ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สำรวจขนาดรัฐวิสาหกิจไทยไม่รวมสถาบันการเงินรัฐ 4.35 ล้านล้าน – พนง. ทำกำไรเฉลี่ย 1 ล้านบาท/คน/ปี

สำรวจขนาดรัฐวิสาหกิจไทยไม่รวมสถาบันการเงินรัฐ 4.35 ล้านล้าน – พนง. ทำกำไรเฉลี่ย 1 ล้านบาท/คน/ปี

9 กรกฎาคม 2014


ประเด็นปมผลประโยชน์รัฐวิสาหกิจ สำหรับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องปฏิรูปหลังจากได้เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เนื่องจากถูกมองว่าเป็นที่แสวงหาผลประโยชน์ของเหล่านักการเมืองจากผลประกอบการและขนาดของรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่กว่างบประมาณของรัฐบาล ส่งผลให้ คสช. ต้องเชิญเหล่ากรรมการบริหารมาหารือถึงแนวทางในการดำเนินกิจการของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสตามที่ได้รายงานไปก่อนหน้า และได้มีการปรับเปลี่ยนกรรมการรัฐวิสาหกิจไปจำนวนไม่น้อย รวมไปถึงออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจหรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 75 และล่าสุดก็ให้มีการตรวจสอบโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 75

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐวิสาหกิจอยู่ 57 แห่ง แบ่งเป็น 9 สาขา ได้แก่ สาขาพลังงาน 4 แห่ง, สาขาขนส่ง 11 แห่ง, สาขาสื่อสาร 4 แห่ง, สาขาสาธารณูปการ 6 แห่ง, สาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม 8 แห่ง, สาขาเกษตร 6 แห่ง, สาขาทรัพยากรธรรมชาติ 3 แห่ง, สาขาสังคมและเทคโนโลยี 5 แห่ง และสาขาสถาบันการเงิน 10 แห่ง โดยมีจำนวนพนักงานทั้งสิ้น 212,406 คน

ทั้งนี้ ข้อมูลทางการเงินของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง(ไม่รวมสถาบันการเงินของรัฐ) ณ ปี 2555 (เนื่องจากไม่มีข้อมูล 2 แห่งในสาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม 1 แห่ง และสาขาขนส่ง 1 แห่ง) พบว่าด้านฐานะทางการเงิน มีเงินสด 339,604 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 4.35 ล้านล้านบาท หนี้สินรวม 2.53 ล้านล้านบาท โดยหนี้สินรวมคิดเป็น 58.15% ของสินทรัพย์รวม ส่วนของทุน 1.82 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.86% ของสินทรัพย์รวม พบว่าสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของรัฐวิสาหกิจโดยรวมเท่ากับ 1.43 เท่า (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

สินทรัพย์ หนี้สินต่อทุน

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน

จากข้อมูลรัฐวิสาหกิจ หากแบ่งเป็นรายสาขาในแง่สินทรัพย์และหนี้สินที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน พบว่าเป็นรัฐวิสาหกิจสาขาพลังงานประมาณ 60% รองลงไปเป็นสาขาขนส่งและสาขาสื่อสารที่ 25% และ 9% ตามลำดับ ขณะที่ส่วนของทุน สาขาพลังงานมีสัดส่วน 65% ซึ่งสูงที่สุด ส่วนสาขาขนส่งและสื่อสารมีสัดส่วนเพียง 15% และ 11% ของทุนทั้งหมดในรัฐวิสาหกิจ ตามลำดับ

ทั้งนี้ เมื่อเทียบเป็นอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนแยกรายสาขา พบว่าส่วนใหญ่มีอัตราที่ต่ำกว่าเฉลี่ยโดยรวม มีเพียงสาขาขนส่งและสาขาเกษตรเท่านั้นที่หนี้ต่อทุนมากกว่าค่าเฉลี่ยที่ 2.68 และ 3.84 เท่า ตามลำดับ อย่างไรก็ดี มีเพียง 3 สาขาเท่านั้นที่มีทุนมากกว่าหนี้ หรือมีค่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำกว่า 1 คือสาขาอุตสาหกรรมและพาณิชกรรม, สาขาทรัพยากรธรรมชาติ และสาขาสังคมและเทคโนโลยี มีค่าอัตราส่วนที่ 0.95, 0.19 และ 0.52 เท่าตามลำดับ

สำหรับผลประกอบการ พบว่าสาขาสื่อสารสามารถทำกำไรได้มากสุด 18.32% หรือทุกๆ 100 บาทที่หามาได้เป็นกำไร 18.32 บาท อันดับรองลงมาคือสาขาสาธารณูปการและสาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมที่สร้างกำไรได้ประมาณ 17% และ 13.21% ส่วนสาขาทรัพยากรธรรมชาติขาดทุนสูงถึง 31% (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ขนาดรัฐวิสาหกิจไทย

ขณะที่ผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจที่ไม่รวมภาคการเงิน มีรายได้รวม 4.62 ล้านล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 4.27 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายพนักงาน 180,047 ล้านบาท มีกำไรสุทธิรวม 225,294 ล้านบาท จากจำนวนพนักงาน 212,406 คน โดยเฉลี่ยแล้วรัฐวิสาหกิจต้องจ่ายเงินจ้างพนักงานคนละ 848,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งพนักงานแต่ละคนสร้างกำไรโดยเฉลี่ยคนละ 1.06 ล้านบาทต่อคนต่อปี

ด้านจำนวนพนักงาน เมื่อแยกรายสาขากลับพบว่าสาขาขนส่งเป็นสาขาที่มีจำนวนพนักงานมากที่สุด 33% รองลงมาเป็นสาขาพลังงาน 30% และอันดับสามคือสาขาสื่อสาร 22% แต่เมื่อดูค่าใช้จ่ายของพนักงานสาขาขนส่งพบว่ามีสัดส่วนมากขึ้นถึง 40% ขณะที่สาขาพลังงานและสาขาสื่อสารมีสัดส่วนน้อยกว่าที่ 26% และ 19%

เมื่อคิดเป็นเงินเดือนที่รัฐวิสาหกิจจะต้องจ่ายให้แก่พนักงานแล้ว พบว่าจะต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานเฉลี่ยคนละ 70,638 บาทต่อเดือน โดยสาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม มีอัตราเงินเดือนสูงที่สุดที่ 127,181บาท รองลงมาเป็นสาขาขนส่งและสาขาสาธารณูปการ ต้องจ่ายที่ 85,660 บาท และ 84,910บาท ตามลำดับ ขณะที่สาขาสังคมและเทคโนโลยี เป็นสาขาที่มีค่าใช้จ่ายเงินเดือนน้อยที่สุด 17,989 บาทเท่านั้น

ทั้งนี้ ถ้าเทียบค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ใช้จ้างพนักงานกับกำไรสุทธิเฉลี่ยที่พนักงานสร้างขึ้นมา พบว่ามีเพียง 3 สาขาเท่านั้นที่สร้างกำไรได้มากกว่าค่าใช้จ่ายพนักงาน คือสาขาพลังงาน สาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม และสาขาเกษตร เท่านั้น ขณะที่สาขาอื่นๆอีก 5 สาขานั้นมีกำไรสุทธิเฉลี่ยต่อพนักงานต่ำว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการจ้างพนักงาน

ค่าใช้จ่ายพนง.รัฐวิสาหกิจทั้งหมด

ค่าใช้จ่ายพนักงานรัฐวิสาหกิจ

กำไรรัฐวิสาหกิจต่อคน

ทั้งนี้ ถ้าเทียบค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ใช้จ้างพนักงานกับกำไรสุทธิเฉลี่ยที่พนักงานสามารถทำได้ พบว่ามีเพียง 3 สาขาเท่านั้นที่พนักงานสามารถทำกำไรเฉลี่ยได้มากกว่า คือ สาขาพลังงาน สาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม และสาขาเกษตร เท่านั้น ขณะที่สาขาอื่นๆ อีก 5 สาขานั้นมีกำไรสุทธิต่อพนักงานต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้จ้างพนักงานเสียอีก

ด้านงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พบว่ามีเงินลงทุนปี 2555 จำนวน 370,207 ล้านบาท อันดับ 1 คือสาขาพลังงาน 56% รองลงมาคือสาขาขนส่ง 31% ตามด้วยสาขาสื่อสาร 8% โดยได้มีการเบิกจ่ายจริง 294,203 ล้านบาท คิดเป็น 67% ของงบลงทุน โดยสาขาสาธารณูปการมีการเบิกจ่ายมากสุด 92% รองลงมาคือสาขาพลังงานและสาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม 74%