รายงานโดย…อิสรนันท์
ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อิสราเอลได้เปิดฉากทำสงครามใหญ่น้อยแทบนับครั้งไม่ถ้วนกับประเทศอาหรับหลายประเทศ รวมไปถึงกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่กลุ่มพีแอลโอเรื่อยมาจนถึงกลุ่มฮามาส ซึ่งได้แปลงโฉมใหม่จากกลุ่มติดอาวุธกลับกลายมาเป็นรัฐบาลในเขตปกครองปาเลสไตน์ที่ฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ แต่แทบจะไม่มีครั้งใดที่ประชาชนจากทุกกลุ่มทุกศาสนาจากทั่วทุกมุมโลกจะรวมใจเป็นหนึ่งเดียวร่วมกันประณามการกระทำล่าสุดของกองทัพยิวที่ถล่มฉนวนกาซาอย่างหนักหน่วงทั้งภาคพื้นดินและอากาศติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์ มีผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งพัน ที่สำคัญมีเด็กตกเป็นเหยื่อจำนวนมากยิ่งกว่าจำนวนของกลุ่มติดอาวุธที่เสียชีวิตเสียอีก
แม้อิสราเอลจะแก้ตัวว่าภาพเด็กหลายภาพที่ปรากฎบนโซเชียลมีเดียเป็นภาพตัดต่อหรือนำภาพเก่าที่เกิดขึ้นในสถานที่อื่นมาเหมารวมว่าเป็นภาพเด็กปาเลสไตน์ที่ตกเป็นเหยื่อสงครามล่าสุด แต่คำแก้ตัวนี้ก็ไม่อาจลบล้างความจริงที่ว่ามีเด็กปาเลสไตน์เสียชีวิตจำนวนมากจริง
และคนที่จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำอันโหดร้ายนี้ก็คือ เบนจามิน เนทันยาฮู “บีบี” นายกรัฐมนตรีสายเหยี่ยว 3 สมัยเจ้าเก่า ที่มีประวัติว่าถูกทั้งมิตรและศัตรูก่นด่าสาปแช่งไปทั่วจากนโยบายขวางโลก ล่าสุดก็คือ ถูกประณามว่าโหดร้ายและกระหายเลือดยิ่งกว่าฮิตเลอร์เสียอีก รวมทั้งสาปแช่งว่าขณะนี้ประตูนรกกำลังเปิดรออยู่แล้ว จากนโยบายและการกระทำที่มุ่งแต่สร้างสงครามมากกว่าสันติภาพ ล่าสุดก็คือการให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ฝรั่งเศส 24 แสดงความยินดีที่เกิดสงครามขึ้นในอิรักและซีเรียจากฝีมือของกลุ่มติดอาวุธสุหนี่ ซึ่งล่าสุดได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) แถมยังเรียกร้องผู้นำประเทศในยุโรปว่าควรจะปล่อยให้สงครามและความขัดแย้งเหล่านี้บานปลายมากยิ่งขึ้น
นโยบายที่ขวางโลกและกระหายสงครามดังกล่าว ทำให้ประเทศมหามิตรผู้เป็นเพื่อนตายตลอดกาลอย่างสหรัฐฯ ยังไม่วายส่ายหน้าด้วยความระอาใจ อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ถึงกับเคยตะคอกใส่หน้าต่อหน้าคนจำนวนมากระหว่างพบกันครั้งแรกที่ทำเนียบขาวว่า “ใครมีอำนาจที่นี่กันแน่” ขณะที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็ไม่เคยเดินทางไปเยือนอิสราเอลเลยนับตั้งแต่ขึ้นมาเป็นผู้นำทำเนียบขาวสมัยแรก ต่อกรณีนี้โอบามาเคยให้เหตุผลระหว่างให้สัมภาษณ์โทรทัศน์เอ็นบีซีว่า “ผมจะไปอิสราเอลก็ต่อเมื่อมั่นใจว่าการเจรจาจะมีความคืบหน้าแล้วเท่านั้น” หนำซ้ำยังหลีกเลี่ยงไม่ยอมพบหน้าด้วยหลายครั้ง ขนาดรู้ว่าเนทันยาฮูเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก โอบามาก็หาเหตุเดินทางไปที่บ้านพักตากอากาศแคมป์เดวิดทันที ด้วยความไม่พอใจที่เคยเตือนหลายครั้งเกี่ยวกับนโยบายสุดโต่งเรื่องอิหร่านและซีเรีย แต่บีบีก็ไม่เคยฟัง กระทั่งโอบามาต้องออกปากว่าอิสราเอลกำลังเดินไปสู่ความโดดเดี่ยวอย่างสมบูรณ์แบบบนเวทีสหประชาชาติ
ด้านโรเบิร์ต เกตส์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมอเมริกัน ได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในวันอำลาจากตำแหน่งว่า อิสราเอลได้เนรคุณต่อสหรัฐฯ และการกระทำเช่นนี้จะย้อนศรกลับมาทำร้ายอิสราเอลในภายหลัง ไม่นับรวมกรณีนักการเมือง นักวิชาการ และสื่ออีกหลายคน ที่ได้ร่วมวงโจมตีว่าเป็นคนโกหกที่เชื่อถือไม่ได้ เป็นคนที่ฉุดกระชากชื่อเสียงของอิสราเอลบนเวทีโลกให้ป่นปี้ยิ่งกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ ไม่นับรวมเรื่องอื้อฉาวส่วนตัว ทั้งชีวิตการแต่งงานที่ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าจากความเจ้าชู้ของบีบีหรือเรื่องที่ตำรวจขู่ฟ้องในคดีทุจริตคอร์รัปชัน แต่อัยการสูงสุดที่สนิทสนมกับบีบีไม่ยอมส่งฟ้อง โดยอ้างว่าหลักฐานไม่เพียงพอ
ไม่ว่าจะสร้างเรื่องอื้อฉาวที่สุดยิ่งกว่าอดีตผู้นำใดๆ แถมนับวันมีแต่ทำลายมิตรเก่าขณะสร้างศัตรูใหม่มากแค่ไหน แต่บีบีก็เหมือนกับแมว 9 ชีวิตที่ไม่มีวันตาย ได้สวมหัวโขนนายกรัฐมนตรีสมัยนี้เป็นสมัยที่ 3 แล้ว หลังจากได้รับการจดจารึกว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดขณะรับตำแหน่งนายกฯ สมัยแรกระหว่างปี พ.ศ. 2536-2542 ท่ามกลางภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองและการถอนทหารออกจากเขตยึดครองบางส่วน ขณะที่การสวมหัวโขนนายกฯ สมัยที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2552-2556 ก็เต็มไปด้วยเรื่องฉาวโฉ่มากมาย รวมไปถึงเรื่องชีวิตการแต่งงานจนต้องสารภาพขณะออกรายการสดทางโทรทัศน์ว่ามีหญิงอื่น หรือเรื่องการคอร์รัปชัน ซึ่งตำรวจเตรียมฟ้องถึง 2 คดี รวมไปถึงคดีเตรียมรับสินบนจำนวน 100,000 ดอลลาร์จากบริษัทก่อสร้างที่ได้ประโยชน์จากโครงการขยายเมืองที่ถูกนานาประเทศคัดค้าน แต่อัยการสูงสุดที่บีบีเป็นคนแต่งตั้งเองกับมือไม่ยอมส่งฟ้อง หรือกรณีเคยหายตัวอย่างลึกลับเมื่อต้นเดือน ก.ย. 2552 โดยไม่มีใครทราบว่าหายไปไหน ท่ามกลางข่าวลือต่างๆ นานา สุดท้ายสื่อได้แฉว่าแอบบินไปมอสโกเพื่อกล่อมผู้นำเครมลินไม่ให้ขายระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน เอส-300 ให้อิหร่าน ด้วยความโกรธที่ถูกปล่อยข่าวลวงมาตลอด สื่ออิสราเอลถึงกับพาดหัวข่าวเรียกบีบีว่า “คนโกหก” และเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นความล้มเหลวไม่มีชิ้นดี
เบนจามิน เนทันยาฮู วัย 65 ปี ผู้นำขวาจัดที่นักการเมืองให้สมญาว่าระดับตัวพ่อ นอกเหนือจากเป็นพวกชาตินิยมสุดโต่งเข้าข่ายคลั่งชาติ เป็นทหาร นักการทูต เป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกอันดับ 23 จาก 100 อันดับ จากการจัดอันดับประจำปี 2556 โดยนิตยสาร ฟอร์บส์ เกิดที่เทลอาวีฟเมื่อปี 2492 แต่ไปโตที่เยรูซาเลม และใช้ชีวิตในวัยเด็กที่สหรัฐฯ ระหว่างติดตามเบนซีออน เนทันยาฮู ผู้เป็นพ่อ เดินทางไปที่ประเทศนี้่ โดยพ่อเป็นศาสตราจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ยิวที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล และยังเป็นบรรณาธิการเอนไซโคลพีเดีย “เฮบราอิกา” ด้วย ว่ากันว่าบีบีสืบทอดมรดกความดื้อรั้นและแนวคิดแบบสายเหยี่ยวมาจากพ่อ
ได้เดินทางกลับบ้านเกิดเมื่อปี 2510 ขณะมีอายุ 18 ปี เพื่อมาเป็นทหารรับใช้ชาติ โดยอาสาประจำการที่หน่วยรบพิเศษของกองทัพอิสราเอล และได้เข้าร่วมในการปฏิบัติการเสี่ยงตายหลายครั้ง รวมทั้งการช่วยเหลือตัวประกันจากการจี้เครื่องบินของสายการบินซาบีนาที่สนามบินเบน-กูเรียน จนได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ทำให้มีประสบการณ์มากขึ้นจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการรบ นอกเหนือจากปลูกฝังความมุ่งมั่นที่จะทำสงครามกับชาวปาเลสไตน์ หลังจากรับราชการได้ 6 ปี เนทันยาฮูก็ปลดประจำการหลังสงครามยมคิปเปอร์ โดยมียศเป็นร้อยเอก
บีบีได้กลับไปเรียนหนังสือต่อที่เอ็มไอทีในบอสตัน กระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ด้วยคะแนนเกือบสูงสุด ต่อด้วยปริญญาโทสาขาบริหาร และยังเรียนต่อด้านรัฐศาสตร์ที่เอ็มไอทีและฮาวาร์ด ระหว่างนี้ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเบนจามิน เบน นิไต ตามชื่อภูเขานิไตในอิสราเอลและอาจจะตามอย่างพ่อที่ใช้นามปากกาว่านิไตแห่งอาร์เบลา หลายปีต่อมาบีบีให้เหตุผลถึงการเปลี่ยนชื่อหลังจากถูกฝ่ายค้านโจมตีว่าไม่มีสัญชาติอิสราเอลและเป็นพวกไม่ภักดีต่อแผ่นดินว่าเพื่อให้ชาวอเมริกันเรียกชื่อได้ง่ายขึ้น
หลังสำเร็จการศึกษาได้ทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนแห่งหนึ่งในอเมริกาอยู่พักหนึ่งก่อนจะเดินทางกลับประเทศ และด้วยความสะเทือนใจกับการตายของพี่ชายคนโตใน “ยุทธการเอ็นเทบเบ” หรือปฏิบัติการช่วยผู้โดยสารของสายการบินแอร์ฟรานซ์ ที่ถูกจับเป็นตัวประกันที่เอ็นเทบเบ ในยูกันดา บีบีจึงเป็นผู้ริเริ่มและผู้ก่อตั้งสถาบันต่อต้านการก่อการร้ายโจนาธาน เนทันยาฮู ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐที่มุ่งศึกษาการก่อการร้าย และได้จัดการประชุมนานาชาติเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายถึง 2 ครั้งที่กรุงวอชิงตันและเยรูซาเลม ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากนักการเมือง จนเป็นบันไดขั้นแรกให้รู้จักกับนักการเมืองดาวรุ่งหลายคนซึ่งบางคนได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ
จากนั้นในปี 2525 ได้เข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ในตำแหน่งอัครราชทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำกรุงวอชิงตัน ระหว่างนั้นได้เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนอิสราเอลที่ไปเจรจาเรื่องความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างอิสราเอลกับสหรัฐอเมริกาด้วย ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติจนครบวาระ 4 ปี ด้วยความที่เป็นนักพูดฝีปากกล้าและคุ้นเคยกับสื่อมวลชน บีบีจึงมีบทบาทสำคัญที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้อิสราเอล
เมื่อหมดวาระการเป็นนักการทูตแล้ว บีบีได้เดินทางกลับบ้านเกิดและเริ่มชีวิตการเป็นนักการเมืองทันที เริ่มด้วยการได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สังกัดพรรคลิคุด ตามด้วยการได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ ระหว่างนั้นก็สั่งสมประสบการณ์จากขบวนการอินทีฟิดาหรือการลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ครั้งแรก ตามด้วยสงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อปี 2534 และการประชุมสันติภาพที่มาดริด ปูทางให้มีการเจรจาโดยตรงระหว่างอิสราเอลกับประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2539 เบนจามิน เนทันยาฮู ชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 และได้พยายามสร้างความแปลกใหม่ทั้งนโยบายเศรษฐกิจที่ต้องการเปลี่ยนเป็นตลาดเสรี ส่วนนโยบายด้านขบวนการสันติภาพนั้นก็แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ส่วนใหญ่จะอาศัยวิธีลูกล่อลูกชน ทางหนึ่งทำทีเหมือนกับเห็นด้วยกับการเจรจาสันติภาพ แต่อีกทางหนึ่งกลับมุ่งขยับขยายเมืองไปยังพื้นที่ของปาเลสไตน์ จนถูกนานาประเทศรวมทั้งสหรัฐฯ ประณามไปทั่ว แต่บีบีก็ไม่ฟังเสียงใคร ยืนกรานว่าต้องไม่มีการเมินเฉยต่อการก่อการร้ายแม้ว่าการก่อการร้ายนั้นจะเกิดขึ้นอย่างไม่ตรงไปตรงมานักก็ตาม แต่จะต้องได้รับการโต้ตอบอยางเหมาะสมเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เติบใหญ่ได้
เนทันยาฮูยังได้สอนมวยผู้นำทำเนียบขาวว่าเสียเวลาเปล่าในเรื่องแผนสันติภาพตะวันออกกลาง เพราะทางเดียวที่จะสร้างสันติภาพขึ้นในภูมิภาคนี้ก็คือการแปลงเป็นรัฐที่ปลอดทหารโดยสิ้นเชิง ไม่มีกองทัพ ไม่มีจรวด ไม่มีขีปนาวุธหรือการควบคุมน่านฟ้าใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนหนทางที่เป็นไปได้นั้นควรจะให้เป็น “สันติภาพทางเศรษฐกิจ” ดีกว่า แต่ระหว่างนั้น กลับยืนกรานในนโยบาย “3 ไม่ “นั่นก็คือ เยรูซาเลมจะต้องเป็นดินแดนที่แบ่งแยกไม่ได้ของอิสราเอล และจะไม่ยอมให้ผู้อพยพปาเลสไตน์เดินทางกลับมาตั้งถิ่นฐานที่ดินแดนอิสราเอล ท้ายสุดก็คือจะไม่ยอมยกเลิกโครงการขยายเมืองเด็ดขาด
ในส่วนของชีวิตครอบครัวที่วุ่นวายพอๆ กับการบริหารประเทศนั้น บีบีแต่งงานครั้งแรกกับมิเรียม ไวซ์แมนน์ ซึ่งพบรักกันที่เยรูซาเลมระหว่างที่ตัวเองเป็นทหาร จากนั้นก็เดินทางไปเรียนต่อด้วยกันที่สหรัฐฯ โดยมีลูกสาวด้วยกันคนหนึ่ง ระหว่างที่มิเรียมตั้งท้องอยู่นั้่น บีบีซึ่งเป็นหนุ่มหน้าตาดีพอๆ กับพระเอกหนังก็พบรักใหม่กับเฟลอร์ แคตเตส สาวชาวอังกฤษที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยและมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งจนเป็นเหตุให้มิเรียมขอหย่าหลังจากรู้ความจริง บีบีได้แต่งงานใหม่กับแคตเตสซึ่งยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนายิว แต่ก็ไม่สามารถมัดใจบีบีได้ จึงหย่าร้างกันในอีก 3 ปีให้หลัง จากนั้นก็แต่งงานเป็นครั้งที่ 3 กับซารา เบน อาต์ซี นักจิตวิทยาที่ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและพบกันขณะที่เดินทางไปนิวยอร์ก ทั้ง 2 มีลูกชาย 2 คน คือ แยร์ ที่กำลังถูกโจมตีว่าไม่รักชาติเนื่องจากมีแฟนสาวเป็นชาวนอร์เวย์ที่นับถือต่างศาสนา ส่วนแอฟเนอร์ลูกชายคนเล็กก็คว้าแชมป์หลายสมัยในการแข่งขันด้านคัมภีร์ไบเบิล
หลังจากถูกฝ่ายค้านแบล็คเมล์ขู่จะนำวิดิโอลับขณะอยู่กับหญิงอื่นมาเผยแพร่หากไม่ยอมลาออกจากหัวหน้าพรรคลิคุด บีบีจึงจำใจรับสารภาพกลางรายการโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดสดเมื่อปี พ.ศ. 2536 ว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับรูธ บาร์ ที่ปรึกษาด้านพีอาร์ส่วนตัว แต่เรื่องร้ายก็กลับเป็นดี บีบีได้หันไปฟื้นความสัมพันธ์กับซารา ภรรยาคนที่ 3 จนกลับมาชนะเลือกตั้ง ก่อนที่นิสัยเจ้าชู้จะกลับมาอีกครั้ง คราวนี้ตกเป็นข่าวว่าเป็นชู้กับแคเธอลีน ไพรซ์ มอนดาโดรี ชาวอิตาเลียน-อเมริกันที่แต่งงานแล้ว ขณะที่ซาราเองก็มีปัญหา ถูกสาวใช้หลายคนรุมฟ้องว่าทำร้ายร่างกายและไม่ยอมจ่ายเงินเดือน
เบนจามิน เนทันยาฮู ได้เขียนหนังสือ 5 เล่ม ว่าด้วยการต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย และสันติภาพอันยั่งยืน ทั้งที่เป็นภาษาฮิบรูและอังกฤษ บางเล่มก็มีการแปลเป็นภาษารัสเซีย ฝรั่งเศส อาหรับ ญี่ปุ่น ฯ ลฯ
ทั้ง 5 เล่มประกอบด้วย Self Portrait of a Hero: From the Letters of Jonathan Netanyahu 1963-1976 (edited 1978), International Terrorism: Challenge and Response (edited 1979), Terrorism: How the West Can Win (edited 1987); A Durable Peace: Israel and Its Place Among the Nations (1992); และ Fighting Terrorism: How Democracies Can Defeat Domestic and International Terrorism (1996)