ThaiPublica > คอลัมน์ > ความจริงเรื่องการส่งคืนท่อก๊าซธรรมชาติของ ปตท.

ความจริงเรื่องการส่งคืนท่อก๊าซธรรมชาติของ ปตท.

24 สิงหาคม 2014


ฉกาจนิตย์ จุณณะภาต
นักกฎหมายพลังงาน

ตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ทำการยึดอำนาจ ดูเหมือนว่าประเด็นเรื่องที่ ปตท. ได้ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้กับรัฐครบหรือไม่อย่างไร จะกลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง (จากที่เดิมก็ร้อนแรงระดับหนึ่งอยู่แล้ว) ด้วยคงมีผู้คาดหวังว่า คสช. จะใช้อำนาจทันใจในการสั่งให้ ปตท. ส่งท่อก๊าซให้รัฐเร็วกว่าระบบการเมืองปกติ และยิ่งร้อนแรงทะลุปรอท เมื่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ได้มีมติให้ ปตท. แยกหน่วยธุรกิจท่อก๊าซธรรมชาติออกไปเป็นบริษัทจำกัด ทำให้มีการประท้วงจากบุคคลบางกลุ่มว่า ท่อส่งก๊าซธรรมชาติเดิมยังคืนไม่ทันครบเลย จะเอาท่อก๊าซธรรมชาติที่เหลือไปตั้งเป็นอีกบริษัทแล้วหรือ

ประเด็นดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนกับประชาชนผู้ติดตามวงการพลังงานเป็นอย่างมากว่า ตกลง ปตท. คืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติครบแล้วหรือยัง ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าไม่ครบอีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าคืนครบแล้วโดยอ้างประกอบคำสั่งของศาลอย่างกับพระไตรปิฎกก็ไม่ปาน ซ้ำร้ายเถียงกันไปมาจนเข้าใกล้กีฬาสีเหลือง-แดงที่ผ่านมาเข้าไปทุกที เพียงแต่เปลี่ยนผู้ร้ายจากคุณทักษิณ ชินวัตร มาเป็น ปตท. แทน โดยมีผู้เล่นสองฝ่ายคือ คนรัก ปตท. กับ คนไม่รัก ปตท.

อันที่จริงเรื่องนี้ไม่ได้มีความซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจ เพียงแต่ด้วยการให้ข้อมูลแบบขาดๆหายๆ หรือพูดไม่หมด ส่งผลให้ผู้ที่คอยติดตามเกิดความสับสนและเข้าใจเรื่องราวผิดไปจากข้อเท็จจริง ซึ่งผู้เขียนในฐานะนักกฎหมายที่ประกอบอาชีพในวงการพลังงาน ได้เห็นเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควร จึงอยากจะใช้พื้นที่เล็กๆ ตรงนี้ในการเสนอข้อเท็จจริงการส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้กับท่านผู้อ่าน เมื่ออ่านจบแล้วท่านคงจะพอตัดสินได้ว่า คำพูดของฝ่ายใดถูกต้องมากกว่ากัน

จุดเริ่มต้น – คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

ภายหลังจากที่ได้มีการแปรสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ไปเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 เพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อมา วันที่ 31 สิงหาคม 2549 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวมห้าคน ได้ดำเนินการยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาในกระบวนการแปลงสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ขอให้ ปตท. กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจที่ชื่อว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเหมือนเดิมนั่นเอง ซึ่งต่อมา ปตท. ก็ได้ร้องขอให้ตัวเองเข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีอีกคนหนึ่ง เพราะผลแห่งคดีที่เกิดขึ้น ปตท. ย่อมเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ หาใช่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามคนไม่

…อาจมีผู้สงสัยว่า กรณีนี้ทำไมเรื่องมาถึงศาลปกครองสูงสุด เขาไปฟ้องศาลปกครองชั้นต้นกันตอนไหนหรือ? คืออย่างนี้ครับ มาตรา 11 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เขากำหนดไว้ว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุด การฟ้องคดีนี้จึงไม่ต้องไปที่ศาลปกครองชั้นต้นแต่ข้ามมาที่ศาลปกครองสูงสุดเลย…

คดีนี้มีการสืบพยานหลักฐานกันอยู่เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาออกมาในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 สรุปได้ดังนี้

1. ให้ยกคำขอตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาฯ ที่เกี่ยวกับการแปรรูป หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ให้ ปตท. ยังคงเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ต่อไป ไม่ต้องถูกเพิกถอนกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจที่ชื่อว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
2. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งให้แยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัทฯ
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 (รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์)

ที่มาภาพ : http://www.pttplc.com/en/About/Business/PTT-Owned-Business/Gas-Unit/PublishingImages/Gas%20Project.jpg
ที่มาภาพ : http://www.pttplc.com/en/About/Business/PTT-Owned-Business/Gas-Unit/PublishingImages/Gas%20Project.jpg

เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเช่นนี้แล้ว ต่อมา ก็ได้มีการประชุมร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อเสนอแนวทางการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งสุดท้ายแล้วในวันที่ 18 ธันวาคม 2550 เพียง 4 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบเกี่ยวกับคำพิพากษา 5 เรื่องด้วยกัน คือ

1. รับทราบคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
2. เห็นชอบหลักการแบ่งแยกทรัพย์สินอำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลัง และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการ โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณา
3. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์รับไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดอัตราเช่าในส่วนของทรัพย์สินระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
4. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดินรับไปพิจารณาเรื่องค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเช่าทรัพย์สิน
5. มอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย รับไปพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาระภาษีที่เกิดขึ้น

จะเห็นว่า จากมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นนี้ ได้กำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ดังนี้
– กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงการคลัง มีหน้าที่ดำเนินการตามหลักการแบ่งแยกทรัพย์สิน
– สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีหน้าที่ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง
– สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหน้าที่ตีความคำพิพากษาในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน
– กรมธนารักษ์ มีหน้าที่ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดอัตราเช่า
– กรมที่ดิน มีหน้าที่พิจารณาเรื่องค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเช่า
– กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาระภาษี

หลักการแบ่งแยกทรัพย์สินตามมติคณะรัฐมนตรีและคำพิพากษา

เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาแบบคำต่อคำ บรรทัดต่อบรรทัด ของศาลปกครองสูงสุดที่พิพากษาว่า “…ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ปตท.-ผู้เขียน)…” หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงร่วมกันกำหนดหลักการแบ่งแยกท่อก๊าซให้กระทรวงการคลัง ดังนี้

1. ที่ดินที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้มาโดยการใช้อำนาจเวนคืน (อสังหาริมทรัพย์ใดที่ได้มาจากการเวนคืนย่อมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน – ผู้เขียน)
2. สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินของเอกชน (การรอนสิทธิ – ผู้เขียน) โดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจ่ายค่าทดแทน
3. ท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ ที่อยู่ในที่ดินตามข้อ 1 และข้อ 2

…มาถึงตอนนี้อาจมีหลายคนคงสงสัยว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ว่านี้ ใช้อำนาจตามกฎหมายอะไรไปเวนคืนหรือใช้สิทธิเหนือที่ดินของคนอื่นเขา? คืออย่างนี้ครับ ก่อนที่จะมีการแปรรูปเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เรามีกฎหมายที่เรียกว่า พระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 (ตอนหลังได้ยกเลิกไปพอมีบริษัท ปตท.) ซึ่งมาตรา 30 ได้ให้อำนาจการปิโตรเลียมฯ ในการใช้ที่ดินของบุคคลใดเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อได้ แต่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้บุคคลนั้นตามมาตรา 31 และมาตรา 38 ได้ให้อำนาจการปิโตรเลียมในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์หากจำเป็น โดยให้ใช้กฎหมายเวนคืนมาปรับใช้ หลักการอันนี้ก็เป็นหลักการประเภทเดียวกับการใช้อำนาจในการวางรางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือการวางเสาส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนั่นเอง นักกฎหมายจะเรียกกันว่า “การใช้อำนาจมหาชน” ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐในการบังคับบุคคลอื่นให้ต้องยินยอมตาม ที่องค์กรเอกชนไม่สามารถมีอำนาจที่ว่านี้ได้…

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดซึ่งถูกนำมาปฏิบัติโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 มีทรัพย์สินอยู่สามประเภทข้างต้นที่ ปตท. จะต้องส่งคืนให้แก่กระทรวงการคลัง เพราะเป็นการได้มาโดยการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ

รายการทรัพย์สินที่ ปตท. ส่งคืนกระทรวงการคลัง

1. ที่ดินที่ได้มาจากการใช้อำนาจเวนคืน
– ที่ดินส่วนนี้ คือ ที่ดินในโครงการท่อส่งก๊าซระยอง – โรงไฟฟ้าบางปะกง – โรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ท่อสายประธาน) จำนวน 106 แปลง ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการ

2. ที่ดินที่เป็นสิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินของเอกชน ประกอบด้วยที่ดินประมาณ 4070 ไร่ 2 งาน 26.75 ตารางวา จำนวนเจ้าของที่ดินประมาณ 7,508 ราย อยู่ในโครงการ ดังนี้
-โครงการท่อบางปะกง – วังน้อย
-โครงการท่อจากชายแดนไทยและพม่า – ราชบุรี
-โครงการท่อราชบุรี – วังน้อย

3. ท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ ที่อยู่ในที่ดินตามข้อ 1 และ 2

ทรัพย์สินตามข้อ 1, 2 และ 3 รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 16,176.22 ล้านบาท

ท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลต้องคืนด้วยหรือไม่?

เรื่องท่อในทะเล ปตท. จะต้องคืนด้วยหรือไม่นั้น ก็ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์การแบ่งแยกทรัพย์สินข้างต้นทั้งสามประการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ
– ได้มาจากการใช้อำนาจเวนคืนหรือไม่?
– เป็นสิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินของเอกชนหรือไม่?
– เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ ที่อยู่ในทรัพย์สินตามข้างต้นหรือไม่?
ซึ่งการวางท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลนั้น มิได้มีการใช้อำนาจมหาชนในการเวนคืนหรือใช้อำนาจรอนสิทธิเหนือพื้นดินเอกชนแต่อย่างใด จึงไม่เข้าหลักการแบ่งแยกทรัพย์สินที่กำหนดไว้

…เรื่องท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลนี้มีการพูดกันมากว่า ทำไม ปตท. ไม่ยอมส่งคืน ซึ่งตอนนี้ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่าการที่จะส่งคืนท่อก๊าซธรรมชาติ ต้องมีหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นตัวอ้างอิง ซึ่งถ้าจะให้ส่งคืนท่อในส่วนนี้ ก็คงต้องมานั่งกำหนดหลักเกณฑ์กันใหม่ละครับ ว่าจะเอาเกณฑ์ไหนเป็นตัวอ้างอิงแน่ ไม่ใช่ตัดสินกันด้วยความรู้สึกอย่างเดียว…

การแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท.

สำหรับการแยกอำนาจมหาชนของรัฐออกจาก ปตท. นั้น เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 หรือที่เรียกกันว่ากฎหมาย “เรกูเลเตอร์” (Regulator) ขึ้นมาควบคุมกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติโดยผ่านคณะกรรมการอิสระของรัฐที่เรียกว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ผลของกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการแยกอำนาจมหาชนของรัฐออกจาก ปตท. ไปโดยปริยาย และเท่ากับว่ากิจการพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติหลังจากนี้ เป็นธุรกิจแบบเสรีซึ่งผู้ประกอบการเอกชนรายใดก็สามารถเข้ามาขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจได้โดยขออนุญาตต่อ กกพ. ตามกฎหมาย

ทรัพย์สินที่ได้มาจากอำนาจมหาชน – ทรัพย์สินของ ปตท. ต่างกันอย่างไร?

จากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีแปรรูป ปตท. เมื่อปี 2550 ที่คุณรสนาฯ ได้อ้างถึงและหยิบยกมาพูดบ่อยๆ ว่า

“…การที่ ปตท. ได้เปลี่ยนสภาพจากเป็นองค์การของรัฐซึ่งเป็นนิติบุคคลมหาชน ไปเป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว ปตท. จึงไม่ใช่ “องคาพยพ” ของรัฐอีกต่อไป ไม่อาจมีอำนาจมหาชนของรัฐ และไม่อาจถือกรรมสิทธิในทรัพย์สินของ ปตท. ที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐอันเป็น” สาธารณสมบัติของแผ่นดินแทนรัฐได้ ” จึงต้องโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวกลับไปเป็นของรัฐทั้งหมด…” (อ้างอิงจาก facebook คุณรสนาฯ เขียนเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557)

ผู้เขียนเห็นว่าคุณรสนาฯ เข้าใจถูกต้องแล้วว่า คำพิพากษาฉบับนี้ให้ ปตท. ส่งคืนทรัพย์สินที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐกลับไปให้กระทรวงการคลัง (ซึ่งต่อมาก็ได้มีการตั้งหลักเกณฑ์ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่า คือ ทรัพย์สินที่ได้มาจากการเวนคืน ทรัพย์สินที่ได้มาจากการรอนสิทธิ ทรัพย์สินที่อยู่ในทรัพย์สินทั้งสองข้างต้น) แต่การที่จะบอกว่าทรัพย์สินทั้งหมดที่ ปตท. ได้มาสมัยเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นการใช้อำนาจมหาชน จึงต้องคืนทรัพย์สินทั้งหมดนั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นหลักการกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง

ด้วยความเคารพ หากคุณรสนาฯ ได้มีการศึกษากฎหมายปกครองก็จะทราบว่า การได้มาซึ่งทรัพย์สินของหน่วยงานรัฐนั้น ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจมหาชนทั้งหมด แต่อาจจะเป็นนิติกรรมแบบเอกชนก็ได้ เช่น การเช่าหรือการซื้อ เป็นต้น ซึ่งนิติกรรมประเภทนี้นักกฎหมายจะทราบกันดีอีกเช่นกันว่า ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง แต่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม

ยกตัวอย่างเช่น หากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลมหาชน) เข้าไปขอซื้อที่ดินจากชาวบ้านโดยทำสัญญาซื้อขายที่ดินธรรมดา ก็ต้องถือว่าเป็นการทำนิติกรรมซื้อขายกันแบบทั่วไป ไม่มีการใช้อำนาจมหาชนมาเกี่ยวข้อง แต่มิใช่ว่าการที่หน่วยงานของรัฐไปทำนิติกรรมอะไรแล้วจะเป็นการใช้อำนาจมหาชนทุกกรณี อันนี้เป็นหลักการที่สำคัญมากในหลักกฎหมายปกครองที่ต้องเข้าใจให้ชัดเจนนะครับ เพราะเกี่ยวข้องกับเขตอำนาจศาลด้วย คือ ต้องดูที่นิติกรรมเป็นหลักไม่ใช่ดูที่ตัวองค์กร

อย่างไรก็ดี ชิ้นส่วนสำคัญที่จะตอบคำถามในเรื่องนี้ได้ที่ผู้เขียนไม่ค่อยได้ยินใครอธิบายถึงมากนัก ก็คือ พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

กฎหมายฉบับนี้วางหลักในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทไว้ว่า ให้มีการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นในรูปแบบหุ้นของบริษัท และหลักการที่เกี่ยวกับการโอนสิทธิต่างๆ ในทรัพย์สินนั้นบัญญัติอยู่ในมาตรา 24 ว่า (ยาวหน่อย แต่ลองอ่านดูนะครับ แล้วจะเข้าใจว่ามาตรานี้หมายความว่าอย่างไร – ผู้เขียน)

“ในวันที่จดทะเบียนบริษัทตามมาตรา 22 ให้บรรดากิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด และสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติโอนไปเป็นของบริษัท หรือเป็นของกระทรวงการคลัง แล้วแต่กรณี

ในกรณีหนี้ที่โอนไปเป็นของบริษัทตามวรรคหนึ่ง เป็นหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันอยู่แล้ว ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้นั้นต่อไป โดยอาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกันก็ได้ เว้นแต่จะมีการตกลงกับเจ้าหนี้ให้ลดหรือปลดเปลื้องภาระการค้ำประกันของกระทรวงการคลังนั้น

สิทธิตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินที่เป็นที่ราชพัสดุหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่รัฐวิสาหกิจมีอยู่ในวันจดทะเบียนบริษัทนั้นด้วย

ส่วนสิทธิในการใช้ที่ราชพัสดุหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่รัฐวิสาหกิจเคยมีอยู่ตามกฎหมายที่ราชพัสดุหรือกฎหมายอื่น ให้บริษัทมีสิทธิในการใช้ที่นั้นต่อไปตามเงื่อนไขเดิม แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดินตามที่กระทรวงการคลังกำหนด”

ดังนั้น ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจึงโอนมายัง ปตท. นับแต่วันที่จดทะเบียนบริษัท คือ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ซึ่งก็มีเหตุผลดีนะครับ เพราะถ้าไม่กำหนดไว้แบบนี้ บริษัทที่แปรรูปมาจากรัฐวิสาหกิจจะเอาทรัพย์สินหรือทุนที่ไหนมาดำเนินกิจการต่อใช่ไหมล่ะครับ ปตท. จึงมีสิทธิในทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยตามกฎหมายทุกประการ

ประเด็นต่อมาก็คือ ระหว่างปี 2544-2550 ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ได้มาจากนิติกรรมที่ใช้อำนาจมหาชน เช่น การเวนคืน การรอนสิทธิเอกชน ก็ได้โอนมายัง ปตท. ด้วยตามกฎหมาย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าก่อนหน้าที่ศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินเมื่อปี 2550 ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะต้องแยกส่วนที่ได้มาจากอำนาจมหาชนคืนกระทรวงการคลังไปด้วย นอกจากนั้น กระทรวงการคลังเองก็คงไม่ได้ฉุกคิดอะไร เพราะตนเองก็เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน ปตท. อยู่แล้ว จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดมาตัดสินเมื่อปี 2550 นี่ล่ะครับว่า ทรัพย์สินที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนต้องส่งคืนกระทรวงการคลังไป จึงเป็นที่มาของการกำหนดแยกส่วนว่าทรัพย์สินใดใช้อำนาจมหาชน ทรัพย์สินใดไม่ได้ใช้อำนาจมหาชน ซึ่งต้องใช้หลักการตามหลักกฎหมายปกครองที่ได้เรียนไปแล้วข้างต้นว่า การดูว่าใช้อำนาจมหาชนหรือไม่นั้น ต้องดูที่นิติกรรมเป็นหลัก มิใช่ดูที่ตัวองค์กร

ต่อมา ทั้งกระทรวงการคลังในฐานะผู้ที่ต้องรับคืน กับ ปตท. ในฐานะผู้ที่ต้องส่งคืน ก็ได้ทำความเข้าใจและตกลงหลักเกณฑ์ส่งคืนร่วมกันตามคำพิพากษาของศาล ว่าส่วนใดเป็นการใช้อำนาจมหาชนที่ต้องคืนบ้าง จากนั้น เมื่อส่งมอบเสร็จสิ้นก็ได้ไปรายงานผลการปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองก็เห็นด้วยว่าทั้งสองฝ่ายได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว เรื่องนี้ก็เป็นอันยุติด้วยดี

เรื่องนี้จะเห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในคำพิพากษาทั้งหมด ก็คือ กระทรวงการคลัง (มีฐานะคล้ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ปตท. (มีฐานะคล้ายลูกหนี้ตามคำพิพากษา) ได้ทำความตกลงในหลักการคืนทรัพย์สินให้แก่กัน และต่อมาก็ได้มีการรายงานให้ศาลปกครองรับทราบ (ในฐานะผู้ตัดสิน) ซึ่งทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ตัดสิน ก็เห็นชอบร่วมกันว่ามีการปฏิบัติหน้าที่ต่อกันครบถ้วนหมดแล้ว จึงไม่น่าจะมีประเด็นอะไรอีก ผู้เขียนจึงเกิดคำถามสงสัยเหมือนกันว่า เรื่องคืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วนที่มีผู้พูดกันอยู่ทุกวันนี้นั้น ผู้ที่พูดหมายความว่าอย่างไรกันแน่ เช่น
1. กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ไม่ยอมรับทรัพย์สินคืนให้ครบถ้วน?
2. ปตท. ในฐานะลูกหนี้ไม่ยอมส่งคืนทรัพย์สินให้ครบถ้วน?
3. ศาลปกครองในฐานะผู้ตัดสินมีคำสั่งรับรองการคืนทรัพย์สินไม่ถูกต้อง?

บางทีถ้าผู้ทีพูดเรื่องนี้สามารถตอบคำถามข้างบนนี้ได้ สังคมอาจเข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้น ก็เป็นได้นะครับ