ThaiPublica > เกาะกระแส > “ณรงค์ สหเมธาพัฒน์” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แจงสภาพข้อเท็จจริงระบบสุขภาพของไทย

“ณรงค์ สหเมธาพัฒน์” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แจงสภาพข้อเท็จจริงระบบสุขภาพของไทย

25 กรกฎาคม 2014


จากข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขต่อพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในโอกาสตรวจเยี่ยมกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 โดยมี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำเสนอข้อมูล ภารกิจ และโครงการของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในรายงานดังกล่าวได้สรุปสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพของคนไทยในประเด็นต่างๆ(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

สภาพโดยรวมของระบบสาธา

ประเด็นที่ 1 สังคมผู้สูงอายุและผลกระทบด้านสุขภาพ จากโครงสร้างประชากรที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2568 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดบริการสุขภาพ การเตรียมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเฉพาะทางมากขึ้น และภาระรายจ่ายสุขภาพของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้องรังมากขึ้น เช่น หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สมองเสื่อม ทำให้รัฐต้องจ่ายงบประมาณในการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

ข้อมูลผู้สูงอายุ ณ ปี 2556 มีจำนวน 9,517,000 คน คิดเป็น 14.7% ของประชากรทั้งหมด และค่าใช้จ่ายสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในอีก 12 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้น 3.6 เท่า และสูงกว่าค่าใช้จ่ายสุขภาพโดยรวมทุกอายุจาก 63,565.1 ล้านบาทในปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 228,482.2 ล้านบาทในปี 2565 หรือคิดเป็น 2.1% ของจีดีพีในปี 2553 เป็น 2.8% ในปี 2565 ทั้งนี้มาจากการเพิ่มอัตราการใช้บริการ อัตราค่าบริการ และค่ายา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางการแพทย์

ประเด็นที่ 2 การเปลี่ยนภาวะโรคจากโรคติดเชื้อเป็นโรคไม่ติดเชื้อเรื้อรัง ขณะนี้ปัญหาสุขภาพและการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 1,682,281 ราย ในปี 2548 เป็น 3,099,685 รายในปี 2555 และพบว่ามี 5 อันดับโรคที่เพิ่มขึ้นมากสุด(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

อันดับปัญหาสุขภาพของไทย

นอกจากนี้พบอัตราการตายด้วยโรคเรื้อรังสูงเช่นกัน โดยโรคมะเร็งตายเป็นอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มสูงขึ้น 8 เท่า จาก 12.6 ต่อประชากรแสนคนในปี 2510 เพิ่มเป็น 43.8 ต่อประชากรแสนคนในปี 2540 และ 98.5 ต่อประชากรแสนคนในปี 2555 อันดับที่สองเป็นอุบัติเหตุทุกประเภทจาก 26.2 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2510 เพิ่มเป็น 51.6 ต่อประชากรแสนคนในปี 2555 อันดับที่สามโรคหัวใจ จาก 16.5 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2510 เพิ่มเป็น 32.9 ต่อประชากรแสนคน และโรคหลอดเลือดสมองจาก 25.3 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2510 เพิ่มเป็น 31.7 ต่อประชากรแสนคนในปี 2555

หากไม่สกัดกั้นหรือหยุดยั้งปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยมีภาวะแทรกซ้อน พิการ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพและการสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค คาดว่าในปี 2558 ประเทศไทยจะสูญเสียรายได้เนื่องจากโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง 52,150 ล้านบาท แต่ถ้าหากคนไทยช่วยป้องกันตนเองจะช่วยลดการสูญเสียได้ถึง 10-20 %

ประเด็นที่ 3 ปัญหาตามกลุ่มวัย กลุ่มที่น่าจับตาคือกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-21 ปี คือการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกมีอายุเฉลี่ยน้อยลง จากอายุ 15-16 ปีในปี 2545-2552 เป็นอายุ 12-15 ปีในปี 2554 ประมาณ 50% ไม่ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ทำให้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นและเยาวชนมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า

การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นไทยในช่วง 14 ปีที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้น 1.4 เท่า จาก 39.1 ต่อประชากรพันคนในปี 2541 เป็น 55.4 ต่อประชากรพันคนในปี 2555 มีแม่อายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 133,176 คน หรือ 16.6% ของแม่ทุกกลุ่มอายุ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ร้อยละ 10

ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ/พิการ อายุ 60 ปีขึ้นไป ปัจจุบันไทยมีประชากร 64.5 ล้านคน เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 9.4 ล้านคน คิดเป็น 14.57% ของประชากรรวม พบว่าป่วยและตายด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุจะมีความพิการร่วมด้วย ผลกระทบที่ตามมาคือโรคของผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่ต้องได้รับการดูแลระยะยาว และความชุกของโรคที่เกี่ยวเนื่องกับความเสื่อมถอยของอวัยวะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้อัตราการพึ่งพิงของประชากรสูงอายุสูงขึ้น

คนพิการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 2,196,482 คนในปี 2564 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนพิการที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการประกอบกิจวัตรประจำวัน

ประเด็นที่ 4 การเข้าถึงบริการของประชาชนเพิ่มขึ้นแต่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างภาค ระหว่างกองทุน กล่าวคือ ตั้งแต่มีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้บริการสถานพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยมากขึ้น จากร้อยละ 49 ในปี 2534 เป็นร้อยละ 75.3 ในปี 2548 และร้อยละ 68.5 ในปี 2552 แต่ยังพบความเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์จาก 3 กองทุนหลัก (ข้าราชการ, กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากในหลายแง่มุม เช่น แหล่งที่มาของงบประมาณ จำนวนเงินที่ภาครัฐให้การสนับสนุน วิธีการจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาล และชุดสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน

ประเด็นที่ 5 งบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ รายจ่ายโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2.3 เท่า จาก 170,203 ล้านบาท คิดเป็น 3.3% ของรายได้ประชาชาติ หรือเฉลี่ย 2,732 บาทต่อคน ในปี 2544 ก่อนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มเป็น 403,459.4 ล้านบาท คิดเป็น 4.1% ของรายได้ประชาชาติ หรือเฉลี่ย 6,777 บาทต่อคนในปี 2554

นอกจากนี้ จากรายงานสาธารณสุขไทยปี 2551-2553 พบว่า รายจ่ายด้านสุขภาพเพิ่มในอัตราที่เร็วกกว่าการเพิ่มขึ้นของจีดีพี กล่าวคือ รายจ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 7.6% ต่อปีในมูลค่าจริง ขณะที่จีดีพีเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 5.6% ต่อปี สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่มาจากภาครัฐเพิ่มจาก 56% ของรายจ่ายสุขภาพรวมในปี 2544 เป็น 77% ในปี 2554 ขณะที่รายจ่ายภาคเอกชนลดลงจาก 44% ในปี 2544 เป็น 23% ในปี 2554

ขณะเดียวกัน สถานการณ์การเงินของโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ณ 30 มิถุนายน 2555 พบว่าผลประกอบการล่าสุดขาดทุน โดยแบ่งระดับการขาดทุนเป็น 7 ระดับ พบว่ามีโรงพยาบาลที่อยู่ในภาวะวิกฤติสูงในระดับ 7 จำนวน 175 แห่ง

ประเด็นที่ 6 การแทรกแซงจากอำนาจไม่ชอบธรรม ในการดำเนินการบริหารของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมาพบว่ามีการแทรกแซงจากอำนาจที่ไม่ชอบ รวมทั้งการจัดซื้อ จัดจ้าง ซึ่งนำไปสู่การเรียกรับผลประโยชน์ การแต่งตั้งโยกย้ายในเกือบทุกระดับ มีคำขอจากฝ่ายที่มีอำนาจเหนือผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ทำให้คนที่มีความสามารถขาดโอกาสในการทำหน้าที่บริหาร

ประเด็นที่ 7 เอกภาพในการกำหนดนโยบาย การกำหนดนโยบายสุขภาพเป็นบทบาทสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานหลักในการดูแลสุขภาพ แต่ในทางปฏิบัติ มีกระทรวงอื่นๆ ที่มีบทบาทในบางส่วนในการจัดบริการสุขภาพหรือการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ และการเกิดขึ้นของหน่วยงานต่างๆ ตามกฎหมาย เช่น สปสช., สสส., สวรส., สช., สพฉ., สรพ. ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในระบบสุขภาพ แต่การดำเนินการไม่มีกลไกที่มีเอกภาพในการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบาย ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายตลอดมา

ข้อเสนอแก้ปัญหาระบบสุขภาพของไทย

ข้อเสนอนโยบายเร่งด่วนที่ทำทันที ได้แก่ 1. พัฒนาระบบบริการให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยการพัฒนาคุณภาพสถานบริการทุกระดับให้ดีขึ้นบนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมากกว่าการรักษาเมื่อเจ็บป่วย พัฒนาการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ สนับสนุนการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก จัดระบบบริการโดยไม่ยินยอมให้ใช้เวลาราชการในการปฏิบัติธุรกิจส่วนตัว ผู้ป่วยได้รับการดูแลจากแพทย์ทุกรายในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ลดความแออัดและเวลารอคอย โดยขยายเวลาบริการที่เหมาะสม พัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วย ลดการปฏิเสธการรับ–ส่งต่อผู้ป่วยในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

2. ร่วมสร้างความสมานฉันท์เพื่อลดความขัดแย้งของบุคคลที่เห็นต่างทางการเมือง โดยใช้กลไกหน่วยบริการสาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขที่มีมากกว่าหนึ่งล้านคนทั่วประเทศ และกระบวนการทางสังคมจิตวิทยา

3. สร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรสาธารณสุข ได้แก่ การปรับระบบค่าตอบแทนที่เป็นธรรมตามภาระและคุณภาพงาน การจัดสรรตำแหน่งเพื่อคัดเลือกลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข บรรจุเป็นข้าราชการ และขอจัดสรรสำหรับบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาตำแหน่งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร รวมทั้งมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการทางการแพทย์

4. สร้างกลไกอภิบาลระบบที่เป็นระบบคุณธรรม ไม่ยินยอมให้มีการทุจริตและการแทรกแซงจากอำนาจที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม โดยมีกลไกการเฝ้าระวัง ตรวจสอบถ่วงดุลในรูปประชาคมสาธารณสุขที่เข้มแข็ง

ส่วนนโยบายระยะกลางที่ทำภายใน 1 ปีคือ 5. ปฏิรูประบบบริการเป็นเขตบริการสุขภาพ เพื่อสร้างเครือข่ายบริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ครอบคลุมประชากร 4-6 ล้านคน เกิดความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการของประชาชน ตั้งแต่ระดับการสาธารณสุขมูลฐาน บริการปฐมภูมิ จนถึงบริการระดับสูง มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า การลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น โดยการจัดให้มีการบริหารเบ็ดเสร็จภายในเขตบริการสุขภาพ โดยการมอบอำนาจและการสนับสนุนจากส่วนกลาง

6. ปฏิรูประบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุน ระหว่างสถานบริการ และการดูแลระบบที่มีเอกภาพ มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพสูงสุด

7. ปฏิรูประบบข้อมูลด้านสุขภาพ ให้มีข้อมูลที่มีความครบถ้วน ใช้ประโยชน์ได้ และประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตามจำเป็น โดยไม่เป็นภาระมากเกินไปสำหรับผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับ โดยการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ

8. พัฒนาและบังคับกฎหมาย เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุขให้บรรลุผล เช่น พรบ.จัดตั้งสถาบันพระบรมราชชนก, พรบ.ยา, พรบ.ผู้ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ฯ

9. พัฒนากลไกการสร้างเอกภาพในการพัฒนานโยบายสาธารณสุข และการกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนหลัก ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องและองค์กรภาคีสุขภาพที่สำคัญ