ThaiPublica > คอลัมน์ > ซ้อนกลตำรวจโกง

ซ้อนกลตำรวจโกง

11 สิงหาคม 2014


หางกระดิกหมา

รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของเนเธอร์แลนด์คนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “รัฐบาลทั้งหลายจะอยู่ได้ไม่ได้ก็แต่ด้วยคำว่าสุจริตคำเดียวนี่เอง เพราะความสุจริตของรัฐบาลพร่องไปเท่าใด ประชาชนก็จะสูญเสียความมั่นใจในรัฐบาลไปเท่านั้น และเมื่อประชาชนไม่มีความมั่นใจในรัฐบาล ประชาธิปไตยก็ย่อมทำงานไม่ได้ และเมื่อนั้นก็แปลว่าจะไม่มีประชาธิปไตย”

ใครได้ยินประโยคนี้แล้วมาใคร่ครวญถึงสิ่งต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทยก็จะพบว่าตรงเผงอย่างกับคนพูดมานั่งว่าราชการอยู่ที่ราชดำเนินนี่เอง นี่ก็เป็นเพราะลึกๆ แล้ว ประชาชนไม่ว่าที่ไหนๆ ย่อมไม่ค่อยไว้วางใจหรือสงสัยในความสุจริตข้าราชการหรือนักการเมืองซึ่งมีโอกาสได้หยิบได้จับเงินของประเทศเหมือนกันทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม ความไม่ไว้วางใจหรือสงสัยแต่เพียงอย่างเดียวไม่ใช่ของที่มีประโยชน์มากนัก เพราะไม่ใช่ของที่เป็นวิทยาศาสตร์ อาจจริงหรือไม่จริงได้เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าไปเจอข้าราชการคนไหนเข้า นี่จึงเป็นจุดกำเนิดของการทำ Integrity Testing หรือ “ระบบทดสอบสุจริตธรรม” ของข้าราชการ กล่าวคือการสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อลองใจข้าราชการดูว่าจะมีพฤติกรรมทุจริตหรือไม่ จะได้รู้ชัดๆ กันไปว่าใครโกงใครไม่โกง

ระบบทดสอบสุจริตธรรมที่มีชื่อเสียงมากก็คือระบบของ New York City Police Department (NYPD) ซึ่งเริ่มใช้ระบบนี้กับข้าราชการตำรวจของตัวเองอย่างจริงจังมาตั้งแต่ ค.ศ. 1984 กล่าวคือ NYPD จะจำลองสถานการณ์ซึ่งเขาพบว่าเป็นโอกาสที่ตำรวจมักจะคอร์รัปชัน อย่างเช่น จังหวะที่มีการจับกุมพ่อค้ายา เพราะเป็นขณะที่ตำรวจอาจมุบมิบขโมยยาของกลางไป หรือเรียกสินบนจากพ่อค้ายาแลกกับการปล่อยตัว โดยสถานการณ์เหล่านี้ NYPD จะทำอย่างพิถีพิถัน มีการอ้างอิงกับข้อมูลข่าวกรองและการวิเคราะห์วิจัยลึกซึ้งมากมาย เพื่อให้มั่นใจว่าสถานการณ์มีความสมจริงที่สุด ไม่เวอร์ไปและก็ไม่หน่อมแน้มเกิน พร้อมกันนั้นก็มีการบันทึกสถานการณ์ทั้งหมดไว้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะโดยเครื่องอัดภาพ เครื่องอัดเสียง หรือโดยพยานบุคคล ซึ่ง NYPD วางตัวไว้รายล้อมเหตุการณ์

ทั้งนี้ NYPD จะแจ้งให้ตำรวจทุกคนทราบว่าจะมีการใช้ระบบนี้ทดสอบพฤติกรรมของตำรวจอยู่เป็นระยะๆ เพียงแต่ไม่บอกว่าสอบบ่อยแค่ไหน โดยการทดสอบแบ่งเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือการทดสอบแบบ “เจาะจง (Targeted)” ซึ่งใช้เฉพาะกับคนที่ถูกร้องเรียนว่าคอร์รัปชันหรือมีพฤติกรรมน่าสงสัย ประเภทที่สองคือการทดสอบแบบ “สุ่ม (Random)” ซึ่งใช้ทดสอบตำรวจทั่วๆ ไป ในปีๆ หนึ่งตำรวจของ NYPD จะถูกทดสอบมากถึง 15,000 คนจากทั้งหมด 40,000 คน

ผลดีอย่างแรกของการทดสอบอย่างนี้ก็คือทำให้ NYPD ได้ข้อมูลเกี่ยวกับคอร์รัปชันที่เป็นหลักเป็นฐาน และก็เชื่อถือได้ ไม่ใช่แค่คำกล่าวอ้าง อย่างในกลุ่มตำรวจที่ถูกทดสอบแบบเจาะจงนั้น มีถึงร้อยละยี่สิบที่สอบตก คือถูกลองใจแล้วก็เผลอตัวไปคอร์รัปชัน ซึ่งข้อมูลนี้สามารถนำไปใช้ดำเนินการเอาผิดและถอดตำรวจกลุ่มดังกล่าวออกจากราชการได้ อีกทั้งยังช่วยทำให้ NYPD มองเห็นว่าระบบกำกับควบคุมตำรวจของตัวเองนั้นมันไปหย่อนไปยานตรงไหน แล้วก็แก้ไขได้ถูก

แต่ผลที่ดีกว่านั้นกว่าคือ หลังจากมีการใช้ระบบนี้ไม่นาน ก็ปรากฏว่าอัตราที่ตำรวจทำรายงานแจ้งว่ามีคนมาเสนอจ่ายสินบนให้กับตนสูงขึ้นอย่างมาก คือเมื่อก่อนถ้ามีใครมาติดสินบนตำรวจ ตำรวจก็จะไม่ได้สนใจรายงานเบื้องสูง มีแต่จะปล่อยให้ผ่านๆ ไป แต่พอใช้ระบบนี้แล้ว ตำรวจก็เลยไม่รู้ว่าอันไหนเรื่องจริงเรื่องหลอก พอมีใครมาเสนอจ่ายสินบน ก็ต้องรายงานไว้ก่อน เพราะกลัวว่าถ้าเป็นบททดสอบสุจริตธรรมขึ้นมาตัวก็จะมีความผิดในฐานที่นิ่งเฉย ยิ่งไม่ต้องพูดถึงกรณีการรับสินบนเลย เพราะขนาดนิ่งยังไม่กล้านิ่ง ที่ไหนจะกล้ารับสินบน

นี่เองถือเป็นก้าวใหม่ของการต่อต้านคอร์รัปชันในวงการตำรวจ เพราะที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของวงการนี้มักจะอยู่ในลักษณะของการ “ล้างบาง” คือมีเรื่องอื้อฉาวขึ้นมาทีก็ปลดก็ย้ายกันสักทีหนึ่ง แต่แล้วทุกคนก็พบว่า ผ่านไปสักพัก วงการมันก็กลับมาสกปรกให้ต้องล้างบางกันอีกไม่จบไม่สิ้น แต่ระบบทดสอบสุจริตธรรมนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่านั้น คือไม่ใช่การแก้ปัญหาเมื่อมีคนร้องเรียนขึ้นมาเท่านั้น แต่เป็นการวางระบบเพื่อให้ตำรวจไม่กล้ารับสินบนและไม่มีเรื่องร้องเรียนมาตั้งแต่ต้น เอาเป็นว่าหลังจากที่ระบบนี้ประสบความสำเร็จในนิวยอร์ก London Metropolitan Police ก็เห็นดีเห็นงามจนเอาระบบไปใช้กับตำรวจของตัวบ้างทีเดียว

อันที่จริง ตำราบอกว่าระบบทดสอบสุจริตธรรมนี้ไม่จำกัดว่าต้องใช้กับวงการตำรวจอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจนำไปปรับใช้ได้กับทุกที่ที่มีสถานการณ์คอร์รัปชัน อย่างเช่นวงการตุลาการ ข้าราชการอื่นๆ ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน หรือแม้กระทั่งการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยอาจมีการจำลองสถานการณ์ที่พบว่าเป็นจังหวะที่บริษัทมักจะเข้ามาติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยหากพบว่าบริษัทใดหลวมตัวเข้ามาติดสินบน ก็ให้ขึ้นบัญชีดำ ตัดออกจากการประมูลไปเลย

อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังของการใช้ระบบทดสอบสุจริตธรรมอย่างนี้ก็คือ ต้องมีการจำลองสถานการณ์ให้พอเหมาะพอสม ไม่สุดโต่งเกินไป อย่างเช่นไม่ไปเสนอเงินสินบนเป็นจำนวนล้นพ้นเสียจนกระทั่งคนที่ปกติไม่คอร์รัปชันก็ยังอยากจะเลิกเป็นคนดีแล้วเอาสตางค์แทน เพราะเขาบอกว่าแบบนั้นจะไม่ถือเป็นบททดสอบสุจริตธรรมแล้ว แต่เป็น “การวางกับดัก (Entrapment)” ให้คนดีๆ เสียคน อันเป็นการผิดวัตถุประสงค์ นอกจากนั้น หากจะนำระบบนี้เข้ามาใช้จริงๆ ก็ต้องดูไปจนถึงกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศว่าต้องปรับต้องแก้หรือไม่ด้วย เพราะบางที กฎหมายจะไม่ยอมรับให้เอาหลักฐานที่เกิดจากการจัดฉากอย่างนี้มาเอาผิดคนในคดีอาญา

การนำระบบทดสอบสุจริตธรรมเข้ามาใช้ในวงการตำรวจนับเป็นหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจ เพราะตามการสำรวจขององค์การเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศบอกว่า จากคนไทย 1,000 คน ร้อยละ 70 เชื่อว่าตำรวจนี่แหละที่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันมากที่สุด มากเสียยิ่งกว่านักการเมืองและข้าราชการอื่นด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าถ้าแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ความมั่นใจในรัฐบาลก็จะเพิ่มขึ้นอีกมาก แล้วถ้าความมั่นใจในรัฐบาลมีมากกว่าความมั่นใจในรัฐประหารเมื่อใด ประชาธิปไตยของเราก็จะได้มีหวังมั่นคงกับเขาเสียที

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 11 สิงหาคม 2557