ThaiPublica > คอลัมน์ > ซ่อมสื่อฯ เพื่อสกัดโกง

ซ่อมสื่อฯ เพื่อสกัดโกง

25 สิงหาคม 2014


หางกระดิกหมา

อาทิตย์ที่แล้วรู้สึกจะกระดิกหางเร็วไปหน่อย

เพราะปรากฏว่าการที่ 6 องค์กรยกกันไปยื่นจดหมายเปิดผนึกยุให้มีการออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐนั้น สุดท้ายไม่มีสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เท่าไหร่ มีแต่ออกข่าวช่องเล็กช่องน้อย หรือสื่อออนไลน์ที่ไม่ใช่สำนักข่าวหลัก ไม่รู้ข่าวนี้มันมโนสาเร่เกินไปหรืออย่างไร คราวหน้าจะยื่นอะไร เห็นทีต้องเตรียมน้ำแข็งไปเทกันให้เปรี้ยงปร้างด้วย สื่อจะได้เห็นว่าเป็นสาระ

อันที่จริง เมื่อคำนึงว่าใน 6 องค์กรที่ยกกันไปนั้นเป็นองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนอยู่ถึง 4 องค์กร ก็จะต้องบอกว่าการไม่เป็นข่าวนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะในภารกิจการต่อต้านคอร์รัปชันนั้น สื่อมวลชนถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุด นโยบายปฏิรูปทั้งหลายนั้น นอกจากนักการเมืองแล้ว ก็มีแต่ประชาชนนี่แหละที่จะเป็นคนปั้นแต่งและฟูมฟักให้เกิดขึ้นได้ แล้วสิ่งที่ประชาชนปั้นแต่งจะขึ้นอยู่กับอะไร ถ้าไม่ใช่ข้อมูลทั้งหลายที่สื่อเอามากรอกหูกรอกตาประชาชนอยู่ทุกวัน

เคยมีรายงานชื่อ The Media’s Role in Curbing Corruption ของ The World Bank Institute แยกแยะบทบาทของสื่อในการต่อต้านคอร์รัปชันไว้หลายประการ เช่น

หนึ่ง การเปิดโปงกรณีคอร์รัปชันของสื่อมวลชน จะทำให้นักการเมืองหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต้องถูกเด้งออกจากตำแหน่งอันเนื่องมาจากแรงกดดันของประชาชนหรือการดำเนินคดีทางกฎหมาย เรื่องอย่างนี้หาตัวอย่างได้ถมเถจากประเทศในแถบอเมริกาใต้ เช่น กรณีหนังสือพิมพ์ Hoy เปิดโปงเรื่องที่ประธานาธิบดีบูคารัมของประเทศเอกวาดอร์เอาเงินบริจาคช่วยคนจนที่ระดมได้มาใช้ส่วนตัวจนทำให้สุดท้ายบูคารัมถูกรัฐสภาอัปเปหิออกจากตำแหน่ง หรือกรณีที่หนังสือพิมพ์ El Universal เปิดเผยเรื่องที่ประธานาธิบดีเปเรซของเวเนซุเอลายักยอกเงินกองทุนกว่า 17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จนนำไปสู่กระบวนการยื่นถอดถอนโดยรัฐสภา

ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่สื่อไม่อาจทำหน้าที่อย่างนี้เพราะถูกเซ็นเซอร์บ้าง ถูกปิดไปเลยบ้าง อย่างเช่นอินโดนีเซียในสมัยซูฮาร์โตนั้น คอร์รัปชันก็จะงอกงาม นโยบายเฮงซวยอะไรก็เป็นไปได้ทั้งหมด เช่น ลูกหลานของซูฮาร์โตสามารถเป็นเจ้าของกิจการสารพัดของประเทศตั้งแต่การปลูกกานพลูไปจนกระทั่งทางด่วนหรือโทรคมนาคมได้โดยไม่ต้องตอบคำถามสื่อ จนสุดท้ายก็นำมาซึ่งหายนะทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ

สอง สื่อมีส่วนช่วยให้องค์กรที่มีหน้าที่ปราบปรามคอร์รัปชันแข็งแรงและมีประสิทธิผลดี โดยแม้บางครั้ง สื่อเพียงรายงานผลการทำงานขององค์กรเหล่านี้อย่างเป็นกิจวัตร (routine) สม่ำเสมอ ไม่ได้ถึงกับเปิดโปงชี้ตัวคนทำผิดได้ชัดๆ แต่ก็พอกับการทำให้ประชาชนจับจ้องกวดขันการทำงานขององค์กรเหล่านี้ได้ ซึ่งเพียงเท่านั้นก็ส่งผลดีต่อเนื่องอย่างมากมาย คือ หนึ่ง สายตาจับจ้องของประชาชนจะช่วยทำให้การแทรกแซงองค์กรเหล่านี้จากภาคการเมืองเกิดได้ยากขึ้น และ สอง เวลามีคนรู้เห็นเหตุการณ์คอร์รัปชัน คนก็พร้อมจะยอมเสี่ยงให้ข้อมูลกับทางการมากขึ้น เพราะรู้ว่าสื่อคอยกระตุ้นสังคมวงกว้างให้ตื่นตัวและยืนอยู่ข้างตน ไม่ได้เล่นแต่ข่าวโง่ๆ ให้ตนสู้อยู่คนเดียว

สาม สื่อที่เป็นอิสระ ไม่ได้ไม่เสียกับใคร ย่อมอยู่ในฐานะที่จะเห็นได้ชัดว่ากฎหมายต่างๆ ในประเทศนั้น ตรงไหนยังบกพร่อง หรือเป็นจุดอ่อนให้เกิดการคอร์รัปชัน และช่วยแนะนำทางแก้ให้ได้ ซึ่งสุดท้ายอาจทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องรับลูกไปพิจารณาแก้ไขกฎหมายหรือช่องโหว่ต่างๆ ตามที่สื่อแนะจริงๆ เช่น หนังสือพิมพ์ Miami Heralds ที่เคยออกซีรีส์บทความวิเคราะห์เชื่อมโยงการคอร์รัปชันในลาตินอเมริกากับระบบธนาคารของสหรัฐฯ จนสุดท้ายทำให้เกิดการแก้ไขกฎหมายควบคุมธนาคารเพื่อปิดช่องโหว่ตามที่บทความชี้เป้า

สี่ แม้ในบางครั้ง การเอาผิดทางกฎหมายอาจเกิดไม่ได้ทันที แต่สื่อก็อาจทำในสิ่งที่กฎหมายทำไม่ได้ คือสร้างกระแสการต่อต้านรัฐบาลในการเลือกตั้งซึ่งในที่สุดอาจทำให้นักการเมืองโกงๆ ไม่มีตำแหน่งจะอยู่ทั้งๆ ที่กฎหมายยังเอาผิดไม่ได้นี่แหละ เช่นกรณีที่ ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟของนายกฯ จอห์น เมเจอร์ ของอังกฤษเคยรับเงินจากนักข่าวของ Sunday Times ที่ปลอมตัวมาเพื่อแลกกับการทำการบางอย่างในสภาให้เป็นประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม จนก่อให้เกิดกระแสความรังเกียจรัฐบาลของนายจอห์น เมเจอร์ โดยทั่วไป และทำให้พอถึงเวลาเลือกตั้งปุ๊บ โทนี แบลร์ ก็ได้ชัยชนะไปอย่างถล่มทลายเอาง่ายๆ

ท้ายที่สุด บทบาทในการต้านคอร์รัปชันของสื่อยังอาจอยู่ในรูปของการให้ข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ กับประชาชน หรือองค์กรภาคประชาสังคมอย่างเพียงพอที่จะทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการถกเถียงสาธารณะเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองได้อย่างมีความหมาย เพราะที่ใดที่กลุ่มผลประโยชน์ครบทุกกลุ่มเถียงได้ ที่นั้นก็จะมีการจัดสรรทรัพยากรอย่างบิดเบือนเพราะคอร์รัปชันได้ยาก เพราะทุกคนเขาจับตาดูอยู่

อย่างไรก็ตาม การที่สื่อจะสามารถมีบทบาทในการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างนี้ได้ ก็แต่ด้วยปัจจัยรายล้อมที่ถึงพร้อม ตั้งแต่ความเป็นอิสระจากการถือครองของรัฐ การมีช่องทางเข้าถึงข้อมูล การมีเสรีภาพในการแสดงออก การได้รับการฝึกทักษะในฐานะนักข่าวเจาะ (investigative journalist) เรื่อยไปจนถึงกระบวนการควบคุมคุณภาพและจรรยาบรรณกันเองขององค์กรวิชาชีพสื่อ

แต่บอกตามตรง พอได้เห็นความไม่รู้ร้อนรู้หนาวของสื่อต่างๆ ต่อการยื่นจดหมายเปิดผนึกซึ่งแท้ที่จริงจะช่วยปลดสื่อออกจากบังเหียนการควบคุมของรัฐแล้ว ก็รู้สึกว่าการไปฝากความหวังไว้กับสื่อบางทีมันก็เลื่อนลอยเต็มทีเหมือนกัน