ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดงานวิจัยทุน สสส. ทำไมแพทย์ชนบทลาออก ชี้ยุค “เฉลิม อยู่บำรุง” แจกเงินให้เปล่ายังรั้งไม่อยู่

เปิดงานวิจัยทุน สสส. ทำไมแพทย์ชนบทลาออก ชี้ยุค “เฉลิม อยู่บำรุง” แจกเงินให้เปล่ายังรั้งไม่อยู่

11 เมษายน 2013


หลังจากนพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศจ่ายผลตอบแทนให้กับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขใหม่ โดยจ่ายตามงานที่ทำหรือที่เรียกว่า “จ่ายตามภาระงาน (Pay for Performance- P4P)” ใครทำงานมากได้มาก ใครทำงานน้อยได้น้อย เป็นเหตุให้มีการต่อต้านประท้วงขับไล่ให้รัฐมนตรีสาธารณสุขลาออก ทั้งนี้จากเดิมที่ระบบการจ่ายผลตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุขมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมากระหว่าง 1. แพทย์ด้วยกันเอง ที่อายุงาน 1-10 ปี จะทำงานหนักแต่ผลตอบแทนน้อย กับแพทย์ที่อายุงาน 10 ปีขึ้นไป ได้ผลตอบแทนมากแต่งานน้อยกว่า และ 2. ระหว่างแพทย์กับทีมงานสุขภาพด้านอื่นๆ อาทิ เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ส่วนอื่นๆ

การเปลี่ยนอัตราผลแทนใหม่ครั้งนี้ เป็นการปรับเปลี่ยนจากการจ่ายผลตอบแทนเดิมในปี 2552 ที่นายเฉลิม อยู่บำรุง อดีตกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศเพิ่มค่าตอบแทนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข เสมือนเป็นเงินให้เปล่า โดยการนำอายุงานของแพทย์เข้ามาคำนวณ ร่วมกับระดับความทุรกันดารของพื้นที่ การเพิ่มค่าตอบแทนให้กับแพทย์ในชนบทครั้งนั้น ทำให้ค่าตอบแทนแพทย์จบใหม่ในพื้นที่ปกติเพิ่มขึ้นประมาณ 53,100 บาท (ดูตารางประกอบ) ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้แพทย์ในชนบทไม่ลาออก ซึ่งเงินที่นำมาจ่ายให้กับแพทย์นั้นมาจากเงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาล แต่มีบางปีที่ต้องของบประมาณจากกระทรวงการคลัง เนื่องจากโรงพยาบาลแบกภาระไม่ไหว

ผลตอบแทนแพทย์ตามพื้นที่

จากงานวิจัย “การคงอยู่ในชนบทและในราชการของแพทย์ภายหลังการเพิ่มค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานที่ชนบท” ซึ่งเป็นงานวิจัยของ “นงลักษณ์ พะไกยะ, กฤษฎา ว่องวิญญู, วรางคณา วรราช, สัญญา ศรีรัตนะ และจิราภรณ์ หลาบคำ” ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการคงอยู่ในชนบทของแพทย์หลังการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในปี 2552 เป็นการเก็บข้อมูลทุติยภูมิจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้รู้ถึงรูปแบบการเคลื่อนย้ายของแพทย์ในระหว่างปี 2544-2554 และวิเคราะห์โอกาสของการคงอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขและในชนบท

ผลการศึกษาพบว่า แนวโน้มการเคลื่อนย้ายของแพทย์จากชนบทภายหลังการเพิ่มค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานที่ชนบทก่อนการชดใช้ทุนครบ 3 ปีนั้นไม่แตกต่างกับก่อนการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายปี 2552 นอกจากนั้นยังพบว่า การออกจากกระทรวงสาธารณสุขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าหลังการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายอาจจะทำให้การลาออกจากราชการไม่เพิ่มขึ้นมากนักในช่วง 2 รุ่นหลัง แต่ในด้านการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ยังลดลงในทุกรุ่น แม้แต่รุ่นที่ได้รับผลจากการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในปี 2552 ได้แก่ รุ่นปี 2549 และ 2550 ซึ่งการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ลดลงเช่นเดียวกันกับรุ่นก่อนๆ

จากข้อมูลของแพทยสภา ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 ประเทศไทยมีแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนและสามารถติดต่อได้ จำนวน 39,406 คน ในจำนวนนี้เป็นแพทย์ที่ให้บริการในสถานพยาบาลในชนบท ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 4,705 คน คิดเป็น 12% ของแพทย์ทั้งหมด ซึ่งดูแลประชากรร้อยละ 54 แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวที่ไม่เหมาะสมระหว่างเมืองกับชนบท

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า อัตราการลาออกของแพทย์ในแต่ละปียังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน (ดูตารางการลาออกของแพทย์แต่ละปีประกอบ)

จำนวนแพทย์โรงพยาบาลชุมชน-แพทย์ที่ลาออก

จากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การเคลื่อนย้ายของแพทย์จากชนบทภายหลังการเพิ่มค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานในชนบทยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องและไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการลาออกจากราชการหรือออกจากชนบทก่อนการเสร็จสิ้นสัญญาทุน 3 ปี

จึงอาจกล่าวได้ว่า การเพิ่มค่าตอบแทนไม่อาจส่งผลต่อการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ได้ ซึ่งการจะรักษากำลังคนไว้ในระบบให้นานขึ้นควรพิจารณาแรงจูงใจที่หลากหลาย ทั้งมาตรการด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน โดยในส่วนของมาตรการการเงินควรจะออกแบบให้สามารถสร้างแรงจูงใจมากขึ้น เช่น การเพิ่มค่าตอบแทนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความทุรกันดารมากขึ้น หรือผูกติดกับภาระงาน ความยากลำบาก เป็นต้น และควรทำควบคู่ไปกับมาตรการที่ไม่ใช้การเงิน เช่น สวัสดิการต่างๆ ความก้าวหน้าในวิชาชีพ การศึกษาต่อเนื่อง การมีระบบแพทย์พี่เลี้ยง เป็นต้น

การเพิ่มแรงจูงใจในด้านการเงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถดึงดูดแพทย์ไว้ในชนบทได้ สอดคล้องกับงานวิจัยต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยที่จะสามารถดึงดูดกำลังคนด้านสุขภาพมาทำงานในชนบทนั้นประกอบด้วย 1. ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น มีภูมิลำเนาในชนบท มีค่านิยมชอบชนบท 2. ปัจจัยด้านครอบครัว 3. ปัจจัยด้านการเงินและรายได้ 4. ปัจจัยความก้าวหน้าในอาชีพ เช่น มีโอกาสศึกษาต่อ มีโอกาสไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น มีพี่เลี้ยง/การติดตามงานที่ดี 5. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เช่นมีโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรเพียงพอ มีบ้านพัก

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยที่เคยศึกษาส่วนมากสอดคล้องกับการศึกษาของ “นงลักษณ์และคณะ” ซึ่งสรุปว่า แม้แพทย์จะให้ความสำคัญกับปัจจัยการเงินมากที่สุดในการเลือกทำงานในชนบท แต่สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงินมีความสำคัญใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลอยู่ใกล้ภูมิลำเนา มีโอกาสศึกษาต่อเฉพาะทาง โรงพยาบาลขนาดเล็ก การได้รับการเลื่อนขั้นที่เร็วขึ้น การมีแพทย์ที่ปรึกษาและจำนวนเวรที่ไม่มากนัก

งานวิจัยระบุว่าการพัฒนามาตรการที่จะจูงใจให้แพทย์ทำงานในชนบทนั้น ควรต้องมีการออกแบบที่ตั้งอยู่บนข้อมูลเชิงวิชาการ และมีความครอบคลุมทั้งแรงจูงใจที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน โดยไม่ควรให้น้ำหนักเฉพาะด้านการเงินเพียงด้านเดียว และควรมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ ประเมินและปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดคล้องบริบทอื่นๆ ที่เปลี่ยนไป

งานวิจัยได้ระบุถึงการแก้ปัญหาแพทย์ในชนบทว่า ประเทศไทยได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจและดึงดูดแพทย์เข้าสู่สถานบริการชนบทที่หลากหลาย เพื่อลดความแตกต่างของการกระจายแพทย์ระหว่างเมืองและชนบท ได้แก่

1. มาตรการด้านการผลิต โดยการทำสัญญาชดใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี และปรับ 400,000 บาท การผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อประชาชนในชนบทซึ่งเริ่มในปี 2537 โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งแพทย์ ในปี 2548 และโครงการอื่นๆ ส่งผลให้การผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 700-1,000 คน ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา(ปี 2545 ผลิตได้ 1,417 คน)

2. มาตรการด้านการเงิน โดยมีการเพิ่มค่าตอบแทนสำหรับแพทย์ที่ทำงานในชนบท เริ่มจากปี 2518 ต่อมาในปี 2538 มีการจ่ายค่อตอบแทนพิเศษกรณีที่ไม่รักษาคนไข้นอกเวลาราชการ มีการเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษสำหรับพื้นที่ทุรกันดารและเสี่ยงภัยในปี 2540 และปี 2548

3. การดำเนินมาตรการที่ไม่ใช่ตัวเงิน ได้แก่ โควตาการอบรมเฉพาะทาง โอกาสก้าวหน้าในตำแหน่ง การมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ตลอดจนการมีชมรมเพื่อหนุนเสริมซึ่งกันและกัน เป็นต้น

แม้อาจจะยังไม่สามารถระบุได้ว่า ในมาตรการต่างๆ ที่ผ่านมานั้น มีมาตรการใดบ้างที่มีประสิทธิภาพต่อการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ แต่โดยภาพรวมแล้วส่งผลให้มีแพทย์เพิ่มขึ้นในภูมิภาคต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยเห็นได้จากสัดส่วนของแพทย์ต่อประชาชนในภาพต่างๆ สูงขึ้น แต่ยังปรากฏความเหลื่อมล้ำของการกระจายตัวของแพทย์ จากข้อมูลปี 2553 พบว่า สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับกรุงเทพฯ มีความแตกต่างลดลงจาก 10 เท่า ในปี 2536 เป็น 7.5 เท่า ในปี 2553 โดยมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1:4,591 คน, ภาคใต้ 1:3,148 คน, ภาคเหนือ 1:3,059 คน, ภาคกลาง 1:2,699 คน, และกรุงเทพฯ 1:628 คน แต่สถานการณ์การลาออกของแพทย์ก็ยังเป็นไปตามตารางที่แสดงข้างต้น

P4P ปรับระบบ”เงินให้เปล่า” เป็นใครทำมากได้มาก

แพทย์หญิงประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) หนึ่งในคณะทำงานกำหนดเกณฑ์การจ่ายผลตอบแทนตามภาระงาน ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นร้อนที่ไม่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใดกล้าตัดสินใจ ทั้งที่มีการศึกษาและทำมาตั้งแต่สมัยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน เป็นผู้ตรวจราชการ

โดยในช่วงที่ยังไม่มีปรับผลตอบแทนตามภาระงาน ช่วงนั้นมีการให้ค่าตอบแทนฉบับที่ 4 คือ ให้กับแพทย์โรงพยาบาลชุมชน และฉบับที่ 6 ให้ค่าตอบแทนกับพยาบาล และฉบับที่ 7 ให้โรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งการให้ผลตอบแทนแก่ทีมงานสุขภาพทั้ง 3 ฉบับนี้ เป็นการให้ค่าตอบแทนจากฝ่ายการเมือง

“ฉบับที่ 4 ให้มาโดยคุณเฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งมานั่งเป็น รมต.สาธารณสุขอยู่ 3 เดือน อนุมัติให้จ่ายค่าตอบแทนด้วยเงินบำรุงของโรงพยาบาล ที่ผ่านมาโรงพยาบาลอำเภอบอกว่าไม่มีเงินบำรุงจ่าย เพราะฉะนั้น ให้หางบประมาณให้ปลัดคนก่อน (นพ.ไพจิตร์ วราชิต)ได้ของบจากกระทรวงการคลังให้เป็นปีต่อปีมาเรื่อยๆ แต่วงเงินได้ตามแต่กระทรวงการคลังให้ และกระทรวงการคลังมีความเห็นมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับการจ่ายค่าตอบแทนแบบนี้ เพราะเป็นการให้เปล่า และให้โดยแบบเหมาจ่าย และให้ตามอายุการทำงาน ไม่ได้ให้ตามผลงานใดๆ ใครที่ทำงาน 3 ปีแรก ได้เพิ่มเดือนละ 10,000 บาท เพิ่มมาจากเงินเดือน ค่าเวร ค่าโอที เงินประจำตำแหน่ง อันนี้เป็นเงินพิเศษ กลายเป็นว่าแพทย์หรือทีมงานสุขภาพที่อายุงานน้อยๆ แต่แบกภาระงานหนักๆ ได้เงินน้อย ขณะที่อายุงาน 4-10 ปี ได้เดือนละ 30,000 บาท ปีที่ 11-19 ได้เดือนละ 40,000 บาท ปีที่ 20 ขึ้นไปได้ 50,000 บาท นี่คือแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งทุกพื้นที่ได้รับตามปกติ”

ส่วนแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะได้เพิ่มขึ้น 10,000 บาท ตามอายุข้างต้น ถ้าเป็นเพิ่มพื้นที่เสี่ยงภัยจะเพิ่มอีก 20,000 บาท ตามอายุข้างต้น (ดูตารางข้างบน)

“เพราะฉะนั้น ในพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราเห็นด้วยที่ต้องจ่ายให้เขาไปเลย เป็นกำลังใจให้เขาไปอยู่ แต่ในโรงพยาบาลในพื้นที่ปกติ ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่เขตเมือง โรงพยาบาลบางใหญ่ ใกล้กรุงเทพฯ ที่ไม่กันดาร ได้เท่ากับโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา ถามว่าบางใหญ่กันดารตรงไหน สะดวกสบายยิ่งกว่าจังหวัดบางจังหวัดด้วยซ้ำ หรือโรงพยาบาลศรีสังวาล จ.แม่ฮ่องสอน คงไม่สะดวกสบายเท่าบางใหญ่ บางบัวทอง แต่ผลตอบแทนได้เท่ากัน ประเด็นนี้คนในกระทรวงสาธารณสุขมองเห็นว่าไม่เป็นธรรม หรือโรงพยาบาลกระทรวงกลาโหม เขามีโรงพยาบาลตามพื้นที่ขอบชายแดน หรือโรงพยาบาลของตำรวจ พวกนี้เขามองว่าทำไมภาครัฐมองไม่เห็นแพทย์โรงพยาบาลของเขา ทำไมให้แต่กลุ่มนี้ มันเหลื่อมล้ำมาก และมากที่ไม่ใช่เหลื่อมล้ำธรรมดา”

แพทย์หญิงประชุมกล่าวต่อว่า สิ่งที่กระทรวงการคลังมองเห็น คือ การใช้จ่ายผลตอบแทนนี้ให้โดยไม่ต้องทำอะไรเลย หากบอกว่าเอาไปให้เพื่อตรึงให้คนอยู่ในพื้นที่ ถามว่าตรึงในส่วนไหน ในส่วนของแพทย์ที่อายุงาน 20 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นงานบริหาร เป็นผู้อำนวยการ หรือถ้าบอกว่าตรึงแพทย์อายุงาน 10-20 ปี ซึ่งกลุ่มนี้ก็ไม่ไปไหนอยู่แล้ว แต่กลุ่มที่พร้อมจะไปตลอดเวลาเพราะภาระหนักงานหนักมากคือ อายุงาน 1-3 ปี และกลุ่ม 4-10 ปี ดังนั้น หากมองตามเนื้องานแล้วมันไม่ใช่ อธิบายได้ว่าทำไมกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย และที่ให้เงินตามที่ขอมา 3 ปี แล้ว แต่ปีนี้ 2556 บอกว่าจะไม่ให้อีกแล้ว จริงๆ กระทรวงการคลังจะให้แค่ปีแรกปีเดียวเท่านั้น แต่ก็ยื้อกันมา ซึ่งกระทรวงการคลังมีเหตุผลที่จะไม่ให้ หากกระทรวงการคลังไม่ให้ โรงพยาบาลต้องกลับไปใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลจ่าย มันก็ไม่ไหว เพราะเป็นภาระหนักมาก

“นี่จึงเป็นระเบิดเวลาของกระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมาไม่มีใครตัดสินใจ แต่ครั้งนี้เป็นการตัดสินใจเพื่อความเป็นธรรมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐที่จะให้ดูแลประชาชนที่เป็นคนไข้ทั้งหลาย จ่ายตามที่คนไข้จะได้ประโยชน์ คือ จ่ายตามภาระงาน เพราะทุกๆ ครั้งที่ทีมสุขภาพ (แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกรฯ) ทำงานทั้งในโรงพยาบาลหรือนอกโรงพยาบาล ทุกคนมีเงินเดือน งานที่ได้ส่วนหนึ่งรองรับด้วยเงินเดือนอยู่แล้ว ส่วนเงินที่จ่ายตาม P4P นั้น คือตามงานส่วนที่เกินในเวลาราชการ ซึ่งไม่ใช่โอที อย่างแพทย์การันตีขึ้นต่ำที่ 3,200 แต้ม สมมติหมอคนนั้นไม่ได้ตรวจคนไข้เลย เขาก็ไม่ได้ P4P ถามว่าเป็นธรรมกับรัฐที่จ่ายไหม ก็เป็นธรรมนะ เพราะว่าจ่ายตามภาระงาน เงินเดือนได้ไปแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงกระทบบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่อายุงานเยอะๆ พวกนี้ไม่ค่อยอยู่โรงพยาบาล เดินทางตลอด ก็ได้แต้มในส่วนบริหาร ขอให้ทำงาน ถ้าไม่ได้แต้มแสดงว่าไม่ทำงานใช่ไหม”

นี่คือระเบิดลูกใหญ่ พอตัดสินใจประกาศใช้ก็เป็นระเบิด ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล้าตัดสินใจทำ และรัฐมนตรีเห็นประโยชน์ส่วนรวมและเป็นกำลังให้คนทำงานหนัก เพราะเป็นการเกลี่ยงานกัน โดยมี 9 โรงพยาบาลที่นำร่องไปก่อนแล้ว ได้สรุปว่าตอนแรกคนในโรงพยาบาลก็ต้าน ไม่เอา ข้อมูลคนที่ทำงานด้วยกัน คนหนึ่งแต้มทะลุ อีกคนแต้มต่างกันมาก ก็เกิดการแบ่งงานกันมาให้คนที่ทำแต้มน้อยกว่า ระบบนี้ไม่ได้ ได้แค่แค่เงินเท่านั้นแต่ได้ใจกันด้วย

“ถ้าจะพูดว่าทำให้หมอต้องมาเก็บแต้ม หมอไม่ต้องทนเก็บแต้ม เพราะแต้มที่ว่าเกิดขึ้นอยู่แล้ว จากจำนวนคนไข้ที่มาโรงพยาบาล หมอที่ตรวจคนไข้เก่า ก็ทำอยู่แล้วทุกวัน คนไข้นอก คนไข้ผ่าตัด งานมันมีอยู่แล้ว ใครเป็นคนทำคนนั้นก็ได้แต้มไป ข้อมูลมีบันทึกตามปกติอยู่แล้ว หรือเวชศาสตร์ชุมชน เขาก็มีตัวเลขอยู่แล้วว่าไปทำงานที่ไหน ประชุมกับใคร มีบันทึกอยู่แล้ว ถามว่าจะเกิดการโกงกัน เกิดการล่าแต้ม ก็อาจจะมีคนคิดทำ แต่คงไม่สามารถทำได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะต้องเกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่าย อาทิ พยาบาล ผู้ช่วย ทุกคนต้องใช้ตัวเลขเดียวกันในการบันทึก เอามาประมวลดูเมื่อไหร่ก็รู้ว่าใครทำงาน ไม่ทำงาน มันไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาล่าแต้ม”

เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน จ.เชียงใหม่ คัดค้าน P4P หน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ สิ่งศักดิ์สิทธ์ของเมืองเชียงใหม่
เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน จ.เชียงใหม่ คัดค้าน P4P หน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ สิ่งศักดิ์สิทธ์ของเมืองเชียงใหม่

ประเด็นที่ว่านโยบายนี้จะทำให้โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลชุมชนล่มสลาย ไม่มีหมออยู่ ทุกคนรู้ว่าไม่จริง เพราะโรงพยาบาลที่นำร่องทำมาก่อน 9 โรงมีล้มไปสักโรงไหม มีแต่ดีขึ้น การให้เงิน P4P นี้เป็นการให้ผลตอบแทนที่สมเหตุสมผล คนไข้จะพึงพอใจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป เพราะคนทำงานกันเต็มที่ และคนทำงานไม่เอาเปรียบกัน มีการเกลี่ยงาน ทำให้การใช้ทรัพยากรต่างๆ เต็มที่อย่างมีประสิทธิภาพ แต้มที่แสดงมันบ่งบอกถึงประชากรในพื้นที่กับหมอมันเหมาะสมหรือไม่ ควรจะเพิ่มไหม หรือหน่วยไหนคนโอเวอร์ ข้อมูลเหล่านี้จะบ่งชี้ได้หมด เพียงแต่วิธีการเป็นของใหม่ คนบางคนไม่อยากทำ เพราะเมื่อก่อนอยู่เฉยๆ ก็ได้เงินเลย

โดยสรุปแล้ว นโยบายปรับปรุงค่าตอบแทนของผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาลที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกวิชาชีพ จากระบบให้เปล่าเท่ากันหมด ส่วนของโรงพยาบาลชุมชนนั้นยังมีเพิ่มเติมเบี้ยเลี้ยงโดยแบ่งตามพื้นที่เป็น 3 ระดับ คือ ปกติ ห่างไกล และเสี่ยงภัย อีกด้วย แต่ให้บางวิชาชีพเท่านั้น ปรับเปลี่ยนมาเป็นให้ตามผลการทำงาน (P4P) ใครทำงานมากได้มาก และให้ครบทุกวิชาชีพ ซึ่งจะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำในวิชาชีพเดียวกันและระหว่างวิชาชีพ ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นธรรมมากกว่าวิธีเดิมมาก กลุ่มโรงพยาบาลชุมชนยังได้เบี้ยเลี้ยงตามพื้นที่ซึ่งถูกปรับเป็น 5 ระดับ ส่วนที่อยู่ห่างไกลเสี่ยงภัย เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้เบี้ยเลี้ยงมากเช่นเดิมและเพิ่มเติมด้วย P4P ส่วนที่เป็นพื้นที่ปกติก็จะถูกปรับเบี้ยเลี้ยงเดิมดึงมาเพียง 20% มาทำเป็น P4P ให้แก่ผู้ทำงานทุกคน ส่วนกลุ่มแพทย์จบใหม่ 3 ปีแรกทุกพื้นที่จะไม่ถูกปรับเบี้ยเลี้ยงเลย และจะได้ P4P เพิ่มขึ้นมา อีกด้วย เป็นสิ่งที่ดีที่พวกเราจะได้ช่วยกันพัฒนาให้ดีเหมาะสมกับบุคลากรทุกวิชาชีพ และเกิดผลดีต่อคนไข้ทุกคนอย่างแน่นอน

“ขณะนี้มีเพียงส่วนน้อยมีความไม่พอใจที่เบี้ยเลี้ยงให้เปล่าที่ตนเคยได้มากถึงเดือนละ 50,000 บาท ถูกปรับลดลงมาเหลือ 40,000 บาท เพื่อไปปรับเป็น P4P ให้เพื่อนร่วมงานที่ได้เบี้ยเลี้ยงเดือนละ 10,000 บาท พยาบาลได้เดือนละ 1,800 บาท”

ณ วันนี้ ที่เรามาคุยกันเพื่อจะเปรียบเทียบว่าแบบเดิมกับแบบใหม่อันไหนจะยั่งยืนกว่ากัน การที่ทำ P4P เริ่มตั้งแต่สมัยปลัดไพจิตร์ วราชิต แล้ว ไม่ใช่เป็นงานที่รัฐมนตรีคนนี้สั่งให้ทำนะ รัฐมนตรีคนนี้มาหลังจากที่ปลัดคนนี้ตัดสินใจแล้วว่าจะทำ P4P และรัฐมนตรีก็ให้การสนับสนุนนโยบายนี้ และต้องการให้เกิดได้จริง

การแบ่งพื้นที่แพทย์

“การประกาศผลตอบแทนใหม่ครั้งนี้ มีคณะกรรมการ คณะทำงานทำอยู่ และเป็นเรื่องนี้ทำมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทำตอนนี้ เนื่องจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมีขนาดแตกต่างกัน จำเป็นต้องปรับตามบริบทที่แตกต่างกัน คนที่ไม่เห็นด้วยต้องมาช่วยกันคิด จะนับแต้มแบบไหนที่จะไม่ทะเลาะกัน ดังนั้น พอบอกว่าจะทำก็กลายเป็นระเบิดทันที เชื่อว่าโดยหลักการดี แต่หลักเกณฑ์ต้องมาหารือกัน มาช่วยกำหนด ขณะนี้ยังเถียงกันอยู่ เถียงเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุด เพราะหลักเกณฑ์ปรับปรุงได้ ยังไม่ใช่ข้อกำหนดที่แก้ไขไม่ได้ ไม่ใช่ล้มมัน เพื่อนำข้อมูลไปจัดงบประมาณปีหน้า ตรงนี้โรงพยาบาลชุมชนเองไม่เคยทำมาก่อน บางส่วนก็ต้องการแบบเดิม หากใช้ระบบนี้ต้องปรับตัวใหม่ เพราะระบบนี้จะบอกว่าใครทำงานมาก ทำงานน้อย”

เรื่องนี้ถือเป็นการปฏิรูปการเงินของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นปัญหาเรื้องรังมานานแล้วตั้งแต่มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตอนนี้ได้แก้ปัญหาเรื่องบุคลากร มีการบรรจุพยาบาล เภสัช ลูกจ้างส่วนอื่นๆ เมื่อก่อนกลุ่มนี้ต้องใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลจ้างทั้งสิ้น ไม่มีเงินสนับสนุนจากภาครัฐเลย ซึ่งโรงพยาบาลต้องใช้เงินจำนวนมาก เพราะภาระงานล้น เมื่อกลุ่มนี้ได้รับการบรรจุก็ช่วยลดภาระเงินบำรุงโรงพยาบาลลงไป ภายใน 3 ปี จะบรรจุ 28,000 ตำแหน่ง ดังนั้น ปัญหาการเงินโรงพยาบาลก็คลี่คลายลงจากการบรรจุคนและเป็นขวัญกำลังใจของคนทำงาน มีความมั่นคง ทั้งหมดเป็นไปในทิศทางที่ดี

ส่วนประเด็นแพทย์ลาออกจะเป็นในช่วงนี้ทุกปี ปีละหลายร้อยคน เพื่อไปเรียนต่อ เพราะไม่มีตำแหน่งทุนต้นสังกัดในกระทรวงสาธารณสุข เป็นเรื่องพิสูจน์ได้จากข้อมูลที่มีอยู่ในแพทยสภาว่าจำนวนแพทย์ลาออกสัมพันธ์กับแพทย์เรียนต่ออิสสระ ซึ่งเรื่องปกติที่ถูกนำมาปั่นจนเป็นประเด็นให้สังคมที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงคล้อยตาม