ThaiPublica > คอลัมน์ > จีนเอาจริงปราบโกง…แล้วไทยล่ะ

จีนเอาจริงปราบโกง…แล้วไทยล่ะ

9 กันยายน 2013


หางกระดิกหมา

ใครที่เคยนึกว่าจีนจะไม่เอาจริงกับการปราบคอร์รัปชันอาจกำลังต้องคิดใหม่

ตามอย่างที่เคยเล่าไปแล้ว หลังจากเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ก็โหมโรงเรื่องคอร์รัปชันเป็นการเอิกเกริก มีการออกมาตรการระงับความฟุ่มเฟือยของเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายอย่าง ทั้งห้ามปิดถนน ห้ามดูงาน ห้ามพิธีต้อนรับ ฯลฯ แล้วก็ประกาศจะฟาดไม่ยั้งทั้ง “เสือ” และ “แมลงวัน” กล่าวคือเจ้าหน้าที่คนใดก็ตามที่โกงกินประเทศไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อย

จะมีแมลงวันถูกสีจิ้นผิงตีตายไปกี่ตัวแล้วก็ไม่อาจรู้ได้ แต่ที่แน่ๆ คือในหลายเดือนที่ผ่านมามีเสือตัวใหญ่ๆ ถูกจัดการตามนโยบายปราบคอร์รัปชันนี้จนเขี้ยวหลุดขนร่วงไปหลายตัว เช่น นายหลิว จื้อจุน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการรถไฟของจีน ซึ่งถูกพิพากษาโทษประหารเพราะรับสินบน นายหลิว เต้อหนาน อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งถูกปลดจากตำแหน่งและกำลังจะถูกดำเนินคดีเรื่องทุจริตในหน้าที่ และที่เป็นข่าวครึกโครมกันมากในตอนนี้ ก็คือข่าวการปลดนายเจียง เจียหมิน ผู้อำนวยการคณะกรรมการกำกับดูแลทรัพย์สินของรัฐ (Asset Supervision and Administration Commission: SASAC) โดยนายเจียงถูกปลดด้วยข้อหา “ฝ่าฝืนวินัยพรรคอย่างรุนแรง” ซึ่งสำนวนอย่างนี้คนทั่วไปฟังแล้วอาจไม่รู้จะนึกถึงอะไรได้นอกจากนิยายกำลังภายใน แต่ผู้ชำนาญการการเมืองจีนบอกว่านี่เป็นสำนวนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใช้หมายถึงการทุจริตคอร์รัปชันโดยตรงเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ที่เป็นข่าวครึกโครมก็เพราะตำแหน่งของนายเจียงนั้นเป็นตำแหน่งที่ใหญ่โตมาก เนื่องจากนายเจียงนั้นเป็นทั้งสมาชิกของคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งถือได้ว่าเป็นองค์คณะชั้นอีลีทของการเมืองจีน และ SASAC นั้น แท้จริงแล้วก็คือองค์กรที่มีอำนาจบริหารเหนือบริษัทรัฐวิสาหกิจกว่าหนึ่งร้อยบริษัท การที่คนชั้นนายเจียงมาถูกบี้เอาเหมือนคนไม่มีอะไรนั้น จึงออกจะเป็นข่าวที่แสดงให้เห็นความเอาจริงเอาจังและเด็ดขาดในนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของสีจิ้นผิงได้เป็นอย่างดี

ยิ่งกว่านั้น ความผิดของนายเจียงในครั้งนี้ ยังเป็นความผิดครั้งนายเจียงยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานอยู่ที่ China National Petroleum Corporation (CNPC) ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่กุมกิจการน้ำมันของประเทศผ่านบริษัทลูกอีกหลายบริษัท คนจึงมองกันว่านโยบายปราบคอร์รัปชันของสี จิ้น ผิง นั้นทำท่าจะไม่ได้หยุดอยู่แค่การคอร์รัปชันในภาคข้าราชการเสียแล้ว แต่จะขยายผลไปจนถึงภาครัฐวิสาหกิจ ซึ่งถือเป็นภาคส่วนที่มีขนาดใหญ่มหาศาลในเศรษฐกิจของจีน และปกติแล้วมักจะเป็นแหล่งสวาปามของเสือโหยตัวใหญ่ๆ ทั้งหลายอีกด้วย

ถ้ามองในแง่นี้ การปราบคอร์รัปชันของจีนอาจให้ผลเป็นการสังคายนารัฐวิสาหกิจของจีนทั้งระบบทีเดียว ซึ่งเรื่องนี้ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะตามอย่างที่รู้กัน เศรษฐกิจของจีนนั้นใช้รัฐนำ คืออะไรที่เป็นเรื่องสำคัญๆ จีนจะจับทำรัฐวิสาหกิจหมด ไม่ว่าพลังงาน ไฟฟ้า เหล็ก โทรคมนาคม หรือต่อเรือ โดยเมื่อสิ้นปี 2011 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีนมีรัฐวิสาหกิจรวมกันเป็นจำนวนถึง 144,700 แห่ง

แต่อย่างที่ได้บอกในคอลัมน์นี้หลายครั้งแล้ว ปัญหาก็คือว่า แม้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ ทางหนึ่งจะมีประโยชน์ในแง่การเป็นหัวหอกบุกเบิกปูรากฐานเศรษฐกิจหลักๆ ให้กับประเทศ แต่โดยธรรมชาติของรัฐวิสาหกิจเองที่เป็นของผูกขาด ไม่ต้องแข่งขันกับใคร มีทั้งรัฐคอยให้เงินสนับสนุน กู้เงินก็เสียดอกเบี้ยถูกกว่าเอกชน แถมยังไม่ค่อยถูกบังคับให้เปิดเผยข้อมูลประจานตัวเองอีก เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐวิสาหกิจไม่มีเหตุจะต้องกระเสือกกระสนพัฒนาประสิทธิภาพของตัวเอง ยิ่งนานไปๆ รัฐวิสาหกิจจึงมีแต่จะประกอบการห่วยลงเรื่อยๆ

อย่างของจีนนี่ชัดเลยว่าจากไตรมาสแรกของปีที่แล้วที่กำไรของรัฐวิสาหกิจเคยโตร้อยละ 7.7 นี่ พอมาไตรมาสแรกปีนี้กลับตกไปเหลือร้อยละ 5.3 เท่านั้น ยังไม่ต้องพูดถึงว่าสภาพแวดล้อมที่ไม่ต้องมีการแข่งขันนั้นถือเป็นระบบนิเวศน์ชั้นเลิศของพวกแมลงคอร์รัปชัน เพราะในเมื่อกิจการไม่ต้องห่วงเรื่องประโยชน์สูงประหยัดสุด จะโกงกินงบกันมากเท่าไหร่ก็สามารถทำได้ตามอัธยาศัย การที่สี จิ้น ผิง ลงมาปราบคอร์รัปชันในภาครัฐวิสาหกิจอันเป็นรังคอร์รัปชันอย่างนี้ จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องให้คะแนนความจริงใจอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์บ้านเราบางฉบับก็มองว่าการเช็คบิลคนนู้นคนนี้ของสี จิ้น ผิง นั้นไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์สูงส่งอย่างที่ว่ามานี้เลย แต่เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ นัยว่าคนที่สีจิ้นผิงจัดการไปนั้นส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นคนใกล้ชิดของคู่แข่งทางการเมืองของสี จิ้น ผิง เอง ดังนั้น อย่าไปหวังว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรจริงจังในเรื่องสถานการณ์คอร์รัปชันของจีน เพราะทุกอย่างที่ทำ เอาเข้าจริงแล้วก็เป็นแค่งิ้วทางการเมืองของสี จิ้น ผิง ที่เอาไว้บั่นทอนศัตรูและสร้างบารมีตัวเองเท่านั้น

ผมไม่รู้ว่าการวิเคราะห์อย่างหลังนี่จริงเท็จแค่ไหน รู้แต่ว่ามันเป็นการวิเคราะห์ที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ เพราะฟังแล้วก็ไม่ได้คติอะไรขึ้นมา ไม่ทำให้เราอยากลุกขึ้นมาปราบคอร์รัปชันเพราะเห็นว่าจีนทำได้เราก็ทำได้ มีแต่จะให้รู้สึกว่าคอร์รัปชันเป็นสัจธรรม ส่วนการต่อต้านคอร์รัปชันกลับเป็นความเพ้อฝันหรือเรื่องปลอมๆ ไปเสียหมด

แล้วเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันนี้ ถ้าไม่เริ่มด้วยความเชื่อว่ามันเป็นไปได้เสียก่อนแล้ว จะหวังให้มันนำไปสู่การทำจริงมันก็คงยากเต็มที

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 9 กันยายน 2556