ThaiPublica > คอลัมน์ > คืน “สุข” แล้วอย่าลืมคืน “สิทธิ”

คืน “สุข” แล้วอย่าลืมคืน “สิทธิ”

16 มิถุนายน 2014


หางกระดิกหมา

ถ้าใครได้ดูรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ก็อาจเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งขึ้นมาว่า ความสุขของคนไทยที่ถูกเอามาคืนนั้น น่าจะมีส่วนที่ไปเอามาจากความสุขของท่านประยุทธ์เองบ้างไม่มากก็น้อย

เพราะมีอย่างที่ไหน ทั้งๆ ที่ท่านมีอำนาจล้นพ้น มีความนิยมล้นหลามอย่างทุกวันนี้ แต่ก็ไม่เห็นท่านได้เสวยสุขอะไรอย่างที่เผด็จการเขาเสวยกัน ตรงกันข้าม ฟังเรื่องที่ท่านรายงานผ่านรายการแล้วก็เห็นมีแต่ภาระ มีแต่งานขัดกระไดไชรูท่อสารพัด เช่น การจับกุมอาวุธ จัดกิจกรรมปรองดอง ป้องกันปราบปรามการทุจริต เร่งรัดโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไปจนกระทั่งกวดขันคุณภาพนมโรงเรียนและตอบสาธารณชนว่าหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวรที่จะให้ดูฟรีนั้นไปดูได้ที่โรงไหน เรียกว่าฟังแล้วก็ได้แต่ภาวนาให้คนไทยมีสุขในเร็ววัน ท่านหัวหน้า คสช. จะได้หมดทุกข์เสียที

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก “ความสุข” อีกสิ่งหนึ่งที่ท่านประยุทธ์ต้องไม่ลืมที่จะคืนให้แก่คนไทยก็คือ “สิทธิ” มนุษยชนขั้นพื้นฐานต่างๆ ดังที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเพิ่งแถลงเตือนมาว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยยังน่าเป็นห่วง และบอกอีกว่า “มีรายงานบุคคลจำนวนมากยังคงถูกควบคุมตัวโดยไม่มีกฎเกณฑ์ และยังคงมีข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิการแสดงออก การรวมกลุ่มและชุมนุมกันอย่างสันติ ซึ่งเหล่านี้มิอาจยอมรับได้”

แน่นอน ลำพังการถูกสังคมนานาชาติตำหนิอย่างเดียว อาจไม่ใช่เรื่องที่ท่านประยุทธ์ต้องกลัว เพราะถ้ากลัวสังคมนานาชาติ ป่านนี้คงไม่ตัดสินใจทำรัฐประหารมาตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ท่านควรสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทั้งๆ ที่ไม่กลัวใครอย่างนี้ ก็เพราะเป้าหมายหนึ่งของ คสช. ซึ่งคือการปราบปรามคอร์รัปชันนั้น มีความสัมพันธ์กับการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างแยกออกจากกันไม่ได้

กล่าวคือ นอกจากคอร์รัปชันจะทำให้รัฐบาลจัดสรรทรัพยากรบิดเบี้ยว เอาของที่ควรจะเป็นประโยชน์แก่คนทั้งประเทศไปบำรุงบำเรอเฉพาะแต่กับพ่อค้าที่จ่ายสินบน และปล่อยให้คนจน คนด้อยโอกาสรับเคราะห์ จนมีผลเป็นการทำร้ายความงอกงามของสิทธิมนุษยชนและสร้างปัญหาต่อเนื่องไม่รู้จบ อย่างที่ท่านประยุทธ์ก็รู้จนต้องอวตารแบ่งภาครถถังมาปราบแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คนไม่ได้นึกถึงกันก็คือสิทธิมนุษยชนนี่แหละ ที่จะเป็นเครื่องมือสำหรับปราบคอร์รัปชันได้ดีที่สุด ดังนั้น ถ้าไม่พยายามปกป้องสิทธิมนุษยชน ก็จะมีผลเท่ากับการปกป้องคอร์รัปชันเลยทีเดียว ไม่ต้องนึกอะไรมาก แค่ตัดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานอย่างเช่นเสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการชุมนุมทิ้งไป ก็เท่ากับตัดการกดดันตรวจสอบจากประชาชนและสื่อออกไปทั้งหมดแล้ว อย่างนี้จะไม่ให้หวานคอร์รัปชันอย่างไรได้

เคยมีรายงานฉบับหนึ่งของ International Council on Human Rights Policy ชื่อว่า Integrating Human Rights in the Anti-Corruption Agenda ซึ่งแสดงนโยบายในทางสิทธิมนุษยชน 3 ด้านที่เขาพบว่าจะช่วยส่งเสริมงานต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างดี ดังต่อไปนี้

หนึ่ง การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม (Participation) การที่สังคมเข้ามามีส่วนในการวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจทางการเมืองหรือออกนโยบายต่างๆ โดยไม่ได้ปล่อยให้รัฐบาลว่าไปฝ่ายเดียวนั้น จะช่วยป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบ และชี้เป้ากรณีคอร์รัปชันได้มาก ทั้งนี้ เพราะคอร์รัปชันจะแตกกอต่อกิ่งได้ ก็ตราบเท่าที่อภิชนคนเข้าถึงอำนาจสามารถออกนโยบายเติมประโยชน์เข้าตัวเองได้เรื่อยๆ โดยที่คนเล็กคนน้อยผู้เสียประโยชน์ไม่มีช่องทางจะยับยั้งหรือขัดขวาง โดยนัยนี้ การกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมย่อมเป็นการสร้างพลังในการต่อต้านให้แก่กลุ่มคนที่ไม่เคยมีปากมีเสียงเหล่านั้น และทำให้การ “เติมเงิน” ของพวกอภิชนยากขึ้นตามส่วน อย่างเช่น ม็อบเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือ กปปส. นั้น มองในหลายแง่อาจเป็นตัวปัญหา แต่ในแง่ของการขวางคอหอยคอร์รัปชัน และพิทักษ์ผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นตัวเอง (แม้ว่าอาจจะอ้างชาติ อ้างเจ้า อ้างประชาธิปไตยแถมๆ ไปบ้าง) นั้น ต้องเรียกว่าศักดิ์สิทธิ์และพึ่งได้ไม่น้อย

สอง ความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูล (Transparency and Access to Information) คอร์รัปชันนั้นเป็นของที่ต้องกินในที่ลับ การสร้างความโปร่งใสจึงเป็นวิธีที่จะขัดขวางการกินของคอร์รัปชันได้อย่างชะงัด ซึ่งการสร้างความโปร่งใสนี้สามารถนำไปจับได้กับแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง การทำงบประมาณ การดำเนินงานขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม เงินสนับสนุนของพรรคการเมือง ไปจนถึงพฤติกรรมของรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชน ยิ่งกว่านั้น การสร้างความโปร่งใสก็จะไปสนับสนุนเรื่องการมีส่วนร่วมข้างต้น เพราะคนจะมีส่วนร่วมอย่างได้จำนวนหรือได้คุณภาพเท่าใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนเหล่านั้นได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และทันสมัยขนาดไหน คนที่มีข้อมูลมากก็จะยิ่งรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกร้องได้เพียงใด และประเมินสถานการณ์ได้เด็ดขาดว่าสิ่งที่ตนได้รับอยู่นั้นมันพอเพียงหรือเปล่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกำหนดขอบเขตและความเข้มข้นของการมีส่วนร่วมในที่สุด

สาม ความรับผิด (Accountability) หมายถึงภาวะที่บุคคลผู้อยู่ในอำนาจมีหน้าที่จะต้องอธิบายพฤติกรรมของตนต่อประชาชนให้ดี และอาจต้องรับผิดหรือโทษ ในกรณีที่พฤติกรรมนั้นมันฟังไม่ขึ้นหรือไม่ได้มาตรฐาน ข้อนี้นับเป็นหัวใจของทั้งสามข้อ เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ดี ความโปร่งใสก็ดี ล้วนมีขึ้นมาเพื่อจะได้ใช้จัดการกับผู้อยู่ในอำนาจที่ไม่ได้เรื่องทั้งสิ้น โดยจะไปหวังพึ่งหน่วยงานรัฐหรือองค์กรอิสระอื่นๆ เป็นเจ้าภาพคอยเอาผิดผู้อยู่ในอำนาจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะหน่วยงานเหล่านั้นจะใช้การได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับตัวแปรเยอะเหลือเกิน ตั้งแต่โครงสร้างองค์กร ความเป็นอิสระ การคัดเลือกเจ้าหน้าที่ แหล่งที่มาของงบประมาณ อย่าว่าแต่องค์กรเหล่านี้เป็นที่แรกๆ ที่จะถูกผู้อยู่ในอำนาจแทรกแซงทำหมันให้เชื่องเพื่อไม่ให้เป็นภัยต่อตนในภายหน้า ความรับผิดที่ผลักดันมาจากประชาชน (เช่น สื่อเจาะเรื่องคอร์รัปชัน ประชาชนทั่วไปไปร้องเรียนศาลปกครอง องค์กรวิชาชีพจี้โปรเจกต์ที่ผิดมาตรฐาน นักธุรกิจประท้วงมาตรฐานที่เอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง ฯลฯ) จึงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้เสมอ

จริงอยู่ ใจจริงท่านประยุทธ์อาจจะคิดจำกัดสิทธิเสรีภาพเฉพาะจำพวกที่จะนำไปสู่การแตกแยกหรือความรุนแรง โดยไม่ได้คิดจะจำกัดการแสดงออกเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างที่ว่ามานี้แต่อย่างใด กระนั้น ในทางปฏิบัติ การจะแยกแยะระหว่างสองเรื่องนี้ บางทีมันก็ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ ยิ่งสำหรับนานาอารยประเทศเขายิ่งเห็นว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันด้วยซ้ำ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดก็คือ ในเมื่อวิกฤติต่างๆ ที่เคยร้อนแรงมันค่อยจะคลายไปบ้างแล้ว ท่านประยุทธ์ก็ควรจะรีบยกเลิกมาตรการที่เป็นปัญหาโดยเร็วที่สุด

และนั่นจึงจะเป็นการคืนความสุขที่แท้จริง เพราะความสุขที่ไม่ได้มากับสิทธินั้น จะอย่างไรมันก็คงไม่เรียกว่าครบถ้วนไปได้

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 6 มิถุนายน 2557