ThaiPublica > เกาะกระแส > Bangkok Fintech Fair 2018 (ตอนจบ) : แบงก์ต้อง Disrupt ตัวเองก่อนถูก Disrupt

Bangkok Fintech Fair 2018 (ตอนจบ) : แบงก์ต้อง Disrupt ตัวเองก่อนถูก Disrupt

26 มีนาคม 2018


ต่อจากตอนที่2

งาน Bangkok Fintech Fair 2018 จัดเพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินด้วยการนำเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) มาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่ม SMEs และผู้บริโภครายย่อย นอกจากจะมีโชว์เคสนวัตกรรมจากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมงานแล้ว ยังมีการเสวนาในหลายหัวข้อ ที่ผู้ร่วมอภิปรายซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์และองค์กรชั้นนำนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจ โดยเฉพาะมุมมองของการก้าวสู่ Digital Bank และการส่งเสริมการพัฒนา Fintech

ทางด้านวงเสวนาในหัวข้อ “Enhancing FinTech Ecosystem & Financial Infrastructure: Paving the Way for the Future of Digital Finance” มีนายบุญทักษ์ หวังเจริญ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และ ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีเกิล ไดรฟ์ จำกัด ผู้ร่วมพัฒนา iTax แอปพลิเคชันจัดการภาษี และเป็นกรรมการบริหารของสมาคมฟินเทคประเทศไทย และมีนายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายนั้น มีการนำเสนอความคิดเห็นมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบริการทางการเงินในยุคดิจิทัลอย่างมาก

เสวนา Enhancing FinTech Ecosystem & Financial Infrastructure: Paving the Way for the Future of Digital Finance โดยนายบุญทักษ์ หวังเจริญ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB (ซ้ายสุด) นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. (ที่ 2 จากซ้าย) นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงาน ETDA (กลาง) และ ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ผู้ร่วมพัฒนา iTax แอปพลิเคชันจัดการภาษี (ที่ 2 จากขวา) และมีนายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย ดำเนินการอภิปราย

นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้ดำเนินการเสวนา เริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า ระบบนิเวศที่แข็งแรงของฟินเทคควรเป็นอย่างไร และ 3-4 ปีที่ผ่านมามีการพูดถึงฟินเทคกันมากในแวดวงการเงิน มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ฟินเทคเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาผลิตภัณฑ์บริการบางอย่างให้ดีขึ้น บริการลูกค้าได้ดีขึ้น ในปี 2016 มีข้อมูลจาก Accenture ว่าเงินลงทุนในฟินเทคสูงถึงกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในประเทศไทยเองมีฟินเทคที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทยจำนวน 150 ราย เพิ่มจากยอด 50 รายในปี 2016 รวมทั้งได้ยกผลการสำรวจของ PwC มาว่า 83% ขององค์กรธุรกิจที่ตอบคำถามเชื่อว่า ธุรกิจมีความเสี่ยงที่จะถูก disrupt จากฟินเทค ในความเห็นของผู้ร่วมอภิปรายมองว่าฟินเทคมีผลต่อธุรกิจการเงินมากน้อยแค่ไหน ผู้เล่นต่างๆ จะตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร

แบงก์ต้อง disrupt ตัวเองก่อนถูก disrupt

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ กล่าวว่า อยากเปลี่ยนคำถามเพราะการถามแบบนี้เหมือนกับว่ามีข้อสันนิษฐานมาแล้วว่าแบงก์ไม่ยอมเปลี่ยน และควรจะถามว่าแบงก์ซึ่งเป็นองค์กรหลักสามารถที่จะมีส่วนร่วมในการนำเอาเทคโนโลยี ด้วยการทำงานกับฟินเทคหรือ non-bank ในการสร้างสิ่งสำคัญ 2 เรื่อง คือ การบริการทางการเงินที่ทั่วถึง กับการพัฒนาประสิทธิภาพบริการทางการเงินให้เร็วขึ้น ถูกลง มีข้อมูลที่มากับการชำระเงินต่างๆ ได้อย่างไร

นายบุญทักษ์กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายของแบงก์คือประสบการณ์ในอดีต ที่ทำให้มุมมองเปลี่ยนเป็น 2 แบบ คือ หนึ่งในอดีตตั้งแต่ปี 1992 แบงก์ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจเพิ่ม เช่น หลักทรัพย์ จัดการกองทุนรวม เป็นสิ่งที่เพิ่มเข้ามา แบงก์จึงมีการตั้งบริษัทเพิ่ม และยุคนี้เมื่อมีฟินเทค แบงก์ก็ตั้งบริษัทเพิ่มเช่นกัน ซึ่งวิธีการนี้จะไม่ได้ผล เพราะหากจะให้มีผลจริงแบงก์ต้องเปลี่ยนภายในองค์กร

องค์กรแบงก์ที่เป็น bureaucratic มาก ไม่มีคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบชัดเจน การที่จะพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ก็จะช้า แม้แต่การพัฒนาร่วมกับฟินเทคก็จะช้ามาก บางครั้งเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบก็ทำให้ใช้เวลา ดังนั้นแบงก์เองก็ต้องเปลี่ยน ให้เป็นองค์กรที่ไม่เป็น bureaucratic สามารถทำงานแบบรวดเร็ว และพนักงานทุกคนต้องเห็นความเชื่อมโยงทั้งของงานที่ตัวเองทำกับความพึงพอใจของลูกค้า ต้องเข้าใจเรื่องของการทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องเข้าใจเรื่องความเสี่ยง ทุกเรื่องที่ทำมีความเสี่ยงและความเสี่ยงที่ทำอยู่ในระดับไหน เป็นสิ่งที่ต้องปรับทั้งหมดภายในองค์กร สอง ความคิดตั้งแต่เมืองไทยลงเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น core banking หรือเอทีเอ็ม ทำให้แบงก์มีความเชื่อว่า หากสามารถควบคุมระบบพื้นฐานได้ ก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน แต่เป็นสิ่งที่ไม่จริงในโลกสมัยใหม่ ที่ต้องสร้างระบบนิเวศที่ทุกคนใช้ได้ เพราะหากไม่มีระบบนิเวศที่ทุกคนใช้ ก็จะหันกลับไปใช้เงินสดกันหมด หรือใช้รูปแบบเก่าที่ไม่สามารถใช้ได้ทุกที่

“สองประสบการณ์นี้เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนอย่างมาก แต่เชื่อว่าแบงก์พร้อมที่จะเปลี่ยน ซึ่งวัฒนธรรมขององค์กรมาจากซีอีโอ ที่เป็นจุดเริ่มต้น และต้องสร้างให้เกิดความเชื่อในทุกๆระดับ สิ่งที่ต้องทำลายทิ้งอย่างแรกคือ โครงสร้างองค์กรแบบ bureaucratic สิ่งที่ต้องทำลายทิ้งทั้งหมดคือ วัฒนธรรมแบบ titlement สิ่งที่ต้องสร้างคือวัฒนธรรมแบบ achievement และเราต้อง disrupt ตัวเองก่อนที่คนอื่นจะ disrupt เรา ซึ่งองค์กรที่ล้มเหลวเป็นเพราะองค์กรนั้นล้มเหลวที่จะวางผลประโยชน์ของลูกค้าไว้สูงที่สุด” นายบุญทักษ์กล่าว

ในด้านบุคลากร นายบุญทักษ์กล่าวว่า “บุคลากรด้านไอทีของแบงก์มีสัดส่วนอย่างมากประมาณ 10% ขององค์กร ซึ่งไม่น่ากังวลนัก แต่วิตกกับที่เหลืออีก 90% มากกว่าที่เกี่ยวข้องควบคุมจัดการ ผลิตภัณฑ์ เครือข่ายสาขา การขาย การปฏิบัติงานและความเสี่ยง หากยังเป็น bureaucratic ทำงานเป็นไซโลอยู่จะเป็นปัญหาใหญ่ องค์กรไปไม่ได้ ต้องทำให้ 90% นี้มี sense of acheivement และต้องเปลี่ยนทั้งองค์กรให้คล่องตัว อยู่ในระนาบเดียว ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่จะก้าวข้ามได้ยากที่สุด”

นายบุญทักษ์กล่าวว่า ไม่สามารถบอกได้ว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับภาคธนาคาร ธนาคารเป็นผู้เล่นในระบบการเงินของประเทศ ขึ้นอยู่กับธนาคารที่จะสร้างให้ประเทศมีระบบการเงินที่มีบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ดังจะเห็นจากบัญชีเงินฝากที่มีราว 80% ของประชากร แต่ค่าธรรมเนียมการใช้บรารชำระเงินยังแพง ด้านสินเชื่อยังมีเอสเอ็มอีจำนวนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ รวมทั้งการใช้ข้อมูลที่มากับการชำระเงินเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ธปท. เปิดมุมมองใหม่

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา กล่าวว่า ใน 2-3 ปีที่ผ่านมากพัฒนาการของเทคโนโลยีก้าวกระโดด และมีส่วนในชีวิตประจำวันมากขึ้น หลายจุดก็มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรวมทั้งภาคการเงิน ซึ่งฟินเทคมาดึงผลิตภัณฑ์ออกจากการที่ต้องเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน (unbundle) โดยเฉพาะด้านการชำระเงิน สินเชื่อ และการลงทุน ทำให้มีมุมมอง 2 ด้าน ถ้าสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ทันการณ์กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะเป็นโอกาสที่จะเข้าหาตลาดใหม่ๆ ได้ สามารถที่จะนำเทคโนโลยีปรับกระบวนการ ประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่จะช่วยลดต้นทุน แต่หากปรับตัวไม่ทันก็อาจจะ disrupt ธุรกิจได้

ในภาคการเงินแม้ ฟินเทคมา unbundle ผลิตภัณฑ์ธุรกรรมของธนาคาร แต่ระบบธนาคารยังมีความสำคัญกับระบบการเงินของประเทศ เนื่องจากพัฒนาการและมีรากฐานยาวนานต่อเนื่อง มีความเข้าใจใกล้ชิดลูกค้า ธนาคารก็อาจมีแนวทางการปรับตัวรับกับฟินเทคในหลายรูปแบบ ทั้งการปรับเปลี่ยนตัวเอง หรือการดูแลสนับสนุน มีความร่วมมือ การลงทุนร่วมกับฟินเทคหรือเป็นพันธมิตร และมองว่ารูปแบบความร่วมมือสามารถทำได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ต่อยอดนวัตกรรม ก็จะเป็นประโยชน์ต่อธนาคาร

การเปลี่ยนแปลงของฟินเทคเป็นสิ่งที่แบงก์ชาติทั่วโลกตระหนักและมีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะให้สอดรับกับความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปให้ทันการณ์ วิธีการหนึ่งที่นำมาใช้คือ regulatory sandbox ให้ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการได้มาทดสอบ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เล่น ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ผู้กำกับดูแลสามารถร่วมกันดูการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้น และเป็นโอกาสให้ผู้กำกับดูแลให้ข้อเสนอแนะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงได้ทันไม่ต้องเสียเวลาในการพัฒนานาน เป็นการเรียนรู้และทำความเข้าใจไปพร้อมกัน

“แบงก์ชาติเองก็มี sandbox ขึ้นมาแล้วเมื่อประมาณ 1 ปีกว่า ปัจจุบันมีผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ 20 รายอยู่ใน sandbox หลายรายที่พัฒนาคิวอาร์โค้ดได้ออกไปแล้ว ทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น การทำงานคู่กันทั้งภาคสถาบันการเงิน non-bank ทำให้เราเปิดมุมมองใหม่ เข้าใจทั้งผู้เล่นและเข้าใจทั้งผู้บริโภคด้วย ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย” นางสาวสิริธิดากล่าว

นางสาวสิริธิดากล่าวว่า การให้ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง แต่ ธปท. ที่ทำหน้าหลายด้าน ด้านหนึ่งคือเป็นผู้กำกับดูแล อีกด้านหนึ่งเป็นผู้พัฒนาด้วย ต้องดูการพัฒนาในระบบการเงิน ดังนั้น การสร้างสมดุลระหว่างผู้พัฒนากับผู้กำกับดูแล การที่จะให้บริการทางการเงินเข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง ต้องมีผู้เล่นที่หลากหลาย สามารถมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการได้ในหลายกลุ่ม

ในด้านการกำกับดูแล ธปท. ดู 3 ด้านด้วยกัน คือ หนึ่ง ความเสี่ยง ระดับความเสี่ยง สอง การคุ้มครองผู้บริโภค และสาม ระดับของผลกระทบระบบในวงกว้าง ผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินใดที่อยู่ในระดับเดียวกับ มาตรฐานการกำกับดูแลจะใกล้เคียงกันเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการ และผู้ใช้บริการรู้สึกปลอดภัยในการใช้บริการ

”ธปท. ได้ดำเนินการปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแล หรือ regulatory guillotine เพื่อให้เท่ากันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตัดกฎเกณฑ์ที่ล้าสมัยไม่สอดคล้อง รวมทั้งทำให้ง่ายขึ้น เอื้อต่อการทำธุรกิจ นอกเหนือจากการร่วมพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานทางการเงินต่างๆ แต่ต้องทำต่อเนื่องเพื่อให้ระบบการเงินพัฒนาต่อเนื่อง ถ้าเทียบ ธปท. กับทีมฟุตบอล เดิมทำหน้าที่เป็นกองหลังคอยป้องกันและรักษาความเข้มแข็ง แต่ตอนนี้มาเป็นกองกลาง เพราะต้องส่งลูกต่อให้กับผู้เล่นหลายๆ คน เอกชนเองเป็นกองหน้าคอยทำประตู หากเราสามารถเล่นกันเป็นทีมเล่นกันอย่างดี จะทำให้ระบบการเงินของเราพัฒนาไปได้อย่างดี เทคโนโลยีการเงินก้าวไว ระบบการเงินต้องก้าวให้ทัน” นางสาวสิริธิดากล่าว

ขอสภาพแวดล้อมเอื้อเดินเร็วเท่าต่างชาติ

ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ให้ข้อมูลว่า เริ่มทำธุรกิจฟินเทคในรูปของบริษัทขนาดเล็กในช่วง 4-5 ปีก่อน ซึ่งขณะนั้นฟินเทคยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก บริษัทฟินเทคขนาดเล็กและสถาบันการเงินมีข้อแตกต่างระดับหนึ่ง โดยข้อได้เปรียบหนึ่งของธนาคารคือมีเงินทุนมาก มีลูกค้าจำนวนมาก มีเครือข่าย มีพันธมิตรจำนวนมาก แต่การเป็นองค์กรใหญ่ก็มีบุคคลากรจำนวนมาก การทำงานแต่อย่างต้องใช้เวลา และมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น การจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่หนึ่งอย่างต้องมีการอบรมพนักงานสาขาก่อน ส่วนข้อได้เปรียบของบริษัทเล็กคือ ทำงานตลอดเวลาได้ มีความรวดเร็วในการทำงาน มีทีมงานไม่มาก มีการตัดสินใจรวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายไม่สูง มีการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ธรรม์ธีร์กล่าวว่า การที่ทำอะไรได้เร็ว ทำให้เกิดความคล่องตัวหรือ การทดลองทำ เป็นวังวนไปเรื่อยๆ อันไหนที่ไม่ได้ผลก็แก้ไข อีกทั้งฟินเทคมีความกระหายในนวัตกรรม เมื่อคิดอะไรใหม่ๆ ก็มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดขึ้น ดังนั้น บริษัทฟินเทคจะโฟกัสอยู่ที่สิ่งเดียว ต่างจากบริษัทใหญ่ที่เดิมจะทำอะไรเยอะ ทำหลายอย่าง อย่างไรก็ตามปัจจุบันธนาคารหลายแห่งก้าวหน้านำฟินเทคไปมาก และมีการประสานกันระหว่างธนาคารกับฟินเทคมากขึ้น

การประสานงานระหว่างธนาคารกับฟินเทคมีประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ หนึ่ง มีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งธนาคารและฟินเทค สอง มีลูกค้าเพิ่ม โดยธนาคารมีฐานลูกค้าเดิม ฟินเทคมีฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่ ประกอบการทำงานแบบคล่องตัวและรวดเร็ว ฟินเทคจึงเป็นสิ่งเติมเต็มให้ธนาคาร

ฟินเทคที่เป็นสตาร์อัปจะให้ผู้ร่วมก่อตั้งหรือทีมงานมีความเป็นเจ้าของด้วยการร่วมถือหุ้นหรือมี stock option ทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กร เกิดความเป็นเจ้าของ แต่ไม่มีข้อจำกัดอย่างอื่น ทำให้วัฒนธรรมของฟินเทคต่างออกไปไม่มีกฎระเบียบ ทำงานเวลาไหนก็ได้

“ความท้าทายของฟินเทคคือต้องเผชิญกับการแข่งขันจากทั่วโลก ต้องพัฒนาให้เร็ว เพราะยิ่งพัฒนาได้ช้าจะเสียโอกาสในการแข่งขัน เนื่องจากเทคโนโลยีการเงินต่างจากเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ธรรมชาติของธุรกิจฟินเทคคือเร็วมาก และเกี่ยวข้องกับทุกคน ลูกค้าก็มีตัวเลือก หากฟินเทคพัฒนาได้ไม่ดี ก็จะไม่ถูกเลือก หากสภาพแวดล้อมต่างๆ เอื้อให้เราเดินได้เร็วพอๆ กับต่างชาติ ฟินเทคไทยก็มีความสามารถ” ดร.ธรรม์ธีร์กล่าว

ดร.ธรรม์ธีร์มีความเห็นต่อ sandbox ว่า การพัฒนาของฟินเทคไม่ใช่ว่าต้องรอให้ผลิตภัณฑ์นั้นเสร็จสมบูรณ์ แต่หากมีบางด้านบางอย่างที่เสร็จเรียบร้อยและใช้งานได้ ก็นำเสนอผลิตภัณฑ์นั้นเลย เพราะการทดสอบที่เวลาแม้ 1-2 เดือน โลกก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว สิ่งที่ทดสอบไปก็เปลี่ยนไปแล้ว

รัฐต้องเข้าใจโมเดลธุรกิจ

นางสุรางคณา วายุภาพ กล่าวว่า ETDA ซึ่งดูแล 2 ด้านคืออีคอมเมิร์ซกับความปลอดภัยไซเบอร์ (cyber security) มีวัฒนธรรมองค์กรแบบผสมระหว่างความเป็นรัฐกับเอกชน แต่มีที่ทำการภายนอกกระทรวง ICT เพื่อไม่ให้ถูกกลืนไปกับระบบราชการ มีการจัดสถานที่ทำงานให้เป็นแบบกเอกชน และอนุญาตให้พนักงานออกไปทำงานนอกสถานที่ได้ เช่น ร้านกาแฟ พนักงานสามารถแต่งกายแบบไปรเวตได้ เพื่อให้มีกลิ่นอายแบบเอกชนและเกิดความเป็นอิสระทางความคิด นอกจากนี้ ETDA ได้รับการติดต่อจากเอกชนจำนวนมาก แม้จะเป็นองค์กรของรัฐ เพราะไม่ได้มอง ETDA ว่าเป็นองค์กรของรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการกฎระเบียบที่มากมาย

นางสุรางคณากล่าวว่า เทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในชีวิตคนมากทุกวันนี้ ฟินเทคมีบทบาทมากขึ้น และพบว่า ประชาชนใช้เทคโนโลยีใหม่ ใช้ฟินเทคอย่างไม่รู้ตัว ปัจจุบันยอดใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยสูงถึงกว่า 82% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นกว่า 2,000% จาก 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก เช่น การใช้แอปพลิเคชันไลน์ที่อยู่บนระบบอินเทอร์เน็ต คนไทยก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ หรือใช้คิวอาร์โค้ดจ่ายเงินแต่ไม่รู้สึกว่าใช้ฟินเทค ไม่รู้สึกว่าใช้เทคโนโลยีเพราะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

“ในแง่การกำกับดูแล ETDA เชื่อในหลักการให้กำกับดูแลตัวเอง (self-regulated) ที่อุตสาหกรรมได้ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง และมีกำหนดทิศทางด้วยตัวเอง เพราะกลไกของรัฐตามไม่ทัน ประกอบกับการที่ไม่มีพรมแดน ไม่มีอาณาเขต การผ่าตัดรูปแบบธุรกิจเป็นสิ่งที่รัฐต้องเข้าใจ เพราะหากรัฐไม่เข้าใจ การพัฒนาจะไม่เกิดขึ้น ปัจจุบันเวลาที่รัฐจะวางกฎระเบียบจะคิดว่าต้องควบคุมไว้ก่อน แต่แท้จริงการปลดปล่อยกลับได้ผลมากกว่า นี่คือสิ่งที่ต้องทำ” นางสุรางคณากล่าว

นางสุรางคณากล่าวว่า สิ่งที่ต้องคำนึงคือ แม้จะมีการพูดถึงฟินเทคมากมายแต่ยังขาดจุดเชื่อมประชาชน SME แม้จะใช้ฟินเทคในชีวิตประจำวันอย่างไม่รู้ตัว แต่ยังขาดความเข้าใจ ขาดการให้ความรู้ความเข้าใจอย่างชัดเจน เมื่อถึงจุดหนึ่งทำให้ขาดความไว้วางใจระหว่างกัน ภาครัฐผู้กำกับดูแลควรต้องมีการหารือหรือประสานความร่วมมือกันมากขึ้น และการใช้กฎระเบียบที่เคร่งครัดจากรัฐ อาจจะทำให้เดินผิดทาง