวกรรม และโครงการแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ และโครงการเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา “มูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวทางพระราชดำริ” นำคณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมโครงการสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

ผลิตผลที่คนทั้งโลกได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นผักสดในร้านอาหารแฟรนไชส์, กล้วยไม้ในโรงแรมหรู 5 ดาวกลางกรุงเทพฯ, ไข่ปลาคาเวียร์รสเลิศ ที่ได้จากปลาสเตอร์เจียนพันธุ์ไซบีเรีย, ปลาเรนโบว์เทราต์เนื้อนุ่มจากเยอรมนี, ปูขนจากประเทศจีน ล้วนเป็นผลผลิตจากแรงกาย แรงใจ ในการ “ปิดทองหลังพระ” จนออกมาเป็นผลิตผลที่งดงามบริบูรณ์

นับตั้งแต่โครงการ “สวนสองแสน” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จเยี่ยมหมู่บ้านชาวเขา และได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 2 แสนบาท ซื้อสวนผลไม้ พัฒนาพันธุ์ ช่วยชาวเขา ให้พลิกแผ่นดินที่เคยปลูกฝิ่นมาปลูกลูกพลับ ได้รสหอมหวานฉ่ำ ตั้งอยู่ในสถานีวิจัยดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นในปี 2512 จนปัจจุบันได้รับการพัฒนาขยายผลเป็นโครงการหลวงเกือบทั่วทุกภูมิภาค

เฉพาะโครงการสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นสถานีวิจัย 1 ใน 4 ของมูลนิธิโครงการหลวง ที่เป็นต้นแบบการสร้างอาชีพ กระจายรายได้สู่ชาวพื้นที่สูง ผ่านการร่วมคิด ชวนทำ ให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายอนุพันธ์ สุรินทร์รังษี
นายอนุพันธ์ สุรินทร์รังษี

คนปิดทองหลังพระบนสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ “อนุพันธ์ สุรินทร์รังษี” เล่าเบื้องหลังกอกล้วยไม้สวย ผลไม้พันธุ์แปลก รสชาติดี และผักสดๆ ปลอดสารพิษ ที่ส่งกระจายถึงคนทั่วทั้งประเทศ ว่ามาจากการพัฒนาพันธุ์บนพื้นที่ของสถานีเกษตรหลวง ซึ่งเป็นสถานีวิจัยแห่งใหญ่ที่รวบรวมพันธุ์ดอกไม้เมืองหนาว ไม้ผลเมืองหนาว พืชผัก หลากพันธุ์

กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าดั่งทอง สถานีจะทำการเพาะเลี้ยงต้นกล้าของพืชพันธุ์ต่างๆ ไว้เพื่อขายให้กับชาวบ้านในพื้นที่นำไปเพาะปลูกต่อ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง และปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ที่เข้ามาซื้อ โดยเฉพาะผักเมืองหนาว เช่น เซเลอรี บร็อกโคลี พริกหวาน หน่อไม้ฝรั่ง รวมทั้งผักไฮโดรโปรนิกส์ หรือผักสลัด ที่มีร้านอาหารแฟรนไชส์รายใหญ่ระดับโลกจองผลผลิตข้ามปี

ราคาพื้นบ้านร้านถิ่น ของผักระดับภัตตาคารหรู เช่น ต้นอ่อนเซเลอรีต้นสูง 2-3 นิ้ว ราคาต้นละ 50 สตางค์ เมื่อชาวเขานำไปเพาะปลูกใช้เวลา 2-3 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต นำกลับมาขายคืนให้โครงการหลวงได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 30 บาท เมื่อคนปิดทองหลังพระเล่าถึงตัวเลขนี้ ทำให้คนในเมืองที่เล่นหุ้นกำไรไตรมาสละ 10-20% เร่งดีดลูกคิด คำนวณผลตอบแทน ที่มีคุณค่าแตกต่างอย่างฟ้ากับดิน

แม้ว่าในแต่ละปี โครงการหลวงมีรายได้จากการขายต้นอ่อนของผัก-ยอดผัก เพียงปีละ 22 ล้านบาท แต่รายได้ส่วนใหญ่อยู่ในมือชาวบ้าน เต็มต้น เต็มกอ

คนปิดทองหลังพระคนเดิม เล่าเรื่องและชวนชมไม้ดอกเมืองหนาว พร้อมทั้งเล่ากระบวนการสร้างดอกไม้ให้งามดั่งทอง เช่น กุหลาบ หน้าวัว บีโกเนีย และกล้วยไม้พันธุ์ต่างๆ ที่ทางสถานีวิจัยทำการเพาะเลี้ยงและให้ชาวบ้านซื้อไปเลี้ยงต่อ โดยเฉพาะพันธุ์กล้วยไม้ที่ออกดอกได้ดีในพื้นที่ด้านล่างที่มีอากาศไม่เย็นจนเกินไป ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เมื่อเลี้ยงจนโตและออกดอกสวยงามแล้วก็นำมาขายให้โครงการ ส่วนหนึ่งโครงการจัดส่งตรงถึงสวนสวย บางฤดูกาล บางดอก บางพันธุ์ อาจจะชูช่อ บานอยู่หน้าวังหลวงในเมืองกรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่งส่งถึงเมืองดอกไม้ในจังหวัดเชียงใหม่

ทั้งแปลงผักสด-เรือนกล้วยไม้งาม โครงการหลวงดอยอินทนนท์ จะเป็นตัวช่วยอยู่เบื้องหลัง ทั้งเรื่องพัฒนาพันธุ์ จัดสร้างโรงเรือน และรับซื้อผลผลิตในราคาเป็นธรรม

ความครบวงจร งดงาม ราวกับปิดทองทั่วทั้งองค์พระ ยังเกิดขึ้นในโครงการหลวงดอยอินทนนท์ เพราะนอกจากพันธุ์พืช พันธุ์ผัก พรรณไม้งาม แล้วยังมีคนปิดทองทำงานปศุสัตว์ผ่านโครงการ “ทำประมงบนพื้นที่สูง” ซึ่งเป็นฟาร์มเปิดขนาดย่อม โดยวิจัยปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำคุณภาพสูง เช่น “ปลาเรนโบว์เทราต์” ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่อาศัยอยู่ในน้ำเย็นมีอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศา ที่นำพันธุ์มาจากประเทศเยอรมนีเมื่อปี 2541

ปลาเรนโบว์เทราต์
ปลาเรนโบว์เทราต์

ด้วยความอุตสาหะของคนปิดทองหลังพระในโครงการหลวง อย่าง “สานนท์ น้อยชื่น” นักวิจัยด้านประมงบนพื้นที่สูง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่ ทำให้เวลานี้สามารถขยายพันธุ์ปลา และได้รับความนิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย ขายจากฟาร์มหน้าโครงการได้กิโลกรัมละ 300 บาท

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาพันธุ์ “ปลาสเตอร์เจียน พันธุ์ไซบีเรีย” ที่ตอนนี้สามารถผลิตไข่คาเวียร์ออกมาในบรรจุภัณฑ์โครงการหลวง สนนราคา 4,000 บาทต่อกระปุกขนาด 100 กรัม ทำให้คนกรุงเทพฯ และคนเมืองเชียงใหม่ที่มีกำลังซื้อสามารถสั่งตรงจากโครงการหลวง แล้วรอรับไข่ปลาคาเวียร์ที่หน้าบ้านได้เลย (ส่งขายในโครงการหลวงที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

ไข่คาเวียร์ มาจาก “ปลาสเตอร์เจียน พันธุ์ไซบีเรีย” บรรจุภัณฑ์โครงการหลวง ราคา 4,000 บาทต่อกระปุกขนาด 100 กรัม
ไข่คาเวียร์ มาจาก “ปลาสเตอร์เจียน พันธุ์ไซบีเรีย” บรรจุภัณฑ์โครงการหลวง ราคา 4,000 บาทต่อกระปุกขนาด 100 กรัม

อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ทอง ที่คนปิดทองภูมิใจนำเสนอ คือ “ปูขน” ที่มีการพัฒนาพันธุ์ปูขนจากประเทศจีน เลี้ยงดูแบบประคบประหงมบนภูสูงแต่ใส่สิ่งแวดล้อมรอบปูราวกับอยู่ชายทะเล คนปิดทองเล่าว่า วัสดุบางอย่างขนตรงมาจากจังหวัดเพชรบุรีเพื่อให้ “ปูขน” สมบูรณ์ เนื้อนุ่ม รสกลมกล่อม ไม่จืดชืดเพราะอยู่เย็นบนยอดภู ทำให้สนนราคา “ปูขน” ของโครงการหลวง อยู่บนโต๊ะอาหารหรู ราคาหน้าฟาร์มตัวละ 500 บาท

ทั้งปลา-ปู-ไข่ปลาคาเวียร์ ทำให้การประมงที่สูงทำเงินสูงตามไปด้วยในระดับปีละ ประมาณ 10 ล้านบาท ชาวเขาบางครอบครัวอยู่เลี้ยงปู เลี้ยงปลา จับปลาในโครงการหลวงขาย มานานกว่า 10 ปี บางบ่อเลี้ยงเพาะพันธุ์ปลามาตั้งแต่ยุคปี 2516 รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรบางคนยังเป็นอธิบดีกรมประมง

ผลิตภัณฑ์ระดับโลกบนโต๊ะอาหารหรู จากโครงการหลวงบนดอยสูง โดยคนปิดทองหลังพระร่วมเลี้ยง ร่วมปลูก ร่วมพัฒนาพันธุ์ จะส่งถึงมือผู้บริโภคไม่ได้ หากไม่มีช่องทางนำส่ง และขาดการร่วมพัฒนาขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ภายใต้การบริหารจัดการแบบมืออาชีพ ด้วยงบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐ

“มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” เป็นมือไม้และแขนขาเบื้องหลังให้เกิดความสำเร็จ สมบูรณ์ ของผลผลิตที่งดงาม มีคุณค่า และนับจากนี้อีก 4 ปี (พ.ศ.2557-2560) ภารกิจของมูลนิธิคือต้องร่วมสานตาข่ายความสำเร็จให้โครงการ “บูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ผ่านความตั้งใจของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีทั้งหมด 18,594 หมู่บ้าน ภายใต้งบประมาณ 8,700 ล้านบาท ซึ่งมีการอนุมัติไปแล้วในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในภาคการเกษตรและชนบทมีพื้นที่เป้าหมาย 18,594 หมู่บ้าน ใน 4 กลุ่ม คือ พื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่ง หมู่บ้านนำร่องของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ หมู่บ้านนำร่องในโครงการบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและโครงการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแบบ ABC (Area-Based Collaborative Research) หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของกรมการพัฒนาชุมชน และหมู่บ้านที่รับประโยชน์จากโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

อนึ่ง มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2553 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริให้เป็นแนวทางหลักของชาติ ต่อมามูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้ร่วมกับราชการต่างๆ สรุปแนวทางแบบปิดทองหลังพระฯ และพัฒนาขึ้นเป็นแนวทางการปฏิบัติงานรูปแบบใหม่ เรียกว่าแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้บรรจุแนวทางนี้ไว้ในแผนบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อปี 2554 และกระทรวงมหาดไทยได้นำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติของจังหวัดทั่วประเทศในปัจจุบัน