ThaiPublica > คอลัมน์ > เศรษฐศาสตร์ปราบโจรสลัด

เศรษฐศาสตร์ปราบโจรสลัด

6 สิงหาคม 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ในชั่วขณะแรกเมื่อได้ยินเรื่องโจรสลัด คำตอบในใจก็คือจะปราบมันให้หมดไปได้ต้องกวาดล้างให้หมดอย่างเด็ดขาด บางคนอาจนึกไปถึงการยิงตายให้เกลี้ยงด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์มีคำตอบที่น่าสนใจสำหรับปัญหานี้

โจรสลัดโซมาเลีย (Somalia) เป็นที่รู้จักกันดีมาเกือบทศวรรษแล้วว่าร้ายกาจขนาดหนัก ปล้นเรือทุกประเภททั้งขนาดใหญ่และเล็กที่ผ่านน่านน้ำบริเวณนั้นอย่างไม่กลัวตาย มีทั้งปืนสั้น ปืนยาว และอาวุธสงคราม จนเป็นที่ครั่นคร้าม ใครที่ได้ดู “Captain Phillips” ภาพยนตร์ตื่นเต้นของปีที่ผ่านมาซึ่งสร้างจากเรื่องจริงคงนึกเห็นภาพ (หัวหน้าโจรเล่นได้ยอดเยี่ยมมากจนได้รางวัลออสการ์ เขาเล่นภาพยนตร์เป็นครั้งแรกเพราะผู้สร้างเอามาจากคนโซมาเลียที่อพยพมาอเมริกา)

โซมาเลียตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา โดยด้านตะวันออกหันสู่มหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันตกติดเอธิโอเปีย สถานที่ตั้งของโซมาเลียเหมาะต่อการจี้เรือมากเพราะดินแดนซึ่งมีพื้นที่มากกว่าไทยร้อยละ 20 (ประมาณ 600,000 ตารางกิโลเมตร) นี้ตั้งอยู่ตรงปากทะเลแดงที่ไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียซึ่งมีชื่อเรียกว่าบริเวณอ่าวเอเดน (Gulf of Aden) พอดี จึงมีเรือบรรทุกน้ำมันและสินค้าจำนวนมากวิ่งผ่าน เพราะตรงขึ้นไปทางทิศเหนือคือตะวันออกกลาง (เยเมน โอมาน)

คนโซมาเลียยากจนเช่นเดียวกับคนแอฟริกาทั้งหลาย ดังนั้นการเลือกเป็นโจรสลัดกับการเป็นชาวประมงจึงเป็นการตัดสินใจไม่ยากสำหรับคนแถบนั้นเมื่อคำนึงถึงว่าการบังคับใช้กฎหมายของประชากร 11 ล้านคน ของประเทศนี้อ่อนแออย่างมาก

เมื่อเงื่อนไขเป็นเช่นนี้จึงเกิดเจ้าพ่อเพื่อคุ้มครองให้ความปลอดภัยในการปล้น ขาย และรักษาทรัพย์สินที่ปล้นมา แต่ละกลุ่มของเจ้าพ่อจะมีชุมชนสนับสนุนอยู่ข้างหลัง

นักเศรษฐศาสตร์สองคน คือ อันจา ชอร์ตแลนด์ (Anja Shortland) แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน และ เฟเดอริโค วารีส (Federico Varese) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ร่วมกันเขียนบทความเมื่อเร็วๆ นี้ ศึกษาปัญหาโจรสลัดโซมาเลียและการหาทางออก เขาสงสัยว่าเหตุใดโจรสลัดจึงไม่หมดไป และเหตุใดเจ้าพ่อบางคนจึงให้ความคุ้มครองโจรสลัดเหล่านี้ แต่บางคนกลับไม่สนใจอาชญากรรมเช่นนี้เลย คำตอบโจทย์นี้สำคัญเพราะอาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหากเจ้าพ่อทุกคนมีลักษณะดังกลุ่มหลังหมด กล่าวคือเมื่อไม่ให้ความคุ้มครอง โจรสลัดก็ไม่กล้าปล้นเพราะจะถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มอื่นๆ จำนวนโจรสลัดก็อาจลดลงไปหรือหมดไปได้

การศึกษาพฤติกรรมเชิงเศรษฐศาสตร์เริ่มด้วยการดูจุดในแผนที่ที่เรือถูกจี้ปล้นทั้งหมดระหว่างปี 2005-2012 เขาพบว่าเรือที่ถูกจี้ปล้นเกือบทุกลำเกิดเหตุในบริเวณที่อยู่นอกเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ นอกจากนี้บริเวณใกล้ท่าเรือใหญ่ในบริเวณนั้นแทบไม่มีการจี้ปล้นเลย

ทั้งสองพบว่าเจ้าพ่อท้องถิ่นแบ่งกันควบคุมเส้นทางเดินเรือพาณิชย์โดยรับ “ค่าธรรมเนียมคุ้มครอง” และออกใบอนุญาตให้วิ่งผ่านได้ อย่างไรก็ดี เจ้าพ่อทุกรายไม่สามารถกระทำเยี่ยงนี้ได้ในทุกกรณี เนื่องจากมีอุปสรรคหลายประการ เช่น เรือบางลำมีการคุ้มครองความปลอดภัยที่ดีมาก (กฎหมายห้ามเรือมีปืน ป้องกันตัวเองได้เพียงพ่นน้ำกระแสแรงจากเรือ) บางลำมีเจ้าพ่อที่เหนือกว่าเจ้าพ่อท้องถิ่นดูแล ตำแหน่งที่ตั้งของกลุ่มเจ้าพ่อบนฝั่งไม่เอื้ออำนวย ฯลฯ

เจ้าพ่อที่สามารถเก็บ “ค่าธรรมเนียมพิเศษ” จากเส้นทางพาณิชย์ได้ก็จะปฏิเสธที่จะให้การคุ้มครองโจรเพราะผลประโยชน์ตอบแทนมันสูงกว่ามากและได้รับสม่ำเสมอ หากให้การคุ้มครองมันก็อาจไปปล้นเรือที่ตนเองประกันความปลอดภัย ผลประโยชน์จึงขัดแย้งกัน

เฉพาะเจ้าพ่อที่ไม่มีรายได้จากค่าธรรมเนียมพิเศษจึงเป็นผู้ให้การคุ้มครองโจรสลัด และนี่คือเหตุผลอธิบายว่าเหตุใดจึงมักจี้ปล้นกันนอกเส้นทางเดินเรือพาณิชย์

เหตุการณ์ที่พิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้ก็คือ ในระหว่างปี 2000-2009 ที่ซาอุดีอาระเบีย (ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลแดงด้านใน) สั่งห้ามนำเข้าปศุสัตว์จากโซมาเลีย เกษตรกรโซมาเลียซึ่งยากจนอยู่แล้วและอาศัยรายได้จากการส่งออกเช่นนี้เป็นรายได้หลักจึงถูกกระทบหนัก เจ้าพ่อในบริเวณที่เลี้ยงปศุสัตว์เริ่มให้การคุ้มครองโจรสลัดอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และหลังจากยกเลิกคำสั่งก็ปรากฏว่าโจรสลัดเหล่านี้หายไปราวกับเสกคาถา เนื่องจากเจ้าพ่อได้รับค่าธรรมเนียบพิเศษอีกครั้งจากการค้าขายปกติ

ถึงแม้ว่าสถานการณ์การจี้เรือในสองสามปีที่ผ่านมาในบริเวณนั้นจะลดลงไปมาก (จาก 237 รายในปี 2011 เหลือ 75 รายในปี 2012) แต่ก็ต้องมีการลงทุนป้องกันการจี้ปล้นของเรือและใช้เรือตรวจการณ์จำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นต้นทุนที่สูงอย่างยิ่ง

นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองมีข้อเสนอที่คิดว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว นั่นก็คือการสร้างถนนและท่าเรือใหม่เพื่อให้การขนส่งสินค้าเกษตรที่ผลิตไกลจากฝั่งทะเลของชาวโซมาเลียเป็นไปอย่างสะดวกและมีต้นทุนต่ำ อีกทั้งเป็นการสร้างการค้าขายให้เกิดขึ้นในบริเวณล้าหลังด้วย เมื่อชุมชนชาวบ้านมีรายได้ทางเลือกก็จะไม่เป็นสมุนของเจ้าพ่ออีกต่อไปจนไม่สามารถให้การคุ้มครองโจรสลัดได้

ทั้งสองเชื่อว่าเมื่อใดที่ไม่มีเจ้าพ่อคุ้มครอง โจรสลัดก็อยู่ไม่ได้ การแก้ไขปัญหาจึงควรมุ่งไปด้านเศรษฐกิจเพื่อให้ชุมชนมีรายได้ทางเลือก ตัวอย่างที่ยกมาก็คือเจ้าพ่อในบริเวณเมืองอีไล (Ely) เคยขอร้องให้รัฐบาลสร้างท่าเรือและสร้างถนนมายังท่าเรือนี้ โดยขอแลกกับการไม่สนับสนุนโจรสลัด เมื่อรัฐบาลปฏิเสธเพราะต้องทุ่มเททรัพยากรส่วนใหญ่ให้โครงสร้างพื้นฐานของเมืองหลวงคือโมกาดิชู (Mogadishu) เหล่าโจรสลัดก็ทำงานต่อไป

ความรุนแรงอาจช่วยแก้ไขปัญหาโจรสลัดได้ด้วยต้นทุนที่สูงมากแต่ไม่ยั่งยืน การเข้าใจพฤติกรรมของตัวละครที่เกี่ยวข้องและสาเหตุของการเกิดโจรสลัดเท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสิ้นเชิง

ปัญหาเดิมๆ หากแก้ไขด้วยแนวคิดและวิธีการแบบเดิมๆ สถานการณ์เดิมๆ ก็จะดำรงอยู่ การค้นหาความจริงเพื่อเข้าใจสถานการณ์และใช้วิชาการมาประยุกต์เข้าด้วยเท่านั้นที่อาจแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ได้

ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับอังคาร 5 ส.ค. 2557