ThaiPublica > เกาะกระแส > ผลสำรวจตลาดค้างาช้างของไทยพุ่งปรี๊ด “TRAFFIC” ชี้ไทยเตะถ่วงแก้กม. – ส่งเสริมอาชญากรรมใต้ดิน เร่งยุติการฟอกงาช้างจากแอฟริกา

ผลสำรวจตลาดค้างาช้างของไทยพุ่งปรี๊ด “TRAFFIC” ชี้ไทยเตะถ่วงแก้กม. – ส่งเสริมอาชญากรรมใต้ดิน เร่งยุติการฟอกงาช้างจากแอฟริกา

4 กรกฎาคม 2014


รายงานโดย ปวีร์ ศิริมัย

ดร.นาโอมิ โด๊ค ผู้ประสานงานองค์กร TRAFFIC ในภูมิภาคแม่น้ำโขง
ดร.นาโอมิ โด๊ค ผู้ประสานงานองค์กร TRAFFIC ในภูมิภาคแม่น้ำโขง

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 องค์กร TRAFFIC หรือ เครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า ได้มีแถลงการณ์ของผลการสำรวจตลาดค้างาช้างของประเทศไทยโดย ดร.นาโอมิ โด๊ค ผู้ประสานงานองค์กร TRAFFIC ในภูมิภาคแม่น้ำโขง ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งจากการสำรวจพบว่าในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมามีจำนวนผลิตภัณฑ์งาช้างวางขายเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าและมีจำนวนร้านค้าที่จำหน่ายงาช้างในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญทางด้านความเชื่อและวัฒนธรรมมาช้านาน แต่ประเทศไทยยังจัดเป็นประเทศที่มีตลาดงาช้างที่ไม่มีการควบคุมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งยังถูกเพ่งเล็งว่าเป็นประเทศที่มีปัญหาการลักลอบค้าช้างอย่างผิดกฎหมายมากที่สุด สาเหตุหนึ่งเกิดจากการที่กฎหมายไทยอนุญาตให้มีการค้างาช้างบ้านได้ แต่ขาดมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ

โดยจากการสำรวจร้านค้าในย่านสำคัญของกรุงเทพฯ จากเดือนมกราคม-ธันวาคม 2556 พบว่าจำนวนร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์จากงาช้างเพิ่มขึ้นจาก 61 ร้าน เป็น 105 ร้าน และปริมาณผลิตภัณฑ์จากงาช้างที่จำหน่ายเพิ่มขึ้นจาก 5,865 ชิ้น เป็น 14,512 ชิ้น แสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของตลาดงาช้างในประเทศไทยในปีที่ผ่านมา แม้ว่าพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 กำหนดว่าร้านค้างาช้างจะต้องลงทะเบียนมีใบอนุญาตในการค้างาช้างก็ตาม

ดร.นาโอมิ โด๊ค กล่าวว่า ปริมาณของงาช้างที่วางจำหน่ายในร้านเหล่านี้มีมากเกินกว่าที่ช้างบ้านในประเทศไทยจะผลิตได้ อีกทั้งยังพบผลิตภัณฑ์งาช้างที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะเป็นงาจากช้างบ้านในประเทศไทย ประกอบด้วยข้อมูลการจับยึดงาช้างที่ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย แสดงให้เห็นว่าได้มีความพยายามเคลื่อนย้ายงาช้างจากทวีปแอฟริกามายังประเทศไทย

“การวิจัยตลาดครั้งล่าสุดของแทรฟฟิค แสดงว่าความพยายามในการจัดการควบคุมตลาดงาช้างในประเทศของไทยประสบความล้มเหลว จึงถึงเวลาแล้วที่เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องยอมรับความจริงว่าไทยยังไม่สามารถควบคุมตลาดงาช้างของตนเองได้และซ้ำเติมวิกฤตการลักลอบล่าช้างแอฟริกาในปัจจุบันหากไม่มีการดำเนินการอย่างรวดเร็วและเฉียบขาดเพื่อแก้ปัญหาช่องโหว่ทางกฎหมายที่เห็นได้ชัดแล้ว สถานการณ์ที่ไม่อาจยอมรับได้นี้ย่อมจะดำเนินต่อไป”

ในปี 2556 มีช้างแอฟริกาอย่างน้อย 20,000 ตัวถูกฆ่าเพื่อเอางา และตอบสนองความต้องการจากตลาดเอเชียที่มีสูงมาก โดยไทยมีชื่อเสียงในทางไม่ดีว่าเป็นตลาดงาช้างที่ผิดกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดตลาดหนึ่งของโลก นอกจากนี้ยังเชื่อได้ว่ามีกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติที่ดำเนินการโดยคนเอเชียอยู่เบื้องหลังการลักลอบค้างาช้างจำนวนมาก

“TRAFFIC เรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการอย่างเร่งด่วนและเฉียบขาดกับการค้างาช้างที่กำลังแพร่ระบาดและช่วยส่งเสริมอาชญากรรมใต้ดิน ซ้ำเติมการลักลอบล่าช้างในแอฟริกา รวมทั้งทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลกเสียหายอย่างหนัก” ดร.นาโอมิกล่าว

สาเหตุส่วนหนึ่งของวิกฤติการลักลอบค้างาช้างในปัจจุบันคือกฎหมายอายุ 75 ปีที่อนุญาตให้มีการค้าช้างจากช้างสายพันธุ์เอเชียที่เลี้ยงในประเทศไทย แต่การไม่มีระบบขึ้นทะเบียนทำให้ไม่สามารถติดตามงาช้างได้ จึงเป็นช่องโหว่ให้มีการฟอกงาช้างจากแหล่งที่ ผิดกฏหมายเข้าสู่ตลาด

รายงานฉบับนี้ยังระบุด้วยว่าปริมาณงาช้างสูงสุดที่ได้จากช้างเลี้ยงในประเทศมีประมาณ 650 กิโลกรัมต่อปี เป็นปริมาณที่น้อยกว่าที่พบเห็นในตลาดกรุงเทพมาก

TH ivory report_08_NDoak_TRAFFIC

หลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของงาช้างผิดกฏหมายที่ขายกันนั้นมาจากการยึดงาช้างจากแอฟริกาจำนวนมากถูกส่งไปยังประเทศไทย หรือถูกยึดได้ในประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมามีการยึดงาช้างจากแอฟริกาในการทำธุรกรรมดังกล่าวมากกว่า 13 ตัน

คริส เชพเพิร์ด ผู้อำนวยการTRAFFIC ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ไทยเตะถ่วงเรื่องการทบทวนกฎหมายงาช้างที่ล้าสมัยเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษแล้ว และความอดทนของประชาคมโลกต่อเจ้าหน้าที่ไทยกำลังหมดไปอย่างรวดเร็ว ถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องทบทวน และอุดช่องโหว่ของกฎหมายที่เปิดช่องให้มีการฟอกงาช้างจากแอฟริกา รวมทั้งการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ในรายการของไซเตสอย่างเปิดเผย และยุติการค้าช้างที่ผิดกฏหมาย”

แม้นานาประเทศจะห้ามซื้อขายงาช้างและมีกฏระเบียบเอาผิดกับการเคลื่อนย้ายงาช้างข้ามพรหมแดนระหว่างประเทศ ร้านค้าปลีกงาช้างหลายแห่งในกรุงเทพฯ กลับมีป้ายบอกขายงาช้างโดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ซื้อชาวจีน ซึ่งถือเป็นการทำลายความพยายามของจีนโดยตรงที่ไม่ต้องการส่งเสริมให้พลเมืองของตนเดินทางไปต่างประเทศเพื่อซื้องาช้าง ข้อมูลจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยระบุว่าไทยให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวน 26.7 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชาวจีนมากสุด 4.7 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าปี 2555 ถึงร้อยละ 69 ในขณะที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 20

“การเติบโตอย่างมากของจำนวนนักท่องเที่ยวหมายความว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรทั่วโลกควรระมัดระวังเป็นพิเศษกับการตรวจ
นักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศหรือกลับจากประเทศไทยและมีของฝากเป็นงาช้าง และสารที่สื่อไปยังนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปไทยนั้นต้องดังและชัดเจนว่าถ้าคุณซื้องาช้างคุณก็ต้องเจอปัญหา”เชพพาร์ด กล่าว

เชพพาร์ดกล่าวย้ำว่าดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องยึดถือพันธกรณีระหว่างประเทศที่ได้ให้ไว้ เราได้ยินคำมั่นสัญญาว่าจะมีการดำเนินการในเรื่องนี้มาแล้ว แต่โลกกำลังรอดูการทำตามสัญญาที่ประเทศไทยได้ให้ไว้

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการเรื่องงาช้างซึ่งจัดทำขึ้นตามคำแนะนำจากที่ประชุมครั้งที่ 64 ของคณะกรรมการประจำไซเตส (CITES Standing Committee) ซึ่งเห็นได้ชัดว่าแนวทางปฏิบัติที่ประเทศไทยใช้อยู่ไม่สามารถควบคุมการเติบโตของตลาดค้างาช้างในกรุงเทพมหานครได้

TH ivory report_05_NDoak_TRAFFIC

ข้อเสนอแนะ

– เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายที่กำหนดให้ร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากงาช้าและงาช้างต้องลงทะเบียน
– ปรับปรุงกฎหมายปัจจุบันให้สามารถบังคับใช้และปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาไซเตส คือ ยุติการค้างาช้างในประเทศ หรือถ้าหากอนุญาตให้มีการขายต้องเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายโดยให้เกิดความชัดเจนตรวจสอบได้ว่างาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้างทุกชิ้นได้มาอย่างถูกกฎหมาย หากไม่มีหลักฐานยืนยันต้องถูกยึด
– เพิ่มช้างแอฟริกาเข้าไปในรายชื่อสัตว์คุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งจะส่งผลให้การค้างาช้างแอฟริกาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
– จัดให้มีการตรวจสอบและลงทะเบียนงาช้างของกลางที่เจ้าหน้าที่จับยึดได้อย่างโปร่งใส
– แก้กฎระเบียบให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับยึดงาช้างเถื่อนได้ทันทีที่มีการตรวจพบและใช้มาตรการ เช่น การล่อซื้อ เพื่อให้รู้ถึงต้นตอของการค้างาช้างเถื่อนได้
– ให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายมีอำนาจ สืบค้น บ่งชี้ และยับยั้งขัดขวางการค้างาช้างแอฟริกา โดยใช้วิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์ซึ่งหน่วยงานในประเทศสามารถทำได้ เนื่องจากในปัจจุบันเจ้าหน้าที่สามารถยับยั้งขัดขวางได้เฉพาะการนำเข้าผ่านด่านตรวจเท่านั้น