ThaiPublica > เกาะกระแส > Earth Overshoot Day วันที่เหลือของปีกำลังติดลบ: เพราะวันนี้เราใช้เกินงบประมาณของธรรมชาติ

Earth Overshoot Day วันที่เหลือของปีกำลังติดลบ: เพราะวันนี้เราใช้เกินงบประมาณของธรรมชาติ

19 สิงหาคม 2014


ข่าวประชาสัมพันธ์WWF

เมืองกลองด์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์: มนุษยชาติได้ใช้งบประมาณของธรรมชาติประจำปีหมดลงด้วยระยะเวลาน้อยกว่า 8 เดือน จากข้อมูลของเครือข่ายรอยเท้านิเวศโลก (Global Footprint Network) กลุ่มนักวิจัยนานาชาติเพื่อความยั่งยืนและพันธมิตรของ WWF

ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปี 2557 เรากำลัง “ติดลบ” เราใช้ทรัพยากรและบริการของธรรมชาติที่จำเป็นต่อการอยู่รอดเกินดุล
Earth Overshoot Day จะถูกประกาศขึ้นเมื่อรอยเท้านิเวศของมนุษย์ในปีนั้นๆมีค่าสูงเกินความสามารถที่โลกจะจัดหาและสร้างให้ได้ และวันนี้ได้ถูกประกาศเร็วขึ้นทุกปีจากวันที่ 1 ตุลาคมในปี 2543 และเป็นวันที่ 19 สิงหาคมในปีนี้

WWF-1

“ธรรมชาติเป็นรากฐานของความเป็นอยู่ที่ดีและความเจริญรุ่งเรืองของเรา แต่เราใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัดของโลกไปมาก” Marco Lambertini ผู้อำนวยการ WWF กล่าว “เพื่ออนาคตที่สดใสของลูกหลานของเรา เราต้องรักษาต้นทุนทางธรรมชาติที่เหลืออยู่และเป็นผู้ดูแลดาวเคราะห์ที่มีคุณค่าที่เราเรียกว่าบ้านให้ดีที่สุด”

จากข้อมูลรอยเท้านิเวศซึ่งคิดคำนวณจากปริมาณทรัพยากรธรรมชาติของโลก ปริมาณที่เราใช้ และใครใช้อะไรบ้าง Earth Overshoot Day เป็นโอกาสที่จะได้สร้างความตระหนักและสร้างแรงบันดาลใจในการรักษาระบบนิเวศที่ถูกใช้มากเกินไป ในเดือนกันยายน 2557 WWF จะเผยแพร่รายงาน Living Planet Report ประจำปี 2557 ซึ่งรายงานนี้เป็นสิ่งพิมพ์เผยแพร่ชิ้นสำคัญที่ WWF จัดทำขึ้นทุกๆสองปีและปีนี้เป็นฉบับที่ 10 แล้ว โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตรวจวัดสุขภาพของโลกและผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์

WWF-2

“แม้ว่าแนวโน้มแสดงอย่างชัดเจนว่าความต้องการของมนุษย์เกินความสามารถในการรองรับเชิงนิเวศของโลก แต่เรายังสามารถดำเนินการเพื่อสร้างอนาคตที่เจริญรุ่งเรืองให้อยู่บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้โดยเริ่มตั้งแต่ตอนนี้” Lambertini กล่าว
ในปี 2504 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการก่อตั้ง WWF มนุษย์มีการใช้ทรัพยากรเพียงสองในสามของทรัพยากรที่โลกมีอยู่เท่านั้น และในปีเดียวกันประเทศส่วนใหญ่มีการอนุรักษ์ระบบนิเวศแล้ว นั้นหมายความว่ารอยเท้าทางนิเวศของเราจะลดลงและมีความยั่งยืนมากขึ้น แต่ปัจจุบันอัตราการใช้ทรัพยากรของเราดูเหมือนว่าจะยิ่งออกห่างจากกรอบของความยั่งยืน

พื้นที่ป่าลดลง แหล่งน้ำจืดลดน้อยลง ผืนดินเสื่อมโทรมลงและความหลากหลายทางนิเวศวิทยากำลังจะหมดไป และในขณะเดียวกันการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นพิษและโลกก็ไม่สามารถดูดซับได้

WWF-3

ด้วยการลงมือตั้งแต่ตอนนี้เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงแนวโน้มนี้ได้ เราแต่ละคนล้วนมีบทบาทสำคัญในการสร้างโลกที่เราอาศัยอยู่ภายใต้ขีดจำกัดทางนิเวศ โดยการเลือกสินค้าที่มีความยั่งยืน เช่น อาหารทะเลที่มีฉลากรับรองมาตรฐาน Marine Stewardship Council (MSC) และผลิตภัณฑ์จากไม้ที่มีการรับรองโดย Forest Stewardship Council (FSC) เพื่อให้แน่ใจได้ว่าสินค้ามาจากแหล่งที่มีการจัดการอย่างดี หรือหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนสะอาด เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์หรือลม เพื่อลดการปล่อยก๊าซพิษที่สกปรกและเป็นมลภาวะต่ออากาศ มหาสมุทรและป่าของเรา

ประเทศไทยมีค่าติดลบของงบประมาณธรรมชาติเท่าไหร่?

ในปี 2551 ประเทศไทยใช้ทรัพยากรมากกว่าที่ความสามารถในการรองรับเชิงนิเวศของประเทศถึงสองเท่า ซึ่งเป็นความสามารถของระบบนิเวศในการผลิตวัสดุชีวภาพที่มีประโยชน์และการดูดซับของเสียที่เกิดจากมนุษย์ อธิบายให้ง่ายขึ้นคือประเทศของเราใช้ทรัพยากรเป็นสองเท่าของความสามารถที่ระบบนิเวศทดแทนได้ หรือใช้เท่ากับความสามารถในการรองรับเชิงนิเวศของประเทศไทยสอง (2.06) ประเทศร่วมกัน ตัวเลขจากปี 2551 ยังทำให้เกิดคำถามสำคัญคือ ในปัจจุบันที่มีการเติบโตของเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั่วโลก ทำให้เราใช้เกินความสามารถในการรองรับเชิงนิเวศมากเท่าไหร่?

WWF-4

สามเทศบาลของไทยร่วมโครงการปลุกเมืองให้โลกเปลี่ยน

อนึ่งเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2557 เทศบาลและเมืองทั่วโลกได้รับเกียรติพิเศษจาก WWF สำหรับมาตรการในการช่วยลดสภาวะโลกร้อน และร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับโลก กว่า 163 เมืองที่ส่งรายชื่อไป มีเพียง 34 เมืองจาก 14 ประเทศเท่านั้นที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบสุดท้ายในโครงการ “ปลุกเมืองให้โลกเปลี่ยน” Earth Hour City Challenge (EHCC) ประจำปี 2014 นี้ โดยคณะกรรมตัดสินผู้ทรงคุณวุฒิจะทำการทบทวนมาตรการต่าง ๆ ของเมือง รวมถึงพันธะสัญญาของเมืองจากรายงานที่แต่ละเมืองจัดทำขึ้น เพื่อคัดเลือกเมืองต้นแบบของแต่ละประเทศสำหรับรางวัล “National Earth Hour Capital”

โครงการ “ปลุกเมืองให้โลกเปลี่ยน” Earth Hour City Challenge (EHCC) มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ และการสนับสนุนของเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน

“พวกเรารู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นของเมืองที่พยายามลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และความก้าวหน้าในการดำเนินงานของเมืองที่มุ่งสู่อนาคตแห่งพลังงานหมุนเวียน” ดร. คาริน่า บอร์กสตอร์ม-แฮนสัน ผู้นำโครงการ Earth Hour City Challenge กล่าว

“ถึงแม้ว่าแต่ละเมืองจะมีความพยายามที่น่ายกย่อง แต่เมืองก็ไม่สามารถทำภารกิจดังกล่าวได้ตามลำพัง ถ้าเราต้องการปกป้องโลกใบนี้จากภัยคุกคามของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตอบสนองต่อความต้องการบริโภคของทุกคน การปรับเปลี่ยนด้านการลงทุนจะต้องเกิดขึ้น นอกจากนั้นแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้กำหนดนโยบายระดับประเทศ ภาคธุรกิจ และสถาบันการเงินจะต้องมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนดังกล่าว”

WWF ได้ดำเนินงานร่วมกับ ICLEI-Local Governments for Sustainability ในการชักชวนให้เมืองต่าง ๆ เข้าร่วมในกิจกรรมการปลุกเมืองให้โลกเปลี่ยนในครั้งนี้ และให้แต่ละเมืองได้จัดทำรายงานในมาตรฐานของ carbon Cities Climate Registry (cCCR)

“ICLEI ในฐานะที่เป็นพันธมิตรหลักของ WWF มีความภูมิใจที่จะสนับสนุน Earth Hour City Challenge ซึ่งจะเติบโตขึ้นเป็นแนวทางริเริ่มที่สำคัญระดับโลก ที่จะให้รางวัลกับเมืองที่บรรลุการดำเนินงานอย่างยั่งยืน ผ่านการมีส่วนร่วมจากเมืองสมาชิก, สำนักงานภูมิภาค และผ่านการรายงานตามระบบของ carbon Cities Climate Registry” Gino Van Begin,เลขาธิการ ICLEI กล่าว

รายชื่อของเมืองทั้ง 34 เมืองยั่งยืนที่เข้ารอบสุดท้ายในโครงการ Earth Hour City Challenge (EHCC) 2014 ได้แก่:

ประเทศไทย: เทศบาลตำบลขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ, เทศบาลตำบลเมืองแกลง จังหวัดระยอง และเทศบาลเมืองหนองสำโรง จังหวัดอุดรธานี
ประเทศเบลเยี่ยม: Antwerp, Brussels Capital Region, Ghent
ประเทศบลาซิล: Belo Horizonte, Rio de Janeiro, São Paulo
ประเทศแคนาดา: Edmonton, North Vancouver, Surrey
ประเทศโคลอมเบีย: Medellín, Monteria
ประเทศเดนมาร์ก: Copenhagen
ประเทศฟินแลนด์: Lappeenranta
ประเทศอินเดีย: Cochin, Coimbatore, Hyderabad
ประเทศอินโดเนเซีย: Semarang, Bogor
ประเทศแม๊กซิโก: Mexico City, Municipality of Aguascalientes, Puebla
ประเทศแอฟริกาใต้: Cape Town, Durban
ประเทศเกาหลีใต้: Seoul, Suwon
ประเทศสวีเดน: Eskilstuna, Stockholm, Växjö
ประเทศสหรัฐอเมริกา: Boulder, Chicago, Cleveland

“สามเทศบาลของประเทศไทยที่เข้ารอบสุดท้ายในโครงการปลุกเมืองให้โลก เปลี่ยนแสดงให้เห็นว่าเมืองหลายแห่งของเราดำเนินกิจกรรมหลายอย่างที่เป็นรูปธรรมและตรวจวัดผลได้จริงในการช่วยแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน นี่คือตัวอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เกิดขึ้นจริงโดยการนำของท้องถิ่น เราอยากเห็นเมืองต่างๆรวมทั้งพวกเราในฐานะพลเมืองลุกขึ้นมาสร้างความ เปลี่ยนแปลง และช่วยกันสร้างอนาคตอันยั่งยืนของโลกที่เราอยากเห็น” นงพัลคุ์ จั่นเจริญ ผู้จัดการโครงการปลุกเมืองให้โลกเปลี่ยน WWF ประเทศไทย กล่าว