ThaiPublica > เกาะกระแส > WWF ชี้โอกาสสุดท้ายของไทยในการแก้ปัญหาการค้างาช้างผิดกฏหมาย

WWF ชี้โอกาสสุดท้ายของไทยในการแก้ปัญหาการค้างาช้างผิดกฏหมาย

13 กรกฎาคม 2014


วันที่ 13 กรกฎาคม 2557 WWF (World Wide Fund for Nature)ได้เผยแพร่เอกสารข่าวว่า ผลการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITES) ที่ผ่านมา ได้มีข้อตกลงเรียกร้องให้ประเทศไทยออกกฏหมายเพื่อปกป้องประชากรช้างด้วยการสกัดกั้นการค้างาช้างผิดกฏหมายจากทวีปแอฟริกามิให้เข้ามาภายในประเทศไทย นอกจากนี้ทางไซเตสยังเรียกร้องให้ประเทศไทยจัดทำระบบการลงทะเบียนสำหรับงาช้างภายในประเทศและการลงทะเบียนผู้ค้าขายสินค้าจากงาช้าเพื่อเพิ่มความรัดกุมในการแก้ปัญหา มิเช่นนั้นอาจส่งผลต่อการตัดสินใจคว่ำบาตรทางการค้ากับประเทศไทยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าขายชนิดพันธุ์ต่างๆ ที่ระบุไว้ในอนุสัญญาการค้าระหว่างประเทศรวมไปถึงประเภทไม้ประดับเช่น กล้วยไม้และเครื่องหนังจากสัตว์เลื้อยคลาน

WWFได้ทำการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ในปี 2556 ที่ว่าการปิดตลาดค้างาช้างในประเทศและเห็นว่าเป็นการดีที่ไซเตสได้มีข้อเรียกร้องให้ประเทศไทยจำต้องปฎิบัติตาม

“เราคิดว่าหากมีการคว่ำบาตรเกิดขึ้นจริงๆ ก็นับได้ว่าเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เนื่องจากประเทศไทยล้มเหลวในการจัดการเกี่ยวกับการค้าขายงาช้างผิดกฏหมายมาเป็นเวลาหลายปี และพวกเขาควรจะเข้าใจอย่างชัดเจนว่าครั้งนี้จะเป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับประเทศไทย” ดร.โคลแมน โอ คริโอเดน นักวิเคราะห์ด้านการค้าสัตว์ป่าจาก WWF กล่าว

ประเทศไทยเป็นตลาดค้างาช้างที่ไม่มีการควบคุมขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งการค้าขายงาช้างในไทย จำนวนมากเป็นการค้างาที่ได้จากการฆ่าช้างแอฟริกาที่ถูกลักลอบนำเข้ามายังตลาดภายในประเทศ

ที่มาภาพ : http://www.traffic.org/storage/Thailand-market-survey-report.pdf
ที่มาภาพ : http://www.traffic.org/storage/Thailand-market-survey-report.pdf

ในปัจจุบันกฏหมายไทยอนุญาตให้งาช้างที่ได้มาจากช้างบ้านนั้นสามารถค้าขายได้อย่างถูกกฏหมาย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องให้เกิดการนำงาช้างแอฟริกามาสวมขายผ่านร้านต่างๆ ในประเทศไทย มีเพียงการปิดตลาดค้างาช้างในประเทศไทยเท่านั้นที่จะสามารถบรรเทาภัยคุกคามจากการล่าช้างแอฟริกาได้ และข้อมูลล่าสุดจากรายงาน “เปิดโปงการค้างาเลือด: ผลสำรวจตลาดงาช้างในประเทศไทย”ของเครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า หรือ TRAFFIC ได้พบว่าการค้าขายงาช้างภายในกรุงเทพมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงสามเท่านับจากที่ไทยให้คำมั่นในปี 2556 ว่าจะยุติการค้างาช้างในประเทศและข้อมูลจากไซเตสเองได้ระบุอีกด้วยว่าช้างแอฟริกาจำนวนมากกว่า 20,000 ถูกฆ่าในแต่ละปี

“เรามีความหวังเมื่อเห็นว่ารัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาฯ และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องแก้ปัญหานี้เช่นเดียวกับเรา และ WWF ได้เน้นย้ำในข้อเท็จจริงที่ว่าตลาดค้างาช้างในประเทศไทยส่งผลให้มีการฆ่าช้างแอฟริกา และได้มีเสียงสนับสนุนความไม่พอใจในเรื่องนี้จากผู้คนทั่วโลกผ่านเครือข่าย Avaaz ที่ปัจจุบันมีคนลงนามมากว่า 5 แสนคนเรียบร้อยแล้วและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”ดร.โคลแมนกล่าว

การประชุมไซเตสครั้งนี้ยังพูดถึงประเด็นการค้าขายนอแรดผิดกฏหมายในประเทศเวียดนามและประเทศโมซัมบิกโดยได้เน้นว่าสองประเทศดังกล่าวคือประเทศสำคัญในการขบวนการค้าขายนอแรดผิดกฏหมาย ทั้งสองประเทศนี้อาจเผชิญกับสภาวะคว่ำบาตรเช่นเดียวกันหากไม่มีการวางมาตรการเพื่อจัดการกับการค้าขายนอแรดผิดกฏหมายภายในระยะเวลาที่กำหนดอย่างเข้มงวดนี้ด้วยเช่นกัน

“เวียดนามและโมซัมบิกมีเวลาจนถึงปีหน้าในการจัดให้มีการป้องกันการล่าสัตว์ป่าและการควบคุมการค้านอแรดในแอฟริการวมไปถึงการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจังและมาตรการลดปริมาณความต้องการในเวียดนาม อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยุติวิกฤตการณ์สังหารแรดได้ ประชากรแรดในแอฟริกานั้นไม่เหลือเวลาให้รอแล้ว” ดร.คาร์ลอส ดรูว์ ผู้อำนวยการด้านการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์จาก WWF กล่าว

ประเทศโมซัมบิกต้องจัดทำแผนปฎิบัติการป้องกันประชากรแรดในประเทศ ในขณะเดียวกันประเทศเวียตนามก็จำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นในการบังคับใช้กฏหมายปราบปรามตลาดค้านอแรดในประเทศ ลดความต้องการและสกัดกั้นการลักลอบนำเข้านอแรดเข้าสู่ประเทศด้วยเช่นกัน

การประชุมอนุสัญญา CITES ครั้งต่อไปจะถูกจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมปี 2558 ประเทศที่ได้รับการแจ้งเตือนในแต่ละประเด็นจะต้องปฎิบัติตามข้อเรียกร้องที่กล่าวมาก่อนที่จะถึงการประชุมดังกล่าว

ป้ายคำ :