![](https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2021/09/IMG_6385นายการัณย์-ศุภกิจวิเลขการ-620x413.jpg)
ในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายในการเปิดประเทศวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพื่อดูแลภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้คนวัยทำงานในภาคการท่องเที่ยวตกงานไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ไม่นับภาคบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านอาหาร แท็กซี่ ฯลฯ ที่ต้องปิดตัวเอง จนวัยทำงานหลายล้านคนต้องกลับบ้านต่างจังหวัด
ขณะที่มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้เริ่มโครงการต้นแบบเมื่อเดือนมีนาคม 2563 หลังโควิดระบาดรอบแรก เพื่อรับคนวัยทำงานกลุ่มนี้ที่ต้องย้ายกลับบ้านเพราะไม่มีงานทำ เป็นโครงการที่ให้คนกลุ่มนี้มีรายได้ในระยะเริ่มต้น โดยว่าจ้างกลุ่มช่างเทคนิคที่ต้องออกจากโรงงาน หรือโรงแรม ที่มีทักษะ ความชำนาญ รวม 960 คน มาซ่อมแซมแหล่งน้ำเดิมในพื้นที่ที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง หรือมีความเสียหาย 650 โครงการ ช่วยให้คนในพื้นที่มีน้ำมากพอที่จะทำการเกษตรที่ให้ได้ผลผลิตมากขึ้น สามารถปลูกพืชเสริมหลังการทำนา ทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย ที่มีมูลค่าสูงขึ้น
นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า ผู้ที่ได้รับการจ้างงาน 960 คนต้องการจะอยู่ในพื้นที่ภูมิลำเนา ไม่กลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ ถึงร้อยละ 92 ในจำนวนนี้ร้อยละ 58 จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพราะการที่ได้มาทำงานในโครงการแหล่งน้ำกับทางมูลนิธิฯ คนกลุ่มนี้จึงมีความเข้าใจกระบวนการการทำงาน มีความรู้ในการบริหารจัดการน้ำชุมชน ทำให้อยากอยู่ในพื้นที่ต่อ
นอกจากนี้ การซ่อมแซมแหล่งน้ำเดิมทำให้มีปริมาณน้ำรวม 122 ลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะทำให้ผลผลิตการเกษตรในหน้าแล้งเพิ่มขึ้น 1,400 ล้านบาท รวมทั้งมีประโยชน์มิติด้านสังคมด้วย ทำให้คนวัยทำงานกลุ่มนี้ได้กลับบ้าน ได้อยู่กับครอบครัว
ดร.วิรไท สันติประภพ กรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปของโครงการนี้ คือการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต การบริหารจัดการ เพราะเทคโนโลยีมีความสำคัญมากขึ้น การจะยกระดับผลิตภาพ ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ ที่ผ่านมางานในโครงการปิดทองหลังพระฯ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระดับหนึ่ง เช่น พื้นที่ในป่า ที่ลาดชัน มีการใช้จีพีเอสในการกำหนดจุดให้ชัดเจนเพื่อดูความลาดชันของพื้นที่ที่จะทำระบบน้ำ
แต่ในระยะต่อไป การใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรจะต้องมีบทบาทเพิ่มขึ้น เพราะเป็นเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับผลิตภาพ โครงการฯ จึงมีแผนจะเน้นเรื่องการนำเทคโนโลยีไปให้ชาวบ้าน ให้คนในพื้นที่การทำงานของโครงการ
“โครงการปิดทองหลังพระฯ เห็นความสำคัญเรื่องน้ำมาโดยต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีการใช้เทคโนโลยีในระดับหนึ่งเข้ามาบริหารจัดการน้ำ แต่ช่วงต่อไปเรื่องที่สำคัญมาก คือ การใช้เทคโนโลยีมายกระดับผลิตภาพของภาคการเกษตรและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ให้กับเกษตรกร รวมทั้งเป็นโอกาสที่มีคนรุ่นใหม่ เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่กลับบ้าน ฉะนั้น ทิศทางจากนี้ไปคือการให้ชาวบ้านทำเกษตรมูลค่าสูง เกษตรประณีต ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะต้องใช้เทคโนโลยี ทั้งเทคโนโลยีด้านการเกษตร และเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ที่จะมาเสริม เพราะปัญหาของไทยคือผลผลิตต่อไร่ต่ำมากเทียบกับหลายประเทศ มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยด้านการเกษตรค่อนข้างต่ำ”
“ทางโครงการฯ จึงต้องการเทคโนโลยีอีกมาก และมีความหลากหลาย ตามความเหมาะสมกับพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ โครงการปิดทองหลังพระฯ ยินดีรับการสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีการเกษตรให้กับชาวบ้าน บริษัทใด องค์กร หรือมหาวิทยาลัยใดก็ตามที่มีเทคโนโลยีที่คิดว่าเป็นประโยชน์ และต้องการมาช่วยกันทดลองทำโครงการต้นแบบ ให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน ทางโครงการปิดทองฯ ยินดีทำความร่วมมือ” ดร.วิรไทกล่าว
![](https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2021/09/IMG_6387วิรไท-สันติประภพ-620x412.jpg)
ดร.วิรไทกล่าวต่อว่า ตัวอย่างเทคโนโลยีที่ต้องการนำมาใช้ในโครงการฯ เช่น เครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อช่วยทุ่นแรงเกษตรกรส่วนใหญ่ที่เป็นผู้สูงอายุ ต่อมาคือเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับเกษตรประณีต เกษตรแม่นยำ เพื่อให้ได้พืชเกษตรและผลตอบแทนที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น การปลูกมะเขือเทศ ก็มีเทคโนโลยีในการคำนวณปริมาณน้ำ และอื่นๆเพื่อให้ได้มะเขือเทศที่มีคุณภาพดีที่สุด
เทคโนโลยีอีกตัวที่สำคัญ ช่วยให้คนอยู่ต่างจังหวัดได้ คือการปลูกพืชหลังการทำนา เช่น ปลูกผัก เพื่อเป็นรายได้เสริม โดยให้เป็นเกษตรอินทรีย์มากขึ้น รวมทั้งเทคโนโลยีการพัฒนาพันธุ์พืช เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่ดี มีผลิตภาพ รวมไปถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ด้านการตลาด เป็นต้น เพราะมีกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มชุมชน ที่ค้าขายออนไลน์มากขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่เป็นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้กลุ่มบริหารจัดการได้ดีขึ้น เป็นต้น และยังมีเรื่องแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีมาใช้ เพราะเกษตรกรอาจไม่มีเงินลงทุน ฉะนั้น จึงมีทั้งการคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม และการทำให้เกษตรกรมีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเหล่านี้ได้ด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบัน โครงการปิดทองหลังพระฯ มีร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลาย เพื่อเอาผู้รู้ด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วย รวมทั้งการใช้ Internet of Things (IoT คือ การที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ โดยร่วมมือกับ กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ในการนำเทคโนโลยี 5จี มาช่วยด้านการเกษตร เช่น การใช้ระบบ 5จีมาใช้ควบคุมระบบเซ็นเซอร์เพื่อทำเกษตรประณีต เกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มมาก
![](https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2021/09/IMG_6389ปิดทองหลังพระ-กสทช.-620x465.jpg)
นายการัณย์กล่าวเสริมว่า มีการร่วมมือกับ กสทช. นำเทคโนโลยี 5จี มาใช้ทำระบบน้ำอัจฉริยะในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุดรธานี เพื่อดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายด้วยระบบ IoT มากระจายน้ำลงแปลงประมาณ 200 กว่าไร่ มีประชาชนที่ได้ประโยชน์ประมาณ 50 ครัวเรือน มีการติดตั้งหัวจ่ายน้ำอัตโนมัติตามที่ดินแต่ละแปลง โดยที่เกษตรกรไม่ต้องไปเปิดปิดหัวจ่ายตามแปลงต่างๆ โดยมีการคำนวณปริมาณน้ำให้เหมาะสมกับชนิดพืชที่ปลูก ไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือพืชเศรษฐกิจอื่นๆ มีเซ็นเซอร์คอยตรวจจับหากเกิดท่อรั่ว ช่วยลดความสูญเสียของน้ำ แต่เนื่องจากต้องมีการลงทุน ทำให้ต้องปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงเพื่อให้คุ้มกับการลงทุน
นอกจากนี้ ยังมีการใช้โดรนเพื่อทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศความละเอียดสูง ในจังหวัดอุทัยธานี เพื่อวางแผนการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพราะพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีมีการปลูกข้าวโพดกันมาก โครงการปิดทองหลังพระฯ จึงจะมีการปรับเปลี่ยนให้มาปลูกพืชผสมผสานตามทฤษฎีใหม่ และปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ไม้ผล ต้นไผ่ โดยแผนที่ที่ได้ทำให้เห็นภาพรวมพื้นที่ 20,000 ไร่ที่โครงการอนุมัติ ว่า ระบบน้ำอยู่บริเวณไหน เส้นทางน้ำเป็นอย่างไร พื้นที่ใดเหมาะกับการปลูกพืชที่กำหนดไว้ และยังมีการใช้ระบบเซ็นเซอร์ ที่เป็นเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยบูรพา ในการตรวจจับการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูก ตรวจจับโรคพืชโรคแมลง มีระบบบลูสกาย ที่คำนวณเรื่องดินฟ้าอากาศเพื่อเตือนเจ้าหน้าที่โครงการในการดูแลพืชแต่ละชนิด
![](https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2021/09/IMG_6392ปิดทองหลังพระ-คูโบต้า-620x308.jpg)
อีกโครงการคือ การร่วมมือกับบริษัท คูโบต้า ที่มีเทคโนโลยีมาใช้ปลูกพืชถึง 9 โมเดล ตั้งแต่ซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการฟาร์ม การบริหารเครื่องจักรขนาดเล็ก ที่เข้าไปทำงานตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว การใช้โดรน การปลูกผักมูลค่าสูงในโรงเรือน โครงการมีแผนจะร่วมกับคูโบต้านำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในพื้นที่โครงการ โดยก่อนหน้านี้ โครงการปิดทองหลังพระฯ ได้ร่วมกับคูโบต้าทำโครงการปลูกข้าวเพื่อทำเมล็ดพันธุ์ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เป็นการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรขนาดเล็กที่ทำตั้งแต่หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว การดูแลแปลงข้าว การเก็บเกี่ยวให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ สูญเสียน้อย เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้จะขายให้หน่วยงานรัฐที่ได้ราคาดีกว่าการขายข้าวปกติ เพราะได้เมล็ดพันธุ์ข้าวตามมาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิรไทกล่าวว่า ที่ผ่านมา โครงการปิดทองหลังพระฯ ได้ทำโครงการต้นแบบ เพื่อบรรเทาปัญหาว่างงานจาการถูกปลดออกจากงาน จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้คนวัยทำงานที่กลับบ้านเกิดสามารถอยู่ได้ในชนบท สามารถฝากชีวิตที่บ้านเกิดได้ และยังช่วยแก้ปัญหาชุมชนชนบทที่อ่อนแอมาโดยต่อเนื่องด้วย การเอาคนวัยทำงานมาอยู่ในชนบทได้เป็นโอกาสหลายอย่าง ทั้งการเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตร เพราะที่ผ่านมาแรงงานภาคเกษตรเป็นแรงงานสูงอายุหมด ไม่สามารถใช้เทคโนโลยี หรือเครื่องมือใหม่ๆ
“การมีคนวัยทำงานที่กลับจากกรุงเทพฯ กลับจากเมืองใหญ่ จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะคนกลุ่มนี้เคยทำงานในโรงงาน ในเมืองใหญ่ๆ เคยใช้เทคโนโลยี มีความคุ้นเคย รู้เรื่องการประสานงาน ใช้ไลน์เป็น หาข้อมูลเป็น จึงเป็นโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ที่ไม่ได้เป็นผลด้านเศรษฐกิจ แต่เป็นผลในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้วย เพราะถ้าใครไปต่างจังหวัดจะเห็นคุณแม่วัยใส ท้องตั้งแต่อายุ 11-12 ปี มีเด็กเล็กๆอยู่กับผู้ใหญ่ โตมาหน่อย 7-8 ขวบก็ยังอ่านหนังสือไม่ได้ เพราะไม่มีใครช่วยสอนหนังสือ ไม่มีใครช่วยดูแล เกิดปัญหาติดยาเสพติดเพิ่มขึ้นมาก
มุมมองของกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เห็นว่าเป็นโอกาสในการบรรเทาผลกระทบในระยะสั้นสำหรับคนที่ตกงาน ไปพร้อมๆ กับสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สร้างอาชีพให้คนเหล่านี้อยู่ได้ในชนบทต่อเนื่องไปในระยะยาวและในโครงการต่างๆ จะเริ่มจากน้ำ เพราะน้ำเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต หากคนกลุ่มนี้ต้องการทำอาชีพเกี่ยวกับเกษตรแต่ไม่มีน้ำก็ไปต่อไม่ได้ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 รับสั่งไว้ตลอดว่า ทุกอย่างต้องเริ่มที่มีน้ำก่อน และพื้นที่โครงการฯ จะมีแหล่งน้ำเดิมอยู่ แต่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่ได้รับการซ่อมแซม และหลายตัวอย่างลงทุนไม่มาก เฉลี่ยแต่ละโครงการประมาณ 4 แสนบาทเท่านั้น”
นายการัณย์กล่าวว่า นอกจากคนวัยทำงานที่ตกงานจากกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่แล้ว ยังมีคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ แล้วต้องกลับไทยอีกจำนวนมาก เห็นได้จากโครงการทุเรียนคุณภาพ ใน 3 จังหวัดภาคใต้ เมื่อโควิดระบาด ทำให้ร้านอาหารในมาเลเซียต้องปิดตัวลง คนไทยที่ไปทำงานที่มาเลเซียต้องกลับบ้านเกิด กลับมาช่วยพ่อแม่ที่เป็นเจ้าของสวนปลูกทุเรียน จนได้ทุเรียนเกรดคุณภาพส่งออก ส่งไปจีนและตามห้างต่างๆ ในประเทศ ช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้และครอบครัวมีงานทำ มีรายได้เพิ่ม
ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือนมีนาคม 2563 โครงการนี้สามารถจ้างงานกลุ่มคนตกงานจากกรุงเทพฯ และผู้ที่จบการศึกษาแต่ยังไม่มีงานทำ ได้ 960 คน ใช้งบ 37.7 ล้านบาท เป็นการจ้างงานในพื้นที่บ้านเกิด เพื่อดูแลแหล่งน้ำที่มีความจุต่ำกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ส่วนกลางถ่ายโอนให้กับท้องถิ่น แต่เนื่องจากท้องถิ่นไม่มีคนที่มีความรู้ ไม่มีทักษะหรือความชำนาญในการซ่อมแซม ดูแลแหล่งน้ำ ขณะที่งบประมาณที่ได้ถูกนำไปใช้ในการสร้างแหล่งน้ำใหม่ แทนการซ่อมแหล่งน้ำเดิมที่เร็วกว่า ถูกกว่า ทำให้แหล่งน้ำเดิมถูกทิ้งร้างเสียหาย ฝายชำรุด หน้าฝายสันฝายเสียหาย ประตูน้ำเสียหาย รวมทั้งไม่มีระบบส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร โดยโครงการได้เข้าไปซ่อมแหล่งน้ำเหล่านี้ 648 โครงการใน 9 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ต้นแบบ มีครัวเรือนได้ประโยชน์ 43,549 ครัวเรือน รายได้เพิ่มเป็น 217 ล้านบาทในปี 2563 และเพิ่มเป็น 1,213 ล้านบาทในปี 2564 รวม 2 ปี 1,430 ล้านบาท บางพื้นที่เกษตรกรปลูกผักปลอดภัยในโรงเรือนและพืชตระกูลถั่ว ทำให้ฤดูกาลที่ผ่านมามีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 77,000 บาทต่อไร่ รวมทั้งยังมีโครงการที่จะดูแลครัวเรือนเหล่านี้ต่อเพื่อให้คนทำงานที่กลับบ้านได้มีชีวิตที่ยั่งยืน เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะจบเมื่อไหร่