ความพยายามในการแก้ไขปัญการทุจริตในวงการราชการ-การเมือง มีมาอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ทศวรรษ
ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนองค์กรกำกับ จากส่วนราชการเป็นองค์กรอิสระ
แต่การทุจริตก็ไม่ได้มีอัตราลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตรงกันข้ามกลับมีวงเงินการทุจริตที่สูงขึ้น มีรูปแบบการทุจริตที่หลากหลาย แนบเนียน ยากที่จะปราบปรามมากขึ้น
“ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร” คิดค้นเครื่องมือ และลงมือทำสำรวจ ออกแบบการวิจัย หลายสมัย หลายประเด็น บางส่วนมีดัชนีที่ดีขึ้น แต่ยังมียอดปิรามิด ที่กฏหมายเอื้อมไปไม่ถึง
ข้อเสนอตีเหล็กตอนร้อน ในวาระที่มีรัฐบาลมาจากอำนาจพิเศษ ควรออกกฏเหล็ก ใช้กฏหมายที่เป็นยาแรง มีฐานความผิด ที่ครอบคลุมถึงข้าราชการระดับสูงซึ่งร่ำรวยผิดปกติ แบบไม่มีที่มา-ที่ไปของทรัพย์สิน เหมือนกับกฏหมายการปราบคอร์รัปชันของเขตปกครองพิเศษเกาะฮ่องกง ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ในปี 2520
“กฎหมายแรงๆ ขนาดนี้ก็คงจะต้องมีกระบวนการ อาจจะต้องมีการศึกษาวิจัยให้ได้ข้อมูลที่ลึกซึ้ง แล้วดูว่า หากจะมาปรับใช้ในเมืองไทยจะปรับอย่างไร เพราะว่าระบบกฎหมายวัฒนธรรมวิธีคิดของเราก็ไม่เหมือนกับที่ฮ่องกง แล้วมันก็มีความจำเป็นที่กฎหมายจะใช้ได้ผลนั้นต้องผ่านกระบวนการ ที่ให้ประชนได้รับรู้ แล้วก็ คือ มีการปรึษาหารือด้วยกันด้วยว่าเห็นด้วยไหม เพื่อที่จะให้มันออกมาประสบความสำเร็จ”
และไม่เพียงตำรวจเท่านั้นที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย แต่ครอบคลุมถึง ข้าราชการพลเรือนด้วย
ที่มาของมาตรการ “ยาแรง” ที่ใช้เค้าโครงของ “ตำรวจฮ่องกง” จากคำบอกเล่าของ “ดร.ผาสุก” คือ “มาตรการป้องกันการเรียกรับสินบนในระบบราชการของไทยนั้นไม่เพียงพอ ในกรณีของตำรวจ ทำให้คิดถึง สิ่งที่เกิดขึ้นที่ฮ่องกง เมื่อทศวรรษ 2510-2520 ซึ่งเป็นลักษณะของการส่งส่วยคล้ายๆ กับของบ้านเรา”
“กรณีที่ฮ่องกงคือ ตำรวจระดับล่าง เก็บส่วยจากสิ่งผิดกฎหมาย แม้กระทั่งหาบเร่แผงลอยบนท้องถนน โสเภณี บาร์เปิดนอกเวลา ธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ คือ มีการเก็บส่วยแล้วส่งไปถึงอธิบดีตำรวจของฮ่องกง ก็เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน อธิบดีก็ร่ำรวยมหาศาล นำเงินไปฝากไว้นอกประเทศ เรื่องแดงขึ้นมาเพราะว่า หลังจากที่ประเทศจีนแผนดินใหญ่เริ่มมีคนหนีออกมาเพื่อมาหาอาชีพนอกประเทศจีนก็มาที่ฮ่องกงกันมาก ก็มาเป็นพวกหาบเร่แผงลอย มาถูกตำรวจเก็บเงิน แต่ว่าคนที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่เป็นพวกที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูงกว่าคนทั่วๆ ไป ก็ไม่ยอม แล้วก็ฐานะคงไม่ดีด้วยเขาก็ไม่ยอม ก็ออกมาร้องเรียนกันบนท้องถนน แล้วก็เป็นเรื่องเป็นราวมาก จนรัฐบาลอังกฤษซึ่งยังปกครองฮ่องกงอยู่ในขณะนั้นต้องส่งทหารลงมาช่วยดูแลการจลาจลที่เกิดขึ้น”
“รัฐบาลอังกฤษได้พิจารณาเรื่องที่จะปราบการทุจริต ประกอบกับได้ระแคะระคายเกี่ยวกับเรื่องการส่งส่วย และได้ใช้เวลา 2 ปี สืบสวน ว่า อธิบดีตำรวจเก็บเงินไว้ที่ไหน จนรู้ก็เข้าจับกุม แต่อธิบดีก็มีพรรคพวกเยอะ จึงหนีออกไปก่อนทำให้รอดพ้นจากการถูกจับ”
“แต่ในจุดนั้น รัฐบาลมีข้อมูลชัดเจนแล้วว่าระบบส่วยเป็นอย่างไรแล้วใครเกี่ยวโยง ก็จะเอาผิดกับตำรวจชั้นผู้น้อย คือในขณะที่ยังจับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไม่ได้ ก็จะจับตำรวจชั้นผู้น้อย ตำรวจชั้นผู้น้อยจึงเดินขบวนประท้วงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นพวกตนถูกสั่งให้เก็บส่วย และส่งไปให้อธิบดี แต่ทำไมจึงมาเอาผิดเฉพาะพวกตน”
“ในท้ายที่สุดรัฐบาลอังกฤษต้องออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมตำรวจทุกระดับ โดยให้คำมั่นสัญญาว่าถ้าหากทำผิด ต่อไปนี้จะต้องโดนยาแรง แล้วยาแรงอันหนึ่งนอกจากการก่อตั้งหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชัน ที่มีอำนาจมาก ยังมียาอีกอันหนึ่งคือ พระราชบัญญัติข้าราชการร่ำรวยผิดปกติ”
หลักการของพระราชบัญญัติปราบโกงในวงราชการของฮ่องกง คือ “ให้หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันสามารถที่จะเรียกข้าราชการที่มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ จากการใช้ชีวิต หรือการแสดงวิถีชีวิตที่ไม่สามารถจะอธิบายได้ด้วยเงินเดือน เงินออม และเงินเกษียณ ที่ได้เก็บสะสมมา ถ้าอธิบายไม่ได้ว่าได้เงิน รายได้ และทรัพย์สินเหล่านี้มาด้วยวิธีการอย่างไร กฎหมายนี้ให้ลงโทษยึดทรัพย์สินที่อธิบายไม่ได้ แล้วก็มีความผิดจำคุกสูงสุด 10 ปี”
“กฎหมายนี้ใช้ได้กับข้าราชการปัจจุบัน และผู้ที่เคยเป็นข้าราชการในอดีต แล้วจะอยู่ที่ไหนก็ได้ คือไม่จำเป็นจะต้องอยู่ที่ฮ่องกง สมมุติเป็นอดีตข้าราชการแล้วเคยมีพฤติกรรมเหล่านี้ แต่ย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว หรืออาจจะเกี่ยวโยงกับการกระทำความผิดของข้าราชการคนอื่น ก็จะยังอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.นี้”
“ที่น่าสนใจคือ กฎหมายนี้ไม่ได้บอกว่า ข้าราชการทุกคนจะต้องแจกแจงทรัพย์สินเมื่อเข้ารับตำแหน่ง แต่ถ้าเป็นข้าราชการปัจจุบัน หรือเคยเป็นอดีตข้าราชการของฮ่องกงจะอยู่ที่ไหนก็ตาม หน่วยงานต่อค้านคอร์รัปชันสามารถเรียกให้มาอธิบายว่า วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เกินระดับคุณจะหามาได้จากเงินเดือนของคุณหรือจากทรัพย์สินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้มาอธิบาย หากอธิบายไม่ได้ก็จะมีความผิด และก็จะถูกยึดทรัพย์สินในส่วนที่อธิบายไม่ได้ รวมทั้งมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี”
“ในปี 2536 ก็มีผู้ที่ท้าทายกฎหมายนี้ โดยฟ้องศาลว่า กฎหมายนี้ขัดกับ “หลักสิทธิมนุษยชน” ศาลชั้นต้น ตัดสินว่าคดีมีมูล ศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสินของศาลชั้นต้น โดย ผู้พิพากษาอธิบายเหตุผลที่กลับคำตัดสินว่า เป็นเพราะว่าการคอร์รัปชัน หรือการทุจริตประพฤติมิชอบนั้นสร้างความเสียหายให้แก่สังคมและประชาชนทั่วไป โดยที่สังคมและประชาชนทั่วไปอาจจะไม่รู้สึกในขณะนั้น แต่ความเสียหายได้เกิดขึ้น”
“แล้วการที่ข้าราชการสะสมทรัพย์สินจากการรับสินบนมาในอดีตจนถึงปัจจุบันจนกระทั่งร่ำรวย โดยที่ทางการไม่สามารถจะหาใบเสร็จมาเป็นข้อพิสูจน์เงิน หรือทรัพย์สินที่หามาได้นั้น เกี่ยวโยงกับการคอร์รัปชันเรื่องอะไร เพราะการคอร์รัปชันทั้งหลายนี้จะไม่มีใบเสร็จ จึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะเอาความผิดได้ มันไม่เหมือนกับการค้ายาเสพติด ผู้ค้า หลักฐานก็คือ มียาเสพติดไว้ในครอบครอง ก็เอาไว้เป็นหลักฐานได้”
“แต่การไปเรียกรับสินบนประเภทต่างๆ ของข้าราชการ มันยากที่จะนำไปสู่การตรวจสอบ คือไม่มีใครที่จะยอมเขียนใบเสร็จ แต่ในขณะเดียวกันสิ่งเหล่านี้เป็นความเสียหายกับสังคม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
“นอกจากนี้ผู้พิพากษายังได้กล่าวต่อไปอีกว่า ข้าราชการถูกจ้างให้เข้ามาเป็นเจ้าพนักงาน รัฐบาลเป็นผู้ว่าจ้าง ดังนั้นผู้ว่าจ้างจึงสามารถที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ที่จะกำกับลูกจ้างให้ทำงานเป็นไปตามกฎเกณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการที่จะกำหนดกฎหมายเหล่านี้ออกมาเพื่อกำกับพฤติกรรมไม่ให้มีการเรียกรับ “สินบน” จึงเป็นสิ่งที่นายจ้างสามารถที่จะทำได้”
ปรากฏการณ์ความโกงในเมืองไทย ในเวลานี้ อาจถึงเวลาต้องใช้ “ยาแรง” แบบฮ่องกง
“ เท่าที่ผ่านมาในอดีต คณะวิจัยที่อาจารย์เป็นผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชัน ยังไม่เคยเสนอให้ใช้ยาแรงอันนี้ในการกำกับพฤติกรรมของข้าราชการ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะรุนแรงมาก แต่ในวันนี้คิดว่าเราน่าจะมานั่งพิจารณาว่าถึงเวลาทีจะค้องใช้ยาแรงเหล่านี้แล้วหรือยัง ซึ่งการใช้ยาแรงนี้ก็อาจจะเป็นการใช้ชั่วคราวก็ได้ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น”
“อย่างไรก็ตามการใช้ยาแรงนี้ก็ต้องทำควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยน “ระบบ” การรับคน เข้ามาเป็นข้าราชการตำรวจ ต้องปรับปรุงระบบการเลื่อนขั้น ระบบการให้เงินเดือน ระบบการแต่งตั้งต่างๆ ให้เป็นระบบที่ เป็นไปตามหลักสากล ตรวจสอบได้และ มีความโปร่งใส และผู้ที่มีอำนาจในการแต่งตั้ง ให้เป็นไปในลักษณะของการ “กระจายอำนาจ” มากกว่าที่จะเป็นการให้อำนาจกระจุกอยู่ทีคนระดับสูงเพียงไม่กี่คน”
“และต้องให้ประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมหรือมีบทบาทในการกำกับ การทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจะต้องมีระบบเงินเดือน ระบบสวัสดิการ ให้กับตำรวจที่จะทำให้เขามีชีวิตอยู่ในระดับที่เป็นที่น่าพอใจ ในระดับที่มีศักดิ์ศรี แล้วก็จะต้องมีงบประมาณให้ตำรวจได้ใช้ เพื่อที่จะมีเครื่องไม้เครื่องมือ ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งต้องมีระบบการฝึกอบรม การเพิ่มทักษะอะไรต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานโลก”
“ไม่ใช่ระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งดูเหมือนกับว่าตำรวจถูกใช้ คือให้ตำรวจหากินเอาเอง เหมือนกับตำรวจถูกใช้ให้ทำหน้าที่ที่สำคัญมาก แล้วก็กว้างใหญ่ไพศาลมาก แต่ก็ไม่ได้รับการดูแล และไม่ได้รับงบประมาณที่พอเพียง เหมือนกับว่าให้เขาไปจัดหาเงินทุนค่าใช้จ่ายในการทำงานกันเอาเอง”
“ดร.ผาสุก” ตั้งสมติฐานว่า “ระบบกินเมือง” อาจไม่กระทบกับคนที่มีรายได้สูง คนที่ร่ำรวยในสังคมไทย “เพราะว่าก็อย่างที่รู้กัน คือ คนที่ร่ำรวยก็สามารถที่จะจ่ายหรือซื้อบริการต่างๆ ได้ แต่ว่ามันส่งผลกระทบถึงคนระดับกลาง ระดับล่าง ซึ่งไม่ได้อยู่ในภาวะที่จะจ่ายหรือมีอำนาจที่จะทำให้เกิดความเกรงใจ”