ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาอุตสาหกรรม สำรวจค่าจ้าง 2557/58 ตั้งรับ 400 บาท/วัน ลูกจ้างลุ้นโบนัสสูงสุด 8.8 เดือน

สภาอุตสาหกรรม สำรวจค่าจ้าง 2557/58 ตั้งรับ 400 บาท/วัน ลูกจ้างลุ้นโบนัสสูงสุด 8.8 เดือน

6 พฤศจิกายน 2014


เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 สถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดสัมมนารายงานผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2557/2558 โดยใช้กลุ่มตัวอย่างแบบสุ่มสำรวจ 147 สถานประกอบการ 14 กลุ่มอุตสาหกรรม มาทำการศึกษา คาดปี 2557 เฉลี่ยการปรับค่าจ้าง 5.4% พร้อมลุ้นโบนัส 2.5 เดือน สูงสุด 8.8 เดือน

นายจ้างรับประชาคมอาเซียน ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท มาแน่

นายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ รองประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ ส.อ.ท. กับมหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 6 การสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการปี 2557/2558 นี้ดำเนินการโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ค่าตอบแทน และสวัสดิการ ร่วมเป็นที่ปรึกษาและคณะทำงาน การเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคม–พฤษภาคม 2557 ประกอบด้วย ค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ ค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้มีประสบการณ์ จำแนกตามสาขา กลุ่มอุตสาหกรรม ลักษณะผู้ประกอบการ ขนาดธุรกิจ พื้นที่ และสวัสดิการ สำหรับปีนี้มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 147 แห่ง จำแนกเป็น 14 กลุ่มอุตสาหกรรม

นายพงษ์เดชกล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยองค์กรธุรกิจขนาดย่อมซึ่งต้องการความช่วยเหลือสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง การสำรวจค่าจ้างมาถึงจุดที่ว่าตัวเลขค่าจ้างขยับขึ้นค่อนข้างช้า คำถามที่เกิดขึ้นนั้นคือว่า อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าจ้าง อัตราการว่างงานก็ถือว่าน้อยมาก แสดงว่ามีคนทำงานมากขึ้น หากประเทศใดมีคนทำงานมาก productivity หรือผลิตภาพต้องเกิด แต่ตอนนี้สิ่งที่เกิดยังไม่สอดคล้องกัน

นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธาน บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการทำแบบสำรวจที่ผ่านมาว่า เป็นการทำผลสำรวจแบบตั้งรับ คือ ทำเพื่อให้รู้ว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ไม่ได้ลงในเชิงรุก ทำการวิเคราะห์ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ประเทศกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีการพูดกันมากว่าประเทศเรากำลังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งกำลังไปช้ากว่าประเทศอื่น และเทคโนโลยีก็ยังมีส่วนมาเปลี่ยนอุตสาหกรรมธุรกิจด้วย

สิ่งที่สำคัญของประเทศไทยขณะนี้ คือ ข้อมูลมหาศาล (big data) การมีอินเทอร์เน็ตในทุกๆ ที่ (internet of things) และยังมีการจะเปลี่ยนให้ประเทศเป็นเศรษฐกิจเชิงดิจิทัล (digital economy) หลายๆ บริษัทเริ่มเป็นแล้ว แต่ปัญหาประเทศไทยที่เป็นภูเขาน้ำแข็งคือความไม่สมดุลของกำลังคน ต้องยอมรับถึงการเปลี่ยนผ่านถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ (technology information)

“หากจ่าย 9,000 บาท/เดือน บริษัทไม่มีทางรักษาพนักงานไว้ได้ ขณะเดียวกัน หากเดือนใดจ่ายต่ำกว่า 15,000 บาท อัตราการลาออกจะพุ่งขึ้นทันที ทุกวันนี้มีการใส่จำนวนชั่วโมงและจำนวนวันเพิ่มลงไปเพื่อที่จะให้พนักงานมีรายได้เพิ่ม แต่พึงระลึกไว้ว่าการทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน ไม่มีทางที่จะยั่งยืนจีรังต่อไป มันผิดธรรมชาติ” นายสัมพันธ์กล่าว

นอกจากนี้ นายสัมพันธ์ยังกล่าวถึงการเตรียมรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่า นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท มาแน่นอน ไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองหรือจาก คสช. ก็ตาม เพราะนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ประสบความสำเร็จมาก และมากไปกว่านั้นผู้ที่จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษา (แบบช่างเทคนิค) ต้องได้เงินเดือน 15,000 บาท ขึ้นไป

“ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นสำคัญของการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา ทุกวันนี้คนไม่เรียนอาชีวะเพราะได้เงินเดือนแค่ 9,000 บาท ใครจะมาเป็นรัฐบาลต้องให้คุณค่าของงาน ของเงิน ฉะนั้น จึงไม่เกินเลยเลยว่าอาชีวะจะต้องได้เงินเดือน 15,000 บาท องค์กรเดี๋ยวนี้เริ่มรับคนอินเดีย ฟิลิปปินส์ เข้ามา หากเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเราพร้อมจะยอมรับความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ คนเหล่านั้นอยากมาทำงานบ้านเรามาก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) เราดีกว่า วันนี้ยังมีกฎบล็อกเขาอยู่ วันข้างหน้าบล็อกไม่อยู่แน่ และคนเหล่านี้มีทักษะภาษอังกฤษดีกว่าคนไทย” นายสัมพันธ์กล่าว

ผลการสำรวจ ปี 2557 ปวช. ยังต่ำสุด วิศวะยังครองตำแหน่งค่าจ้างสูงสุดป.ตรี

ผศ.อำนาจ วังจีน ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม รายงานผลการสำรวจค่าจ้าง ปี 2557/2558 ในส่วนค่าจ้างขั้นต้น (base salary) สำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์จำแนกตามวุฒิโดยเฉลี่ยรวม พบว่า ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือ ปวช. 9,485 บาท ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูงหรือ ปวส. 10,477 บาท ระดับปริญญาตรี 14,148 บาท ระดับปริญญาโท 20,403 บาท และระดับปริญญาเอก 38,470 บาท

เมื่อจำแนกตามสาขาวิชา พบว่า ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือ ปวช. ค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดสาขาช่างเทคนิค 9,530 บาท ต่ำสุดสาขาคหกรรมศาสตร์ 9,194 บาท ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูงหรือ ปวส. ค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดสาขาเกษตรศาสตร์ 10,581 บาท ต่ำสุดสาขาคหกรรมศาสตร์ 10,330 บาท ระดับปริญญาตรี ค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดสาขาวิศวกรรมศาสตร์ 16,492 บาท ต่ำสุดสาขาคหกรรมศาสตร์ 13,037 บาท ระดับปริญญาโท ค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดสาขาเทคโนโลยีอาหาร 22,729 บาท ต่ำสุดสาขามนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์/อักษรศาสตร์ 18,400 บาท ระดับปริญญาเอกค่าจ้างสูงสุด บัญชี/การเงิน 40,250 บาท

จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ประกาศนียบัตรชาชีพหรือ ปวช. ค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ 10,035 บาท ต่ำสุดกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 8,633 บาท ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงหรือ ปวส. สูงสุดกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและอลูมิเนียม 11,530 บาท ต่ำสุดกลุ่มพลาสติก 9,887 บาท ระดับปริญญาตรี สูงสุดกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าและพลังงานทดแทน 15,975 บาท ต่ำสุดกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 12,762 บาท ระดับปริญญาโท สูงสุดกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ 22,617 บาท และต่ำสุดกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าและพลังงานทดแทน 18,083 บาท ระดับปริญญาเอก ไม่มีข้อมูล

สำหรับค่าจ้างสำหรับผู้มีประสบการณ์จำแนกตามตำแหน่งงาน โดยเฉลี่ยรวมพบว่า ระดับปฏิบัติการ 11,893 บาท ระดับเจ้าหน้าที่ 17,721 บาท ระดับผู้ชำนาญการวิชาชีพ 26,819 บาท ผู้บริหารงานระดับต้น 34,803 บาท ผู้บริหารงานระดับกลาง 63,888 บาท และผู้บริหารงานระดับสูง 127,547 บาท

เมื่อจำแนกตามกลุ่มงาน พบว่า ระดับปฏิบัติการ ค่าจ้างเฉลี่ย สูงสุดกลุ่มงานเลขานุการ 18,878 บาท ต่ำสุดกลุ่มงานการผลิต 11,263 บาท ระดับเจ้าหน้าที่ สูงสุดกลุ่มงานเลขานุการ 24,123 บาท ต่ำสุดกลุ่มงานควบคุมคุณภาพ 16,479 บาท ระดับผู้ชำนาญการวิชาชีพ สูงสุดกลุ่มงานเลขานุการ 36,661 บาท ต่ำสุดกลุ่มงานควบคุมคุณภาพ 24,835 บาท ผู้บริหารงานระดับต้น สูงสุดกลุ่มงานกฎหมาย 49,029 บาท ต่ำสุด กลุ่มงานคลังสินค้า 32,091 บาท ผู้บริหารงานระดับกลาง สูงสุดกลุ่มงานกฎหมาย 80,462 บาท ต่ำสุดกลุ่มงานธุรการ 53,932 บาท และผู้บริหารงานระดับสูง สูงสุดกลุ่มงานการขาย 134,651 บาท และต่ำสุดกลุ่มงานออกแบบ 70,130 บาท

ค่าจ้างเงินเดือน

ค่าจ้าง 2556-2557 ปวช. – ปวส. – ป.ตรี เงินเดือนไม่ขยับ วิศวะค่าจ้างสูงแต่อัตราเพิ่มน้อย

ดร.ประพันธ์ ชัยกิจอุราใจ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิเคราะห์ผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการปี 2557/2558 ในเชิงเปรียบเทียบกับข้อมูลปีที่ผ่านมาของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์จำแนกตามวุฒิ ระหว่างปี 2557 กับ ปี 2556 ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนมากในภาคอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับปริญญาโทและปริญญาเอก พบว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างไม่เพิ่มขึ้น โดย ปวช. 0.08% ปวส. 0.03% ปริญญาตรี 0.12% แต่ ปริญญาโท ปริญญาเอก กลับเพิ่มขึ้นสูง โดยปริญญาโทเพิ่มขึ้น 6.43% และ ปริญญาเอก 47.29% ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากผู้ประกอบการเห็นว่าที่ผ่านมาได้มีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นสูงอยู่แล้ว เช่น ปี 2554 เปรียบเทียบ ปี 2555 ปวช. 28.49% ปวส. 21.41% ซึ่งเป็นการปรับที่มีผลกระทบมาจากค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น 39.5% ทั่วประเทศในช่วงเวลานั้น หรือ 300 บาทเฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูเก็ต ประกอบกับผลสำรวจค่าจ้างปี 2557 เป็นการเก็บข้อมูลในช่วงที่ยังมีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองสูงทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน (stagnation) นายจ้างอาจมีผลประกอบการที่ไม่ดีนัก จึงทำให้ค่าจ้างปี 2557 ของวุฒิ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ไม่เพิ่มขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างในช่วงระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ ปี 2552 จนถึง ปี 2557 พบว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างโดยเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้น ปวช. 8.59% ปวส. 7.37% ปริญญาตรี 5.32% ปริญญาโท 3.80% ปริญญาเอก 8.98%

เมื่อจำแนกตามสาขาวิชา พบว่า เพิ่มขึ้นโดดเด่น ปวช. คหกรรมศาสตร์ 11.24% ศิลปกรรมศาสตร์ 10.82% ออกแบบ/สถาปัตยกรรมศาสตร์ 10.54% ปวส. คหกรรมศาสตร์ 10.19% ศิลปกรรมศาสตร์ 9.49% ออกแบบ/สถาปัตยกรรมศาสตร์ 8.52% ปริญญาตรี คหกรรมศาสตร์ 6.82% นิเทศศาสตร์ 6.60% บริหารธุรกิจ 6.58% เป็นที่น่าสังเกตว่า วิศวกรรมศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่มีค่าจ้างจากผลสำรวจสูงที่สุดทุกปีแต่กลับมีอัตราการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างโดยเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้นต่ำสุด คือ 3.05% ต่ำรองมา คือ เภสัชศาสตร์ 3.20% ปริญญาโท คหกรรมศาสตร์ 9.85% เทคโนโลยีอาหาร 9.01% พยาบาลศาสตร์ 8.80% ปริญญาเอก เทคโนโลยีอาหาร 16.50% คอมพิวเตอร์ 15.09% ศิลปกรรมศาสตร์ 14.61%

นอกจากนี้ ผลการสำรวจสวัสดิการด้านนโยบายการจ้างยังพบว่า ในปี 2556 มีสถานประกอบการปรับอัตราค่าจ้างเฉลี่ย 5.6% และในปี 2557 การปรับค่าจ้างเฉลี่ย 5.4% ในขณะที่การจ่ายโบนัสประจำปีพบว่า ในปี 2556 มีสถานประกอบการจ่ายโบนัส 134 แห่ง จากทั้งหมด 147 แห่ง คิดเป็น 91.16% เฉลี่ยจำนวน 2.6 เดือน สูงสุด 11 เดือน และในปี 2557 มีสถานประกอบการคาดว่าจะจ่ายโบนัสเฉลี่ยจำนวน 2.5 เดือน สูงสุด 8.8 เดือน ขณะที่อัตราการเข้าออกของพนักงาน (turnover rate) เฉลี่ยอยู่ที่ 17.77% จากสาเหตุค่าตอบแทนและสวัสดิการ