ThaiPublica > คอลัมน์ > เปิดทุกคำพิพากษา! ปตท. ส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติครบหรือไม่

เปิดทุกคำพิพากษา! ปตท. ส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติครบหรือไม่

1 มิถุนายน 2017


ฉกาจนิตย์ จุณณะภาต นักกฎหมายพลังงาน

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ คปพ. ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3/2560 ประกาศจะดำเนินการอยู่ 3 เรื่อง โดยหนึ่งในนั้น คือ ดำเนินการเรื่องการส่งมอบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ที่ คปพ. เห็นว่ายังส่งมอบไม่เสร็จสิ้น

เรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. นับได้ว่าเป็นประเด็นร้อนแรงเรื่องหนึ่งของแวดวงพลังงานไทย เพราะถึงแม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาปิดฉากไปตั้งแต่ปี 2550 แต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวโดยบุคคลบางกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สังคมเกิดความสงสัยว่าศาลตัดสินไม่ชัดเจนหรืออย่างไร ถึงทำให้ประเด็นนี้ดำเนินมาได้ถึง 10 ปี

ดังนั้น เพื่อไม่ให้คำพิพากษาของศาลทำให้เกิดความเคลือบแคลงในสังคม ผู้เขียนจะขอเปิดสาระสำคัญของทุกคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. ทั้งหมด เพื่อให้ท่านผู้อ่านพิจารณาว่า คำพิพากษาของศาลในเรื่องนี้ ยุติหรือไม่ เพียงใด (อ่านข้อมูลพื้นฐานเรื่องการส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท.ได้ที่นี่)

1. ครั้งที่หนึ่ง: คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 (คดีแปรรูป ปตท.)

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ได้มีผู้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และให้กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยแบบเดิม ต่อมา ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา สรุปได้ดังนี้

  • ให้ยกคำฟ้องที่ขอให้เพิกถอนการแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  • ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ (คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ปตท.) ร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและสิทธิการใช้ที่ดินที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อกลับมาเป็นของรัฐ

2. ครั้งที่สอง: คำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551

ภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว หน่วยงานต่างๆ ก็ได้ดำเนินการแบ่งทรัพย์สินให้กับรัฐตามคำสั่งศาลเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งว่า “ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

3. ครั้งที่สาม: คำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552

ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งครั้งที่สองแล้ว เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 ผู้ฟ้องคดีในคดีแปรรูป ปตท. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง ขอให้ศาลทำการไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินของ ปตท. ที่จะต้องแบ่งแยกคืนให้กระทรวงการคลัง โดยคำร้องได้อ้างรายงานของ สตง. ซึ่งมีความเห็นว่ามูลค่าทรัพย์สินของ ปตท. ยังส่งมอบไม่ครบตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

ปรากฏว่าในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ฟ้องคดี โดยให้เหตุผลว่าผู้ฟ้องคดีมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีสิทธิบังคับคดีอีกทั้ง ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

4. ครั้งที่สี่: หนังสือของสำนักงานศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 


หลังจากที่ศาลได้มีคำสั่งครั้งที่สามไม่นาน ต่อมา วันที่ 10 มีนาคม 2552 สำนักงานศาลปกครองก็ได้มีหนังสือไปถึง สตง. เพื่อตอบกลับความเห็นของ สตง. ว่า “…ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

5. ครั้งที่ห้า: คำสั่งของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555

ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งแล้วถึงสี่ครั้ง สามปีถัดมา คือ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับพวกรวม 1,455 คน ได้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปตท. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อศาลปกครองกลางอีกครั้ง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันดำเนินการแบ่งแยกระบบท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลให้กลับมาเป็นของรัฐ และในคำฟ้องครั้งนี้ ผู้ฟ้องคดียังได้แนบหนังสือความเห็นของ สตง. ฉบับเดิมที่ศาลเคยตอบไว้แล้วในครั้งที่สี่ด้วย ศาลได้ใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้ประมาณ 17 วัน ต่อมา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 ศาลปกครองกลาง จึงมีคำสั่งที่ไม่รับคำฟ้องเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้ว

6. ครั้งที่หก: คำสั่งของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557

แม้ว่าศาลปกครองกลางจะไม่รับคำฟ้องเป็นครั้งที่ห้า แต่ผู้ฟ้องคดีก็ได้ทำการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งยืนยันไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีตามศาลปกครองกลาง โดยให้เหตุผลว่า ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเรื่องนี้ไปแล้ว

นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดยังวินิจฉัยด้วยว่า การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ปตท. รายงานต่อศาลปกครองสูงสุด โดยไม่มีการตรวจสอบและรับรองจาก สตง. นั้น เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี มิใช่เป็นเหตุที่กล่าวอ้างว่าเป็นการดำเนินการที่ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย (การส่งมอบทรัพย์สิน ปตท. ให้กับรัฐ) ซึ่งเรื่องนี้ผมได้เคยเขียนไว้แล้ว (อ่านที่นี่)

7. ครั้งที่เจ็ด: คำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559

ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งครั้งที่หก ต่อมา เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ได้มีผู้ร้องไปยังศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งครั้งที่สอง (26 ธันวาคม 2551) ของตนเอง และขอให้ศาลพิจารณาความเห็นของ สตง. อีกครั้ง

ดังนั้น เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องฉบับนี้ เนื่องจากเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว

8. ครั้งที่แปด: คำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณี ละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลปกครองสูงสุดยังได้มีคำสั่งถึงผู้ที่กระทำการละเมิดอำนาจศาล กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินคดีของศาลปกครองสูงสุดเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. โดยในครั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้ยืนยันถึงความยุติธรรมและเป็นกลางของศาล ในการพิจารณาคดีนี้อย่างรอบคอบทุกครั้ง โดยเฉพาะคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 (ครั้งที่สอง)

สรุป

เมื่อพิจารณาจากคำสั่งศาลปกครองที่เกี่ยวกับประเด็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่า ไม่มีศาลใดในโลกจะมีความเป็นธรรมและให้โอกาสประชาชนเท่ากับศาลปกครองของประเทศไทย เพราะถึงแม้ว่าจะมีผู้นำเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติมาฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองสักกี่ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลวินิจฉัยไปแล้วหลายครั้งหลายหน แต่ศาลปกครองก็ยังให้เหตุผลและวินิจฉัยให้แก่ผู้นำเรื่องขึ้นสู่ศาลได้เข้าใจทุกครั้ง โดยหากนับตั้งแต่ครั้งแรก (ปี 2550) ก็เป็นเวลาแล้ว 10 ปี

ทั้งนี้ จุดประสงค์ของผู้เขียนในบทความนี้ ก็เพื่อต้องการให้ผู้อ่านที่ติดตามและสนใจประเด็นความขัดแย้งเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. ได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน เพราะไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะได้เห็นคำสั่งของศาลปกครองเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นครั้งที่เก้าก็เป็นได้