ThaiPublica > เกาะกระแส > เอ็ทด้าเผยพฤติกรรมคนไทยใช้อินเทอร์เน็ต 7.2 ชม./วัน เน้นคุย 80% เตือนการแชร์/โชว์ข้อมูลส่งผลเสี่ยงต่อความปลอดภัยสูง เพศทางเลือกมาแรงใช้เน็ตมากกว่าเพศอื่น

เอ็ทด้าเผยพฤติกรรมคนไทยใช้อินเทอร์เน็ต 7.2 ชม./วัน เน้นคุย 80% เตือนการแชร์/โชว์ข้อมูลส่งผลเสี่ยงต่อความปลอดภัยสูง เพศทางเลือกมาแรงใช้เน็ตมากกว่าเพศอื่น

7 สิงหาคม 2014


เมื่อ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ทด้า (ETDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ดูแลภัยคุกคามทางด้านอินเทอร์เน็ต และส่งเสริมให้การใช้งานอีคอมเมิร์ซของไทยมีประสิทธิภาพ เปิดเผยถึงผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2557 โดยนางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สพธอ. กล่าวถึงผลสำรวจพว่าอินเทอร์เน็ตได้เพิ่มบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้นกว่าเดิม โดยค่าเฉลี่ยของการใช้อินเทอร์เน็ตต่อสัปดาห์เพิ่มสูงขึ้นจากการใช้งานโดยเฉลี่ย 32.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือใช้เวลาโดยประมาณ 4.6 ชั่วโมงต่อวัน ในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 50.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือใช้เวลาโดยประมาณ 7.2 ชั่วโมงต่อวัน หรือคนใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ของวันเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังพบว่า ‘กลุ่มเพศที่สาม’ มีจำนวนชั่วโมงการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูง โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 62.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

รายงาน Thailand Internet User Profile 2014 ซึ่งจัดทำเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่มีการสำรวจกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2542-2553 โดย NECTEC ต่อมาได้ก่อตั้งเอ็ทด้าขึ้นในปี 2554 และได้ทำการสำรวจนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยภายในรายงานนั้นมีเนื้อหาผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่สุ่มเสี่ยง และผลการสำรวจพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่

จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เนต

การสำรวจมีขึ้นในเดือน เม.ย. – พ.ค. 57 มีผู้เข้ามาตอบ 16,596 คน ผ่านการทำสำรวจออนไลน์ เช่น จดหมายเวียน แบนเนอร์ โซเชียลมีเดีย อีเมล เว็บไซต์ และอื่นๆ แบ่งเป็น ชาย 43.1% หญิง 55.6% และเพศทางเลือก 1.3% ซึ่ง 91% ของผู้ตอบแบบสอบถามนั้นใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 5 ปี

ชั่วโมงการใช้งานของปี 2557 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มจากปีที่แล้วที่มีจำนวนที่ 32.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คิดเป็นการใช้ต่อวัน 7.2 ชั่วโมงต่อวัน หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของเวลาต่อวัน และผลสำรวจยังระบุอีกว่าเพศทางเลือกมีจำนวนการใช้อินเทอร์เน็ตสูงกว่าเพศอื่นๆ ที่ 62.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพศชายอยู่ที่ 51.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามด้วยเพศหญิง 49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ทั้งนี้มีการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน 77.1% ตามด้วย คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 69.4% และคอมพิวเตอร์พกพา 49.5% โดยช่วงที่มีการใช้งานมากที่สุดคือช่วงบ่ายถึงค่ำ 16.00 – 20.00 น.

รายงานยังระบุอีกว่ากิจกรรมยอดฮิตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือคือ การใช้เครือข่ายออนไลน์ ตามด้วยการอ่าน e-books หรือข่าว และสุดท้ายค้นหาข้อมูล นอกจากนี้เพศที่สามยังมีจำนวนการใช้เครือข่ายออนไลน์ ซื้อของออนไลน์ และอ่าน e-books หรือข่าวมากที่สุดกว่าเพศชายและเพศหญิง

เปรียบเทียบผู้ใช้อินเตอร์เน็ต

นอกจากนี้ เฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์อันดับหนึ่งของการใช้ ตามด้วยไลน์ (Line) และ กูเกิลพลัส (Google+) ซึ่งการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์นี้อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว เช่น การเช็คอินเพื่อบอกสถานที่ คิดเป็น 71.5% การแชร์รูปในสถานะที่เป็นสาธารณะ คิดเป็น 70.7% และการโชว์สถานะเป็นสาธารณะคิดเป็น 57.5%

พฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ล้วนสุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับตามองโดยมิจฉาชีพหรือผู้ไม่ประสงค์ดีที่อาจจะติดตามเฝ้าดูพฤติกรรมของผู้ใช้งานจากการเช็ค แชร์ และโชว์ เพื่อหวังผลในทรัพย์สินเงินทองหรือชีวิต จากผลการสำรวจพบว่า กิจกรรมดังกล่าวข้างต้นเป็น 3 กิจกรรมสุดฮิตในตอนนี้ โดยเฉพาะเพศที่สามจะมีสัดส่วนการทำกิจกรรมดังกล่าวสูงกว่าเพศชายและหญิง ในขณะที่คนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจะมีความสุ่มเสี่ยงในเรื่องของการแชร์ภาพ/ข้อความที่อาจจะไม่เหมาะสม โดยไม่ตรวจสอบความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูลและแหล่งที่มาก่อน

ส่วนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ จากผลการสำรวจ พบว่ามีคนซื้อของผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตพีซี เพียง 38.8% และมีคนทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เพียง 29.8% เท่านั้น

นอกจากนี้ มูลค่าเฉลี่ยของการซื้อสินค้าและบริการผ่านอุปกรณ์มือถือคือ 4,000 บาท ซึ่งการซื้อ 60.1% นั้นทำโดยผ่านการโอนทางธนาคาร 42.8% ผ่านบัตรเครดิต และ 16.8% ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส นอกจากการซื้อสินค้าและบริการแล้วยังมีการทำธุรกรรมทางการเงินมูลค่าสูงสุดเฉลี่ยที่ 15,000 บาทต่อครั้ง 54.3% ผ่านหน้าเว็บไซต์ธนาคาร 45.7% ผ่านแอปพลิเคชัน

พฤติกรรมเช่นนี้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้บอกเลขที่บัตรเครดิตหรือเลขที่บัญชีธนาคารผ่านเว็บไซต์ที่ทำเลียนแบบ หรือที่เรียกว่า ‘Phishing’

นอกจากที่กล่าวไปแล้วข้างต้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตไม่ปลอดภัยคือการไม่เปลี่ยนรหัสผ่านอุปกรณ์ต่างๆ การใช้งานอีเมล และโซเชียลมีเดีย ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนอกจากจะใช้งานทางโซเชียลมีเดียแล้ว ยังใช้งานด้านธุรกรรมทางการเงินอีกด้วย

โดยนางสาวฐาดินี รัชชระเสวี อดีตบรรณาธิการแฟชั่น นิตยสารแมรี แคลร์ และเจ้าของเสื้อผ้าแบรนด์ Mandala กล่าวถึงการค้าบนโลกออนไลน์ว่า ตนเคยถูกหลอกผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊กร้านเสื้อผ้าของตนเนื่องจากไม่ได้เปลี่ยนรหัสผ่านเป็นเวลานาน จนเกือบเสียเงินกว่า 7,500 บาท แต่ตนสงสัยก่อนจึงยกเลิกทัน จึงอยากเตือนให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ใช้บริการการเงินออนไลน์ระมัดระวังด้วย

ทั้งนี้ สพธอ. ได้เตือนผู้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ในการทำธุรกรรมออนไลน์ว่า การโอนเงินผ่านเว็บไซต์ธนาคารเสี่ยงต่อการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงทำหน้าเว็บเลียนแบบ หรือที่เรียกว่า ‘Phishing’ จึงแนะนำให้ใช้แอปพลิเคชันของธนาคาร ซึ่งปลอดภัยกว่าการใช้หน้าเว็บ และ สพธอ. ยังแนะนำให้ใส่ใจในการใส่รหัสกับอุปกรณ์เคลื่อนที่ ล้างข้อมูลก่อนขายเครื่อง และติดตั้งโปรแกรม Anti-Virus ในคอมพิวเตอร์

อ่านรายงาน Thailand Internet User Profile 2014